×

กทม. เล่นยาก-ต้องการคนที่เปิดต่อประเด็นของคนที่หลากหลาย ถกศึกชิงผู้ว่าฯ เชื่อมมิติเพศกับ ‘ชลิดาภรณ์’

07.04.2022
  • LOADING...
bkk-election-2022-with-chalidaporn-songsamphan

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในอดีต มีสัดส่วนจำนวนผู้สมัครที่เป็นชายมากกว่าหญิง เมื่อจำแนกด้วยเพศตามที่ระบุในบัตรประชาชน
  • รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ศึกษาประเด็นสตรีนิยม เพศวิถี และเพศสภาพ มองว่า พื้นที่กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ซึ่ง ‘เล่นยาก’ สำหรับพรรคการเมือง จึงทำให้ผู้ที่จะลงสนามในกรุงเทพฯ มีอยู่ไม่กี่พรรค และที่เหลือก็กลายเป็นผู้สมัครอิสระ แต่แนวโน้มของผู้ที่สนใจสมัครเป็นผู้ว่าฯ กทม. มีความหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ
  • เธอมองว่า การชูจุดขายเพียงเรื่องเพศสภาพหรือเพศวิถีอย่างเดียวอาจมีความสุ่มเสี่ยง เพราะเมื่อผู้สมัครจะดึงดูดคะแนนเสียงก็ย่อมต้องพูดถึงคนหลายกลุ่ม อย่างไรก็ตาม นอกจากความเข้าใจในสถานการณ์หรือปัญหาเฉพาะของกรุงเทพฯ แล้ว อัตลักษณ์ทางเพศสภาพหรือเพศวิถีของผู้สมัครอาจได้รับการนำเสนอในฐานะ ‘ข้อได้เปรียบ’ เพิ่มเติม
  • เธอชี้ว่า การเพิ่มจำนวนผู้หญิงหรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในสภา หรือผู้ใช้อำนาจในหน่วยการปกครองต่างๆ อาจไม่ได้แปลว่าจะทำให้โลกเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่ควรเพิ่มสำหรับเธอคือคนที่เข้าใจหรือ ‘เปิด’ ต่อประเด็นและสถานการณ์ของกลุ่มคนที่มีความหลากหลาย
  • สามภาพใหญ่ที่เธออยากเห็นจากแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. คือ โจทย์ว่าด้วยระบบที่สนับสนุนวิถีชีวิตคนทำงานซึ่งมีจำนวนมาก, โจทย์เรื่องการเป็นเมืองที่เคยมีผู้มาเยือนมากที่สุดในโลก และโจทย์ของการเป็นศูนย์กลางของการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างการชุมนุมแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐ 

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เกิดขึ้นมาแล้วทั้งสิ้น 10 ครั้ง (ยังไม่นับรวมครั้งนี้ในปี 2565) มีผู้สมัครมากหน้าหลายตาทั้งอิสระและสังกัดพรรคการเมือง แต่เมื่อลองสำรวจข้อมูลผู้สมัครรับเลือกตั้งพบว่า หากมองตามเพศที่ระบุในบัตรประชาชนซึ่งอยู่ในเอกสารทางการ สัดส่วนของผู้ที่ลงสมัครซึ่งเป็นชายมีสูงกว่าหญิงอยู่มากทีเดียว

 

ข้อมูลข้างต้นบอกเราว่า ในรอบ 10 ครั้งที่ผ่านมา มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. รวมทั้งสิ้น 134 คน ซึ่งบางคนก็อาจลงสมัครในการเลือกตั้งมากกว่า 1 ครั้ง ในจำนวนนี้มีชายอยู่ 121 คน คิดเป็นกว่าร้อยละ 90 ขณะที่มีหญิงลงสมัครเพียง 13 คน หรือเพียงเกือบร้อยละ 10 เท่านั้น ในแง่ของพรรคการเมือง ชัดเจนว่าทั้งผู้สมัครชายและหญิงส่วนใหญ่เป็นผู้สมัครอิสระ แต่สัดส่วนของผู้สมัครหญิงที่สังกัดพรรคการเมืองจะน้อยกว่าผู้สมัครชายอยู่บ้าง

 

มิติเรื่อง ‘เพศ’ กับผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.

น่าสนใจว่าระหว่างมิติเรื่อง ‘เพศ’ กับการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. (และอาจรวมถึงการลงสมัครรับเลือกตั้งในรูปแบบอื่นๆ ของการเมืองไทย) มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในทางใดหรือไม่ THE STANDARD พูดคุยกับ รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการผู้ศึกษาประเด็นสตรีนิยม เพศวิถี และเพศสภาพ เพื่อหาความรู้และมุมมองในเรื่องนี้ ซึ่งเราได้พูดคุยกับเธอไว้ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา

 

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ มองว่า พื้นที่กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ซึ่ง ‘เล่นยาก’ สำหรับพรรคการเมือง จึงทำให้ผู้ที่จะลงสนามในกรุงเทพฯ มีอยู่ไม่กี่พรรค และที่เหลือก็กลายเป็นผู้สมัครอิสระ 

 

bkk-election-2022-with-chalidaporn-songsamphan

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ 

(แฟ้มภาพ: ทรงพล จั่นลา)

 

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ มองว่า แนวโน้มของผู้ที่สนใจสมัครเป็นผู้ว่าฯ กทม. มีความหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ

 

“คือดิฉันเข้าใจว่ากรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างจะลำบากของพรรคการเมืองนะคะ ถ้าคุณพิจารณาจากที่ผ่านๆ มา พูดถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก่อน พรรคการเมืองที่สามารถจะทำอะไรกับกรุงเทพฯ ได้จริงๆ มีอยู่ไม่กี่พรรค

 

“เพราะฉะนั้นมันก็จะสะท้อนภาพที่คุณบอก คือเอาในแง่ในส่วนของพรรคการเมืองก่อนว่าใครที่จะลองเล่นในระดับกรุงเทพฯ บ้าง จริงๆ ก็จะมีอยู่ไม่กี่พรรค เพราะฉะนั้นที่เหลือก็จะเป็นผู้สมัครอิสระ แต่ทีนี้ที่น่าสนใจก็คือ เวลาที่ผ่านไปคนที่สนใจจะสมัครเป็นผู้ว่ากรุงเทพฯ จริงๆ มีความหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอันนี้ก็เป็นแนวโน้มที่ดิฉันเองเห็นนะ ไม่รู้คนอื่นเห็นอย่างนี้ไหม”

 

กทม. ‘เล่นยาก’ เพราะ ‘ภาพลักษณ์’ มาก่อนเพศสภาพ-เพศวิถี

เราถามต่อไปว่า ความ ‘เล่นยาก’ ในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะส่งผลต่อวิธีคิดของพรรคการเมืองในการตัดสินใจส่งผู้สมัครที่มีเพศสภาพหรือเพศวิถีต่างๆ หรือไม่ 

 

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ เห็นว่า การเลือกตั้งครั้งนี้แคนดิเดตที่จะดึงดูดเสียงสนับสนุนได้นั้น ‘ภาพลักษณ์’ จะมาก่อนประเด็นเพศสภาพหรือเพศวิถีของผู้สมัคร

 

“เพราะฉะนั้นถ้าเวลาผ่านไปมากกว่านี้แล้วเปิดตัวว่ามีใครเป็นแคนดิเดตชัดเจน คุณอาจจะเห็นว่าเอาเข้าจริงๆ แล้ว ไม่ได้มีใครพูดไปถึงเรื่องอัตลักษณ์ เพศสภาพ หรือเพศวิถี อย่างเป็นเรื่องเป็นราว คือหมายถึงยืนอยู่ในประเด็นพวกนี้ แล้วพูดอย่างเป็นเรื่องเป็นราวนะคะ แต่ว่ามันเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งนะคะของตัวผู้สมัครคนนั้นมากกว่า”

