×

สรุปจากต้นจนจบ อนุกรรมาธิการฯ คลายปม ‘ปลาหมอคางดำ’ เริ่มที่ไหน จบอย่างไร?

25.09.2024
  • LOADING...

วันนี้ (25 กันยายน) ที่อาคารรัฐสภา ‘คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบ จากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย’ นำโดย นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ พร้อมด้วย ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส. กทม. พรรคประชาชน ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ แถลงสรุปผลการดำเนินงาน

 

นพ.วาโยกล่าวว่า ปลาหมอคางดำไม่เคยปรากฏขึ้นในราชอาณาจักรไทย กระทั่งช่วงปลายปี 2553-2555 มีเอกชนรายหนึ่งขอนำเข้าปลาหมอคางดำเข้ามา ที่ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ต่อมาช่วงปลายปีเดียวกัน เริ่มพบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่ดังกล่าว และพบรายงานว่าตั้งแต่ช่วงต้นปี 2555 เป็นต้นมา มีการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นจนส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำพื้นถิ่นในแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมถึงสัตว์น้ำที่ถูกเพาะเลี้ยงตามบ่อหรือฟาร์มจนได้รับความเสียหาย ซึ่งแพร่ระบาดไปแล้วกว่า 79 อำเภอ ในพื้นที่ 19 จังหวัด

 

คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำฯ แถลงผลการศึกษา

 

นพ.วาโย แถลงว่า จากการได้ค้นหาสาเหตุของปัญหา พบว่า ปรากฏเอกชนเพียงรายเดียว คือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ในปี 2549 ที่ดำเนินการขออนุญาตนำเข้ามาในราชอาณาจักรต่อกรมประมง ซึ่งมอบหมายให้คณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) เป็นผู้พิจารณา และได้รับอนุญาต แต่บริษัทยังไม่ได้นำเข้ามาในช่วงเวลาดังกล่าว 

 

จนกระทั่งมีการขออนุญาตในปี 2555 ซึ่งครั้งนี้นำเข้าปลาหมอคางดำจำนวน 2,000 ตัวจากกานา โดยแจ้งว่าเพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิล ณ ศูนย์วิจัยสัตว์น้ำของบริษัท ด้วย 2 เงื่อนไข คือ

 

  1. ขอให้มีการเก็บตัวอย่างครีบดองในน้ำยาเก็บตัวอย่าง และส่งให้กรมประมงโดยไม่ทำให้ปลาตาย

 

  1. เมื่อสิ้นสุดการศึกษาวิจัย ให้รายงานผลการศึกษา หากผลการศึกษาไม่เป็นไปตามเป้าหมายและไม่ประสงค์ที่จะทำการศึกษาต่อไป ให้ทำลายปลาดังกล่าวทั้งหมด และแจ้งกรมประมงเพื่อส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบการทำลาย

 

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ชี้แจงว่า เนื่องจากปลายังมีขนาดเล็กและเปราะบางเกินไป จึงไม่สามารถตัดครีบปลาได้ จึงเป็นการพ้นวิสัยที่ไม่ต้องปฏิบัติตามข้อ 1 และเป็นหน้าที่ของกรมประมงที่จะต้องทำ

 

โดยเมื่อบริษัทไม่สามารถทำการศึกษาวิจัยได้ จึงทำลายและฝังกลบ พร้อมส่งมอบให้กับกรมประมงจำนวน 25 ตัว แต่ทว่ารายงานของกรมประมงไม่ปรากฏผลดังกล่าว ทั้งยังระบุว่าการดำเนินการข้อ 1 เป็นหน้าที่ของบริษัท

 

ปลาหมอคางดำที่แพร่ระบาดในพื้นที่น้ำจืดและน้ำกร่อย จังหวัดสมุทรสาคร

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

ต่อมาเมื่อเกิดการระบาด กรมประมงศึกษาวิเคราะห์เส้นทางการแพร่ระบาดจากโครงสร้างพันธุกรรมของประชากร พบว่าแต่ละประชากรย่อยไม่มีความแตกต่างกันทางพันธุกรรมมากนัก บ่งชี้ว่าประชากรปลาหมอคางดำที่แพร่ระบาดในไทยมีแหล่งที่มาร่วมกัน

