กทม. ยังไม่อนุญาตให้ถอดหน้ากากในที่โล่ง ขณะที่วันนี้ (6 มิถุนายน) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับคณะผู้บริหาร กทม. นัดแรก ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวว่าเตรียมหารือเรื่องการถอดหน้ากากในที่โล่ง และการขยายเวลาเปิดผับ บาร์ และสวนสาธารณะ ทว่าภายหลังการประชุม ชัชชาติกล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโควิดมีแนวโน้มดีขึ้น น่าจะผ่อนคลายได้มากขึ้น แต่เรื่องการถอดหน้ากากต้องยึด ศบค. เป็นหลัก
กทม. พร้อมถอดหน้ากากในที่โล่งหรือไม่ ถ้าถอดแล้วจะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจริงไหม และทำไมเรื่องนี้ต้องรอ ศบค. ตัดสินใจ
การสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโรค
การสวมหน้ากากก่อนออกจากบ้านกลายเป็นความเคยชินของหลายคน เพราะปฏิบัติติดต่อกันมาตั้งแต่เริ่มมีการระบาดเมื่อ 2 ปีก่อน และเป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันโรค DMHTT และมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID-FREE Setting) ของกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้การสวมหน้ากากในสถานที่สาธารณะยังเป็นคำสั่งตามกฎหมายตามมาตรา 34 (6) แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ห้ามผู้ใดกระทำการซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะอีกด้วย
แต่ในระลอกของสายพันธุ์โอมิครอน ไวรัสมีความรุนแรงลดลง และประชาชนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ทำให้ความรุนแรงของโรคลดลง (ปัจจุบันจำนวนผู้เสียชีวิตเฉลี่ยในรอบ 1 สัปดาห์ วันละประมาณ 30 คน และอัตราป่วยเสียชีวิต 0.4%) และแนวโน้มการระบาดอยู่ในช่วงขาลง (จำนวนผู้ป่วยเฉลี่ยวันละประมาณ 3,500 คน) ประกอบกับการผ่อนคลายกิจกรรม/กิจการต่างๆ ตามนโยบาย ‘โรคประจำถิ่น’ หลายคนจึงต้องการให้ผ่อนคลายมาตรการสวมหน้ากากในสถานที่สาธารณะด้วย
ความเสี่ยงของการระบาดในที่โล่งแจ้ง
โควิดติดต่อผ่าน 2 ช่องทางหลัก คือ ละอองสารคัดหลั่งขนาดใหญ่ เช่น ละอองน้ำลายจากการพูดคุย ละอองเสมหะจากการไอจามในระยะ 1-2 เมตร และละอองสารคัดหลั่งขนาดเล็กที่สามารถลอยในอากาศได้ไกลกว่า 2 เมตร แต่มักเกิดขึ้นในสถานที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เช่น ห้องปรับอากาศ รถโดยสารสาธารณะ ดังนั้นองค์การอนามัยโลกจึงสรุปปัจจัยเสี่ยงต่อการระบาดของโควิดเป็นตัวย่อ 3C และสถานที่เสี่ยงสูงคือสถานที่ที่มี 3 ปัจจัยนี้ร่วมกัน ได้แก่
- สถานที่แออัด (Crowded Places) ที่มีคนอยู่จำนวนมาก
- การสัมผัสใกล้ชิด (Close-Contact Settings) โดยเฉพาะในระยะพูดคุยกัน
- พื้นที่ปิดอับ (Confined and Enclosed Spaces) ที่การระบายอากาศไม่ดี
ในขณะที่สถานที่โล่ง เช่น พื้นที่นอกอาคาร สวนสาธารณะ ไม่เข้าข่ายนี้ รวมถึงทางเดินหรือทางเท้าที่คนไม่พลุกพล่าน จะถือว่ามีความเสี่ยงต่ำต่อการระบาด เพราะคนไม่อยู่ใกล้ชิดกัน สามารถเดินเลี่ยงกันได้ และใช้เวลาไม่นาน อีกทั้งยังเป็นพื้นที่เปิด อากาศถ่ายเทสะดวก หากสังเกตคำแนะนำการสวมหน้ากากในต่างประเทศ หรือแม้แต่องค์การอนามัยโลก จะเน้นที่การสวมหน้ากากในสถานที่ปิดภายในอาคาร ส่วนสถานที่นอกอาคารแนะนำให้กรณีที่ไม่สามารถเว้นระยะห่างจากผู้อื่นได้
ตรงกันข้ามสถานที่เสี่ยงต่อการระบาดคือ สถานศึกษา สถานที่ทำงาน ระบบขนส่งมวลชน ร้านอาหารที่ติดเครื่องปรับอากาศ (ยิ่งไม่สามารถสวมหน้ากากตลอดเวลาได้) และที่เพิ่มขึ้นมาในช่วงนี้คือ สถานบันเทิง หากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลังจากผ่อนคลายมาตรการก็ไม่น่าจะเป็นผลมาจากสถานที่โล่งแต่อย่างใด ที่กล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าต้องปิดสถานบันเทิงต่อ เพียงแต่ในเมื่อภาครัฐยอมรับความเสี่ยงจากสถานที่เสี่ยงสูงได้ การป้องกันโรคในสถานที่เสี่ยงต่ำก็น่าจะ ‘ไม่มีความจำเป็น’
การสวมหน้ากากควรเป็น ‘การบังคับ’ หรือ ‘ทางเลือก’
โควิดถูกประกาศให้เป็น ‘โรคติดต่ออันตราย’ เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2563 จึงทำให้มี ‘การบังคับ’ ใช้กฎหมายในการควบคุมโรคหลายมาตรการ ไม่ว่าจะเป็นการแยกกักผู้ติดเชื้อ การกักกันผู้สัมผัส รวมถึงการสวมหน้ากากอนามัยในสถานที่สาธารณะ แต่เมื่อเวลาผ่านไปไวรัสมีการกลายพันธุ์ มนุษย์มีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อและการฉีดวัคซีน และคิดค้นยารักษาได้แล้ว โควิดจึงอาจไม่ใช่โรคติดต่ออันตรายเหมือนเดิม หรือเมื่อชั่งน้ำหนักกับผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ มาตรการเหล่านั้นก็อาจไม่มีความจำเป็น
สำหรับการสวมหน้ากาก เดิมเป็นเพียง ‘ทางเลือก’ สำหรับผู้ที่มีอาการป่วย ต่อมาเป็น ‘ทางเลือก’ สำหรับทุกคน เพราะมีหลักฐานว่าผู้ติดเชื้อโควิดแพร่เชื้อในขณะที่ยังไม่มีอาการได้ หน้ากากจึงป้องกันทั้งการติดเชื้อและการแพร่เชื้อให้กับผู้อื่น จนกระทั่งระลอกสายพันธุ์เดลตาจึงมี ‘การบังคับ’ ให้สวมหน้ากากในสถานที่สาธารณะ (กทม. ประกาศให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้งตลอดเวลาที่ออกนอกเคหสถานหรือสถานที่พำนัก เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2564)
ดังนั้นเมื่อสถานการณ์การระบาดดีขึ้น การสวมหน้ากากก็สามารถกลับไปเป็น ‘ทางเลือก’ เหมือนปี 2563 ได้ โดยอาจแนะนำเฉพาะ ‘บุคคล’ กลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรือ ‘สถานที่’ เสี่ยงต่อการระบาด เช่น ระบบขนส่งสาธารณะ พื้นที่ปิดภายในอาคาร เพื่อป้องกันการระบาดเป็นคลัสเตอร์ ทั้งนี้ภาครัฐจะต้องสื่อสารให้ชัดเจนว่าเป็นการยกเลิกการ ‘บังคับ’ แต่ฝั่งสาธารณสุขยังคงแนะนำการสวมหน้ากากในบางกรณีตามหลักวิชาการ
แผนโรคประจำถิ่นของกระทรวงสาธารณสุข
การผ่อนคลายมาตรการสวมหน้ากากอยู่ในแผนและมาตรการการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิดสู่โรคประจำถิ่น (Endemic Approach to COVID-19) ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ ศบค. เห็นชอบเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2565 โดยในระยะ Post-Pandemic (1 กรกฎาคมเป็นต้นไป) จะปรับเปลี่ยนจาก ‘ทุกคน’ สวมหน้ากาก 100% เป็น ‘กลุ่มเสี่ยงหรือผู้ติดเชื้อ’ สวมหน้ากาก 100% แทน แต่เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการอื่นเร็วขึ้น ก็อาจเห็นการผ่อนคลายเรื่องการสวมหน้ากากเร็วขึ้นด้วย
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงเรื่องการเตรียมปรับมาตรการสวมหน้ากากว่า จะดำเนินการในพื้นที่นำร่องที่มีความพร้อมตามเกณฑ์ คือ มีสถานการณ์ระบาดในระดับต่ำ มีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้ตามเกณฑ์ และระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยของสถานพยาบาลในพื้นที่มีความพร้อม โดยจะออกคำแนะนำให้มีการสวมหน้ากากใน 3 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มผู้ป่วย หรือกลุ่มเสี่ยง 608
- ผู้ที่อยู่ในสถานที่ปิด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก
- ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก
ทว่าต่อมาวันที่ 30 พฤษภาคม โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกลับชี้แจงสื่อมวลชนว่า ขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีนโยบายให้ถอดหน้ากากในสถานที่สาธารณะ เท่ากับว่า ศบค. ยังไม่มีความชัดเจนในประเด็นนี้ และน่าจะเป็นต้นเหตุของความสับสนที่จังหวัดภูเก็ต
เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตออกคำสั่งจังหวัดภูเก็ต เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ระบุว่า เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับมาตรการด้านสาธารณสุขและรองรับการเปิดประเทศ จึงสวมควรผ่อนคลายเกี่ยวกับ ‘การมิให้ประชาชนกระทำการซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะโดยการไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า’ ยกเว้นการสวมหน้ากากใน 4 กรณี ได้แก่
- รับประทานอาหารหรือเครื่องดื่ม
- ยืนยันตัวตนกับเจ้าหน้าที่รัฐ
- ออกกำลังกาย
- อยู่ในที่บริเวณโล่งแจ้งที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก บริเวณชายหาด สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬา ซึ่งห่างจากบุคคลอื่นไม่ต่ำกว่า 2 เมตร
ซึ่งคงเป็นข้อเสนอของภาคธุรกิจในพื้นที่ และน่าจะได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี โดยเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป ทว่าวันถัดมา (2 มิถุนายน) ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตกลับยกเลิกประกาศเดิม แล้วประกาศข้อยกเว้นใหม่ โดยตัดกรณีการถอดหน้ากากในสถานที่โล่งออก
ทำไมต้องรอ ศบค. ตัดสินใจ?
หลายคนอาจสงสัยเหมือนกันว่าการถอดหน้ากากในสถานที่โล่ง ทั้งกรณี กทม. และภูเก็ต รวมถึงจังหวัดอื่นๆ ต้องรอ ศบค. หรือไม่ หรือพูดอีกอย่างคือ ประเด็นนี้สามารถกระจายอำนาจให้แต่ละจังหวัดตัดสินใจได้หรือไม่ เพราะในทางกฎหมาย การออกคำสั่งบังคับให้สวมหน้ากากเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ในทางสังคมเป็นความเห็นพ้องต้องกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในจังหวัด และสถานที่โล่งเป็นสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่ำในทางระบาดวิทยา
คำถามที่ตามมาคือ เส้นแบ่งระหว่างการรวบอำนาจและกระจายอำนาจในการควบคุมโรคอยู่ตรงไหน ประเด็นอะไรอีกบ้างที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือแม้แต่กระทรวงสาธารณสุขไม่จำเป็นต้องรอ ศบค. ชุดเล็ก/ชุดใหญ่ ซึ่งเป็นโครงสร้างในสถานการณ์ฉุกเฉิน ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อโควิดกำลังจะเป็นโรคประจำถิ่น และไม่ใช่โรคติดต่ออันตราย พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังจำเป็นอยู่หรือไม่ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ฉบับปรับปรุง พร้อมนำกลับมาใช้แล้วหรือยัง
อ้างอิง:
- แนวทางการออกคำสั่งและการบังคับใช้กฎหมาย กรณีการออกคำสั่งห้ามผู้ใดกระทำการซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ โดยการไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคโควิด 18 แพร่ออกไป https://ddc.moph.go.th/uploads/ckeditor2//files/%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%AF%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%B5%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%81-%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%20%E0%B8%81%E0%B8%97%E0%B8%A1.pdf
- หลายประเทศยกเลิกสวมหน้ากากในพื้นที่โล่งแล้ว เรายังต้องสวมหน้ากากอยู่หรือไม่ https://thestandard.co/key-messages-wearing-mask-issue/
- สธ. แจงข้อแนะนำการสวมหน้ากากอนามัย 3 กลุ่ม เตรียมทำในพื้นที่ที่มีความพร้อมเข้าเกณฑ์เป็นโรคประจำถิ่น https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/04/174339/
- คำสั่ง หนังสือ ประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต https://www.phuket.go.th/webpk/contents.php?str=covid-19
- ‘ชัชชาติ’ ชี้ กทม. ใกล้ถึงเวลาถอดหน้ากาก แต่ต้องยึด ศบค. เป็นหลัก https://news.thaipbs.or.th/content/316310
- Coronavirus disease (COVID-19): Masks https://www.who.int/emergencies/diseases/novel-coronavirus-2019/question-and-answers-hub/q-a-detail/coronavirus-disease-covid-19-masks