×

ประวัติศาสตร์ ‘วันทมิฬ’ (Black Day) การต่อสู้และความขัดแย้งในแคชเมียร์ ระหว่างอินเดีย-ปากีสถาน

27.10.2022
  • LOADING...
วันทมิฬ

ในความขัดแย้งที่ยาวนานของปัญหาแคชเมียร์ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ทั้งสองประเทศมีการต่อสู้กันในมิติต่างๆ มากมายหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นในทางการเมืองระดับระหว่างประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก การใช้กฎหมายระหว่างประเทศและข้อมติสหประชาชาติขึ้นมาเพื่อสนับสนุนความชอบธรรมในกระบวนการต่อสู้ของตน  

 

แต่หนึ่งในมิติของการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ที่น่าสนใจและไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนักคือ การกำหนดวันที่เรียกว่า Black Day หรือ ‘วันทมิฬ’ ที่ต่างฝ่ายต่างก็มีวันของตัวเอง โดยมีการจัดงานรำลึกในทุกๆ ปี โดยปากีสถานกำหนดให้วันที่ 27 ตุลาคมของทุกปีเป็นวัน Black Day สำหรับชาวแคชเมียร์ ส่วนอินเดียกำหนดให้เป็นวันที่ 22 ตุลาคม 

 

ทั้งสองฝ่ายอ้างอิงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 1947 โดยในบทความนี้จะพาย้อนไปดูเหตุการณ์ในอดีตว่าเกิดอะไรขึ้นในปีดังกล่าว โดยเฉพาะวันที่ 22 กับ 27 ตุลาคม มีความสำคัญอย่างไร เพื่อทำความเข้าใจปัญหาความขัดแย้งปากีสถานในปัจจุบัน 

 

ย้อนที่มาปัญหาแคชเมียร์

 

ปัญหาระหว่างอินเดียกับปากีสถานดำเนินมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ที่สองประเทศได้รับเอกราชจากอังกฤษ และก่อตั้งประเทศขึ้นมาในปี 1947 ถือเป็นมหากาพย์ความขัดแย้งอันเป็นผลมาจากแผนการแบ่งแยกประเทศ (Partition Plan) ด้วยทฤษฎีสองชาติ (Two Nation Theory) โดยเป็นการแบ่งแยกประเทศกันบนพื้นฐานความแตกต่างทางด้านศาสนา ปากีสถานถูกออกแบบให้เป็นประเทศของมุสลิมในเอเชียใต้ 

 

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง รัฐสภาอังกฤษผ่านกฎหมายมอบเอกราชแก่อินเดีย (Indian Independence Act) ในเดือนกรกฎาคม 1947 โดยกำหนดให้แบ่งอนุทวีปออกเป็นประเทศอินเดียและปากีสถาน โดยยึดหลักการการเข้าร่วมกับประเทศใดประเทศหนึ่งนั้นต้องพิจารณาถึงความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ รวมถึงความเชื่อมโยงกันในด้านภูมิศาสตร์และศาสนา 

 

เพราะฉะนั้นรัฐอิสระในขณะนั้นทั้ง 565 รัฐจึงมีสิทธิที่จะเลือกเข้าร่วมกับอินเดียหรือปากีสถาน หรือดำรงไว้ซึ่งความเป็นรัฐอิสระ (โดยมีกำหนดเวลาแน่ชัดผ่านการทำข้อตกลงกับอินเดียและปากีสถาน) อย่างไรก็ตาม ทางเลือกสำหรับการดำรงไว้ซึ่งความเป็นรัฐอิสระเป็นไปได้ยากตามเงื่อนไขที่ตั้งไว้ อีกทั้งรัฐต่างๆ ได้ถูกเกลี้ยกล่อมไว้ก่อนแล้ว ทั้งหมดจึงถูกบีบให้ตัดสินใจเข้าร่วมกับประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือด้วยการทำข้อตกลงดุษณียภาพกับอินเดียและปากีสถาน ทุกรัฐไม่มีปัญหาในการตัดสินใจ เนื่องจากมีความต้องการสอดคล้องกันระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้การปกครองตามแผนการแบ่งแยก ยกเว้น 3 รัฐ ได้แก่ รัฐจัมมูและแคชเมียร์, ไฮเดอราบาด และจูนากาดห์