 

นอกจากนี้ การแพร่กระจายของปลาหมอคางดำมีลักษณะเป็นหย่อมไม่เชื่อมกัน บ่งชี้ว่าการแพร่ระบาดในแต่ละพื้นที่อาจมีสาเหตุเริ่มต้นมาจากการเคลื่อนย้ายปลาหมอคางดำโดยการกระทำของมนุษย์มากกว่าการแพร่กระจายไปตามเส้นทางน้ำที่ติดต่อกับชายฝั่งทะเล

 

ล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2567 กรมประมงได้นำข้อมูลลำดับพันธุกรรมของปลาหมอคางดำที่ระบาดใน 6 จังหวัด ซึ่งเก็บอยู่ในธนาคารพันธุกรรมหรือ DNA Bank ของกรมประมง ประกอบกับการสนับสนุนข้อมูลจากฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ พบว่าปลาหมอคางดำที่เก็บตัวอย่างจาก 6 จังหวัดที่มีรายงานการระบาดในช่วง พ.ศ. 2560-2564 อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับตัวอย่างข้อมูลทางพันธุกรรมที่มาจากประเทศกานาและโกตดิวัวร์

 

รัฐควรฟ้องร้องหาผู้รับผิดชอบ

 

ขณะที่ณัฐชากล่าวว่า รัฐควรมีการดำเนินการทางกฎหมายสอบหาผู้ซึ่งต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในราชอาณาจักร โดยปรากฏพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มาตรา 97 ซึ่งบัญญัติว่า ‘ผู้ใดกระทำหรือละเว้นการกระทำใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ที่เป็นการทำลายหรือทำให้สูญหายเสียหายจากทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นของรัฐหรือสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ เพื่อใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายสูญหายหรือเสียหายไป

 

สำหรับหน่วยงานที่ควรดำเนินการดังกล่าวเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ได้แก่ กรมประมง, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์การบริหารส่วนจังหวัดต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ

 

ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ รองประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ ขณะให้สื่อมวลชนรับประทานปลาหมอคางดำทอด

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมาธิการฯ ยังเห็นว่า กระทรวงต่างๆ ควรบูรณาการแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการเกษตรกรรม การจัดหาแหล่งน้ำ และพัฒนาระบบชลประทาน ซึ่งส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร ตลอดทั้งการผลิตสินค้าเกษตรกร จึงควรเร่งดำเนินการจัดการและประเมินความเสียหายทางเกษตรเศรษฐศาสตร์ ค่าเสียหายทางเศรษฐกิจ ผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดและเยียวยาค่าเสียหาย

 

สำหรับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ควรเร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการทางกฎหมาย ต่อผู้ซึ่งรับผิดชอบตามกฎหมาย รวมถึงกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจส่งเสริมสนับสนุนกำกับการอุดมศึกษาวิจัย และนวัตกรรมก็ควรร่วมด้วย

 

จบหน้าที่อนุกรรมาธิการฯ ฝากการบ้านรัฐบาล

 

นพ.วาโย ยังกล่าวถึงข้อเสนอทั้ง 26 ข้อของคณะอนุกรรมาธิการฯ ว่ายังต้องมีการปรับปรุงใหม่ เนื่องจากต้องเรียบเรียงและปรับตามสถานการณ์ ก่อนจะมีการเผยแพร่ฉบับเต็มแก่สาธารณชน ซึ่งมีทั้งข้อเสนอแนะและข้อสังเกตที่พบ รวมถึงการบ่งชี้ไปในแนวทางไหน และควรมีการดำเนินการอย่างไร

 

