×

กทม. เตือนประชาชนรับมือ PM2.5 วันที่ 27 ม.ค. และ 1 ก.พ. ขอความร่วมมือทุกภาคส่วน Work from Home

โดย THE STANDARD TEAM
26.01.2023
  • LOADING...

วานนี้ (25 มกราคม) ที่ห้องประชุมสำนักสิ่งแวดล้อม อาคารสำนักการโยธา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย และพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ร่วมแถลงข่าวมาตรการรับมือฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มสูงในกรุงเทพมหานคร ช่วงวันที่ 26-27 มกราคม และ 1 กุมภาพันธ์นี้

 

พรพรหมกล่าวว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกับกรมอนามัย และกรมควบคุมมลพิษ แก้ไขสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ จะแบ่งเป็น การติดตามและแจ้งเตือนโดยการตั้งวอร์รูมแก้ปัญหา PM2.5 การเปิด Traffy Fondue เพื่อรับแจ้งปัญหาจากประชาชน การพยากรณ์สถานการณ์ฝุ่นล่วงหน้าเพื่อแจ้งเตือนประชาชน

 

โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาจากต้นตอของฝุ่นละออง PM2.5 เช่น ควันดำจากรถยนต์ การเผาชีวมวลจากการเกษตร การเผาในที่โล่ง และโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการรณรงค์ส่งเสริมความรู้และเน้นย้ำข้อควรปฏิบัติและวิธีป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง PM2.5 โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว 

 

ตลอดจนการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขของ กทม. เพื่อรองรับการให้บริการประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งหน่วยงานภาครัฐได้ร่วมมือกันอย่างเข้มข้นเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในกรุงเทพฯ ร่วมกัน 

 

ด้านพันศักดิ์กล่าวว่า การเกิดฝุ่น PM2.5 เป็นวัฏจักรที่มักเกิดขึ้นในฤดูหนาว สำหรับในปีนี้กรมควบคุมมลพิษได้ติดตามคาดการณ์ล่วงหน้า 7 วัน พบว่าช่วงที่มีปัญหาเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม โดยในวันที่ 24 มกราคม เกิดพื้นที่สีส้ม (ระดับแจ้งเตือนเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ) ทั่วกรุงเทพฯ วันที่ 25 มกราคม คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ดีมาก เป็นพื้นที่สีฟ้า แต่ค่า PM2.5 จะเกินมาตรฐานอีกครั้งในวันที่ 27 มกราคม และจะเกิดพื้นที่สีส้มทั่วกรุงเทพฯ อีกครั้งในวันที่ 1 กุมภาพันธ์

 

ซึ่งปัญหานี้จะอยู่ไปจนถึงเดือนเมษายน ทางด้านกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ปีนี้มีความแห้งแล้งมากกว่าปีที่ผ่านมา เป็นปัจจัยส่งเสริมทำให้ PM2.5 อาจจะรุนแรงขึ้น ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมาพบว่าเดือนที่มักจะมีความรุนแรงของ PM2.5 มากที่สุดคือเดือนกุมภาพันธ์ 

 

ส่วน ศักดา ตรีเดช ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงปัจจัยหลักของการเกิดฝุ่น ได้แก่ เพดานลอยตัวของอากาศ โดยข้อมูลจากอุตุนิยมวิทยาพบว่า เพดานอากาศต่ำกว่า 500 เมตร ทำให้เกิดสถานการณ์ PM2.5 เนื่องจากเพดานอากาศจะสูงขึ้นในฤดูร้อน และเพดานอากาศจะต่ำลงในฤดูหนาว 

 

ขณะที่ วรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงแนวทางของ กทม. กรณีค่าฝุ่น PM2.5 เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ 3 ส่วน ได้แก่ เฝ้าระวังและแจ้งเตือน กำจัดต้นตอ และแนะนำการป้องกันดูแลสุขภาพ ซึ่ง กทม. จะนำค่าระดับฝุ่นประกอบกับค่าการพยากรณ์ของกรมควบคุมมลพิษ เพื่อเป็นข้อมูลสถานการณ์ และนำมาใช้ในการวางแผนการทำงาน เป็น 4 ระดับ 

 

ระดับที่ 1 (ฟ้า) ค่าไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) จะใช้ 15 มาตรการ เช่น ตรวจไซต์ก่อสร้าง ตรวจโรงงาน ให้มีการฉีดพ่นน้ำเพื่อไม่ให้มีการฟุ้งกระจายของฝุ่น 

 

ระดับที่ 2 (เหลือง) ค่า 37.6-50 มคก./ลบ.ม. จะมีการเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจมากยิ่งขึ้น 

 

ระดับที่ 3 (ส้ม) ค่า 51-75 มคก./ลบ.ม. จะมีการแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสานงานขอความร่วมมือให้ทำงานแบบ Work from Home 60% รวมถึงลดงานและกิจกรรมที่เกิดฝุ่นละออง 

 

ระดับที่ 4 (แดง) ค่ามากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. จะขอความร่วมทำงานแบบ Work from Home 100% เพราะเป็นการช่วยลดมลพิษได้เป็นอย่างมาก รวมถึงการปิดโรงเรียน เป็นต้น

 

วรนุชกล่าวอีกว่า ปีนี้ กทม. ได้ขยายคลินิกอนามัยเพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีอาการป่วยด้วยระบบทางเดินหายใจ จากเดิม 3 แห่งเป็น 5 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะสามารถแก้ปัญหาและรองรับสถานการณ์ได้ คือ คลินิกมลพิษทางอากาศโรงพยาบาลกลาง, คลินิกมลพิษทางอากาศโรงพยาบาลตากสิน, คลินิกมลพิษทางอากาศโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์, คลินิกมลพิษทางอากาศโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และคลินิกมลพิษทางอากาศโรงพยาบาลสิรินธร 

 

ประชาชนสามารถเข้าใช้บริการได้ทันที โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต้องระวังเป็นพิเศษ เช่น เด็กเล็ก สตรีมีครรภ์ ผู้มีโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน สามารถเข้ารับคำปรึกษาและการตรวจรักษาได้ทันที 

 

ส่วนพรพรหมกล่าวทิ้งท้ายว่า ในปีนี้ กทม. ได้บูรณาการการทำงานเชิงรุกมากขึ้น มีการตรวจควันดำจากรถบรรทุกในพื้นที่ไซต์งานก่อสร้างอย่างเข้มข้น รวมถึงขอความร่วมมือประชาชนใช้บริการรถสาธารณะให้มากขึ้น โดยเฉพาะในวันที่ 27 มกราคม และวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ ที่ค่าฝุ่นในกรุงเทพฯ จะเป็นสีแดง 

 

ส่วนมาตรการที่จะให้ประชาชน Work from Home ในวันที่ค่าฝุ่นสูงนั้น กทม. ได้ทำหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงขอความสมัครใจจากภาคเอกชน ซึ่งตอนนี้มี 11 บริษัทเอกที่สนใจและจะเข้าร่วม Work from Home  กับ กทม. รวมถึงได้แจ้งเตือนขอให้ประชาชนงดออกกำลังกายกลางแจ้ง 

 

ส่วนโรงเรียนขอให้ปิดหน้าต่าง และให้โรงเรียนงดทำกิจกรรมนอกอาคาร ขณะที่การสวมใส่หน้ากากอนามัย หากเป็นหน้ากากอนามัยปกติจะป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้น้อย หากเป็นหน้ากาก N95 จะสามารถกรองและป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้มากกว่า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising