×

กทม. ชูแผนลดอ้วนเชิงรุก รับมือวิกฤตโรคอ้วนคนกรุง-เด็กนักเรียน ลุยสร้างเมืองสุขภาพดี

โดย THE STANDARD TEAM
08.05.2025
  • LOADING...
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. เสวนาเรื่องยุทธศาสตร์เชิงรุกลดโรคอ้วนในเด็กรุ่นใหม่ ที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตเดนมาร์ก

วานนี้ (7 พฤษภาคม) ที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเดนมาร์กประจำประเทศไทย รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (รองผู้ว่าฯ กทม.) ได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ ‘ยุทธศาสตร์เชิงรุกเพื่อลดแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของโรคอ้วนของเด็กรุ่นใหม่ ภายในงาน ‘Public Policy Forum : Obesity – A National Threat to Health and Wealth, Act Now for Our Future Generations’ 

 

สถานการณ์โรคอ้วนในกรุงเทพฯ น่าเป็นห่วง

 

รศ.ทวิดา กล่าวถึงผลกระทบของโรคอ้วนในสังคมเมืองว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ดำเนินการตรวจสุขภาพคนกรุงเทพฯ ไปแล้วมากกว่า 789,300 คน พบว่า โรคที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งคือ ภาวะไขมันในเลือดสูง ส่วนโรคเบาหวานอยู่ในอันดับ 3 หรือ 4 ซึ่งสถานการณ์โรคอ้วนในกรุงเทพฯ โดยรวมนั้นน่าเป็นห่วงและแย่กว่าค่าเฉลี่ยของประเทศอย่างมาก โดย 58% ของผู้ที่ตรวจสุขภาพมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ และส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป ขณะที่ข้าราชการในสังกัดกรุงเทพมหานครเองก็มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) หรือค่าน้ำหนักเกินมาตรฐานถึง 68%

 

ในส่วนของเด็กนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 437 แห่ง จากการตรวจสุขภาพนักเรียน 220,000 คน พบว่ามีภาวะน้ำหนักเกินและมีโรคที่เกี่ยวข้องถึง 21.65% โดยพบสูงสุดในกลุ่มเด็กประถมศึกษา รศ.ทวิดา ชี้ว่า ตัวเลขคนกรุงเทพฯ ที่มีภาวะอ้วนสูงนี้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เนื่องจากไลฟ์สไตล์ของคนเมืองที่ ‘Work ไร้ Balance’ หรือขาดสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต ประกอบกับอาหารเพื่อสุขภาพ (อาหารคลีน) ยังมีราคาสูง เข้าถึงได้ไม่ง่าย และเน่าเสียง่าย ทำให้ไม่สะดวกต่อการบริโภค นอกจากนี้ อาหารทั่วไปของคนเมืองมักมีรสเค็มและมีปริมาณโซเดียมเกินความต้องการ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคไต

 

กทม. เดินหน้ามาตรการเชิงรุก สร้างเมืองเอื้อสุขภาพ

 

รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้ใช้งบประมาณของตนเองในการตรวจสุขภาพประชาชนประมาณโรงพยาบาลละ 3-6 ล้านบาท รวมเป็นเงินประมาณ 50 ล้านบาท และนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2568 เป็นต้นมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้อนุมัติให้การตรวจสุขภาพเพิ่มเติมของกรุงเทพมหานครสามารถเบิกจ่ายได้ ซึ่งจะทำให้เห็นภาพรวมสุขภาพของประชาชนที่แท้จริง และสามารถกำหนดนโยบายด้านสุขภาพได้อย่างตรงจุดยิ่งขึ้น

 

ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครได้ส่งเสริมการเดินด้วยการสร้างทางเดินเท้า (Walkway) ซึ่งดำเนินการไปแล้วกว่า 1,100 กิโลเมตร นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรม ‘วิ่งล้อมเมือง’ ซึ่งเป็นความร่วมมือของเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ อย่างแท้จริง เป็นรายการวิ่งเดียวของ กทม. ที่ผู้เข้าร่วมไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยเป็นการจัดกิจกรรมกันเอง ไม่มีการจ้างผู้จัดงาน แต่มีอาหารและเครื่องดื่มบริการพร้อมสรรพ กิจกรรมนี้เชิญชวนคนกรุงเทพฯ มาร่วมวิ่งฟรีในระยะทาง 3, 5 และ 10 กิโลเมตร โดยผู้ที่วิ่งครบระยะจะได้รับเหรียญรางวัล ขณะนี้จัดไปแล้ว 5 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 8,000 คน และคาดว่าหากจัดครบ 50 เขต จะมีผู้เข้าร่วมถึง 50,000 คน

 

“แม้การแก้ไขปัญหาโรคอ้วนและส่งเสริมสุขภาพประชาชนจะทำได้ไม่ง่าย แต่กรุงเทพมหานครพยายามทำให้สิ่งแวดล้อมเอื้อกับการที่คนจะรู้สึกว่าการดูแลสุขภาพไม่ใช่เรื่องยากเกินไป” รศ.ทวิดา กล่าว

 

ความร่วมมือหลายภาคส่วนเพื่ออนาคตสุขภาพคนไทย

 

สำหรับการเสวนาในครั้งนี้ มีผู้ร่วมเสวนาคนสำคัญ ได้แก่ นพ.เพชร รอดอารีย์ นายกสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย, รศ.นพ.ดิลก ภิยโยทัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และเอ็นริโก้ คานัล บรูแลนด์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด

 

กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นโดยสถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเดนมาร์กประจำประเทศไทย ร่วมกับ บริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อสร้างความตระหนักถึงภัยคุกคามในระยะยาวของโรคอ้วนต่อระบบสาธารณสุขและเศรษฐกิจของประเทศ โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดการโรคอ้วนอย่างครอบคลุม และความจำเป็นในการบูรณาการความร่วมมือระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ ผู้กำหนดนโยบาย และภาคอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาแนวทางแก้ไขที่ยั่งยืนสำหรับคนรุ่นต่อไปในอนาคต

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising