เมื่อไม่นานมานี้ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ออกมาเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเลือดสำรองที่อยู่ในคลัง ณ ปัจจุบันพบว่า สถานการณ์ความต้องการเลือดในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นมา มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ
โดยปัญหาจากวิกฤตการณ์ที่เลือดในคลังสำรองลดลงนั้น เริ่มส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยในโรงพยาบาลต่างๆ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ๆ หลายแห่ง ที่ต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัดให้ผู้ป่วย รวมทั้งผู้ป่วยเด็กโรคเลือด อาทิ โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ฮีโมฟีเลีย ที่ต้องใช้เลือดในปริมาณมากและต่อเนื่องตลอดชีวิต
โดยโรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า 160 แห่ง ขอเบิกเลือดมายังศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ เฉลี่ยเบิกรวม 2,600-3,000 ยูนิตต่อวัน แต่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติจ่ายเลือดให้ได้เฉลี่ย 1,600-2,000 ยูนิตต่อวัน หรือประมาณ 60% ทำให้โรงพยาบาลต้องเลื่อนการผ่าตัดผู้ป่วยบางรายออกไปก่อน
ซึ่งปัญหาดังกล่าวนับเป็นประเด็นที่ต้องตั้งคำถามกับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ว่าเกิดอะไรขึ้น และในฐานะประชาชนคนไทยอย่างเราสามารถช่วยเหลือได้อย่างไร
THE STANDARD ได้สัมภาษณ์ ภาวิณี คุปตวินทุ รองผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เกี่ยวกับประเด็นของเลือดสำรองในคลังที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
โดยพบว่า สาเหตุหลักเกิดจากช่วงที่ผ่านมา มีผู้บริจาคโลหิตลดน้อยลง สวนทางกับความต้องการใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งปกติจะต้องได้รับโลหิตบริจาคตามเป้าหมาย คือ 2,000-2,500 ยูนิตต่อวัน จากที่ปกติของแต่ละวันได้รับโลหิตบริจาคเฉลี่ย 1,500-1,700 ยูนิตต่อวันเท่านั้น ทำให้ล่าสุดเริ่มเกิดการขาดแคลนสะสมจนทำให้ปริมาณโลหิตคงคลังลดน้อยลงไป
อีกสาเหตุที่คาดการณ์ไว้คือ ช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงปิดภาคเรียนหรือปิดเทอม ซึ่งส่งผลให้ครอบครัวเลือกที่จะทำกิจกรรมอย่างอื่นที่ไม่ใช่การบริจาคเลือด จึงทำให้ปริมาณเลือดที่ควรจะได้รับ 2,000-2,500 ยูนิตต่อวัน ลดลงไปด้วย
นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมการบริจาคโลหิตของคนไทย ไม่ได้บริจาคสม่ำเสมอทุก 3 เดือน โดยข้อมูลจากศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ระบุให้เห็นว่า ผู้บริจาคเลือด 1 คนจะให้บริจาค 2-3 ครั้งต่อปี สิ่งนี้จึงทำให้เห็นว่าความสม่ำเสมอในการเข้าบริจาคโลหิตหายไป ทำให้ในบางเดือนมีคนมาบริจาคเยอะ หรือบางเดือนมีคนบริจาคน้อย
และอีกสาเหตุคือ วิถีการใช้ชีวิตในปัจจุบันของคนไทยเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก และปฏิเสธไม่ได้ว่ากระทบต่อการบริจาคโลหิตในแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการดื่ม กิน หรือเที่ยว ซึ่งล้วนแต่ส่งผลต่อระบบการบริจาคเลือดในยุคปัจจุบันพอสมควร
