ถอดบทเรียนจาก Black Monday 2024 มีสาเหตุมาจากอะไร และมีความเสี่ยงมากหรือน้อยแค่ไหนที่เศรษฐกิจโลกเสี่ยงจะเข้าสู่ภาวะ Recession
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ Head of Economic Research หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด (InnovestX) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ว่า เหตุการณ์ Black Monday ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ประเมินว่ามาจากผลกระทบจาก 3 สาเหตุ ดังนี้
เปิด 3 สาเหตุสู่ Black Monday 2024
1. นโยบายการเงินที่ผิดพลาด โดยเฉพาะธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปที่ 0.25% จากระดับ 0.1% เนื่องจากมีความกังวลถึงอัตราตัวเลขเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจาก 2.2% ขยับขึ้นมาเป็น 2.86% อีกทั้งก่อนหน้านี้ค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงค่อนข้างมากอยู่ที่ระดับประมาณ 150 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งทำให้มีความกังวลว่าท่ามกลางสถานการณ์ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มที่จะปรับลดดอกเบี้ยลง
อีกทั้งผู้ว่าการของธนาคารกลางญี่ปุ่นส่งสัญญาณว่าพร้อมที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง โดยภายในปี 2024 มีโอกาสที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเกินระดับ 0.50% ส่งผลให้เริ่มมีความกังวลในนโยบายของการเงินญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น
2. กระแสการเก็งกำไรที่มีมากในช่วงก่อนหน้านี้ในตลาดหุ้นหลายประเทศ ทั้งในตลาดหุ้นสหรัฐฯ, ยุโรป, ญี่ปุ่น, อินเดีย และตลาดหุ้นอื่นๆ ส่งผลให้ก่อนหน้านี้ตลาดหุ้นมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ทำให้ค่า P/E Ratio ของตลาดหุ้น S&P 500 เพิ่มขึ้นเป็น 22 เท่า, ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมี P/E Ratio เพิ่มขึ้นเป็น 21.8 เท่า แต่หลังเหตุการณ์ Black Monday ดังกล่าว มีผลกระทบให้ตลาดหุ้นเกิดการปรับฐานลงมา โดยตลาดหุ้น S&P 500 มี P/E Ratio ลดลงเหลือ 21 เท่า ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่นมี P/E Ratio เหลือ 17 เท่า
3. ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าคาด โดยเฉพาะตลาดแรงงาน ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยแรงขึ้นสวนทางกับ BOJ ที่เริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ย ทั้งนี้แม้ BOJ จะปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว แต่อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันก็ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับของ Fed ซึ่งแม้ว่าจะมีโอกาสเริ่มลดดอกเบี้ยลง แต่ดอกเบี้ยของ Fed ปัจจุบันที่ระดับ 5% ก็ยังอยู่ในระดับที่สูง
อย่างไรก็ดี ยังส่งผลให้เกิดการ Yen Carry Trade โดยมีการกู้ยืมสินทรัพย์เงินสกุลเยนไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นทั่วโลก แต่หลังจากมีการปรับความคาดหวังของนักลงทุน ส่งผลให้ตลาดหุ้นเกิดการปรับฐานลงมา (Correction) รุนแรงดังนั้นทำให้นักลงทุนกังวลว่าอาจนำไปสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession)
สัญญาณอันตรายโลกเข้า Recession?
