วันนี้ (13 กรกฎาคม) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่เขตบางขุนเทียน หลังพบปัญหาปลาหมอสีคางดำระบาดในพื้นที่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ติดกับจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ และบริเวณดังกล่าวเป็นเขตน้ำกร่อย ส่งเสริมให้เกิดการขยายพันธุ์ได้ง่าย
โดยจุดแรกที่ลงพื้นที่คือ สถานีสูบน้ำและประตูเรือสัญจร คลองสนามชัย-บางขุนเทียน ซึ่งพบว่าภายในคลองเต็มไปด้วยปลาหมอสีคางดำจำนวนมากที่โผล่ขึ้นมาจากน้ำเพื่อรับอากาศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- 14 ปี ‘ปลาหมอสีคางดำ’ เอเลี่ยนสปีชีส์ในแหล่งน้ำไทย
- ประมงสมุทรสาครเปิดเมนูใหม่ ‘ปลาหมอสีคางดำเผาเกลือ’ เชิญชวนประชาชนร่วมจับออกจากระบบนิเวศไปทำเมนูที่ชอบ
จากนั้นชัชชาติพร้อมเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่บริเวณคลองนา แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน ใกล้กับโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน เพื่อพบปะเกษตรกรและรับฟังปัญหาปลาหมอสีคางดำระบาดในพื้นที่
ชัชชาติกล่าวว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำที่แพร่กระจายมาจากจังหวัดสมุทรสาคร ทำให้ตอนนี้พื้นที่ของกรุงเทพมหานครคือ เขตบางขุนเทียน ทุ่งครุ และบางบอน ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ที่ทำบ่อกุ้งและบ่อปลาประมาณ 900 รายได้รับผลกระทบ ซึ่งจะทำให้ได้รับผลกระทบในระยะยาว ส่งผลกระทบต่อราคาอาหาร ร้านอาหาร และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่างๆ เป็นห่วงโซ่
กทม. จึงต้องเร่งประสานกับกรมประมงในการเข้ามาดูแลจัดการ นอกจากนี้ กทม. จะต้องหาวิธีเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน ที่ตอนนี้รายได้ลดลงถึง 10 เท่า จากกรณีที่ปลาและกุ้งถูกปลาหมอสีคางดำกิน ทั้งนี้ ปลาหมอสีคางดำที่จับมาพบว่าขายได้ราคาไม่ดี
ชัชชาติกล่าวต่อว่า ขณะนี้แม้จะมีเพียง 3 เขตของกรุงเทพมหานครที่ได้รับผลกระทบ แต่เชื่อว่าหากไม่รีบจัดการแก้ไข มีแนวโน้มว่าจะกระจายไปไกล เนื่องจากมีการแพร่กระจายได้เร็ว และปลาชนิดนี้อยู่ได้ทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย จึงกังวลว่าจะมีการแพร่ระบาดไปยังพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร จากนี้ต้องมีการปรึกษาด้านเทคนิคกับกรมประมง เพราะการสกัดหมายความว่าเป็นการสกัดปลาทุกชนิด อาจมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ จึงต้องมีการทำอย่างละเอียด
ศรายุทธ์ เมธินาพิทักษ์ หัวหน้ากลุ่มบริหารจัดการด้านการประมง สำนักงานประมงพื้นที่ กทม. เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมประมงวางแนวทางแก้ไขปัญหา 6 มาตรการ คือ 1. การจับและกำจัดออกจากแหล่งน้ำ 2. การปล่อยปลาผู้ล่าหรือปลาที่กินเนื้อ เช่น ปลากะพง 3.การร่วมกันนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ 4. การสำรวจและการกำหนดแนวกันชน 5. สร้างการมีส่วนร่วมทั้งในหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชน 6. กรมประมงสำรวจและติดตามประเมินผล
นอกจากนี้จะมีการผลิตปลาหมัน และปล่อยลงสู่แหล่งน้ำเพื่อให้ไปผสมพันธุ์กับปลาหมอสีคางดำในธรรมชาติ และทำให้เป็นหมันเพื่อลดจำนวนลงด้วย