โชคดีอย่างหนึ่งของคนทำอาชีพหมอคือ ได้พบเจอแลกเปลี่ยนความเห็นกับคนที่หลากหลาย แม้คนที่เข้ามาพบส่วนใหญ่จะกำลังป่วยไข้และต้องการคำปรึกษา แต่หลายครั้งที่คนไข้เหล่านั้นกลับสอนหรือให้แง่คิดดีๆ กับหมอ
เมื่อไม่นานมานี้เอง หมอได้มีโอกาสรักษาคนไข้ต่างชาติท่านหนึ่ง ซึ่งมาพร้อมกับแฟ้มสันกว้าง 3 เล่ม ภายในแฟ้มแต่ละเล่มถูกจัดระเบียบข้อมูลมาเป็นอย่างดี มีตั้งแต่ภาพรวม ให้หมอสามารถเห็นประวัติการรักษาเป็นไทม์ไลน์ ไล่ลงไปในรายละเอียดประวัติการรักษาที่ผ่านมาแต่ละโรงพยาบาล ทั้งการวินิจฉัย ประวัติยา ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ รวมไปถึงผลการตรวจทางรังสีเช่น เอกซเรย์ อัลตราซาวด์ พูดง่ายๆ ว่า คนไข้ใหม่ที่เพิ่งเจอกันครั้งแรกนี้ นำ Personal Health Record ที่สรุปประวัติการรักษาตลอดทั้งชีวิต (เท่าที่เขารวบรวมได้) มาให้ศึกษา เพื่อให้แพทย์เข้าใจร่างกายและโรคของเขาได้ละเอียดขึ้น แม้จะเพิ่งเริ่มต้นรู้จักกัน
ไม่แน่ใจว่าหมอท่านอื่นจะรู้สึกอย่างไร แต่สำหรับหมอเอง รู้สึกชอบคนไข้ที่ให้ความสำคัญกับประวัติการรักษาของตัวเอง รู้ว่ากำลังป่วยด้วยโรคอะไร กำลังรับประทานยาอะไรอยู่ หรือเคยตรวจอะไรไปบ้าง เพราะช่วยให้การดูแลรักษาเกิดความต่อเนื่องและแม่นยำมากขึ้น โดยเฉพาะในคนไข้ที่ต้องย้ายถิ่นฐานบ่อยครั้ง การมีข้อมูลสุขภาพของตัวเอง หรือ Personal Health Record เก็บไว้กับตัวเป็นประโยชน์อย่างมาก
นอกจากในคนไข้ที่ต้องย้ายถิ่นฐานแล้ว สำหรับคนไข้ที่พบแพทย์หลายโรงพยาบาล หลากสาขา แม้จะเป็นโรงพยาบาลในประเทศเดียวกันหรือเครือเดียวกัน ก็ยังมีการกระจัดกระจายของข้อมูลอยู่มาก ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว แพทย์แต่ละท่านจะมีข้อมูลเฉพาะในส่วนของตัวเอง โรงพยาบาลแต่ละแห่งก็ล้วนมี Medical Record ในระบบของตัวเอง ทั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์บ้าง แบบกระดาษบ้าง ไม่มีการเชื่อมต่อข้อมูลกันตลอดแบบไร้ตะเข็บ หากจะขอข้อมูลก็จำเป็นต้องขอเป็นครั้งๆ และส่วนใหญ่จะยังมาในรูปแบบกระดาษที่ปรินต์มาแบบไม่ครบถ้วน ประวัติที่รับรู้จึงเหมือนภาพจิ๊กซอว์ที่ถูกต่อไม่สมบูรณ์
ปัญหาเรื่องข้อมูลทางการแพทย์ไม่ใช่ปัญหาใหม่ มีความพยายามที่จะใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาปลดล็อกปัญหานี้เป็นเวลานับสิบปีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีวี่แววจะประสบความสำเร็จเพราะอุปสรรคหลายประการ ในช่วงปีที่ผ่านมานี้ อีกเทคโนโลยีหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดถึง และทดลองใช้ในหลายประเทศคือ บล็อกเชน (Blockchain)
บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ในการเก็บและกระจายข้อมูล เพื่อให้การทำธุรกรรมต่างๆ โปร่งใสโดยไม่ต้องใช้คนกลาง บล็อกเชนจึงถูกพูดถึงอย่างมากในแง่ของธุรกรรมการเงิน แต่แท้จริงแล้วในทางการแพทย์ บล็อกเชนก็ถูกนำมาศึกษาอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นการเบิกค่ารักษาผ่านประกันให้รวดเร็วขึ้น การนำมาใช้ติดตามระบบซื้อขายยาเพื่อป้องกันยาปลอม รวมไปถึงการนำมาใช้เชื่อมต่อกับข้อมูลสุขภาพซึ่ง Massachusetts General Hospital, Taipei Medical University, Israel Deaconess Medical Center และโรงพยาบาลอีกหลายแห่งทั่วโลกกำลังทดลองในเรื่องนี้
ลองหลับตาแล้วจินตนาการถึงโลกอีกใบ…
เมื่อคุณเดินทางไปเล่นสกีที่นิเซโกะ แล้วเกิดพลาดท่าล้มจนต้องเข้าโรงพยาบาล คุณสามารถส่งรหัสเปิดสิทธิให้แพทย์ที่นิเซโกะเข้าดูประวัติทางการแพทย์ของคุณได้ทันที เพื่อให้แพทย์ทราบถึงโรคประจำตัว ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต ประวัติแพ้ยา รวมถึงประวัติทางสุขภาพอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการรักษา
จินตนาการต่อไปอีกว่า ถ้าคุณโชคร้ายกระดูกขาหัก และตัดสินใจอยากกลับมาผ่าตัดที่เมืองไทย เมื่อคุณถูกส่งตัวกลับมา แพทย์ในไทยก็สามารถรับรหัสเปิดสิทธิจากคุณ เพื่อเปิดดูประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลในนิเซโกะ ดูผลเอกซเรย์ และทราบว่าแพทย์ชาวญี่ปุ่นได้ให้การรักษาอย่างไรไปแล้วบ้างโดยละเอียด
เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี นานจนคุณเกือบลืมไปแล้วว่าเคยผ่าตัดกระดูกขา จนกระทั่งคุณรู้สึกเจ็บที่ต้นขาขึ้นมาหลังจากวิ่งฮาล์ฟมาราธอน ข้อมูลการผ่าตัดทั้งหมดจะถูกดึงมาดูได้ทันทีกับแพทย์ท่านใหม่ที่คุณปรึกษา แม้จะเป็นแพทย์ต่างโรงพยาบาลหรือแม้แต่ต่างประเทศกันก็ตาม
ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ประวัติการรักษาจากเวชระเบียนในโรงพยาบาล จะถูกเชื่อมต่อไปยัง Personal Health Record ที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการจัดการข้อมูล คนไข้จะเป็นผู้มีสิทธิในการอนุญาตให้แพทย์เข้ามาดูข้อมูลประวัติเก่าจากโรงพยาบาลอื่นๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นผลตรวจทางพันธุกรรม ประวัติการผ่าตัด ประวัติวัคซีน ประวัติการแพ้ยา ประวัติอื่นๆ ที่จะมีผลต่อการรักษา รวมถึงข้อมูลสุขภาพที่ถูกบันทึกจาก Wearable Device ต่างๆ โดยประวัติทั้งหมดที่ถูกเก็บไว้นั้น จะไม่สามารถถูกแฮกหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ มีการบันทึกไว้ว่าใครเข้าถึงข้อมูลและบันทึกอะไรเพิ่มเติมไปบ้าง ทุกขั้นตอนจึงถูกเปลี่ยนแปลงให้โปร่งใสขึ้น
การฟ้องร้องคดีความทางการแพทย์ส่วนใหญ่ เกิดจากความ ‘ไม่เชื่อใจ’ ที่เกิดขึ้นระหว่างคนไข้กับบุคลากรทางการแพทย์ แต่หากประวัติการรักษา ข้อมูลสัญญาณชีพ ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ บันทึกการผ่าตัด ล้วนถูกเชื่อมเข้าสู่ระบบที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และปลอมแปลงไม่ได้ ‘ความเชื่อใจ’ จะกลับมาเชื่อมความสัมพันธ์ที่ถูกบั่นทอนได้หรือไม่?
แม้บล็อกเชนจะดูเป็นความหวังที่น่าสนใจ แต่ยังมีคำถาม และข้อจำกัดอีกมากมายที่ยังไม่มีคำตอบในปัจจุบัน เช่น บล็อกเชนจะรองรับปริมาณและความซับซ้อนของข้อมูลทางการแพทย์ได้หรือไม่ ความเป็นไปได้ที่ผู้เกี่ยวข้องในการครอบครองข้อมูลหลายฝ่ายจะยอมทลายกำแพงลงเพื่อเปิดเผยข้อมูลเข้าหากัน ความเป็นส่วนตัวของข้อมูลมีมากน้อยเพียงใด ความปลอดภัยของบล็อกเชนเมื่อโลกก้าวสู่ยุค Quantum Computing ในอนาคต ฯลฯ
ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน เรายังตอบชัดเจนไม่ได้ว่าบล็อกเชนจะมาช่วยให้ Personal Health Record ที่สมบูรณ์แบบเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ แต่แนวโน้มที่โลกกำลังหมุนไปนั้น แสดงให้เห็นว่าข้อมูลทางการแพทย์จากโรงพยาบาล กำลังจะค่อยๆ ถูกส่งมอบกลับไปยังคนไข้ ควบรวมเข้ากับข้อมูลสุขภาพของคนไข้เองจากแหล่งต่างๆ ข้อมูลมหาศาลเหล่านี้ หากได้รับการจัดระเบียบและศึกษาด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมภายใต้กฎกติกาที่โปร่งใส จะก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ซึ่งจะนำพาเราไปสู่การแพทย์แห่งอนาคตที่แม่นยำมากขึ้น และผิดพลาดน้อยลง
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- Ekblaw, Ariel, et al. “A Case Study for Blockchain in Healthcare:“MedRec” prototype for electronic health records and medical research data.” Proceedings of IEEE open & big data conference. Vol. 13. 2016.
- Kuo, Tsung-Ting, Hyeon-Eui Kim, and Lucila Ohno-Machado. “Blockchain distributed ledger technologies for biomedical and health care applications.” Journal of the American Medical Informatics Association 24.6 (2017): 1211-1220.
- www.healthcareitnews.com/news/blockchain-use-case-electronic-health-records
- openledger.info/insights/blockchain-healthcare-use-cases/