ดร.ปิยศักดิ์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ Black Monday ที่เกิดขึ้นล่าสุด หากเปรียบเทียบสามารถเปรียบได้กับ 3 สถานการณ์ก่อน คือ
- สถานการณ์ Black Monday ปี 1987
- สถานการณ์กองทุน Long-Term Capital Management (LTCM) ล้มในปี 1998 หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง
- วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 โดยสถานการณ์ครั้งนี้ดูคล้าย Black Monday 1987 มากที่สุด แต่ยังมีสถานการณ์ที่เบากว่า
ทั้งนี้ จะพบว่าภาพที่เกิดสถานการณ์ Black Monday มีความคล้ายกันกับ 3 สถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังไม่เข้าสู่ความย่ำแย่ แต่เกิดจากสถานการณ์ที่นักลงทุนกู้ยืมเงินเพื่อนำมาใช้ลงทุนค่อนข้างอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ตลาดหุ้นมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นแรง แต่นักลงทุนเกิดความตระหนักจากกระแสข่าวต่างๆ ที่ออกมาในช่วงนั้น ทำให้มีแรงขายออกมา รวมถึงยังมีประเด็นจากการ Margin Call และปัจจัยกดดันจากการขายเทรดดิ้งโปรแกรม จึงกดดันให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงแรงเช่นกัน
จากการเกิด Black Monday รอบล่าสุดในปีนี้ ส่วนหนึ่งมาจากมูลค่าหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปค่อนข้างสูง แต่เมื่อมีการรายงานตัวเลขข้อมูลเศรษฐกิจการว่างงานของสหรัฐฯ ที่ออกมาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการจ้างงานลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งสร้างความกังวลให้กับนักลงทุน จนเกิดการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงออกมา
อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลล่าสุดพบว่าเศรษฐกิจโลกยังไม่ตกอยู่ในอันตราย โดยจะยังไม่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) และอาจทำให้ความตื่นตระหนกของตลาดหายไป โดยอาจพิจารณาได้จาก 4 มาตรวัด อันได้แก่
มาตรวัดที่ 1 ได้แก่ ตลาดแรงงาน พบว่าอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น แต่วัฏจักรนี้อาจแตกต่างออกไป เพราะเป็นการคลายตัวของตลาดแรงงานที่ตึงตัวเป็นพิเศษในช่วงสิ้นสุดของการแพร่ระบาดของโรคโควิด ที่ทำให้นายจ้างต้องเผชิญกับภาวะการขาดแคลนแรงงานและความต้องการที่สูงขึ้นมาก
มาตรวัดที่ 2 อาจวัดได้จากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) แต่ในปัจจุบันบริษัทต่างๆ ทั่วโลกของประเทศพัฒนาแล้วกำลังไปได้ดี โดยในไตรมาส 2/24 บจ.ทั่วโลก รายงานตัวเลขผลประกอบการออกมาดีที่สุดในรอบ 7 ไตรมาส
มาตรวัดที่ 3 ได้แก่ ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจปัจจุบัน (Concurrent Economic Indicator) ซึ่งโดยรวมยังดีต่อเนื่อง
มาตรวัดที่ 4 ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อ ซึ่งส่งสัญญาณที่ดีขึ้น โดยมีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง
เปิดบทเรียน Black Monday รอบล่าสุด
สำหรับบทเรียนที่ได้จากสถานการณ์ Black Monday รอบล่าสุด มีดังนี้
- เศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงประเทศพัฒนาแล้วในปัจจุบันยังห่างไกลกับสภาวะถดถอย โดยเครื่องชี้ว่าเศรษฐกิจจริงต่างๆ เช่น รายได้ประชาชน ตลาดแรงงาน การผลิตภาคอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่ง GDP เองก็ยังอยู่ในโซนที่แข็งแกร่ง
- ในปัจจุบันยังไม่มีการเก็งกำไรที่ใช้สถานะกู้ยืมสูง (Highly Leverage) ที่จะนำไปสู่การปรับสถานะรุนแรง แต่อาจมีนักลงทุนบางส่วนทำธุรกรรม Yen Carry Trade ทำให้ต้องปรับสถานะ
- ในปัจจุบันไม่มีความเสี่ยงสภาพคล่อง (Liquidity Risk) รวมถึงมีความเสี่ยงเชิงระบบ (Systemic Risk) มากเท่าวิกฤตก่อนๆ
อย่างไรก็ตาม อาจต้องจับตามูลค่าของหุ้นกลุ่ม AI ที่ขึ้นมามาก แต่ในปัจจุบันราคาหุ้นที่ลดลง 30% จากระดับสูงสุดในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้ตลาดเข้าใกล้ภาวะปกติมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่ดอกเบี้ยที่อยู่ระดับสูงมายาวนาน โดยเฉพาะในสหรัฐฯ อาจนำไปสู่ภาวะผันผวนได้บ้าง ซึ่งการลดดอกเบี้ยของ Fed จะช่วยปรับสมดุลให้กับการลงทุนได้ในระยะต่อไป
สำหรับการลงทุนในภาวะปัจจุบัน แนะนำให้นักลงทุนมีความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น เพราะอาจมีความผันผวนมากขึ้น รวมถึงมีโอกาสปรับฐานได้บ้าง
อย่างไรก็ดี หลังตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มมาต่อเนื่องในระดับที่มีมูลค่าแพง ส่งผลให้นักลงทุนน่าจะเริ่มมองโอกาสการลงทุนกระจายออกไปในสินทรัพย์อื่นๆ ทั่วโลก เช่น ตลาดหุ้นไทยที่ก่อนหน้านี้ปรับตัวลงแรงค่อนข้างมาก หากปัจจัยความเสี่ยงทางการเมืองไม่ได้มีความรุนแรง รวมถึงเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวดีขึ้น ก็มีโอกาสที่ตลาดหุ้นไทยรวมถึงตลาดหุ้นเอเชียจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้บ้างในระยะต่อไป