เกิดอะไรขึ้น:
เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต (BLA) รายงานกำไรสุทธิ 1Q67 เพิ่มขึ้น 64%YoY และ 247%QoQ สู่ 1.24 พันล้านบาท ตามคาด หลักๆ ได้แรงหนุนจากอัตรากำไรจากการรับประกันภัยที่ดีขึ้น
สำหรับรายการที่สำคัญใน 1Q67 มีดังนี้
- เบี้ยประกันภัยรับสุทธิ: ลดลง 2%YoY, ทรงตัว QoQ ใน 1Q67 เบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ลดลง 27%YoY แต่เพิ่มขึ้น 2%QoQ เบี้ยประกันภัยรับปีต่อไปเพิ่มขึ้น 6%YoY และ 10%QoQ
- อัตรากำไรจากการรับประกันภัย: เพิ่มขึ้น 798 bps YoY และ 993 bps QoQ สู่ 13.93% ใน 1Q67 โดยมีสาเหตุมาจากอัตราส่วนเงินสำรองประกันชีวิตและผลประโยชน์จ่ายตามกรมธรรม์ที่ลดลง 854 bps YoY และ 952 bps QoQ สู่ 102.82% (เทียบกับประมาณการปี 2567 ที่ 105%) จากการโอนกลับสำรองค่าเผื่อความผันผวน (PAD) ของกรมธรรม์ที่ครบกำหนด โดยในปี 2567 ยอดโอนกลับสำรองค่าเผื่อความผันผวน (PAD) ของกรมธรรม์ที่ครบกำหนด คาดว่าจะอยู่ที่ราว 3 หมื่นล้านบาท โดย 2 ใน 3 อยู่ใน 1Q67 ดังนั้นจึงคาดว่าอัตรากำไรจากการรับประกันภัยในช่วงที่เหลือของปีนี้จะสูงกว่าตัวเลขใน 1Q67
- ROI: เพิ่มขึ้น 25 bps QoQ (อัตราผลตอบแทนจากดอกเบี้ยและเงินปันผลและกำไรจากเงินลงทุนดีขึ้น) และลดลง 12 bps QoQ (กำไรจากเงินลงทุนลดลง แม้อัตราผลตอบแทนจากดอกเบี้ยและเงินปันผลดีขึ้น) สู่ 4.02%
- ECL: โอนกลับ 5 ล้านบาทใน 1Q67 เทียบกับ 333 ล้านบาทใน 4Q66 และ 2 ล้านบาทใน 1Q66
กระทบอย่างไร:
หลังจากรายงานผลประกอบการ ณ วันที่ 9 พฤษภาคม 2567 ราคาหุ้น BLA ปรับขึ้น 18% สู่ระดับ 20.30 บาท ขณะที่ SET Index ปรับขึ้น 0.19% สู่ระดับ 1,375.88 จุด
แนวโน้มผลประกอบการปี 2567:
กำไร 1Q67 คิดเป็น 34% ของประมาณการกำไรปี 2567 และปัจจุบันยังคงคาดว่ากำไรปี 2567 จะเติบโต 42% โดยได้รับการสนับสนุนจากการคาดการณ์ว่าขาดทุนจากเงินลงทุนที่ 128 ล้านบาทในปี 2566 จะพลิกกลับมามีกำไร 500 ล้านบาทในปี 2567
และการคาดการณ์ว่า Combined Ratio จะลดลง 523 bps สู่ 105% จากการโอนกลับสำรองค่าเผื่อความผันผวน (PAD) เนื่องจากกรมธรรม์ครบกำหนด โดยคาดว่าเบี้ยประกันภัยรับปีแรกจะเติบโต 5% (เทียบกับ 10% ในปี 2566) และเบี้ยประกันภัยรับรวมจะลดลง 3% ในปี 2567
กลยุทธ์การลงทุนและคำแนะนำ:
เนื่องจากราคาหุ้นปรับตัวลดลงมาแล้ว 14% YTD InnovestX Research จึงปรับคำแนะนำสำหรับ BLA ขึ้นจาก Neutral สู่ Outperform โดยคงราคาเป้าหมายไว้ที่ 22 บาทต่อหุ้น (อิงกับ PBV ที่ 0.8 เท่า) เนื่องจาก Valuation ถูกที่เพียง 0.4x Embedded Value (EV) และคาดว่ากำไรจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปี 2567 และ 2568 อันเป็นผลมาจาก Combined Ratio ที่ปรับตัวดีขึ้นจากการโอนกลับสำรองค่าเผื่อความผันผวน (PAD) ของกรมธรรม์ที่ครบกำหนด
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือ แรงกดดันต่อกำลังซื้อของลูกค้า, ความผันผวนของตลาดทุน, การเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล, การใช้มาตรฐานการบัญชีใหม่ โดยเฉพาะ IFRS 17 และความเสี่ยง ESG จาก Market Conduct