เป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากสำหรับการยกเลิกเครื่องเก็บค่าโดยสารของ ขสมก. ที่เปิดใช้ยังไม่ทันไร แต่กลับยกเลิกแบบกะทันหัน ล่าสุด นายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ชี้แจงข้อวิจารณ์การยกเลิกเครื่องเก็บค่าโดยสารบนรถโดยสารประจำทางว่า
ที่มาของโครงการนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 ให้กระทรวงคมนาคมเร่งดำเนินการนำระบบตั๋วร่วม (E-Ticket) มาใช้ในการเชื่อมการเดินทางของประชาชนที่สัญจรโดยเรือโดยสาร รถไฟฟ้า และรถประจำทาง ขสมก. จึงได้ดำเนินการจัดหาและติดตั้งระบบ E-Ticket และเครื่องเก็บค่าโดยสารในรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. จำนวน 2,600 คัน ตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดย ขสมก. ได้ทำสัญญาเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์กับกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน โดยบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทหลัก มีกำหนดการเช่า 5 ปี ตามสัญญาเลขที่ ช.15/2560 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2560
การเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ มีการติดตั้งระบบ 2 ส่วนคือ เครื่องอ่านบัตร (E-Ticket) และเครื่องเก็บค่าโดยสาร (Cash Box) ซึ่งจากการทดสอบระบบของคณะกรรมการตรวจรับพบว่าเครื่องอ่านบัตรสามารถอ่านบัตรได้ตามเงื่อนไข TOR ส่วนเครื่องเก็บค่าโดยสารระบบไม่เสถียร ทำงานไม่สมบูรณ์
ขสมก. จึงมีนโยบายจะยกเลิกสัญญาเฉพาะในส่วนของเครื่องเก็บค่าโดยสาร เนื่องจากการใช้งานเครื่องเก็บค่าโดยสารยังมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารเงินสด ระบบทอนเงินใช้เวลานาน ส่งผลกระทบทำให้การจราจรติดขัด ซึ่งในอนาคต ขสมก. จึงใช้ระบบเครื่องอ่านบัตรเพียงอย่างเดียวเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อย และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารเงินสดได้ด้วย
ซึ่งขณะนี้ ขสมก. อยู่ระหว่างตรวจสอบสัญญาและหารือกรมบัญชีกลางในการยกเลิกสัญญาบางส่วนดังกล่าว โดยตามสัญญาฯ ข้อ 9 ระบุไว้ว่า “ผู้เช่ามีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาทั้งหมดหรือบางส่วนได้ หากผู้ให้เช่าไม่ปฏิบัติตามสัญญาข้อหนึ่งข้อใด…”
สำหรับงบประมาณที่ใช้ในโครงการนี้ เนื่องจากเป็นโครงการเช่า หากยกเลิกสัญญาบางส่วนก็ไม่ต้องจ่ายค่าเช่าในส่วนที่ยกเลิก จึงไม่ทำให้เกิดความเสียหายกับ ขสมก. ในส่วนค่าปรับ ผู้ให้เช่าต้องจ่ายค่าปรับจนถึงวันที่ยกเลิกสัญญา ซึ่งปัจจุบัน ขสมก. ยังไม่ได้จ่ายค่าเช่าใดๆ ทั้งสิ้น