 

bkk-election-2022-with-chalidaporn-songsamphan

แฟ้มภาพ: Pornchai Kittiwongsakul / AFP

 

เราถามต่อไปว่า ในอนาคตมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะได้เห็นบุคคลลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. ในลักษณะการประกาศตัวว่าเป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

 

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ตอบว่า ที่ผ่านมามีผู้มีความหลากหลายทางเพศชนะการเลือกตั้ง ได้ตำแหน่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในไทยอยู่หลายพื้นที่ 

 

แต่การชูจุดขายเพียงเรื่องเพศสภาพหรือเพศวิถีอย่างเดียวอาจมีความสุ่มเสี่ยง เพราะเมื่อผู้สมัครจะดึงดูดคะแนนเสียง ก็ย่อมต้องพูดถึงคนหลายกลุ่ม 

 

อย่างไรก็ตาม นอกจากความเข้าใจในสถานการณ์หรือปัญหาเฉพาะของกรุงเทพฯ แล้ว อัตลักษณ์ทางเพศสภาพหรือเพศวิถีของผู้สมัครอาจได้รับการนำเสนอในฐานะ ‘ข้อได้เปรียบ’ เพิ่มเติม

 

“ทีนี้ถ้าสมมติว่าคุณอยากจะลงเลือกตั้งเพื่อจะเพื่อตำแหน่งประมาณอย่างนี้ ผู้ว่าฯ กทม. หรือว่าตำแหน่งอื่นใน อปท. นะคะ การที่คุณขายเพศสภาพหรือเพศวิถีอย่างเดียวมันมีความสุ่มเสี่ยง เพราะว่าเอาเข้าจริงๆ เวลาที่ผู้สมัครเขาจะดึงดูดคะแนนเสียง เขาต้องพูดถึงคนหลายกลุ่ม

 

“คือจะแปลกๆ นะคะถ้าคุณพูดว่า เฮ้ย ฉันเป็นเควียร์ และฉันจะลงเลือกตั้งเพื่อประเด็นเควียร์ คุณจะได้คนกลุ่มเล็กมาก เข้าใจไหม แต่ถ้าพูดว่าคุณน่ะเข้าใจสถานการณ์หรือปัญหาเฉพาะของกรุงเทพฯ แล้วคุณก็เสนอตัวคุณมาเพื่อที่จะมาทำงานในเรื่องนี้ โดยคุณมีแง่มุมที่เป็นข้อได้เปรียบเพิ่มเติมก็คืออัตลักษณ์ทางเพศสภาพหรือเพศวิถีของคุณต่างหาก แต่ว่าถ้าจะออกมาพูดว่าฉันเป็นเควียร์และฉันจะทำประเด็นเควียร์ represent เควียร์อย่างเดียวน่ะ ดิฉันว่ามันไม่ใช่แนวทางของการเลือกตั้งไม่ว่าที่ไหน”

 

เพศส่งผลต่อการกำหนดนโยบายหรือไม่

เราถามต่อไปว่า เพศสภาพและเพศวิถีของผู้สมัครนั้นส่งผลต่อการกำหนดนโยบายของตัวผู้สมัครหรือไม่ เช่น ผู้สมัครหญิงอาจนำเสนอนโยบายด้านความปลอดภัยของผู้หญิง 

 

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ตั้งข้อสังเกตโดยระบุว่า ‘คำตอบของเธอนั้นชวนถูกด่า’ และอาจจะเป็นการสังเกตที่ไม่ยุติธรรมนัก เพราะเธอสังเกตการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นหลัก

 

“คือเอาเข้าจริงๆ เวลาที่ผู้สมัครเขาลงสมัครรับเลือกตั้ง เขาไม่ค่อยได้พูดจากมุมเพศสภาพแบบนั้น ยกเว้นในเวลาที่จะดึงดูดคะแนนเสียง เพราะฉะนั้นผู้สมัครนี่ คุณก็จะถูกล็อกอยู่ โดยเฉพาะถ้าคุณเป็นผู้สมัครจากพรรคการเมืองนะคะ คุณก็ถูกล็อกอยู่โดยนโยบาย โดยแพลตฟอร์มของพรรค คุณก็จะต้องขายของพรรคใช่ไหม

 

“ทีนี้ในบางเวลา ในบางเวทีที่คุณไปพูด คุณก็อาจพูดถึงเพศสภาพของตัวเองหรืออะไรอย่างนี้ แล้วก็บางคน นี่ดิฉันกำลังนึกถึงแคนดิเดตผู้หญิงที่เคยเห็นมาในช่วงเวลาที่ผ่านมา ในบางเวที บางคนนี่สามารถจะลงไปพูดได้อยู่บ้าง อย่างเช่น ประเด็นเรื่องความปลอดภัยอย่างที่คุณว่านะคะ แต่ว่าดิฉันยังไม่ค่อยเคยเห็นคนที่สามารถจะนำเสนอได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวว่าถ้ามองคนในพื้นที่เลือกตั้งที่แตกต่างกัน ฉันจะทำอะไรให้คนเหล่านี้ได้บ้างอย่างรอบด้าน ยังไม่เคยเห็นอย่างนั้นค่ะ”

 

คำถามต่อมาที่เราถาม รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ คือ แล้วเราจะส่งเสริมให้ผู้หญิงหรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้าสู่สนามการเมืองของ กทม. มากขึ้น จะทำได้อย่างไร 

 

ปรากฏว่าเมื่อถามคำถามนี้ รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ถามเรากลับมาทันทีว่าจะส่งเสริมเพื่ออะไร ซึ่งเราก็ตอบไปว่าเราอาจจะได้เห็นอะไรที่หลากหลายมากขึ้น

 

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ระบุว่า การเพิ่มจำนวนผู้หญิงหรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือผู้ที่ใช้อำนาจในหน่วยการปกครองต่างๆ ไม่ได้แปลว่าจะทำให้ ‘โลกเปลี่ยนแปลง’ เพราะผู้มีเพศสภาพหญิงจำนวนมากที่เข้าไปใช้อำนาจในสถาบันด้านนิติบัญญัติหรือบริหารก็ไม่ได้ดำเนินการในฐานเพศสภาพ หรือแม้แต่ไม่ได้ตระหนักรู้ในประเด็นเพศสภาพด้วยซ้ำ และสำหรับเธอ สิ่งที่ควรจะเพิ่มจริงๆ คือคนที่เข้าใจ หรือ ‘เปิด’ ต่อประเด็นและสถานการณ์ของกลุ่มคนที่มีความหลากหลาย

 

“ดิฉันขอพูดจากมุมของ Gender นะคะ บรรดาผู้ที่เข้าไปใช้อำนาจในสถาบันด้านนิติบัญญัติหรือบริหารที่มีเพศสภาพหญิงจำนวนมาก เวลาที่ดำเนินการไม่ได้ดำเนินการในฐานเพศสภาพหรือไม่ได้ตระหนักรู้ด้วยซ้ำในประเด็นว่าด้วยเพศสภาพ ฉะนั้นก็คือไม่ได้แปลว่าเป็นผู้หญิง ปรากฏให้เห็นเป็นผู้หญิงแล้วจะ…โอ้โห จะรู้เรื่องนี้ Feminist Mind ไม่ใช่นะคะ มันก็เป็นลักษณะหนึ่งของเขา

 

“จริงๆ ถ้าพูดอย่างนี้ คุณนึกถึง ส.ส. บางคนในสภา คุณก็น่าจะพอนึกภาพออกด้วยซ้ำ คือไม่ได้แปลว่าคุณเพิ่มประเภทคนแล้ว นโยบายมันจะหลากหลายตามประเภท ไม่จริงเลย

 

“เวลาที่คุณพูดถึงเรื่องความเป็นตัวแทนทางการเมืองแล้วคุณอยากจะให้หลากหลาย บางทีมันไม่ใช่แค่การเพิ่มประเภทคนอย่างนั้น แต่มันต้องเพิ่มคนที่เข้าใจหรือว่าเปิดต่อประเด็นและสถานการณ์ที่หลากหลายต่างหาก ซึ่งมันไม่ได้แปลว่า อย่างเช่น เพศสภาพหญิงทุกคนเลย โอ้โห เข้าใจ และพยายามจะใส่ใจว่าด้วยเรื่องความไม่เป็นธรรมบนฐานเพศสภาพ ไม่จริง บางคนก็ไม่สนใจ อะไรอย่างนี้

 

“มันก็เลยทำให้เวลาที่มีคนพูดออกมาประมาณที่คุณถามว่าอยากจะเพิ่มประเภทคน ถ้ามีคนประเภทนี้อยู่เยอะๆ อย่างเช่น มีเพศสภาพหญิงเข้าไปอยู่เยอะๆ LGBT เข้าไปอยู่ในสภาเยอะๆ หรือว่าในองค์กรปกครองในระดับต่างๆ เยอะๆ แล้วโลกจะเปลี่ยน ไม่จริงเลย ถ้าคุณดูจากประสบการณ์ของระบบการเมืองอื่นๆ หรือแม้กระทั่งของไทยนะคะ ในบางสถาบันการเมืองไม่ใช่เช่นนั้นเลย”

 

เราถาม รศ.ชลิดาภรณ์ ต่อไปว่า แล้วคุณสมบัติที่ดีของผู้ว่าฯ กทม. ควรจะเป็นอย่างไร

 

bkk-election-2022-with-chalidaporn-songsamphan

แฟ้มภาพ: ฐานิส สุดโต

 

“คือต้องเข้าใจว่ากรุงเทพฯ จะมีลักษณะที่เป็นลักษณะเฉพาะอย่างไร ความเข้าใจพื้นที่และความสามารถในการจัดการแก้ปัญหา คือมีข้อเสนอให้ประชาชนเห็น แต่ดิฉันว่าองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งคือ นอกจากจะเข้าใจประเด็นแล้ว มีข้อเสนอเชิงนโยบายแล้ว คงจะต้องมีความสามารถในการจัดการกับระบบราชการเพื่อจะให้นโยบายของตัวเองเป็นผลด้วย

 

“เดี๋ยว สารภาพก่อน ที่กำลังจะพูดอยู่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกรุงเทพฯ แต่เวลาที่ดิฉันดูนักการเมืองจำนวนหนึ่งที่พูดว่าอยากจะแก้ปัญหาโน่นนี่นั่น บางทีโดยไอเดียเลิศเลยนะคุณ แต่มันไม่มีฝีมือในการคุมระบบราชการเพื่อให้ทำตามนั้น ดิฉันกำลังหมายความว่าอย่างนี้

 

“เพราะฉะนั้นผู้ว่าฯ กทม. คนที่จะตามมา ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใคร ถ้าจะดีก็น่าจะเห็นปัญหาและสถานการณ์ของกรุงเทพฯ ในฐานะที่เป็นเมืองที่มัน Cosmopolitan มาก อันนี้ดิฉันรู้สึกเป็นห่วง เพราะเท่าที่ผ่านๆ มา วิธีการจัดการกรุงเทพฯ อาจจะไม่ได้เห็นสถานะว่ากรุงเทพฯ มีลักษณะอย่างไร”

 

‘สามภาพใหญ่ที่สำคัญ’ ที่อยากเห็นจากแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม.

ท้ายสุด รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ บอกว่า อยากเห็นว่าแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. จะทำอย่างไรหรือมีแนวทางอย่างไรกับ ‘สามภาพใหญ่ที่สำคัญ’ ได้แก่ 

 

  • ระบบที่สนับสนุนวิถีชีวิตคนทำงานซึ่งมีจำนวนมาก
  • การเป็นเมืองที่เคยมีผู้มาเยือนมากที่สุดในโลก
  • การเป็นศูนย์กลางของการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างการชุมนุมแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐ 

 

ซึ่งในสาม ‘ภาพใหญ่’ เหล่านี้ รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ไม่ได้หมายถึงเพียงการเจาะจงลงไปเป็นเรื่องๆ เช่น การฟื้นฟูการท่องเที่ยวหรือการคมนาคม แต่เธอกำลังหมายถึงแนวทางต่อ ‘ภาพใหญ่’ ที่มีหลายเรื่องซ้อนทับกันอยู่ในนั้น

 

“ประเด็นที่ดิฉันอยากเห็นก็คือ การคิดใคร่ครวญว่าจะมีระบบสนับสนุน ถ้าคนอยากเป็นผู้ว่าฯ แล้วจะได้คะแนนเสียงฉันนะ คือคุณมีระบบสนับสนุนภาพใหญ่ของวิถีชีวิตของคนที่เป็นคนทำงานอย่างไร ตั้งแต่เรื่องการเดินทาง เรื่องความปลอดภัย และอื่นๆ รวมทั้งคุณภาพชีวิต เรื่องสาธารณูปโภคต่างๆ ขอภาพใหญ่ๆ ดูได้ไหมว่าคุณภาพชีวิตของคนในกรุงเทพฯ ซึ่งจริงๆ ลุ่มๆ ดอนๆ มากเป็นอย่างไร

 

bkk-election-2022-with-chalidaporn-songsamphan

แฟ้มภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

“แล้วอีกเรื่องหนึ่งที่อยากเห็นนะคะ ก่อนที่โควิดจะกลายสถานะเป็น Pandemic หลอกหลอนโลก กรุงเทพฯ เป็น The most visited city in the world ต่อเนื่องมาหลายปี เป็นเมืองที่มีคนมาเยือนมากที่สุดในโลก ผู้ว่าฯ กทม. จะว่าอย่างไรกับเรื่องนี้ 

 

“คือไม่ต้องพูดเป็นเรื่องๆ แต่อยากเห็นว่าในภาพของ กทม. ที่มีคนเข้ามาทำงานกับที่ต่างๆ แล้วก็อาจจะไม่ได้อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ คุณจะทำอย่างไรกับเขา กับเมืองที่มีคนมาเยือน มี Visitor จำนวนมาก สองแง่มุมใหญ่ คุณจะทำอย่างไร

 

“แล้วก็อีกมุมหนึ่งคือ ความที่กรุงเทพฯ เป็นที่ตั้งเมืองหลวง เพราะฉะนั้นก็จะมีกิจกรรมกิจการต่างๆ นานา อันเนื่องมาจากความเป็นเมืองหลวง เช่น คนออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลในรูปแบบต่างๆ ผู้ว่าฯ กทม. จะทำอย่างไร

 

“อยากเห็นสามเรื่องใหญ่ๆ ว่าคุณจะทำอย่างไร ไม่ใช่มาพูดเป็นเรื่องๆ นะ แต่พูดถึงภาพของ กทม. ว่าเป็นแบบนี้ คุณจะมีแนวทางใหญ่ๆ อย่างไร” เธอยืนยันว่า หากไม่มีภาพใหญ่แล้วไปคิดเรื่องเล็กๆ พอรวมกันแล้วจะไม่ตอบโจทย์ใหญ่เหล่านี้เลย

 

และนี่คือบทสนทนาที่ต่อยอดเพื่อขยับขยายจากเรื่องเพศสภาพและเพศวิถีกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ไปสู่การจัดการ ‘ภาพใหญ่’ ในเมืองหลวงที่ควรมองหา ผ่านสายตานักวิชาการด้านรัฐศาสตร์คนนี้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising