วันนี้ (15 พฤษภาคม) วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 1 กล่าวระหว่างดีเบต THE CANDIDATE BATTLE เวที THE STANDARD ในรอบ YOUR QUESTION YOUR VOICE โดยตอบคำถามจาก ทิชา ณ นคร จะจัดสภาพแวดล้อมเพื่อสวัสดิการของเด็กให้มีความปลอดภัยได้อย่างไร ขอวิธีแก้ไขแบบรูปธรรม
จุดเริ่มต้นควรเริ่มต้นที่ครอบครัว และเราจะเริ่มต้นที่โทษครอบครัว แต่ในสังคมในกรุงเทพฯ เราต้องเริ่มจากการเติมสวัสดิการให้เด็กทุกคน จากแรกเกิดถึง 6 ปี เราต้องชัดเจนว่าเราจะนำภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มาเติมให้เด็กเพื่อช่วยผู้ปกครอง เชื่อว่าถ้าเด็กเล็กได้รับการดูแล ได้รับการเลี้ยงดูที่ดีกว่านี้ เขาจะเติบโตขึ้นมาเป็นเด็กที่พร้อมกว่านี้
นอกจากนี้เราต้องมีบรรจุครูพี่เลี้ยงให้เป็นลูกจ้างประจำศูนย์เด็กเล็กของกรุงเทพมหานคร และปรับปรุงศูนย์เด็กเล็กให้มีคุณภาพ และโรงเรียนก็ต้องมีการดูแลเด็กหลังเลิกเรียน เด็กทุกคนอยากทำการบ้าน แต่เด็กหลายคนเมื่อกลับบ้านเขาก็ต้องสิ้นหวัง เพราะไม่มีใครที่เขาถามได้ ปรึกษาได้ ถ้าเกิดโรงเรียนสามารถให้เด็กได้เรียนอย่างเข้าใจและทำการบ้านได้
ส่วนพื้นที่สาธารณะ ทุกวันนี้ลานกีฬาต้านยาเสพติดที่อยู่ใต้ทางด่วนต่างๆ กลายเป็นพื้นที่ลานกีฬาส่งยาเสพติดแล้ว พื้นที่สาธารณะที่ดีที่สุดคือต้องมองเห็นจากสาธารณะ
ทิชาถามต่อว่า พื้นที่ต่างๆ ที่รกร้างว่างเปล่าในพื้นที่กรุงเทพฯ ทำไมเราไม่เปลี่ยนให้เป็นพื้นที่สาธารณะให้เด็ก เพื่อลดการมั่วสุมของเด็ก ถ้าหากทำตรงนี้ได้จริง เชื่อว่าเด็กจำนวนมากมายก็จะก้าวข้ามหลุมดำและไม่ติดคุก
วิโรจน์กล่าวตอบคำถามว่า “ผมก็ต้องส่งสัญญาณเตือนไปยังนายทุนอสังหาริมทรัพย์ นายทุนคอนโด นายทุนสุรา นายทุนเครือข่ายพลังงาน คุณอย่าเอาที่ใจกลางเมืองไปปลูกกล้วย ปลูกมะนาว เพื่อหลบเลี่ยงภาษี ให้สิทธิ์กับกรุงเทพมหานครเพื่อทำพื้นที่สาธาณะสำหรับเด็กและคนอีกหลายช่วงวัยเพื่อให้เรียนรู้วิถีชีวิตร่วมกัน”
ทิชากล่าวถึงช่วง 120 วันของการปิดภาคเรียน ซึ่งลูกคนรวยไม่มีปัญหาเขาสามารถตอบโจทย์ได้ แต่ลูกคนจนไม่มีทางที่จะตอบโจทย์ 120 วันของการปิดภาคเรียน ช่วง 120 วันนี้ได้ฆ่าเด็กจำนวนมาก ผู้ก่ออาชญากรรมในประเทศนี้เติบโตมาจาก 120 วันที่ไม่มีที่จะไป ในขณะที่กรุงเทพฯ มีพื้นที่ว่างเปล่าเยอะแยะที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หากทำได้ตรงนี้ก็จะลดโอกาสในการเป็นคนคุกได้อย่างมาก
วิโรจน์กล่าวตอบคำถามในขณะที่เหลือเวลาเพียง 5 วินาทีว่า เราจะมีคูปองตาสว่างให้เด็กร่วมกิจกรรม
สำหรับคำถามต่อมาถามโดย สันติ โอภาสปกรณ์กิจ กรรมการมูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่ ถามถึงปัญหาพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพมหานคร ว่าจะจัดการอย่างไรทั้งเรื่องพื้นที่ งบประมาณ อุปกรณ์ และคน รวมถึงภาคเอกชน จะทำอย่างไรให้มีพื้นที่สีเขียวมากขึ้นและดีขึ้น
วิโรจน์กล่าวว่า กรุงเทพมหานครต้องมีตัวชี้วัดไม่ใช่แค่เรื่องพื้นที่ แต่คือจำนวนผู้เข้าใช้ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือการรุกไล่ชุมชนป้อมมหากาฬแลกกับการได้สวนที่ไม่มีคนใช้ ดังนั้น เอกชนต่างๆ ที่ครอบครองที่ใจกลางเมืองแล้วมาปลูกกล้วย ปลูกมะนาวเพื่อเลี่ยงภาษี เราต้องจูงใจให้เขาทำสวนแลกกับการจ่ายภาษีที่ดินที่ถูกลง ฉะนั้นสวนตรงนั้นก็จะอยู่ใจกลางเมืองและทุกคนเข้าถึงได้ นอกจากนี้อาคารที่อยากจะสร้างสูงเป็นพิเศษ ต้องแลกกับพื้นที่สีเขียวกลับมา
“กติกาเมืองที่เป็นธรรมจะทำให้คนตัวใหญ่เขามาโอบรับ และถ้าคนตัวใหญ่บอกทำพื้นที่สีเขียวไม่เป็น ก็จะเปิดโอกาสให้ Social Enterprise กับบริษัทภาคีเครือข่ายต่างๆ ได้มีงบประมาณในการสร้างพื้นที่สีเขียวร่วมกัน สุดท้ายที่ผมอยากย้ำก็คือพื้นที่สีเขียวตัวชี้วัดไม่ใช่พื้นที่ แต่คือจำนวนคนที่ได้ใช้มัน” วิโรจน์กล่าว
ด้านสันติตัวแทนจักรยานยนต์รับจ้างถามถึงปัญหาจุดกลับรถไกลเพราะการก่อสร้างรถไฟหลายเส้นทาง ในขณะที่ค่าโดยสารยังเท่าเดิม ปัญหาจะแก้อย่างไรดี และอาชีพวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ทำอย่างไรให้สภาพชีวิตดีขึ้น
วิโรจน์กล่าวว่า หลายๆ การก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพมหานครยังคงมีการก่อสร้างอยู่ หากเราไปดูงบประมาณของ กทม. ก็จะเห็นว่ามีการเบิกจ่ายงบประมาณของโครงการต่างๆ ได้เพียง 35% ซึ่งต่ำกว่ารัฐบาลกลาง นั่นหมายความว่าเราขยันสร้างมาก แล้วถ้าเราไปเจาะงบ กทม. ต่อ เราจะเจองบผูกผัน ซึ่งจะผูกผันไปอีกหลายๆ ปีงบประมาณ นี่คือปัญหาที่ กทม. เจออยู่
“ดังนั้นงบผูกพันต้องเลิก อะไรที่ยังไม่เสร็จทำให้เสร็จเสียก่อน และถ้าโครงการไหนล่าช้ากว่าสัญญาก็ต้องปรับ ซึ่งเต็มไปหมด ล่าช้ากว่าสัญญาก็ต้องปรับ ที่ผ่านมา กทม. ไม่ปรับ เขาเลยเอาคน เอาเครื่องจักรไปทำให้ไซต์เอกชน แล้วสุดท้ายก็ทิ้งร้าง นี่คือปัญหาที่เราต้องไปเร่งแก้ไข”
ส่วนคำถามเรื่องจะทำอย่างไรให้ปากท้องของวินมอเตอร์ไซค์และทุกคนดีขึ้นนั้น เราต้องคิดถึงการเปิดเมืองได้แล้ว และการเปิดเมืองของวิโรจน์แตกต่างจากการเปิดเมืองแบบประยุทธ์ การเปิดเมืองของประยุทธ์คือการเอานักท่องเที่ยวเข้ามา การเปิดเมืองของวิโรจน์และ ส.ก. พรรคก้าวไกลคือการเปิดกิจการเศรษฐกิจให้ได้เหมือนปกติ เรารณรงค์การฉีดวัคซีน แต่เราไม่รู้ว่าเราจะฉีดวัคซีนไปเพื่ออะไร
“ถ้าเรามั่นใจว่าระบบสาธารณสุขพร้อม เราจะเปิดเมืองได้ การค้าขายก็ดีขึ้น คนที่ทำมาหากินอย่างมอเตอร์ไซค์รับจ้างหรือคนที่รับจ้างทั่วไป พ่อค้า-แม่ขายก็จะดีขึ้นร่วมกัน เราต้องเปิดเศรษฐกิจแบบวิโรจน์ ไม่ใช่เปิดเศรษฐกิจแบบประยุทธ์” วิโรจน์กล่าวทิ้งท้าย
ส่วนคำถามพิเศษจาก คริส โปตระนันทน์ จากกลุ่มเส้นด้าย ถามถึงระบบการบริการสุขภาพ ว่าเราจะเพิ่มความเชื่อมั่นกับบริการด้านสาธารณสุขของ กทม. ได้อย่างไร จะทำอย่างไรให้ระบบบริการภาครัฐของ กทม. ทัดเทียมกับโรงพยาบาลเอกชน
วิโรจน์กล่าวว่า จากข้อมูลที่เตรียมมาพบว่าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 1 แห่งดูแลประชากรประมาณ 3,000 คน ในขณะที่ศูนย์บริการสาธารณสุขในกรุงเทพมหานคร 1 แห่งดูแลประชากรถึง 10,000 คน ดังนั้นเป็นหน้าที่ของกรุงเทพมหานครต้องหารือกับ สปสช. ในการเพิ่มคลินิกชุมชนอบอุ่น เพื่อให้คนกรุงเทพมหานครสามารถใช้บัตรทองได้อย่างทั่วถึง
นอกจากนี้เรื่องการบริการ Telemed เราต้องโฟกัสที่ผู้ป่วยความดันและเบาหวาน ที่จะส่งผลให้ลดจำนวนผู้ป่วยติดเตียงลงได้ ทั้งหมดนี้เราต้องแก้ที่การรักษาปฐมภูมิ