#BlackLivesMatter เสียงกู่ร้องนี้กำลังดังกังวานขึ้นทุกทีที่เข็มนาฬิกาเดินผ่านไป โดยเฉพาะในโลกของกีฬา – โลกอีกใบที่ประสบปัญหาเรื่องของความไม่เท่าเทียมกันเพียงเพราะสีผิวที่แตกต่าง – เวลานี้พวกเขาจำนวนไม่น้อยที่เลือกแล้วว่าจะไม่ปล่อยให้ความอยุติธรรมนี้ผ่านไป
จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญกับภาพของจอร์จ ฟลอยด์ ชาวผิวดำชาวสหรัฐฯ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามจับกุมตัวด้วยข้อหาการใช้ธนบัตรปลอม แต่การจับกุมนั้นกลับกลายเป็นการฆาตกรรมในเวลาต่อมา เมื่อชายผู้โชคร้ายเสียชีวิตในเวลาต่อมาเพราะเข่าที่กดลงบนคอของเขาทำให้เขาขาดอากาศหายใจ
และทั้งๆ ที่ระหว่างการจับกุมชายคนดังกล่าวได้วิงวอนร้องขอความเมตตาด้วยการบอกว่าเขาหายใจไม่ออก และไม่ได้ดูมีท่าทีที่ขัดขืน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจรายดังกล่าว รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 3 รายที่อยู่ในเหตุการณ์กลับเพิกเฉย
ด้วยการปฏิบัติหน้าที่ที่ถูกมองว่ากระทำการโดยมีอคติในใจเป็นที่ตั้ง ด้วยการปราศจากความเมตตาที่สะท้อนออกมาผ่านการกระทำ สีหน้า และที่สำคัญที่สุดคือแววตา เป็นเหตุให้ผู้คนออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ชายผิวสีผู้โชคร้ายคนดังกล่าว
หนึ่งในนั้นคือ สตีเฟน แจ็คสัน อดีตนักบาสเกตบอลระดับแชมเปี้ยน NBA ของทีมซาน อันโตนิโอ สเปอร์ส ชุดแชมป์เมื่อปี 2003
แจ็คสันไม่สามารถยอมรับความตายของฟลอยด์แบบนี้ได้ เพราะชายผิวดำคนนี้ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นชนกลุ่มเดียวกัน แต่เป็นเพราะชายคนนี้คือเพื่อนรักของเขาครั้งเยาว์วัย
“นี่ไม่ควรจะเป็นวิธีที่เขาต้องจากไป” แจ็คสันให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ CNN ด้วยความเจ็บปวด
“เขาไม่สมควรได้รับความตายเช่นนี้ แต่ด้วยการสนับสนุนของผู้คนที่มีต่อเขา ที่ยืนหยัดเพื่อเขา ด้วยหนทางที่ผมได้ยืนหยัดขึ้นเพื่อเขา ความตายของเขาจะไม่มีวันสูญเปล่า
“ความยุติธรรมคืออะไร ผมไม่สามารถแม้แต่จะตอบคำถามนี้ได้ ผมเห็นคนผิวดำมากมายที่ถูกฆ่า ส่วนเจ้าหน้าที่ถูกไล่ออกพร้อมกับได้รับเงิน แต่ไม่เคยจำคุก”
เพื่อเพื่อนรัก แจ็คสัน เป็นหนึ่งในคนที่ออกไปร่วมเดินขบวนประท้วงตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งเป็นหนึ่งในการจุดชนวนการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอีกครั้งของอเมริกันชน
‘คุณเข้าใจหรือยัง-หรือหนูจะเป็นคนต่อไป-ผมเห็นนะว่าใครที่นิ่งเงียบ’
แม้จะเป็นอดีตแชมป์ แต่แจ็คสันไม่ใช่นักกีฬาในยุคปัจจุบัน และผู้คนจดจำเขาได้น้อยนิด เสียงของเขาจึงอาจจะดังไม่พอ
แต่โชคดีที่ภาพลมหายใจที่ถูกพรากไปของจอร์จ ฟลอยด์ ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ และมันทำให้ผู้คนทั้งโลกได้เห็นกับตา ได้ยินกับหู และรู้สึกด้วยหัวใจ ซึ่งคนเหล่านั้นได้รวมถึงเหล่า ‘ไอคอน’ ของวงการกีฬาในยุคปัจจุบันอย่าง เลอบรอน เจมส์, โคโค กอฟฟ์ และลูอิส แฮมิลตัน
‘คิงเจมส์’ เป็นคนแรกๆ ที่ออกมาเรียกร้องความยุติธรรมในเรื่องนี้ด้วยการโพสต์ภาพของคนคุกเข่า 2 คนบนโซเชียลมีเดีย
ภาพของคนคุกเข่าทางซ้ายคือนายตำรวจใจทมิฬที่กดเข่าของเขาลงบนคอของชายผู้โชคร้าย ขณะที่คนคุกเข่าทางขวาคือชายที่เป็นนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลชื่อดังผู้ปฏิเสธจะยอมรับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นบนโลกนี้เมื่อหลายปีก่อน
ซูเปอร์สตาร์อันดับหนึ่งของ NBA ยุคนี้เขียนประโยคอธิบายภาพดังกล่าวง่ายๆ ว่า ตอนนี้พวกคุณเข้าใจหรือยัง หรือคุณยังเห็นมันไม่ชัดอีก พร้อมติดแฮชแท็ก #StayWoke เพื่อเป็นการบอกกับทุกคนให้เข้าใจตรงกัน
เพราะการที่สังคมอเมริกันมีคนที่เป็นพวกเดียวกับคนทางซ้าย และคนโชคร้ายที่เป็นที่รองเข่าให้เขา จึงต้องมีคนคุกเข่าแบบคนทางขวาที่ปฏิเสธจะยอมรับสิ่งที่คนทางซ้ายทำ
แน่นอนว่าในการต่อสู้แบบนี้หนึ่งในผู้นำซึ่งเป็นคนทางขวาในภาพที่ เลอบรอน เจมส์ โพสต์อย่างโคลิน เคเปอร์นิก ย่อมไม่สามารถนิ่งเฉยได้
อดีตนักกีฬาชื่อก้องที่ปัจจุบันกลายเป็นไอคอนของการต่อสู้กับความอยุติธรรมในสังคม ส่งข้อความถึงทุกคนว่า “เมื่อความเป็นพลเมืองดีนำไปสู่ความตาย การปฏิวัติจึงเป็นการตอบโต้ที่เป็นเหตุเป็นผลเพียงอย่างเดียว
“หยาดน้ำตาเพื่อความสงบสุขจะพรั่งพรูลงมา และเมื่อมันหล่นลงมา มันจะหล่นลงบนใบหูที่ไม่รับรู้ถึงเสียงใดๆ เพราะความรุนแรงของพวกคุณนั่นเองที่ทำให้เกิดการต่อต้านครั้งนี้
“เรามีสิทธิ์ที่จะสู้กลับ!”
อีกหนึ่งคนที่ตัดสินใจจะยืนหยัดขึ้นสู้ด้วยเนื้อตัวที่สั่นเทา คือเด็กน้อยอายุเพียง 16 ปีอย่างโคโค กอฟฟ์
นักเทนนิสสาวน้อยที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ตัดสินใจที่จะส่งเสียงของเธอออกมาเพื่อเรียกร้องให้ทุกคนได้รับรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับจอร์จ ฟลอยด์ และคนผิวดำอีกมากมายนั้นไม่ใช่สิ่งที่ยอมรับได้
“นี่คือเหตุผลที่หนูถึงออกมาส่งเสียงเพื่อต่อสู้กับการเหยียดสีผิว” ก่อนที่วิดีโอบน TikTok ซึ่งปกติแล้วเป็นโซเชียลมีเดียแห่งความบันเทิงทะลุมิติจะจบลงด้วยภาพของโคโค ที่ยืนและทำท่าพยายามยกมือขึ้นเพื่อมอบตัวพร้อมกับคำถามที่ทะลุกลางใจทุกคน
“หรือหนูจะเป็นคนต่อไป?”
เสียงของกอฟฟ์มาพร้อมกับเสียงของนักเทนนิสหญิงในระดับสูงสุดของวงการอย่างเซเรนา วิลเลียมส์ อดีตราชินีคอร์ตผู้แข็งแกร่ง และที่น่าประหลาดใจคือการออกมาเรียกร้องความยุติธรรมของนาโอมิ โอซากะ นักเทนนิสหญิงชาวญี่ปุ่นผู้มีสายเลือดของชาวเฮติของพ่อไหลเวียนในกาย
ปกติแล้วนาโอมิเป็นนักกีฬาที่ขี้อาย แต่เพียงไม่นานมานี้เองที่เธอออกมายอมรับว่าช่วงเวลาที่ได้อยู่เฉยๆ เพราะโควิด-19 ทำให้เธอรู้ว่าเธอไม่อาจปล่อยให้ความขี้อายเป็นตัวฉุดรั้งชีวิตไว้ และนั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอตัดสินใจที่จะก้าวออกมาร่วมต่อสู้ในครั้งนี้ด้วย
อีกหนึ่งคนที่เปล่งเสียงอันทรงพลังออกมาคือลูอิส แฮมิลตัน ยอดนักขับอันดับหนึ่งของโลกเวลานี้ที่เริ่มจากการรีโพสต์ภาพของเลอบรอน เจมส์ ก่อนที่จะโพสต์ข้อความที่แทงใจดำของคนร่วมวงการฟอร์มูลาวันทุกคน
แชมป์โลก 6 สมัยชาวอังกฤษฝากถึงคนในวงการฟอร์มูลาวันอย่างตรงไปตรงมาว่า “เขาเห็นว่าใครบ้างที่นิ่งเฉยต่อเรื่องนี้
“ผมเห็นพวกคุณที่ยังคงเงียบอยู่ บางคนเป็นดาวเด่น แต่พวกคุณกลับนิ่งเงียบท่ามกลางความอยุติธรรม” ข้อความของแฮมิลตันบนโซเชียลมีเดีย “ไม่มีสัญญาณใดๆ จากคนในอุตสาหกรรมของผม ซึ่งแน่นอนว่าเพราะนี่คือกีฬาที่คนขาวครอบครอง
“ผมเป็นคนผิวสีคนเดียว ผมเลยต้องยืนอย่างโดดเดี่ยว ผมคิดว่าตอนนี้พวกคุณคงจะได้เห็นแล้วว่าทำไมเรื่องนี้จึงเกิดขึ้นและแสดงความเห็นออกมา แต่พวกคุณกลับไม่ยืนหยัดเคียงข้างพวกเรา แค่จะบอกว่าผมรู้ว่าพวกคุณคือใคร และผมมองเห็นคุณอยู่
“การปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการสอนในประเทศของคุณเกี่ยวกับเรื่องของความเสมอภาค เชื้อชาติ ชนชั้น ว่าพวกเรานั้นต่างก็เป็นคนเหมือนกัน เราไม่ได้เกิดมาพร้อมกับการเหยียดเชื้อชาติหรือมีความเกลียดชังในหัวใจ แต่มันเป็นสิ่งที่ถูกสอนโดยคนที่เรามองเป็นตัวอย่าง”
เพราะชีวิตคนผิวดำก็มีค่า
เสียงอันดังที่เปล่งออกมาจากเหล่านักกีฬาในระดับไอคอนเหล่านี้ได้ถูกสะท้อนต่อด้วยนักกีฬาทั่วทั้งโลกไม่ว่าจะเป็นในระดับใดก็ตาม
ในสนามแข่ง เวสตัน แม็คเคนนี กัปตันทีมชาลเก้ 04 ซึ่งเป็นสตาร์ลูกหนังของทีมชาติสหรัฐฯ สวมปลอกแขนที่มีข้อความเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่จอร์จ ฟลอยด์
ข้อความแบบเดียวกันปรากฏบนเสื้อของจาดอน ซานโช ปีกเทวดาของทีมโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ที่ตัดสินใจร่วมเรียกร้องความยุติธรรมด้วยในวันสำคัญที่เขาสามารถทำแฮตทริกครั้งแรกในชีวิตได้ เพราะตระหนักว่าชีวิตของคนและความสำคัญของการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันในสังคมนั้นสำคัญกว่า โดยที่เพื่อนร่วมทีม อัชราฟ ฮาคิมี เองก็แสดงเสื้อที่มีข้อความแบบเดียวกัน
มาร์คัส ตูราม กองหน้าทีมโบรุสเซีย มึนเชนกลัดบัค บุตรชายของตำนานลูกหนัง ลิลิยอง ตูราม ซึ่งเคยผ่านพบความเลวร้ายของการเหยียดสีผิวมานักต่อนัก ได้แสดงออกด้วยการคุกเข่าเรียกร้องความยุติธรรมด้วยเช่นกัน
การคุกเข่ากลายเป็นการแสดงออกทางสัญลักษณ์สากลในเรื่องนี้ พร้อมกับแฮชแท็ก #BlackLivesMatter หรือชีวิตคนผิวดำก็มีค่า ซึ่งเป็นการยกระดับการเรียกร้องที่ไปไกลกว่าแค่ชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ แต่เป็นชีวิตของคนผิวดำทุกคน
นั่นทำให้นักฟุตบอลทีมลิเวอร์พูลทั้งทีมรวม 29 คนและสตาฟฟ์โค้ชร่วมกันคุกเข่าขวาที่วงกลมกลางสนาม ซึ่งภาพนี้ได้ถูกทุกคนในทีมนำไปโพสต์พร้อมกันด้วยข้อความแบบเดียวกัน
Unity is strength #BlackLivesMatter
สามัคคีคือพลัง ชีวิตคนผิวดำก็มีค่า
ภาพนี้เป็นภาพที่ทรงพลังอย่างมาก และสร้างแรงกระเพื่อมอย่างมหาศาล ไม่เฉพาะต่อวงการฟุตบอลจากการที่พวกเขาเป็นหนึ่งในทีมที่มีชื่อเสียงและมีแฟนฟุตบอลมากที่สุดในโลก แต่ยังส่งผลต่อผู้คนอีกมากมายทั่วโลกที่ได้ตระหนักถึงปัญหาและความสูญเสียที่เกิดขึ้น
สำหรับคนต้นคิดของการถ่ายภาพประวัติศาสตร์นี้มาจาก เวอร์จิล ฟาน ไดจ์ค และจอร์จินิโอ ไวจ์นัลดุม สองนักเตะชาวดัตช์ซึ่งเป็นนักฟุตบอลที่มีเชื้อสายแอฟริกันที่เสนอให้ทั้งทีมร่วมกันแสดงพลังด้วยกัน และได้รับการตอบรับอย่างดีจากเพื่อนร่วมทีมทุกคน
ทั้งฟาน ไดจ์ค และไวจ์นัลดุมเองก็ได้แรงบันดาลใจจากเหล่านักเตะในบุนเดสลีกา
และที่สำคัญคือแรงบันดาลใจจากเจ้าหนูน้อยในทีมอย่าง เรียน บรูว์สเตอร์ กองหน้าดาวรุ่งในทีม ซึ่งโพสต์ภาพของเขาสัมผัสมือกับแฮร์รี วิลสัน เพื่อนร่วมทีมที่เป็นนักฟุตบอลผิวขาว ซึ่งข้อความที่ดาวรุ่งวัย 19 ปีรายนี้เขียนเป็นความจริงที่น่าเจ็บปวด
ที่น่าเจ็บปวดนั้นเพราะแม้จะเล่นฟุตบอลอาชีพได้ไม่นาน แต่บรูว์สเตอร์เองก็เผชิญกับการเหยียดสีผิวอย่างรุนแรงในระหว่างการเล่นฟุตบอลระดับเยาวชน เรียกว่ามีประสบการณ์ตรง ซึ่งมันไม่ได้หยุดแค่ในสนามด้วยซ้ำ
“ปัญหาเรื่องนี้ลึกซึ้งเกินกว่าแค่จะชี้หน้าว่าใครที่นิ่งเฉยและใครที่ลุกขึ้นพูด” บรูว์สเตอร์ทวีตข้อความ “มันเป็นเรื่องโชคร้ายสำหรับพวกเราที่เป็นคนผิวดำหรือผิวน้ำตาล แต่นี่คือชีวิตจริง และสิ่งที่เกิดขึ้นจริงทุกวันไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง ตลอดหลายปีและหลายชั่วอายุคน พวกเราเรียกร้องถึงการเปลี่ยนแปลง และการจะให้ใครได้ยินนั้นก็ต้องแลกมาด้วยความเจ็บปวดที่ยังดำเนินต่อไป
“เราได้ดูภาพยนตร์อย่างเรื่อง Roots เราได้ดูเรื่อง Boyz n the Hood ที่ซึ่งความจริงถูกปกปิดและจัดฉาก แต่เราก็ยังได้ใช้ชีวิตจริงเหมือนชีวิตในหนัง ในวันนี้ของปี 2020 เรื่องนี้มันไปไกลกว่าแค่ #JusticeForGeorgeFloyd เราต้องการความยุติธรรมสำหรับพวกเราในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เราไม่ได้ต้องการสิทธิพิเศษใดๆ เราแค่ต้องการสนามแข่งที่เท่าเทียมกัน และเป็นสิ่งที่เราเรียกร้องตลอดมา และจะเรียกร้องตลอดไป ได้โปรดได้ยินพวกเราเถิด #BlackLivesMatter”
ที่อีกฟากของถนนสาย M62 ซึ่งเป็นถนนที่เชื่อมโยงระหว่างเมืองลิเวอร์พูลและแมนเชสเตอร์ สองซูเปอร์สตาร์ของทีมคู่ปรับ ‘ปีศาจแดง’ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อย่าง มาร์คัส แรชฟอร์ด และปอล ป็อกบา เองก็ไม่ลังเลที่จะออกมาแสดงจุดยืนในเรื่องนี้
แรชฟอร์ดยอมรับว่าเขาใช้เวลาหลายวันที่ผ่านมาในการประมวลสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นก่อนจะได้ข้อสรุปว่ามันถึงเวลาที่ทุกคนจะต้องร่วมมือกันแล้ว
“ผมรู้ว่าพวกคุณไม่ได้ยินอะไรจากผมในช่วงไม่กี่วันมานี้ ผมพยายามที่จะประมวลสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลก ถึงตรงนี้ผมอยากขอร้องให้ทุกคนออกมาร่วมมือกัน และเป็นหนึ่งเดียวกัน ในสายตาผมทุกวันนี้เราแบ่งแยกมากกว่าในยุคไหน มีคนที่เจ็บปวดและคนที่ต้องการได้รับคำตอบ”
กองหน้าวัย 22 ปียังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของชีวิตคนผิวดำ รวมถึงวัฒนธรรมของคนผิวดำ และสังคมของคนผิวดำที่มีความสำคัญเหมือนทุกสังคม
ปอล ป็อกบา กองกลางที่มีผู้ติดตามถึง 41 ล้านคนเองก็ออกมาร่วมเรียกร้องพร้อมกับแรชฟอร์ด
“เป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับจอร์จ และสำหรับคนผิวดำทุกคนที่ต้องเจอกับการเหยียดสีผิวทุกวัน! ไม่ว่าจะในเกมฟุตบอล ที่ทำงาน ที่โรงเรียน เรื่องนี้เกิดขึ้นทุกที่! มันถึงเวลาแล้วที่เรื่องนี้จะต้องหยุด ไม่ใช่แค่วันนี้แต่เป็นตลอดไป และไม่ใช่มันจะต้องจบในวันพรุ่งนี้หรือวันถัดไป มันควรจะต้องจบในวันนี้ การใช้ความรุนแรงเพราะต้องการเหยียดผิวเป็นสิ่งที่เราไม่ควรยอมให้มันเกิดขึ้นอีกต่อไป ผมไม่สามารถยอมให้มันเกิดขึ้นได้ ผมจะไม่ยอมให้มันเกิดขึ้น พวกเราต้องไม่ให้มันเกิดขึ้น การเหยียดผิวคือความขลาดเขลา ความรักคือปัญญา”
เสียงนั้นยังถูกสะท้อนโดยนักกีฬาระดับไอคอนที่ตัดสินใจลุกขึ้นยืนหยัดในเรื่องนี้ด้วย
เดวิด เบ็คแฮม ซูเปอร์สตาร์ตลอดกาลซึ่งเป็นนักฟุตบอลผิวขาวก็ทำใจยอมรับในเรื่องนี้ไม่ได้ “ผมขอส่งความรู้สึกเสียใจถึงครอบครัวของจอร์จ และผมขอยืนหยัดร่วมกับสังคมคนผิวดำ และคนอีกหลายล้านคนทั่วโลกที่ลุกขึ้นยืนหยัดในเรื่องนี้ มันเป็นเรื่องที่ทำให้หัวใจสลายที่ในปี 2020 แล้วแต่เรื่องเหล่านี้ก็ยังเกิดขึ้น
การประท้วงเริ่มบานปลายกลายเป็นจลาจล ใกล้เป็นแดนมิคสัญญี
การต่อสู้ไม่ได้รู้แพ้ชนะที่ความรุนแรง
อย่างไรก็ดี การประท้วงที่ลุกลามไปทั่วไม่สามารถรวมความรู้สึกของคนทั่วไปได้ทั้งหมด เหตุผลเพราะการต่อสู้นั้นเริ่มถูกบิดเบือนด้วยการกระทำของคนกลุ่มหนึ่ง
กลุ่มที่เลือกจะใช้ความรุนแรง เลือกจะทำร้ายมากกว่าพูดคุย หรือเลือกที่จะปล้นและทำลายข้าวของ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการต่อสู้เลย
ไทเกอร์ วูดส์ พญาเสือแห่งวงการกอล์ฟไม่เพียงแต่จะออกแถลงการณ์เพื่อยืนเคียงข้างกับการเรียกร้องความยุติธรรมให้จอร์จ ฟลอยด์ แต่เลือกที่จะออกมาเตือนสติทุกคนไปด้วยในเวลาเดียวกัน
“ผมจำการจราจลในแอลเอ และได้เรียนรู้ว่าการศึกษาคือสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เรื่องนี้ก้าวเดินไปข้างหน้าได้ เราสามารถแสดงจุดยืนของเราได้โดยไม่จำเป็นต้องเผาบ้านเรือนของเพื่อนบ้านที่เราอาศัยอยู่ใกล้กัน ผมหวังว่าด้วยบทสนทนาที่สร้างสรรค์และจริงใจ เราจะสามารถสร้างสังคมที่ปลอดภัยและเป็นหนึ่งเดียวกันได้”
ขณะที่ ไมเคิล จอร์แดน ตำนานนักบาสเกตบอลผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล ที่ในยามปกติแล้วปฏิเสธจะให้ความเห็นทางการเมืองมาโดยตลอด ซึ่งแตกต่างจากตำนานรุ่นพี่อย่าง คารีม อับดุล-จาบบาร์ และรุ่นลูกอย่าง เลอบรอน เจมส์ ที่พร้อมต่อสู้ยืนหยัดเพื่อผู้อื่นมาโดยตลอดเองก็ไม่สามารถอดทนต่อเรื่องนี้ได้ไหว
MJ ออกแถลงการณ์ผ่านทีมบาสเกตบอลของเขา ชาร์ล็อตต์ ฮอร์เน็ตส์ว่า “ผมรู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้ง เจ็บปวดอย่างแท้จริง และโกรธแค้น
“ผมได้เห็นและรู้สึกได้ถึงความเจ็บปวดของทุกคน ความโกรธแค้น และความผิดหวัง ผมยืนหยัดร่วมกับทุกคนที่เรียกร้องในปัญหาการเหยียดสีผิวที่หยั่งรากฝังลึก และความรุนแรงที่ใช้กับคนผิวสีในประเทศของเรา พวกเราเจอสิ่งนี้กันมามากพอแล้ว
เพียงแต่การจะหาคำตอบและทางออกในเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เขาหรือใครจะชี้แนะได้ ปัญหาจะได้รับการแก้ต่อเมื่อมีการพูดคุยและรับฟังกันและกัน รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงในระบบ
“ผมไม่มีคำตอบให้ แต่เสียงของเราทุกคนแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่ง และการที่จะไม่มีใครมาแบ่งแยกพวกเราได้ เราต้องรับฟังกันและกัน แสดงความเห็นอกเห็นใจกัน มีน้ำใจให้แก่กัน และอย่าหันหลังให้แก่ความรุนแรงที่ไร้เหตุผลอย่างเด็ดขาด เราต้องแสดงออกในการต่อต้านความอยุติธรรม และเรียกร้องความรับผิดชอบอย่างสงบ
“เสียงที่เป็นหนึ่งเดียวจะกดดันให้ผู้นำของเราต้องทำการเปลี่ยนแปลงกฎหมายของเรา หรือไม่เช่นนั้นเราจะใช้การลงคะแนนเสียงของเราในการเปลี่ยนแปลงระบบ ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการหาทางออก และเราต้องพยายามร่วมมือกันเพื่อทำให้เกิดความยุติธรรมสำหรับทุกคน
“หัวใจของผมอยู่กับครอบครัวของจอร์จ ฟลอยด์ และผู้คนอีกมากมายนับไม่ถ้วนที่ชีวิตต้องพบเจอกับความรุนแรง และถูกพรากไปจากการเหยียดผิวและความอยุติธรรมที่ไร้หัวใจ”
ปัญหาการเหยียดสีผิว เหยียดเชื้อชาติ เป็นเรื่องที่หยั่งรากฝังลึกมานาน ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่อเมริกา แต่มีขึ้นทุกที่บนโลก
ปัญหาที่ยิ่งใหญ่นี้จึงไม่ใช่เรื่องของคนผิวดำ ผิวน้ำตาล หรือผิวเหลือง แต่เป็นปัญหาของคนทุกสีผิว ทุกชาติพันธุ์ที่จะต้องร่วมใจกันเพื่อแก้ไข เหมือนครั้งหนึ่งที่มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ เคยสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอเมริกาด้วยการเดินขบวนประท้วง
การเดินขบวนครั้งนั้นประกอบไปด้วยชนทุกชนอย่างแท้จริง ไม่มีการแบ่งแยก ทุกคนเป็นหนึ่งเดียว
นักกีฬาเองก็ถือเป็นชนอีกกลุ่ม และครั้งนี้พวกเขาบางส่วน – ซึ่งเป็นส่วนและเสียงที่สำคัญ – ได้เลือกแล้วที่จะขอเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นคนรับเสียงเชียร์จากทุกคน มาเป็นการส่งเสียงเพรียกถึงทุกคน ให้มาร่วมเดินขบวนในครั้งนี้
ด้วยตระหนักรู้ว่าชีวิตไม่ว่าของใครต่างก็มีค่าไม่ต่างกัน
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- edition.cnn.com/2020/06/02/us/tiger-woods-george-floyd-trnd/index.html
- edition.cnn.com/2020/05/29/sport/sport-george-floyd-tribute-spt-intl/index.html
- theathletic.com/1846149/2020/06/01/van-dijk-wijnaldum-liverpool-george-floyd-black-lives-matter/
- www.espn.com/wwe/story/_/id/29246971/titus-oneil-addresses-george-floyd-uncomfortable-conversations-chat-tampa-police
- www.theguardian.com/sport/2020/may/31/michael-jordan-george-floyd-death-basketball-nba
- twitter.com/hornets/status/1267195441021628417?s=20
- www.theguardian.com/football/2020/may/30/schalkes-weston-mckennie-wears-justice-for-george-floyd-armband?CMP=twt_gu
- www.bbc.com/sport/52871279
- www.theguardian.com/sport/2020/may/29/coco-gauff-stephen-jackson-george-floyd-reaction
- www.tennis.com/pro-game/2020/05/coco-gauff-naomi-osaka-george-floyd-protests-minnesota/89001/
- www.theguardian.com/football/2020/jun/01/paul-pogba-marcus-rashford-anti-racism-posts-george-floyd