ปัจจุบันเลือดที่ได้รับจากการบริจาค ใช้ได้เพียง 88% จาก 100%
ปัจจุบันศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย จะมีการควบคุมคุณภาพของเลือด ซึ่งแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ก่อนเริ่มการบริจาคโลหิต ขั้นตอนนี้จะเป็นการตรวจสภาพของผู้ที่เข้ารับบริจาคโลหิตว่า มีสุขภาพที่พร้อมและแข็งแรงพอที่จะบริจาคโลหิตหรือไม่ แล้วเมื่อบริจาคไปแล้วจะปลอดภัยต่อร่างกายหรือเปล่า และโลหิตที่ได้รับจะสามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยได้จริงหรือไม่
“โดยสัดส่วนข้อมูลที่พบคือ 10% คือตัวเลขของผู้เข้าบริจาคโลหิตที่ไม่ผ่านในขั้นตอนการตรวจสุขภาพจึงทำให้บริจาคไม่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดไม่มากพอ หรือที่เรียกกันว่าค่าความเข้มของเลือดต่ำกว่าเกณฑ์ที่จะบริจาคโลหิตได้ โดยสาเหตุมักเกิดจากวิธีการใช้ชีวิตและการทานอาหารของแต่ละคน”
ขั้นตอนที่ 2 โลหิตที่ได้รับการบริจาคแต่ไม่สามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยได้ เพราะทุกครั้งหลังจากที่ได้รับเลือดจากการบริจาคแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการคัดกรองเพื่อทดสอบว่าเลือดที่ได้รับมาผ่านเกณฑ์หรือไม่ ซึ่งจะเป็นขั้นตอนของการตรวจหาเชื้อไวรัสต่างๆ
โดยในเบื้องต้น หากพบเลือดที่มีการปนเปื้อนเชื้อไวรัส 4 ชนิด อันประกอบไปด้วย ไวรัสตับอักเสบบี, ไวรัสตับอักเสบซี, เอชไอวี และ ซิฟิลิส ก็มีความจำเป็นต้องทำลายเลือดที่พบเชื้อดังกล่าวทันที ซึ่งในปัจจุบันพบเลือดที่ได้รับการบริจาคมาแต่ไม่ผ่านการตรวจเชื้อไวรัสอยู่ที่ประมาณ 2%
ดังนั้น เมื่อทำการรวบรวมเลือดที่ได้รับจากการบริจาคทั้ง ขั้นตอนที่ 1 และ 2 จะพบว่าการรับบริจาคในแต่ละครั้ง เราต้องเสียเลือดที่ควรจะได้รับถึง 12% ในแต่ละครั้ง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการตอกย้ำเพิ่มขึ้นไปอีกว่า พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปนั้นส่งผลต่อการรับบริจาคไม่น้อย
เข้าใจเรื่องเกณฑ์การรับบริจาคอีกครั้ง หากไม่อยากให้เลือดของเราเสียของ
สำหรับบุคคลที่จะเข้ารับการบริจาคโลหิตมีความจำเป็นมากที่จะต้องผ่านเกณฑ์เบื้องต้น ประกอบด้วย
1. ผู้เข้ารับบริจาคต้องมีอายุ 17-70 ปี ทั้งนี้เฉพาะผู้ที่มีอายุ 17 ปี หากมีความต้องการที่จะบริจาคโลหิตจำเป็นต้องมีหนังสือรับรองความประสงค์จากผู้ปกครอง แต่สำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปสามารถเข้าบริจาคโลหิตได้ทันทีโดยที่ไม่ต้องใช้หนังสือรับรองใดๆ ทั้งสิ้น
2. น้ำหนักจะต้องเกิน 45 กิโลกรัมขึ้นไป
3. ในวันที่รับบริจาคจำเป็นต้องนอนพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะถ้าหากพบว่านอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมง จะไม่สามารถเข้าบริจาคโลหิตได้ เนื่องจากจะเป็นอันตรายต่อผู้บริจาคเอง
4. ควรทานอาหารและดื่มน้ำให้มากๆ และที่สำคัญคือ ก่อนบริจาคเลือดควรงดอาหารประเภทไขมัน เพราะจะทำให้พลาสมาที่อยู่ในเลือดมีไขมันเจือปน และจะไม่สามารถใช้งานได้ ทำให้เลือดที่ได้รับบริจาคนั้นถูกทิ้งไป ต่อมา ผู้บริจาคจำเป็นต้องดื่มน้ำอย่างน้อย 2 แก้วเพื่อปรับสมดุลในร่างกาย เวลาบริจาคโลหิตเสร็จจะได้ไม่เกิดอาการวิงเวียนศีรษะหรือเป็นลม
5. การตรวจคัดกรองสุขภาพทั่วไป ผู้บริจาคจะต้องไม่มีไข้ ไม่ทานยาแก้อักเสบ ไม่ได้ผ่านการถอนฟันหรืออุดฟันมาภายใน 7 วัน และจะดีมากถ้าไม่ผ่านการเจ็บป่วยหรือเข้าโรงพยาบาลในช่วง 3 ถึง 6 เดือน เพราะข้อนี้ถือเป็นการบ่งชี้ว่าผู้ให้บริจาคมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์พอที่จะบริจาคเลือดได้
การบริจาคให้อะไร…มากกว่าบุญ
การเข้ารับการบริจาคโลหิตในแต่ละครั้งเปรียบเสมือนการได้ตรวจสุขภาพไปในตัว เพราะอย่างน้อยเราก็ได้ตรวจวัดความดัน ตรวจวัดระดับความเข้มข้นของเลือดในร่างกายเรา แล้วยังมีขั้นตอนอีกมากมายที่จะทำให้ผู้เข้ารับบริจาคได้ความรู้สึกเหมือนเป็นการเช็กสุขภาพของตนเองไปในตัว
นอกจากนี้ การบริจาคโลหิตยังเป็นการช่วยผลัดเซลล์เม็ดเลือดในร่างกายเราเอง เพราะหลังจากที่เราเสียเลือดจากการบริจาคไปจำนวนหนึ่ง ในปริมาณที่ร่างกายรับได้ มันก็จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเซลล์เม็ดเลือดขึ้นมาทดแทน และจะส่งผลให้เซลล์เม็ดเลือดของเราดีขึ้น ซึ่งสิ่งนี้จึงเป็นผลพลอยได้ที่ผู้บริจาคจะได้รับ หลังการให้บริจาคในแต่ละครั้ง
สุดท้าย ในฐานะตัวแทนศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย จึงขอเชิญชวนผู้บริจาคโลหิตและประชาชนทั่วไป ร่วมบริจาคโลหิตเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศให้ได้รับการรักษาได้อย่างทันท่วงที สามารถติดต่อบริจาคโลหิตได้ที่ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ศูนย์รับบริจาคโลหิตและพลาสมา สถานีกาชาดที่ 11 วิเศษนิยม บางแค หรือบริจาคได้ที่ สาขาบริการโลหิต 6 แห่งในกรุงเทพฯ ได้แก่ โรงพยาบาลตำรวจ, โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า, โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช, สถาบันพยาธิวิทยา ศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้า และโรงพยาบาลวชิรพยาบาล คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
ในส่วนภูมิภาค บริจาคโลหิตได้ที่ ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ และงานบริการโลหิต รวม 13 แห่ง ได้แก่ ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ, จังหวัดลพบุรี, ชลบุรี, ราชบุรี, นครราชสีมา, ขอนแก่น, อุบลราชธานี, นครสวรรค์, พิษณุโลก, เชียงใหม่, นครศรีธรรมราช (ทุ่งสง), สงขลา, ภูเก็ต และงานบริการโลหิต สถานีกาชาดหัวหินเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสาขาบริการโลหิตโรงพยาบาลประจำจังหวัดทั่วประเทศ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และจัดหาผู้บริจาคโลหิต 0 2256 4300,0 2263 9600-99 ต่อ 1101,1760,1761
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์