 

กรณีไฮเดอราบาด ซึ่งผู้ปกครองเป็นมุสลิมประกาศจะดำรงไว้ซึ่งความเป็นรัฐอิสระ ในขณะที่ชาวฮินดูซึ่งเป็นประชาชนส่วนมากไม่เห็นด้วย อินเดียจึงได้ส่งทหารเข้าไปและประกาศให้เป็นรัฐหนึ่งของอินเดีย กรณีจูนากาดห์ ผู้ปกครองเป็นมุสลิมตัดสินใจเข้าร่วมกับปากีสถาน แต่ประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชาวฮินดูไม่เห็นด้วย อินเดียจึงได้ส่งทหารเข้าไปและจัดการลงประชามติ ผลปรากฏว่าคนส่วนใหญ่ต้องการเข้าร่วมกับอินเดีย จูนากาดห์จึงถูกรวมเข้ากับอินเดีย

 

แต่ในกรณีของจัมมูและแคชเมียร์ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ผู้ปกครองเป็นมหาราชาชาวฮินดู ด้วยเหตุนี้จึงมีการมองกันว่าคนส่วนใหญ่ขณะนั้นต้องการเข้าร่วมกับปากีสถานมากกว่าอยู่ภายใต้การปกครองของมหาราชาหรือรัฐบาลอินเดีย แต่ในวันที่ 12 สิงหาคม 1947 (ก่อนวันประกาศเอกราชของปากีสถาน 14 และอินเดีย 15) มหาราชา ฮาริ สิงห์ (Hari Singh) ได้ทำข้อตกลงกับปากีสถานเพื่อขอดำรงสถานภาพอิสระต่อไปอีก 2 เดือน เรียกว่า ‘Standstill Agreement’ และพยายามทำข้อตกลงเดียวกันนี้กับอินเดีย แต่อินเดียไม่ร่วมลงนามด้วย จนกระทั่งถึงเดือนตุลาคม มหาราชา ฮาริ สิงห์ ก็ยังไม่ตัดสินใจ ทำให้ชาวแคชเมียร์รู้สึกผิดหวัง ยิ่งไปกว่านั้นมหาราชา ฮาริ สิงห์ ยังได้ยึดอาวุธยุทโธปกรณ์จากทหารมุสลิมของอังกฤษ ทำให้ชนเผ่าปัชตุน (Pashtun) จำนวนหนึ่งลุกฮือขึ้นจับอาวุธต่อต้าน ด้วยเหตุนี้ ฮาริ สิงห์ จึงได้ขอความช่วยเหลือไปยังอินเดียและลอร์ด เมานต์แบตเทน (Lord Mountbatten) เพื่อให้ส่งทหารเข้ามาช่วย โดยตกลงจะลงนามยินยอมผนวกแคว้นจัมมูและแคชเมียร์เข้ากับอินเดีย อินเดียจึงส่งกองทัพเข้าไป จนกระทั่งวันที่ 26 ตุลาคม ฮาริ สิงห์ ได้อพยพไปยังจัมมู และได้ลงนามข้อตกลงผนวกจัมมูและแคชเมียร์เข้ากับอินเดีย

 

ปากีสถานไม่ยอมรับข้อตกลงดังกล่าว และมองว่าขาดความชอบธรรม เพราะข้อตกลง Standstill ที่ทำกับปากีสถานยังมีผลบังคับใช้ การผนวกแคชเมียร์เข้ากับอินเดียทำให้ปากีสถานและชาวแคชเมียร์ไม่พอใจอย่างมาก จนนำไปสู่การทำสงครามกันตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 1947 และยุติลงอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม 1948 หลังจากทั้งสองฝ่ายยอมรับในมติหยุดยิงของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council: UNSC) 

 

การต่อสู้ครั้งนี้จึงถือเป็นสงครามครั้งแรกระหว่างอินเดียกับปากีสถาน การยอมรับในมติดังกล่าวทำให้มีการกำหนดแนวเส้นหยุดยิง (Cease-fire Line) ซึ่งต่อมาเป็นที่ยอมรับและเรียกกันว่า แนวเส้นควบคุม (Line of Control: LoC) ภายใต้การดูแลของกลุ่มสังเกตการณ์ทางทหารแห่งสหประชาชาติสำหรับอินเดียและปากีสถาน (United Nations Military Observer Group in India and Pakistan)

 

ในวันที่ 21 เมษายน 1948 UNSC ได้ผ่านมติเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายยอมรับในแนวทางการแก้ไขปัญหาแคชเมียร์โดยวิถีประชาธิปไตยผ่านการลงประชามติอย่างอิสระและเป็นกลาง รัฐบาลอินเดียและปากีสถานยินยอมตามมติดังกล่าว ซึ่งทำให้ข้อตกลงหยุดยิงมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 1949 

 

อย่างไรก็ตาม จนกระทั่งปัจจุบันมติดังกล่าวก็ยังไม่ได้ถูกดำเนินการ ซึ่งทำให้ความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถานเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นคู่ปรปักษ์ที่ทำสงครามระหว่างกันอีกในปี 1965 และ 1971 รวมทั้งการปะทะกันในปี 1999 ที่คาร์กิล ซึ่งสร้างความวิตกกังวลไปทั่วโลก เพราะต่างฝ่ายต่างมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง

 

แคชเมียร์ช่วงเปลี่ยนผ่าน กับที่มาของ 2 วันทมิฬในเดือนตุลาคม (Black Days) 

 

เมื่อปากีสถานประกาศได้รับเอกราชวันที่ 14 สิงหาคม 1947 ชาวแคชเมียร์จำนวนหนึ่งได้แสดงความยินดีต่อปากีสถาน ด้วยความหวังที่จะได้เข้าร่วมกับปากีสถาน มีธงปากีสถานโบกสะบัดทั่วทั้งแคชเมียร์ แต่ในมุมของผู้ปกครองแคชเมียร์ขณะนั้นไม่สบายใจ และเพื่อเป็นการตัดกระแสเรียกร้องการเข้าร่วมกับปากีสถานของมวลชนในแคชเมียร์ รัฐบาลแคชเมียร์ภายใต้มหาราชา ฮาริ สิงห์ ได้สั่งปิดหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่สนับสนุนการเข้าร่วมกับปากีสถาน และประกาศกฎอัยการศึกขึ้นในแคชเมียร์ สถานการณ์ในแคชเมียร์จึงเริ่มทวีความตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะชาวแคชเมียร์เริ่มมีความเคลื่อนไหวในการต่อต้านมหาราชา ฮารี สิงห์ มากขึ้น หนึ่งในแกนนำสำคัญของการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อให้แคชเมียร์ผนวกเข้ากับปากีสถานก็คือ ซาดัร อับดุล กอยยูม ข่าน (Sardar Abdul Qayyum Khan) 

 

ซาดัร อับดุล กอยยูม ข่าน เป็นชาวแคชเมียร์จากเมืองพูนช์ (Poonch) เกิดวันที่ 4 เมษายน 1924 เขาได้ร่ำเรียนในหลายสถาบัน และจบการศึกษาระดับมัธยมจากมหาวิทยาลัยปัญจาบตั้งแต่ก่อนการแบ่งแยกอินเดีย-ปากีสถาน หลังจบการศึกษาก็เข้าทำงานกับกองทัพอินเดียของอังกฤษ โดยเป็นนายช่าง เขาได้มีโอกาสเรียนรู้ดูงานในหลายที่ทั้งในแอฟริกาและตะวันออกกลาง จากความรู้และประสบการณ์ในกองทัพ ทำให้มีความรู้ด้านการทหารและการป้องกันประเทศพอสมควร เขาเคยไปทำงานที่ปาเลสไตน์ในระหว่างปี 1942-1946 ทำให้เห็นความเป็นไปของปัญหาต่างๆ ในปาเลสไตน์ในช่วงก่อนที่รัฐอิสราเอลจะถูกสถาปนาขึ้น กอยยูม ข่าน ยังเป็นผู้ที่ชอบศึกษาเกี่ยวกับขบวนการไซออนิสต์ และการเคลื่อนไหวตั้งรัฐอิสราเอลอย่างลึกซึ้ง

 

ในปี 1946 เขาลาออกจากการทำงานกับกองทัพอังกฤษ จากนั้นกลับบ้านเพื่อตั้งขบวนการปลดปล่อยแคชเมียร์ (Kashmir Freedom Movement) เคลื่อนไหวระหว่างปี 1946-1949 ด้วยประสบการณ์และการศึกษาปัญหาปาเลสไตน์ในช่วงนั้น ประกอบกับมีความใกล้ชิดกับทหารอังกฤษ ทำให้นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าเขามองว่าแคชเมียร์กับปาเลสไตน์กำลังเผชิญชะตากรรมเดียวกัน จึงตัดสินใจเคลื่อนไหวตั้งแต่ตอนนั้น ซึ่งในการปกครองแคชเมียร์ของตระกูลโกราของมหาราชา ฮาริ สิงห์ ก็มีลักษณะที่กดขี่และมีปัญหากับมุสลิมอยู่แล้ว กอยยูม ข่าน เป็นหนึ่งในพรรคมุสลิมคอนเฟอเรนซ์ (Muslim Conference) ที่สนับสนุนให้แคชเมียร์เข้าร่วมกับปากีสถาน 

 

กอยยูม ข่าน เคลื่อนไหวหนักขึ้นภายหลังจากมีความชัดเจนว่ามหาราชา ฮาริ สิงห์ ไม่ยอมทำตามความต้องการของชาวมุสลิมแคชเมียร์ กล่าวคือ ไม่เข้าร่วมกับปากีสถาน (หลังจากที่ทำข้อตกลงดุษณียภาพกับปากีสถานไปแล้วเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 1947 หมายถึงขอดำรงสถานะอิสระไปก่อน 2 เดือน) เขาประกาศว่าหากความต้องการของชาวแคชเมียร์ถูกปฏิเสธ พวกเขาจะลุกขึ้นจับอาวุธต่อสู้ทุกรูปแบบ 

 

จนกระทั่งวันที่ 23 สิงหาคม 1947 (หรือ ประมาณ 2 สัปดาห์หลังอินเดียกับปากีสถานประกาศเอกราช) กอยยูม ข่าน เริ่มสมัครพรรคพวกระดมคนจากทางเหนือของแคชเมียร์บริเวณที่สูงเชิงเขา Neela Butt (ปัจจุบันอยู่ในแคชเมียร์ฝั่งปากีสถาน) จับอาวุธลุกขึ้นต่อสู้กับกองกำลังของมหาราชา ฮาริ สิงห์ การต่อสู้ในช่วงแรกเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะมหาราชา ฮาริ สิงห์ มีทั้งกำลังและอาวุธที่เหนือกว่า 

 

ด้วยภาวการณ์เช่นนี้ ประกอบกับสถานการณ์ชายแดนด้านปัญจาบทางทิศตะวันออกของอินเดียกำลังมีการเข่นฆ่าปล้นสะดมและเผาทำลายกันอย่างรุนแรงระหว่างชาวมุสลิมกับฮินดู ในระหว่างการขนย้ายและอพยพมุสลิมจากอินเดียไปยังปากีสถาน และชาวฮินดูและซิกข์จากปากีสถานไปยังอินเดีย ซึ่งเป็นการอพยพผู้คนครั้งใหญ่ที่สุดในโลก ประมาณการกันว่ามีผู้อพยพครั้งนี้ถึง 12.5 ล้านคน มีผู้คนเสียชีวิตจากการเข่นฆ่ากันประมาณ 5-7.5 แสนคน บางรายงานระบุถึง 1 ล้านคน (ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม) 

 

สถานการณ์ในแคชเมียร์ก็รุนแรงเช่นเดียวกัน ชาวมุสลิมปาทานที่อาศัยอยู่ตามแนวเส้นดูรันด์ (Durand Line) ซึ่งเป็นพรมแดนระหว่างปากีสถานและอัฟกานิสถาน จึงระดมพลข้ามมาช่วยต่อสู้เพื่อปลดปล่อยแคชเมียร์ ในการบุกเข้ามาครั้งนี้ยังได้รับการสนับสนุนและสมทบจากกองกำลังชาวแคชเมียร์จำนวนมาก ส่วนหนึ่งมาจากทหารรับจ้างชาวมุสลิมในกองทัพของมหาราชาที่หันกลับมาเข้าร่วมกับกองกำลังชาวปาทานที่บุกเข้ามา 

 

ผลคือสามารถยึดครองดินแดนแคชเมียร์ได้ถึง 1 ใน 3 หรือประมาณ 5,134 ตารางไมล์ ไปถึงเมืองมูซัฟฟาราบัด (Muzaffarabad) ได้สำเร็จในวันที่ 22 ตุลาคม 1947 และสามารถตั้งรัฐบาลอาซาดแคชเมียร์ขึ้น (Azad Kashmir Government / อาซาดหมายถึงอิสระ) อินเดียกล่าวหาปากีสถานว่าสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ทั้งการวางแผนการจัดกำลังและการเคลื่อนไหวอื่นๆ 

 

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ มหาราชา ฮารี ซิงห์ มองว่าไม่อาจต้านทานการรุกคืบเข้ามาได้และอาจเสียดินแดนทั้งหมด จึงร้องขอความช่วยเหลือไปยังรัฐบาลอินเดียภายใต้การนำของ ยวาห์ลาล เนห์รู ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดียในขณะนั้น และต่อมาลอร์ด เมานต์แบตเทน ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำอินเดีย รัฐบาลอินเดียได้เสนอเงื่อนไขในการให้ความช่วยเหลือ โดยมหาราชา ฮารี ซิงห์ จะต้องยอมทำข้อตกลงเข้าร่วมกับอินเดียก่อน อินเดียจึงจะส่งทหารเข้าไปช่วยต่อสู้ 

 

ในวันที่ 26 ตุลาคม 1947 มหาราชา ฮารี ซิงห์ ซึ่งได้อพยพจากแคชเมียร์ไปยังจัมมู และได้ยินยอมลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการเข้าร่วมกับอินเดีย (Instrument of Accession) ภายใต้เงื่อนไขในการคงไว้ซึ่งอำนาจการปกครองในทุกๆ ด้าน ยกเว้นด้านกลาโหม การคลัง และการต่างประเทศ และวันที่ 27 ตุลาคม 1947 ลอร์ด เมานต์แบตเทน ภายหลังยอมรับข้อตกลงเข้าร่วมกับอินเดียของมหาราชา ฮารี ซิงห์ ก็ได้ส่งทหารกองพันซิกข์เข้าไปยังเมืองศรีนคร เพื่อต่อต้านกองกำลังของชาวปาทาน โดยสัญญาว่าหากสถานการณ์ในจัมมูและแคชเมียร์กลับสู่ภาวะปกติ และเมื่อกองกำลังที่บุกเข้ามาได้ถอยกลับออกไป จะจัดให้มีการลงประชามติ อินเดียมองว่าปากีสถานละเมิดข้อตกลง Standstill ที่ทำกับมหาราชา ฮาริ สิงห์ ส่วนปากีสถานก็มองว่ามหาราชา ฮาริ สิงห์ ต่างหากที่ละเมิดข้อตกลงดังกล่าว เพราะเมื่อถึงกำหนดต้องตัดสินใจแล้วกลับไม่ทำตามที่ตกลงไว้ ดังนั้น ปากีสถานจึงมีความชอบธรรมเช่นกันที่จะส่งทหารเข้าไป เหมือนที่อินเดียเคยส่งเข้าไปในไฮเดอราบาด และจูนากาดห์

 

ปากีสถานไม่พอใจอย่างมาก และมองว่าข้อตกลงเข้าร่วมกับอินเดียนั้นไม่มีความชอบธรรมแต่อย่างใด ไม่เป็นไปตามหลักการแบ่งแยกประเทศ และไม่สอดคล้องกับหลักการของการกำหนดชะตาชีวิตตนเอง (Self Determination) ที่ให้รัฐอิสระทั้งหลายเลือกว่าจะอยู่กับอินเดียหรือปากีสถาน โดยพิจารณาบนพื้นฐานความเชื่อมโยงทางภูมิศาสตร์ ชาติพันธุ์ และความต้องการของคนส่วนมาก ข้อตกลงดังกล่าวก่อให้เกิดปฏิกิริยาและความไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อปากีสถานและชาวแคชเมียร์ จนนำไปสู่สงครามระหว่างปากีสถานและอินเดียอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 1947  

 

ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของวันทมิฬในความขัดแย้งแคชเมียร์ อินเดีย และปากีสถาน โดยปากีสถานได้กำหนดให้วันที่ 27 ตุลาคมของทุกปีเป็นวัน Black Day สำหรับชาวแคชเมียร์ เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับคนแคชเมียร์ และเพื่อให้เกิดการรำลึกพร้อมกับการเคลื่อนไหวประณามอินเดียที่ส่งทหารเข้าไปและผนวกแคชเมียร์เข้ากับอินเดีย ซึ่งปากีสถานมองว่าไม่มีความชอบธรรมใดๆ ทั้งสิ้น ขัดกับหลักการกำหนดชะตาชีวิตตนเอง ปากีสถานจึงเรียกแคชเมียร์ในส่วนที่อินเดียครอบครองว่าเป็น Indian Illegally Occupied Jammu & Kashmir (IIOJK) หรือ ‘จัมมูและแคชเมียร์ที่อินเดียยึดครองอย่างผิดกฎหมาย’ และเป็นวันเริ่มต้นที่นำไปสู่การกดขี่ การละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวแคชเมียร์จนถึงปัจจุบัน ดังนั้นในวันที่ 27 ตุลาคมของทุกปี ชาวปากีสถานทั่วโลกก็จะจัดกิจกรรมรำลึกนี้ขึ้นเป็นประจำ ส่วนอินเดียภายใต้นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ได้ตอบโต้ปากีสถานด้วยกิจกรรมในลักษณะเดียวกัน โดยริเริ่มในปี 2020 ที่กำหนดให้วันที่ 22 ตุลาคมของทุกปีเป็นวัน Black Day เพื่อที่จะชี้ว่าปากีสถานใช้กำลังสนับสนุนกลุ่มกองกำลังชาวปาทานรุกเข้ามาในแคชเมียร์ ที่อินเดียย้ำว่าโหดร้ายและละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวแคชเมียร์อย่างมาก 

 

ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของวันทมิฬในความขัดแย้งแคชเมียร์ อินเดีย และปากีสถาน 

 

ภาพ: Yawar Nazir / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising