×

BlackRock กลุ่มบริหารการเงินการลงทุนยักษ์ของโลก สนใจลงทุนในกองทุนส่งเสริมธุรกิจพลังงานสะอาดและธุรกิจเชื่อมกับการพัฒนาที่ยั่งยืนในไทย

20.09.2023
  • LOADING...

เช้าวันนี้ (20 กันยายน ตามเวลาประเทศไทย) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่าน X (Twitter) ว่า เมื่อเวลา 11.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐอเมริกา มีโอกาสพบกับ ลาร์รี ฟิงก์ (Mr.Larry Fink)  ซีอีโอกลุ่มบริษัท BlackRock ผู้นำในการบริหารการเงินและการลงทุนของโลก เพื่อศึกษาแนวทางในการลงทุนในประเทศไทย ทั้งการลงทุนขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวกับ Clean Energy เพื่อขยายฐานการลงทุนและการผลิตในประเทศไทย 

 

โดยฟิงก์ให้ความสนใจที่จะลงทุนใน Sustainability-Linked Bond ที่จะออกโดยรัฐบาลไทย และมีแนวโน้มของการลงทุนในบริษัทในประเทศไทยเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีครับ

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 กันยายน ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐอเมริกา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุม SDG Summit ประจำปี 2023 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดขึ้นในห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 78

 

นายกรัฐมนตรีย้ำความสำคัญของระบบพหุภาคีนิยมที่มีประสิทธิภาพ การปฏิรูประบบการเงินระหว่างประเทศ และความจำเป็นในการลงทุนเพิ่ม เพื่อเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังได้ย้ำถึงความจำเป็นในการขับเคลื่อน SDGs อย่างพลิกโฉม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยึดคนเป็นศูนย์กลางและให้ความสำคัญกับโลก 

 

โดยนายกรัฐมนตรีได้โพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์ม X ระหว่างการร่วมการประชุม SDG Summit ว่า คำแถลงแรก ณ ที่ประชุม #UNGA78 SDG Summit 2023 เพื่อยืนยันความมุ่งมั่นของไทยในการบรรลุ ‘เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน’ #SDGs และการมุ่งสู่เป้าหมาย ดังนี้

 

  1. ภายในทศวรรษนี้เราตั้งใจสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เข้มแข็ง รัฐบาลของผมจะมีบทบาทเชิงรุกที่สร้างสรรค์บนเวทีโลก ผ่านความร่วมมือกับนานาประเทศ เพื่อเสริมสร้างระบบพหุภาคีที่สามารถก้าวข้ามความท้าทายที่จะบรรลุถึงเป้าหมาย

 

  1. ประชาคมระหว่างประเทศต้องสรรหาแหล่งเงินทุน จัดการกับช่องว่างด้านเงินทุนสำหรับ SDG เพิ่มการลงทุนเพื่อบรรลุ SDG และแสวงหาแหล่งเงินทุนใหม่ๆ รวมถึงพันธบัตรสีเขียวและผ่านเศรษฐกิจดิจิทัล

 

  1. สร้างความเสมอภาคในระบบการเงินระหว่างประเทศ ดังนั้นไทยจึงสนับสนุนข้อเรียกร้องของเลขาธิการ UN ให้มีการปฏิรูปและอัดฉีดเงินทุนกระตุ้น SDG จำนวน 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จนถึงปี 2030

 

  1. ในระดับชาติ ไทยได้ออกพันธบัตรสีเขียว (Green Bond) จำนวน 2 ชุด ซึ่งช่วยระดมเงินทุนได้ถึง 12,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อการลงทุนลดก๊าซเรือนกระจกและเพื่อสังคม รวมทั้งได้จัดทำมาตรฐานสำหรับการประเมินการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

 

  1. บริษัทในไทยกว่า 100 บริษัทที่อยู่ใน Global Compact Network Thailand ได้ให้คำมั่นว่า จะลงทุนมูลค่า 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในโครงการที่เกี่ยวข้องกับ SDG ภายในปี 2030

 

  1. ในปีหน้าเราตั้งเป้าจะออกพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืนเพื่อกระตุ้นการเติบโตของตลาดพันธบัตรสีเขียว โดยเพิ่มแรงจูงใจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ เพื่อบรรลุ SDG

 

ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลของผมให้คำมั่นที่จะลดความเหลื่อมล้ำจากรุ่นสู่รุ่นภายในปี 2030 รวมทั้งจัดให้คนไทยทุกคนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลให้เหลือต่ำกว่า 0.25% ในด้านสิ่งแวดล้อม เรามีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือ 40% ภายในปี 2040 เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2040 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือ 0 ภายในปี 2065

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X