ส่วนจะถือว่าพอใจกับผลการศึกษาที่ทำมาหรือไม่นั้น นพ.วาโย กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ คณะอนุกรรมาธิการฯ และผู้แทนประชาชน ต้องบอกว่าเราสามารถทำได้ในระดับหนึ่ง ความพอใจคืออย่างน้อยเรารับทราบปัญหาที่แท้จริงจากฝั่งประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงปัญหาที่พบของตัวเจ้าหน้าที่รัฐเอง เพราะเขามีความคับแค้นใจในบางครั้งเหมือนกัน ซึ่งได้ชี้แจงกับคณะอนุกรรมาธิการฯ แล้ว

 

โดยจากการเรียบเรียงคำตอบของปัญหาทั้งหมด จึงนำมาสู่บทสรุปว่าต้องมีผู้ลงมือกระทำอะไรสักอย่าง

 

“ผมยอมรับว่าอำนาจของคณะอนุกรรมาธิการฯ ค่อนข้างแคบ จึงทำได้เพียงข้อเสนอแนะ แต่อยากให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชน รวมถึงภาคีเครือข่ายต่างๆ สามารถนำข้อมูลที่เรารวบรวมมานี้ไปดำเนินการต่อ” นพ.วาโย ระบุ

 

นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ ในการประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำแพร่ระบาด

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

นพ.วาโย กล่าวว่า แม้คณะอนุกรรมาธิการฯ จะหมดหน้าที่ แต่หน้าที่ในการเป็นผู้แทนประชาชนยังคงดำเนินอยู่ต่อไป ซึ่งวางเอาไว้ว่า เรื่องนี้ต้องไม่จบแค่นี้ เราจะนำเรื่องนี้เข้ามาติดตามและตรวจการบ้านเรื่อยๆ เป็นระยะ ไม่เกิน 3 เดือน จะพยายามคอยดูความคืบหน้าและนำเข้ามาประชุมในคณะกรรมาธิการชุดใหญ่ และคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กรรมาธิการ อว.) สภาผู้แทนราษฎร ต่อไป

 

นพ.วาโย ยืนยันว่า คณะอนุกรรมาธิการฯ ไม่ใช่ผู้ที่มีอำนาจตัดสิน แต่เป็นผู้มีอำนาจในการเก็บรวบรวมรายงานต่างๆ ส่วนงบประมาณจำนวน 450 ล้านบาทนั้น ไม่มีการขอเพิ่มเติม เพียงให้กรมประมงจัดสรร พร้อมยืนยันว่าแม้คณะอนุกรรมาธิการฯ หมดวาระแล้ว แต่งบประมาณส่วนนี้ยังไม่ได้ทิ้ง ทั้งนี้ หากใครมีข้อมูลเพิ่มเติมสามารถส่งมาที่คณะกรรมาธิการ อว. ได้

 

ส่วนจะมีการดำเนินการเรื่องนี้ต่อหรือไม่ นพ.วาโย ยอมรับว่า ฝ่ายนิติบัญญัติไม่มีอำนาจไปบังคับให้เขากระทำการตามคำแนะนำได้ ซึ่งเป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่ง ย้ำว่าทุกหน่วยงานมีหน้าที่ของตนเอง หากมีเจ้าหน้าที่ที่มิได้ทำตามหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ประชาชนก็ต้องตรวจสอบ

 

“ขณะนี้มีอย่างน้อย 15 หน่วยงานที่ได้เข้าสู่กระบวนการของศาลปกครอง ทางด้านประชาชนเองเราก็ได้เชิญสภาทนายความและภาคประชาชนเข้ามาร่วมด้วยเช่นเดียวกัน และเริ่มมีการดำเนินการฟ้องร้องคดีไปแล้ว และหลายหน่วยงานก็มีการออกระเบียบในพื้นที่กรุงเทพฯ ในการกำหนดเกณฑ์เยียวยาออกมาแล้ว ซึ่งผมเชื่อว่าไม่กี่เดือนนี้จะสัมฤทธิ์ผล” นพ.วาโย กล่าว

 

ปลาหมอคางดำที่แพร่ระบาดในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร

ภาพ: ฐานิส สุดโต

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X