วันนี้ (21 กรกฎาคม) ทีมข่าว THE STANDARD ลงพื้นที่สำรวจวัดหลายแห่งในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีปัญหาการแพร่ระบาดของสัตว์น้ำเอเลี่ยนสปีชีส์อย่างปลาหมอคางดำเป็นจำนวนมาก จนส่งผลกระทบต่อผู้ทำประมงและผู้เพาะพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจในจังหวัด โดยอ้างอิงข้อมูลจากกรมประมง ปัญหานี้มีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 แล้ว
ที่วัดแห่งหนึ่งซึ่งมีพื้นที่ติดกับพื้นที่อนุรักษ์ทางธรรมชาติป่าชายเลน ทีมข่าว THE STANDARD พบว่า ตามแหล่งน้ำส่วนด้านในป่าชายเลนมีลูกปลาและปลาหมอคางดำขนาดเล็กจนถึงกลางเป็นจำนวนมาก
ขณะที่บริเวณด้านหน้าทางเข้าพื้นที่อนุรักษ์ฯ ติดกันกับเขตอภัยทานของวัด จะพบปลาหมอคางดำที่ตัวใหญ่ ซึ่งบางตัวคาดว่าเป็นขนาดโตเต็มวัย อยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก
ซึ่งวันนี้ปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำเขตอภัยทานมีความหนาแน่นเป็นพิเศษตั้งแต่ช่วงเช้า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ที่ทีมข่าวลงพื้นที่สำรวจในจุดเดียวกันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นเพราะวันนี้คือวันเข้าพรรษา ประชาชนส่วนมากจึงเดินทางมาทำบุญที่วัดและแวะมาให้อาหารปลา
มีประชาชนพูดคุยกันว่า ปลาในน้ำเป็นปลาหมอคางดำเหมือนที่เห็นในข่าว จากนั้นได้ถ่ายภาพฝูงปลาจำนวนมากที่มาว่ายวนรับอาหารเม็ดและขนมปังจากคนที่ให้อาหารอย่างต่อเนื่อง
โดยที่บริเวณดังกล่าวไม่มีป้ายประกาศแจ้งงดให้อาหารปลาแต่อย่างใด มีเพียงป้ายที่อยู่ใกล้กับพื้นที่วัดที่ระบุว่า แหล่งน้ำนี้เป็น ‘เขตอภัยทาน ห้ามจับสัตว์น้ำ’
สำหรับปัจจุบัน กรณีการป้องกันการรุกรานของสัตว์น้ำต่างถิ่น กรมประมงได้บังคับใช้กฎหมายภายใต้มาตรา 64 และมาตรา 65 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
‘ปลาหมอคางดำ’ เป็น 1 ใน 13 ชนิดพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่นที่ห้ามนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่าน เพาะเลี้ยง หรือมีไว้ในครอบครอง เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง
ตามมาตรา 144 กำหนดโทษไว้ว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 65 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดนำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จากมาตรการป้องกันของกรมประมงที่ระบุไว้ข้างต้น ยังไม่มีสิ่งใดที่ชัดเจนถึงวิธีการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำในเขตอภัยทานได้ ซึ่งในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกรกฎาคมที่มีรายงานว่าจะมีการหารือปัญหาดังกล่าว เราเองต้องรอดูว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหาวิธีจัดการกับเอเลี่ยนสปีชีส์ชนิดนี้ในพื้นที่ที่ปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิตที่สุดอย่างไร