×

สภา กทม. ปัดตกญัตติค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ชัชชาติชี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องหารือ อย่างน้อยวันนี้ได้พูดถึง

โดย THE STANDARD TEAM
26.10.2022
  • LOADING...
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

วันนี้ (26 ตุลาคม) ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 4 ประจำปี 2565 มีประเด็นน่าสนใจในระเบียบวาระที่ 6 เรื่องที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเสนอ ประกอบด้วย

 

6.1 ญัตติขอรับความเห็นจากสภา กทม. เรื่อง แนวทางการเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ

 

6.2 ญัตติขอรับความเห็นจากสภา กทม. เรื่อง การดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

 

ภายหลังการประชุมสภา กทม. ช่วงเช้า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากการประชุมกับสภา กทม. ขณะนี้ทางสภา กทม. ยังไม่พิจารณาเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีญัตติขอให้ถอนข้อพิจารณาเรื่องนี้ออกไปก่อน เข้าใจว่ายังมีข้อมูลไม่ครบถ้วน และให้กรรมการวิสามัญเรื่องการจราจรเสนอรายงานให้ทางประธานสภา กทม. รับทราบเรื่องก่อน

 

ในที่ประชุมมีการหารือกับสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) หลายท่าน เรื่องการเก็บค่าโดยสารในอัตราราคาเท่าใด และเรื่องนี้ไม่ใช่อำนาจของ กทม. เป็นอำนาจของคณะกรรมการวิสามัญที่กำหนดจัดตั้ง ซึ่งตนต้องนำข้อมูลทั้งหมดจากการหารือไปพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

 

ชัชชาติกล่าวต่ออีกว่า ตนได้ชี้แจงกับทางสภา กทม. ว่าเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นเรื่องที่ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติไม่ได้เป็นคนเริ่มเรื่องนี้ แต่เป็นเรื่องสำคัญและคิดว่าถึงเวลาที่จะต้องนำมาพูดคุยกัน ทั้งนี้ การนำเรื่องดังกล่าวเข้าญัตติในที่ประชุมไม่ได้ต้องการมติอะไร แต่เป็นการรับฟังความเห็น ซึ่งจากการหารือก็มีความคิดเห็นที่หลากหลาย

 

ในส่วนการตั้งราคาค่าโดยสารเป็นคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเป็นผู้พิจารณา และทางสภา กทม. เองก็มีคณะกรรมการวิสามัญจราจรดูเรื่องนี้อยู่ อย่างน้อยวันนี้เป็นเรื่องที่ดีที่ได้เริ่มต้นพูดคุย และในช่วงบ่ายที่มีการประชุมต่อจะไม่มีการหารือในเรื่องนี้แล้ว จะเป็นเรื่องอื่นๆ

 

“เรื่องราคาค่าโดยสาร 15 บาทต้องพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง เพราะวันนี้ก็ยังไม่ได้รับความเห็นจากการประชุมในสภา กทม. ต้องหารือว่าสุดท้ายสรุปอย่างไร เพื่อที่จะวางแผนได้รัดกุมและรอบคอบมากที่สุด ตนไม่ได้ขออนุมัติราคาค่าโดยสาร 15 บาท เพียงแต่จะแจ้งว่าค่าโดยสารนี้มีส่วนต่าง ซึ่งเรื่องนี้ต้องคุยกับทีมงานอีกครั้งหนึ่ง ต้องยอมรับว่าเรื่องดังกล่าวมีข้อมูลและรายละเอียดจำนวนมาก ขนาดที่ตนดูเรื่องนี้มาโดยเฉพาะยังมีจุดที่ต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ฉะนั้นจึงต้องให้เวลาคณะกรรมการสามัญไปพิจารณาก่อน” ชัชชาติกล่าว

 

ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า ในส่วนของความเห็นที่กระทรวงมหาดไทยได้เสนอมาก่อนหน้านี้ ตนในฐานะฝ่ายบริหาร ขอให้ความเห็นว่าควรปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ร่วมทุน เพื่อให้การคำนวณค่าโดยสารมีความละเอียดขึ้น ทั้งนี้ พ.ร.บ.ร่วมทุนมีการคิดมาละเอียดแล้ว ในส่วนของค่าโดยสารก็ยังอยากให้รัฐบาลช่วยรับผิดชอบ ลดภาระตรงนี้ของ กทม. เพราะสุดท้ายแล้วผู้ที่จ่ายคือประชาชน ทำให้ค่าโดยสารราคาสูง

 

การใช้รถไฟฟ้าก็มีประโยชน์ในทางอ้อม เช่น ลดเรื่องมลภาวะ การจราจรติดขัด และรัฐเองก็ได้ประโยชน์จากการเก็บภาษีความเจริญของเมืองที่ขยาย หลังจากนี้ในส่วนของสภา กทม. ถ้ามีการจัดตั้งคณะกรรมการศึกษาหรือคณะกรรมการสามัญ ตนก็รู้สึกยินดีที่จะมีหน่วยที่เดินคู่กันไป และหารือร่วมกัน เพราะสุดท้ายแล้วปัญหานี้หนีไม่พ้นที่จะต้องกลับมาที่ กทม. ค่าใช้จ่ายงบประมาณต่างๆ ก็ต้องมาจาก กทม. ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

 

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้อำนาจสูงสุดไม่ได้อยู่ที่ กทม. แต่จะอยู่ที่กฎหมายมาตรา 44 ซึ่งในนั้นมีปลัด กทม. เพียง 1 คนที่เป็นกรรมการ อำนาจอยู่ในคณะรัฐมนตรีหมดแล้ว ความเห็นของ กทม. แทบไม่มีสิทธิ์มีเสียง เพราะไม่ใช่หน่วยงานหลัก

 

ส่วนประเด็นถ้าหากโครงการดังกล่าวมีปัญหามาก จะต้องมีการคืนทั้งโครงการให้รัฐบาลดูแลต่อหรือไม่ ชัชชาติกล่าวว่า มีสิทธิ์เป็นไปได้ ไม่ได้มีการปิดกั้น หลักคือต้องเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ถ้าเอาแนวคิดในอุดมคติที่ตนเคยคิด ถ้าทุกเครือข่ายมีเจ้าของคนเดียวก็จะสามารถบริหารจัดการได้ สายตรงไหนที่คนใช้เยอะก็เอาไปช่วยในส่วนของคนที่ใช้น้อยได้ ถ้าอย่างนั้นก็จะสามารถทำให้เฉลี่ยค่าโดยสารได้

 

“ถ้าหากอนาคต กทม. จะคืนโครงการรถไฟฟ้า ก็ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ประชาชนต้องได้ประโยชน์ ค่าโดยสารต้องไม่แพง สามารถเฉลี่ยได้ เช่นเดียวกับที่อยากให้มีโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทาและสายสีเงิน แต่คิดว่าหากให้รถไฟฟ้ามหานคร (MRT) เป็นผู้ลงทุนจะดีกว่า เพราะผ่านเครือข่ายหลายเส้นที่มีการเชื่อมโยงกันไว้ ทำให้ค่าแรกเข้าไม่ต้องมี ค่าโดยสารสามารถเจรจาได้สะดวกขึ้น” ชัชชาติกล่าว

 

ชัชชาติกล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีเขียวในระยะยาวควรจะเลี้ยงตัวเองได้ เพราะเป็นสายที่มีผู้โดยสารมากที่สุด แต่ประเด็นอยู่ที่ว่ารายได้ที่เข้ามา แต่ก็มีรายจ่ายค่าจ้างจำนวนมาก ทำให้เกิดภาระ เรื่องนี้จึงทำให้เกิดการต่อรองที่จะต้องสมเหตุสมผล ประเด็นต่างๆ ของรถไฟฟ้าสีเขียวยังมีอีกมาก

 

ต้องบอกว่า กทม. ยินดีจะจ่ายหนี้ที่เป็นธรรมทุกบาททุกสตางค์ไม่มีเบี้ยว เพราะเป็นเรื่องของความไว้วางใจระหว่าง กทม. กับภาคเอกชน แต่ทั้งนี้หนี้ก็จะต้องมีที่มาที่ไปว่าทำถูกระเบียบ มีขั้นตอนการอนุมัติหรือไม่ เพราะเงินเหล่านี้ไม่ใช่เงินส่วนตัวของ กทม.

 

ส่วนที่หลายคนกังวลว่าสรุปแล้วปีนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวจะเรียกเก็บค่าโดยสารหรือไม่ ชัชชาติกล่าวว่า เรื่องนี้คนที่กังวลน่าจะเป็นคนที่ไม่ค่อยได้ใช้บริการ เพราะคุณกำลังจ่ายเงินและไม่ได้นั่ง แต่ทั้งนี้ก็ไม่แน่ว่าปีนี้จะมีการเรียกเก็บค่าโดยสารหรือไม่ ต้องพิจารณาให้รอบคอบ มีหลายประเด็นที่ต้องคิด 

 

ในส่วนของค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวในส่วนต่อขยายที่ 2 (เหนือ-ใต้) วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ราคาของค่าจ้างเดินรถที่ได้พูดคุยกับทางบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เบื้องต้นราคาแต่ละปีจะแตกต่างกัน ปี 2565 ส่วนต่างที่ กทม. ต้องรับผิดชอบ และจะต้องขอการสนับสนุนจากสภา กทม. อยู่ที่ 5,600 ล้านบาท

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising