×

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศห้ามครอบครองปลาหมอคางดำ พร้อมกำหนดพื้นที่ระบาด 19 จังหวัด

โดย THE STANDARD TEAM
17.08.2024
  • LOADING...
ปลาหมอคางดำ

วานนี้ (16 สิงหาคม) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามมีไว้ในครอบครอง พ.ศ. 2567 เพื่อประโยชน์ในการป้องกันอันตรายมิให้เกิดแก่สัตว์น้ำและระบบนิเวศ จึงสมควรกำหนดชนิดสัตว์น้ำบางชนิดที่ห้ามมีไว้ในครอบครอง

 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 65 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

 

  1. ห้ามมิให้บุคคลใดมีไว้ในครอบครองปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำ (Sarotherodon Melanotheron) มีชีวิตและที่ไม่มีชีวิต นอกพื้นที่การแพร่ระบาดตามที่อธิบดีประกาศกำหนด

 

  1. ความในข้อ 1. มิให้ใช้บังคับกรณี ดังต่อไปนี้

(1) กรณีมีการครอบครองโดยการเคลื่อนย้ายปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำที่ไม่มีชีวิต ซึ่งมีลักษณะ ดังนี้

(1.1) การเคลื่อนย้ายในลักษณะที่มีการแช่เย็นด้วยน้ำแข็ง ซึ่งมีภาชนะบรรจุมิดชิด

(1.2) การเคลื่อนย้ายในลักษณะที่มีการแช่แข็ง

(1.3) การเคลื่อนย้ายในลักษณะที่มีการแปรรูปเบื้องต้นแล้ว เช่น การตัดหัว ควักไส้ แล่เป็นชิ้น หมักเกลือ เป็นต้น

(2) กรณีการเคลื่อนย้ายปลาหมอสีคางตำหรือปลาหมอคางดำที่ไม่มีชีวิตเพื่อนำไปแปรรูป เป็นปลาปัน ต้องเคลื่อนย้ายแบบแห้ง และอยู่ในภาชนะบรรจุมิดชิด

(3) กรณีการเคลื่อนย้ายปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำที่ไม่มีชีวิต เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบตามโครงการของรัฐ เช่น การทำน้ำหมักชีวภาพ เป็นต้น ต้องเคลื่อนย้ายแบบแห้ง และอยู่ในภาชนะบรรจุมิดชิด

(4) กรณีการเคลื่อนย้ายปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำที่ไม่มีชีวิตที่กระทำโดยทางราชการ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดและกำจัดออกจากที่จับสัตว์น้ำ

 

  1. ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ณ วันที่ 14 สิงหาคม 2567 ลงชื่อ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

นอกจากนี้ ราชกิจจานุเบกษายังเผยแพร่ประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามมีไว้ในครอบครอง พ.ศ. 2567 อาศัยอำนาจตามความในข้อ 1 ของประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามมีไว้ในครอบครอง พ.ศ. 2567 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2567 กรมประมงจึงประกาศให้บริเวณพื้นที่ตามแนบท้ายประกาศนี้เป็นเขตพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำ

 

สำหรับพื้นที่แพร่ระบาดปลาหมอคางดำ ได้แก่

  1. จันทบุรี
  2. ระยอง
  3. ฉะเชิงเทรา
  4. สมุทรปราการ
  5. นนทบุรี
  6. กรุงเทพมหานคร
  7. นครปฐม
  8. ราชบุรี
  9. สมุทรสาคร
  10. สมุทรสงคราม
  11. เพชรบุรี
  12. ประจวบคีรีขันธ์
  13. ชุมพร
  14. สุราษฎร์ธานี
  15. นครศรีธรรมราช
  16. สงขลา
  17. ชลบุรี
  18. พัทลุง
  19. ปราจีนบุรี

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising