เมื่อ 16 กันยายน 2021 หุ้นของ บมจ.บลูบิค กรุ๊ป (BBIK) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai เป็นวันแรก ผ่านการขายหุ้น IPO ที่ราคา 18 บาท ผ่านมาเกือบ 1 ปี ราคาหุ้นของ BBIK เพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าตัว ทำสถิติสูงสุดที่ 98.5 บาท เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ราคาหุ้นที่พุ่งขึ้นตลอด 1 ปีที่ผ่านมา สะท้อนถึงความคาดหวังที่ค่อนข้างสูงของนักลงทุน ด้วยอัตราส่วนการเงินอย่างอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ที่ยังสูงเกือบ 100 เท่า แม้ว่ากำไรของบริษัทจะเติบโตเท่าตัวในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้
แม้ BBIK จะสร้างรายได้เติบโตเฉลี่ย 70% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่ด้วยความคาดหวังที่สูงเช่นนี้ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า บริษัทจะสามารถสร้างการเติบโตได้ทันกับราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นหรือไม่
“ตอนนี้บริษัทเร่งทำกำไรเต็มที่ หากทำได้ก็จะเติบโตได้ทันกับความคาดหวัง แต่ต้องบอกว่าตอนนี้ทุกอย่างคือแผน ซึ่งต้องลงมือทำให้เกิดขึ้นจริง และหากเราอยากทำให้ได้ เราต้องหา Inorganic Growth เพื่อตอบแทนความเชื่อใจของนักลงทุนที่ให้ Valuation กับเรา” พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BBIK ให้คำตอบเกี่ยวกับข้อสงสัยดังกล่าว
พชรกล่าวต่อว่า ภาพของบลูบิคกำลังจะเปลี่ยนไป จากที่เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี เราต้องการจะก้าวไปสู่การเป็น Global Company พร้อมกับเปลี่ยนผ่านตัวเองไปสู่การเป็นพันธมิตรเพื่อช่วยสร้างการเติบโตในระยะยาวให้กับบริษัทต่างๆ
“เราอยากเป็นพันธมิตรที่อยู่กับลูกค้าในทุกมิติ ไม่จำเป็นต้องเป็นที่ปรึกษา แต่สามารถร่วมลงทุนไปกับเขาได้”
ธุรกิจที่ปรึกษาจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของบริษัทในอนาคต หลังจากที่บริษัทจัดโครงสร้างธุรกิจใหม่ แบ่งเป็น 4 ส่วนหลัก ได้แก่
- ธุรกิจที่ปรึกษา เช่น Ingenio, Addenda, BBIK Titans
- ธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม เช่น IT-CAT, BBIK Nexus
- ธุรกิจร่วมทุน เช่น Orbit ซึ่งร่วมทุนกับ OR
- ธุรกิจต่างประเทศ เช่น BBIK Technology Center ในอินเดีย, BBIK UK
นอกจากนี้เพื่อรักษาการเติบโตในช่วง 3-5 ปีข้างหน้าให้ไม่ต่ำกว่าในอดีตที่ผ่านมา บริษัทจำเป็นจะต้องสร้างการเติบโตแบบ Inorganic Growth ผ่านการซื้อกิจการหรือร่วมทุน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาหลายดีล และน่าจะเริ่มเห็นการปิดดีลได้ในสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้า
ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา บลูบิคเติบโตขึ้นต่อเนื่อง ทั้งในแง่จำนวนบุคลากรที่เพิ่มขึ้นจาก 101 คน เมื่อปี 2020 มาเป็น 315 คน ในปัจจุบัน ซึ่งบุคลากรที่เพิ่มขึ้นส่วนมากจะเป็นกลุ่มของผู้เชี่ยวชาญ
“อีก 3 ปีถัดจากนี้ เราคาดหวังว่าจะสร้างรายได้เติบโตไม่ต่ำกว่าในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งโตเฉลี่ยปีละ 70% ขณะที่ 6 เดือนแรกของปีนี้ทำได้ดีกว่าเป้าที่วางไว้ ปัจจุบันเรายังเป็นผู้เล่นรายเล็กมากๆ ในอุตสาหกรรม แต่เรามั่นใจว่าขีดความสามารถของเราไม่แพ้”
สำหรับการลงทุนใน Digital Transformation ทั่วโลก คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 16.5% ระหว่างปี 2022-2024 ขณะที่ในประเทศไทยน่าจะเติบโตได้สูงกว่าในระดับ 30-40% โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม Cloud, Data Analytic และ AI นอกจากนี้ยังมีการประเมินว่าสัดส่วน GDP ของโลกจะเกี่ยวข้องกับดิจิทัลถึง 65%
ขณะที่การบุกตลาดต่างประเทศก่อนหน้านี้บริษัทมีลูกค้าอยู่บ้างแล้ว เช่น บริษัทในสิงคโปร์ ก่อนที่บริษัทจะตั้ง BBIK UK เพื่อขยายฐานลูกค้าในยุโรป นอกจากนี้บริษัทยังมี Technology Center ในอินเดีย เพื่อช่วยสนับสนุนด้านบุคลากร และใน 3 ปีข้างหน้า เชื่อว่ารายได้จากต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นจาก 12% ในปัจจุบันเป็น 15-20% เติบโตราว 70% ต่อปี ในอัตราส่วนเดียวกันกับธุรกิจในประเทศ
“เราเชื่อว่าศักยภาพบุคลากรของเราไม่ได้ด้อยไปกว่าบริษัทต่างชาติ และด้วยประสบการณ์ที่เคยทำให้กับบริษัทต่างชาติมาแล้ว ทำให้เราเริ่มมีลูกค้าในอังกฤษแล้ว นอกจากนี้เรายังมีจุดแข็งในเรื่องต้นทุนที่แข่งขันได้”
ส่วนการขยายตลาดในประเทศ นอกเหนือจากลูกค้าที่เป็นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ บลูบิคต้องการจะขยายฐานลูกค้าในกลุ่ม SMEs ผ่านการให้บริการดิจิทัล แพลตฟอร์มสำเร็จรูป ซึ่งลูกค้า SMEs สามารถเข้าถึงได้ในวงกว้าง เช่น LISMA, HumanOS มากไปกว่านั้นบริษัทยังได้ขยายการให้บริการใหม่ๆ เช่น เรื่องของความปลอดภัยทางไซเบอร์ ผ่านบริษัทใหม่คือ BBIK Titans
อย่างไรก็ดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ BBIK มองว่า ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะทำให้บริษัทไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ คือเรื่องของบุคลากรที่อาจจะไม่เพียงพอทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวเป็นสาเหตุที่ทำให้บริษัทตัดสินใจตั้ง Technology Centel ที่อินเดีย และอาจจะเปิดเพิ่มเติมในบริเวณยุโรปตะวันออก ขณะเดียวกัน บริษัทพยายามแก้ปัญหาด้วยการเป็นพันธมิตรกับสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนหลักสูตรและผลิตคนให้ตรงกับความต้องการ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของโปรแกรมพัฒนาทักษะพนักงานให้ตรงกับความต้องการของตลาด