รายการ THE STANDARD NOW ดำเนินรายการโดย อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์ สัมภาษณ์ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล หลังถอนตัวจากสภาผู้แทนราษฎร มุ่งสู่สนามผู้ว่าฯ กทม. ที่แข่งขันร้อนแรงไม่แพ้เวทีระดับประเทศ ด้วยบุคลิกปากกล้าท้าชน จะชนะใจคนกรุงเทพมหานครได้แค่ไหน
บทสัมภาษณ์เผยแพร่ทาง Facebook และ YouTube ของ THE STANDARD วันที่ 1 เมษายน 2565 (https://www.youtube.com/watch?v=skFDhIqqlco)
ชีวิตวัยเด็กเป็นอย่างไร แสบไหม
เป็นพี่ชายคนโต ก็แสบเหมือนกันนะ ข้างบ้านจะบอกว่ารังแกน้องเก่งมาก เพราะที่บ้านพ่อแม่มีลูกชาย 3 คน วัยไล่เลี่ยกัน น้องคนรองห่างจากเราปีเศษๆ น้องคนเล็กก็ห่างจากเรา 3 ปีเศษ แม่มีลูกไล่ๆ กัน ทะเลาะกันตามประสาพี่น้องที่เป็นผู้ชาย แม่ขายก๋วยเตี๋ยว เราก็ต้องช่วยแม่ล้างจานบ้าง ทำอะไรบ้าง ตามประสาเด็กสมัยโน้น
สมัยก่อนเป็นเด็กเรียนไหม
ผมเพิ่งมาเรียนดีเอาตอน ป.3 ส่วน ป.1-2 ในห้องมี 44 คน ผมสอบได้ที่ 38-39 เกือบท้าย
อะไรเป็นจุดเปลี่ยน
เนื่องจากแม่เป็นแม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยว ก็ไม่มีเวลา ผมเข้าใจเด็กที่เขาไม่ทำการบ้าน ไม่ใช่ขี้เกียจ ผมเคยเป็นมาก่อน เวลาที่ผมไม่รู้ ผมแค่ไม่รู้จะแบกหน้าไปถามใคร ไปถามแม่แม่ก็ตอบไม่ได้ เราก็ทำมั่วๆ ไป หรือไม่เราก็ไม่ทำ
สุดท้ายก็ถูกครูตีบ้าง ถูกครูลงโทษในสมัยนั้น จนแม่ไปฝากไว้กับคุณอาข้างบ้านที่ใกล้ๆ กัน แล้วแกก็บอกผมว่า ที่คุณทำไม่ได้ ทำไมไม่ตั้งคำถาม ไม่ฝึกฝน ทำไมถึงปล่อยความไม่รู้เอาไว้อยู่อย่างนั้น ผมก็เริ่มฝึกฝน และชอบวิชาคณิตศาสตร์ เพราะรู้สึกว่าเรียนเข้าใจดี
พอ ป.3 เทอม 2 จากลำดับที่ 38 วันนั้นผมจำได้ว่าครูประกาศว่ามีเรื่องเซอร์ไพรส์มาก มีเพื่อนเราคนหนึ่งได้ที่ 3 สมัยนั้นยังมีลำดับ ประกาศเป็นชื่อผม ก็รู้สึกตกใจ
แต่เดิมแม่เราเครียดกับผลการเรียนของลูก แล้วเป็นความสำเร็จครั้งแรกที่มาจากความพยายามของเรา นั่นเป็นจุดเริ่มต้น ผมเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือเอง ทำแบบฝึกหัดเองเป็นส่วนใหญ่
ผมเชื่อแบบนี้ พอเด็กคนหนึ่งสามารถโผล่พ้นน้ำมาหายใจเอาอากาศบริสุทธิ์แล้ว เขาจะไม่กลับไปสู่โคลนตมอีกเหมือนเดิม ณ วันนั้นผมไม่รู้หรอกว่าสิ่งนั้นเรียกว่า Growth Mindset ก็คือความสำเร็จที่ได้จากความพยายามของตัวเอง
หลังจากนั้นไม่ใช่ว่าผมจะเรียนดีตลอด แต่ทุกครั้งที่ผลการเรียนไม่ดี ผมจะโทษตัวเองว่าเราไม่ได้พยายาม
เป็นที่มาที่เรียนต่อวิศวะ
ใช่ครับ ตอนนั้นพอเราชอบวิชาคณิตศาสตร์ ก็ทำให้เราเรียนวิชาฟิสิกส์ และวิชาทางด้านสายวิทยาศาสตร์ก็ดีขึ้น ทำให้เรารู้สึกสนุก เพราะเวลาเรียนวิทยาศาสตร์ เรียนเรื่องอะไรที่เราคำนวณได้ ทดลองได้
พูดตรงๆ เด็กในยุคนั้น ถ้าเก่งคณิตศาสตร์ส่วนใหญ่ก็จะไปเรียนวิศวะ แล้วเราช่างสงสัย ช่างประกอบ ช่างรื้อ ก็คิดว่าวิศวะน่าจะเหมาะกับชีวิตเรา สมัยก่อนก็รื้อ แต่ประกอบกลับไม่ค่อยได้
ตอนเป็นเด็กคิดไหมว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร
ผมเรียนวัดสุทธิวราราม ตอนนั้นอยู่ ม.1 แล้วปีนั้นเป็นปีที่รุ่นพี่คนหนึ่งได้ที่หนึ่งของประเทศ แล้วรุ่นพี่ผมคนนั้นก็เรียนวิศวกรรมศาสตร์ ผมก็รู้สึกว่าแกเป็น Role Model ของผมที่ทำให้ผมตั้งใจเรียนวิศวกรรมศาสตร์ ก็เป็นเหมือนทางเลือกที่อยู่ในใจ ณ ตอนนั้น แต่ตอนนั้นเราก็ยังไม่ได้คิดว่าจะเรียนสถาบันไหน มหาวิทยาลัยใด แต่เรารู้สึกว่าวิศวกรรมศาสตร์เป็นชื่อแรกที่เราได้ยิน แล้วมันคืออะไร
จากนั้นเราก็ไปค้นคว้า มันคือแขนงหนึ่งของวิชาช่าง แล้วเราก็ชอบ เราก็เริ่มมีแรงบันดาลใจจากตรงนั้น แต่ตอนนั้นพอผ่านมาผมสำคัญผิดเรื่องหนึ่ง
ตอนนั้นเวลาผมเจอเพื่อนคนไหนที่มีผลการเรียนไม่ดี ผมจะบอกคุณไม่พยายามเอง แล้วก็ผลักภาระของความพยายามไปให้คนคนนั้น ไปที่ปัจเจกคนนั้นแต่เพียงผู้เดียว
แต่พอผมมาเรียนรู้ เวลาผมเจอเพื่อนชาวต่างชาติที่อยู่สิงคโปร์ ที่ไทเป หรือที่เกาหลีใต้ ปรากฏว่าคุณไม่ต้องดิ้นรนถึงขนาดนั้นก็ได้ ถ้ารัฐสามารถจัดการอะไรบางอย่างที่ช่วยให้คุณเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ที่ดีได้ คุณไม่ต้องขวนขวายกัดฟันขนาดนั้นก็ได้
สมัยก่อนเวลาผมจะหาแบบฝึกหัดดีๆ ทำสักเล่มหนึ่ง ผมต้องไปสวนจตุจักร ตอนนั้นร้านหนังสือยังไม่มีเยอะขนาดนี้ ทำไมการเข้าถึงหนังสือดีๆ แบบฝึกหัดดีๆ สักเล่มหนึ่งมันถึงยาก การที่เราไม่รู้อะไรสักเรื่องหนึ่งเราต้องแบกหน้าไปหาใคร เราได้แต่รับดูแลในเรื่องนี้ ทำให้เราเข้าถึงคุณภาพการศึกษาที่ดีด้วยความพยายามของปัจเจกจึงสามารถที่จะพัฒนาการเรียนรู้ของเราได้
เคยคิดไหมว่าวันหนึ่งจะมาเป็นนักการเมือง
ไม่เคยเลย
แล้วนักการเมืองมาตอนไหน
ผมว่าผมมีมุมมองของนักการเมืองมากกว่า คือการเรียนวิศวะจะตั้งคำถามตลอดเวลา คือวิศวะเวลาจะแก้ปัญหาจะคิดถึงเหตุแล้วก็ไปแก้ที่ผล แต่เวลาจะขับเคลื่อนโครงการจะกำหนดผลไว้ก่อน แล้วมาสร้างเหตุที่ทำให้ได้ผลนั้น
ผมเป็นคนที่คิดว่าทำไมต้องเป็นแบบนี้ด้วย ทำไมต้องยอมรับเงื่อนไขอย่างนี้ด้วย ถ้าเราอยากจะได้ดีกว่านี้เราต้องทำอย่างไร ถ้าบอกไม่ได้ก็ไม่เชื่อ
เราเชื่อว่าความเป็นวิศวะทุกสิ่งทุกอย่างทำได้ ขึ้นอยู่กับคุ้มหรือเปล่า ดังนั้นผมจะไม่ยอมจำนนกับข้อจำกัดเก่าๆ ที่บอกกันว่าเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ตั้งแต่ผมเรียนจนถึงผมทำงานก็ยังเป็นคนนิสัยแบบนี้ เป็นนักเปลี่ยนแปลง ยิ่งใครบอกว่าเขาทำอย่างนี้มาสิบกว่าปีแล้วผมยิ่งคัน ทำไมจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้
ก่อนมาเป็นนักการเมืองทำเรื่องการศึกษา เขียนหนังสือ
ใช่ เป็นงานอดิเรก
จากวิศวะไปเรื่องนั้นได้อย่างไร
คือผมมีโอกาสทำงานในธุรกิจหนังสือแห่งหนึ่ง ต้องยอมรับว่าเจ้านายและเพื่อนร่วมงานตอนนั้นดีเอ็นเอตรงกัน สมัยก่อนจะได้ยินคนพูดว่าคนไทยอ่านหนังสือ 7-8 บรรทัด คนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือหรอก แต่พวกเรา…เจ้านายผม ผม และเพื่อนร่วมงาน ไม่ได้เชื่ออย่างนั้น แต่เชื่อว่าที่คนไทยไม่อ่านหนังสือเพราะเข้าถึงหนังสือได้ยาก ถ้าเราเชื่ออย่างนั้น เราต้องทำให้คนไทยเข้าถึงหนังสือได้ง่ายสิ
แล้วสุดท้ายสิ่งที่เราทำก็เป็นภารกิจ แม้จะเป็นเรื่องธุรกิจก็จริง แต่เราก็เป็นกลไกเล็กๆ ที่ทำให้คนไทยเข้าถึงหนังสือได้มากขึ้น แล้วคนอ่านหนังสือมากขึ้น เราเรียกว่าเป็นกลไกเล็กๆ
แล้วมันก็เป็นการพิสูจน์ความเชื่อ ถ้าเราต้องการผลแบบนี้ เราสร้างเหตุให้เกิด แล้วก็จากตรงนั้นเกี่ยวกับเรื่องหนังสือเราก็ไปทำงานการศึกษา ซึ่งงานที่ผมทำไม่ใช่เรื่องหนังสืออย่างเดียว เป็นการศึกษาด้วย และพบว่าวิธีคิดทางการศึกษาประเทศไทยไม่เหมือนสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ พบว่าเพราะ Process เราผิด การศึกษาเราเอาระบบการคัดเลือกมาเป็นระบบการศึกษา นี่มันไม่ใช่ระบบการพัฒนาให้ทุกคนเติมเต็มศักยภาพของตัวเอง
อ้าว เมื่อเป็นระบบแพ้คัดออกแบบนี้ สุดท้ายเราจะได้หัวกะทิขึ้นมาก้อนหนึ่ง แค่นี้พอที่จะพัฒนาประเทศหรือ ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งถูกทอดทิ้ง ต้องอยู่ภายใต้ระบบจ่ายเงิน ครบก็จบแน่ เอาก้นมานั่งแช่แล้วได้ใบ
โดยที่จริงๆ แล้วเขาต้องได้รับการเติมเต็มศักยภาพของเขา ให้เขาวิ่งตามความฝันของแต่ละคนได้
ในยุคผมผมยอมรับว่าใครที่ไม่เรียนสายวิทย์คุณได้ถูกพิพากษาไปแล้วว่าเรียนไม่เก่ง ซึ่งผิดชัดเจนเลย ยุคผมบอกคิดอะไรไม่ออกเรียนสายวิทย์ไว้ก่อน คือแปลกมากเลย แล้วยิ่งมีการพูดต่อๆ กันมา ซึ่งมันผิด ถ้าชอบเลขต้องทิ้งอังกฤษ ถ้าชอบภาษาก็ต้องโง่คำนวณ แล้วเราจะผลิตคนที่มีความสมดุลทางด้านตรรกะการสื่อสารได้อย่างไร
ผมรู้สึกปรัชญาการศึกษาของเรามันผิด แล้วก็เริ่มสงสัย ลองหาแนวทางที่ถูกต้องมาเรื่อยๆ
เริ่มจากเรียนวิศวะ มาเรื่องหนังสือการศึกษา แล้วไปร่วมกับพรรคอนาคตใหม่ ลงสนามเป็นนักการเมือง ส.ส. บัญชีรายชื่อ ลำดับ 33 เป็นมาอย่างไร
แต่เดิมตอนก่อร่างสร้างอนาคตใหม่ก็มีการชักชวนกันสำหรับคนที่อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลง ผมก็เป็นคนหนึ่งที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของการศึกษา อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของเมืองเมืองนี้ ก็ไปร่วมสมัครเป็นสมาชิกรุ่นก่อตั้งของพรรคอนาคตใหม่
มีคนมาชวนหรือไปเอง
มีพรรคพวกชวน เขาถามว่าสนใจไหม เราบอกได้เลย ยินดี เพราะผมต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง
ตอนนั้นไม่กลัวว่าจะกระทบงานที่ทำ?
ตอนนั้นผมลาออกแล้ว ผมก็ตั้งใจว่าจะมาพักสักหน่อย เราทำงานมาทั้งหมด 16 ปี ก็คิดว่าจะมาตั้งหลักแล้วบุกเบิกทำอะไรของเราเองสักหน่อยดีกว่า
แต่คราวนี้พอเพื่อนชวนปุ๊บ เราก็เอาเลย ช่วงนั้น Gap Year จากการทำงาน เรามาช่วยพรรคอนาคตใหม่ดีกว่า
พูดตรงๆ ผมเปิดใจ ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 33 ณ วันนั้น ใครจะไปหวังว่าจะได้เป็น ส.ส. นี่ผมสารภาพเลย
กำลังจะถามว่าตอนนั้นไม่คิดว่าจะมาถึงลำดับ 33 ใช่ไหม
ใช่ พรรคนี้พอเราเข้าไปทำงาน เรารู้สึกเหมือนตอนทำกิจกรรมมหาวิทยาลัย แล้วเราก็รู้สึกสนุก เราอยากเห็นคลับแบบนี้ที่เข้ามาพูดคุย พูดถึงการเปลี่ยนแปลง ได้ระดมสมอง ระดมความคิด ได้ร่วมกันผลิตนโยบาย ร่วมกันแก้ปัญหา แล้วก็มีเพื่อนๆ พี่ๆ หลายท่านแชร์ตัวเลขเชิงนโยบาย ตัวเลขเชิงงบประมาณ ซึ่งเราอาจเจาะไม่ถึง แต่เขาเจาะถึง เรารู้สึกว่าวงสนทนามันมีคุณค่ามากๆ แล้วอย่างน้อยเราได้มุมมอง Policy Maker คือคนทำนโยบาย มุมมองในการจัดงบประมาณ ซึ่งเราไม่เคยมีลึกๆ ขนาดนั้นมาก่อน ก็คุ้มค่าที่จะมาฟังแล้ว
ส่วนผมเป็นนักปฏิบัติ ก็แลกเปลี่ยนว่าผมเคยทำอะไร เคยล้มเหลวอะไร เคยประสบความสำเร็จอะไร มันคุ้มค่ามากๆ ผมก็คิดว่า เออ ผมเป็นแค่ทีมงานหลังบ้าน เป็นทีมงานเล็กๆ ในการสะท้อนมุมมองให้กับพรรคก็พอแล้ว
แล้ววันที่ประกาศออกมา ปรากฏบัญชีรายชื่อได้มาเพียบแล้วมาถึงเราด้วย รู้สึกอย่างไร
ผมพูดเหมือนคุณกรรชัย อุ๊ย!
วันนั้นอยู่ไหน วันที่รู้ว่าจะเป็น ส.ส. สมัยแรก
คนอื่นเขาจะไปรวมตัวกันที่พรรค ผมนั่งอยู่บ้านเพื่อน กินส้มตำ เพื่อนก็บอกว่า เฮ้ย ถึงมึงว่ะ ผมบอกอุ๊ย แต่ผมเป็นคนแปลก คือโอกาสมาไม่ได้ง่ายๆ เวลาได้โอกาสมาเราต้องทำให้ดีที่สุด เพราะเราไม่รู้ว่าโอกาสนั้นจะเป็นโอกาสครั้งสุดท้ายของเราหรือเปล่า ผมมองว่าทุกครั้งที่ผมได้โอกาสคือโอกาสครั้งสุดท้าย ดังนั้นเมื่อได้รับโอกาสซึ่งไม่ใช่โอกาสธรรมดา เป็นโอกาสจากประชาชนด้วย ผมก็ต้องตั้งใจทำงานที่สุด เท่าที่ผมจะทุ่มเทแรงกายแรงใจได้
รู้สึกไหมว่าชีวิตจะเปลี่ยนไปแน่นอนหลังจากนี้ จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ผมคิดว่าผมจะต้องไม่เป็น ส.ส. แบบที่ผมเคยตำหนิเขาเอาไว้
เคยตำหนิแบบไหน
วางตัวเป็นเจ้าข้าวเจ้านายประชาชน คอยวางอำนาจกับข้าราชการ ไปข้องเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากล ใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปเรียกรับผลประโยชน์ แบบนี้ผมจะไม่ทำ แล้วก็ศึกษาว่าหน้าที่ของ ส.ส. ต้องทำอะไรบ้าง มีหน้าที่ตรวจสอบการบริหารราชการของรัฐบาล ผมก็ทำอย่างดีที่สุด ผมนั่งไล่ดูข้อมูล คือบางทีดูจนเครียด
ยังจำความรู้สึกวันแรกที่เข้าสภาได้ไหม เป็นอย่างไร
งงสิครับ เพราะเราไม่เคยเป็นมาก่อน ผมทำอย่างนี้ ผมเป็นแฟนลิเวอร์พูล ฟาบินโญ ก่อนเขาจะได้ลงสนามเขาต้องดูเกมอยู่นาน ช่วงเวลานั้นผมต้องศึกษา ผมดูทุกคน ผมดูเทปการอภิปรายของ ส.ส. ในอดีตทุกคน พูดชื่อได้ไหม คุณชวน, คุณเฉลิม, คุณสมัคร, คุณปิยะณัฐ ดูทุกฝ่ายเลยครับ ดูทุกคน จนเรารู้ว่าเขาอภิปรายกันแบบนี้ ผมว่าทุกท่านมีข้อดี ถูกไหมครับ ผมก็ดูข้อดีของแต่ละคน ต้องอย่างนี้
เริ่มเรียนรู้ว่าเราจะหาข้อมูลอย่างไรในการอภิปราย เราจะเจาะข้อมูลอย่างไร มีสำนักวิชาการของสภาก็ช่วยได้ การหาข้อมูลที่ภาครัฐเปิดให้ การดูข้อมูลงบประมาณต่างๆ เราก็เริ่มศึกษา ผมใช้เวลาสัก 2-3 เดือนอยู่นะในการที่ผมนิ่งเฉยๆ ตอนผมเข้าไปใหม่ผมกลายเป็นคนเงียบๆ แต่ช่วงเวลาที่เงียบคือช่วงเวลาที่ผมศึกษาข้อมูลอยู่
วันที่อภิปรายวันแรกเรื่องอะไร
จริงๆ มีเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่เรื่องที่พูดได้นานที่สุดคือ การตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับสวัสดิการที่ดูแลครูเอกชน ก็ไม่ตื่นเต้นมาก เพราะข้อมูลเราเตรียมมาดี แล้วก็คุณไหม ศิริกัญญา ก็พูดถึงว่า พี่วิโรจน์น่าจะพูดสื่อสารได้ดีนะ ทางพรรคก็ให้โอกาสมากขึ้น ให้เวลามากขึ้น
ตั้งแต่อนาคตใหม่จนถึงก้าวไกล เราไม่มีระบบอภิสิทธิ์ หมายความว่าทุกคนก็ต้องเอาเนื้อหามานำเสนอ แล้วเนื้อหาที่ดี ข้อมูลที่ดี ลำดับการเล่าเรื่องที่ดี ก็จะได้เวลาในการอภิปราย ส่วนคนที่ขาดความพร้อมก็อาจจะได้เวลาน้อยหน่อย หรือในบางครั้งก็แล้วแต่ อาจจะต้องให้เพื่อน ส.ส. ที่ยังไม่มีโอกาสอภิปรายได้อภิปรายบ้าง เราก็ไปนำเสนอเหมือนคนทั่วไป
แล้วจริงๆ การตั้งกระทู้เป็นสิทธิ์ของ ส.ส. อยู่แล้ว ครั้งหนึ่งจะเห็นว่าผมตั้งกระทู้บ่อยมากๆ แล้วโอกาสก็ได้มาเรื่อยๆ จากข้อมูล จากการที่เล่าเรื่องภายในเวลาจำกัด
การอภิปรายยาวๆ ครั้งแรกจะเป็นการอภิปรายงบประมาณ เป็นคนสุดท้ายของพรรคอนาคตใหม่
การเตรียมข้อมูลมีทีมงานไหม
มีทีมงานของพรรคช่วยบ้าง แต่การเรียบเรียงมีผู้ช่วย ส.ส. ที่รับผิดชอบสนับสนุนผมก็ช่วยๆ กันเรียบเรียงว่าจะทำอย่างไรให้คนฟังเข้าใจในสิ่งที่เราพูด แล้วไม่ใช่แค่เข้าใจข้อมูลนะ ต้องรับรู้ในสิ่งที่เป็นปัญหาด้วย จะพูดอย่างไรให้เขารู้สึกอย่างที่เรารู้สึก ถ้าอยู่ดีๆ เราบอกแค่ตัวเลขโดยไม่มีการเปรียบเทียบอะไร เขาก็จะไม่รู้ว่ามันแย่หรือดี เช่น งบดูแลระบบท่อระบายน้ำทั่ว กทม. พอหักเงินเดือนข้าราชการ เหลือ 117 ล้านบาท ถ้าเทียบกับคลองช่องนนทรี 980 ล้านบาทนะ ดูสิประชาชนก็เริ่มรู้สึกว่าการจัดงบประมาณดูเหมือนจะไม่เป็นธรรม แล้วการที่ผมเคยเป็นคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างงบประมาณ ทำให้เรามีความรู้เรื่องงบประมาณมากขึ้น
ทำให้ผมรู้ว่าการบริหารเมืองที่แท้จริง คุณจะพูดอะไรก็ได้ว่าจะให้ความสำคัญกับอะไร แต่หลักฐานที่เป็นประจักษ์พยานที่ชัดที่สุดคือการจัดงบประมาณ คุณบอกว่าเรื่องนี้สำคัญ แต่คุณไม่ให้เงิน ก็คือคุณไม่ให้ความสำคัญนั่นแหละ แต่คุณแค่ดราม่าสร้างภาพมาพูดดีเท่านั้น ถ้ามันสำคัญจริงๆ คุณต้องให้เงิน
ก่อนหน้านี้ตอนยังไม่เข้ามาสัมผัสงานการเมืองจริงๆ กับวันที่ได้เข้ามาสัมผัสจริงๆ ได้เห็น ได้เป็นกรรมาธิการ ได้ทำหน้าที่ ส.ส. ไปเจอเพื่อน ส.ส. ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ได้ถามรัฐมนตรี มันต่างจากภาพที่คิดไว้ก่อนหน้าจะมาเป็นนักการเมืองไหม
ผมว่าต่างนะ ต่างมาก เดิมผมคิดว่าการทำงานการเมืองก็คงไม่ได้ยากเย็นขนาดนี้ แต่พอมาทำงานจริงเรารู้สึกว่าถ้าเราอยากจะทำงานให้ดีมันต้องทุ่มเทมากๆ นะ เพราะว่าอยู่ดีๆ คุณไปพูดในสภา ข้อมูลคุณต้องเป๊ะนะ โอเค มันอาจจะมีความบกพร่องบ้าง แต่คุณต้องพยายามสกัดให้เหลือน้อยที่สุด ไม่อย่างนั้นคุณจะถูกแย้งได้ ดังนั้นงานข้อมูลต้องแน่น บางทีหาข้อมูลเยอะแยะ ดูตัวเลข แล้วถามตัวเอง แล้วไงวะ แสดงว่าเราเรียบเรียงข้อมูลไม่ดี ข้อมูลเราล้นเกิน ขนาดเราคนพูดยังล้นเลย ต้องสกัดเฉพาะข้อมูลสำคัญที่สะท้อนปัญหาจริงๆ แล้วก็ต้องมองอีกมุม ถ้าเราเป็นอีกฝ่ายหนึ่งเราอคติเกินไปหรือเปล่า บางทีก็ต้องสะท้อนแบบนี้ เพราะบางเรื่องผมตัดทิ้งหมด เพราะถ้าเป็นเรา เราก็ทำได้อย่างนี้แหละ ผมก็จะตัดทิ้งไป เพราะว่าอะไรก็ตามที่เราเองคิดว่ามันก็ Make Sense ที่จะทำอย่างนั้น แล้วคุณจะไปต่อว่าเขาทำไม มันก็ยากเหมือนกันถ้าเราจะทำงานทางการเมืองให้ดี
แต่บังเอิญผมเป็นคนอดทนมากๆ อยู่แล้ว การเป็นนักการเมืองเราต้องถูกด่าเยอะขนาดนี้เลยเหรอ เราต้องเจอ Social Toxic อะไรขนาดนั้น แต่จุดที่ผมคิดคือ คนที่ด่าเราเป็นประชาชน เขาอาจไม่รู้จักเรา ถ้าเขารู้จักเราที่ร้านกาแฟ เขาอาจรักเราก็ได้ เขาไม่ได้เกลียดวิโรจน์หรอก แต่เขาเกลียดภาพวิโรจน์ที่ถูกใครสร้างขึ้นมาก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามเขาคือประชาชน
ไม่ว่าจะฝ่ายไหนก็แล้วแต่
ถูกต้อง บางทีผมอยากจะบอกว่า สกัดคำด่ามาเหลือแต่เนื้อบางครั้งเป็นประโยชน์ แล้วผมพูดจริงๆ นะ ผมมักจะจินตนาการคำด่าที่หยาบที่สุดในจักรวาลว่าเขาจะต้องด่าเราอย่างนี้แน่ๆ
เหมือนเตรียมใจไว้
เตรียมใจไว้ ถ้าเขาด่าเหลือแค่ไอ้ตะกวดเล็ก ตะกวดตัวใหญ่ ก็เบาแล้ว เพราะจินตนาการว่าจะขุดเถ้ากระดูกโคตรเหง้าศักราชผมมาด่า
นี่เป็นวิธีการจัดการกับอะไรลบๆ?
แล้วเราตอบเขากลับด้วยความสุภาพ ไม่ได้เสแสร้ง ผมตั้งใจแบบนั้นจริงๆ คุณเป็นนักการเมืองไม่ได้หรอกถ้าคุณไปทะเลาะกับประชาชน
ถ้าเขาด่าเรามาตลอด แต่เราไม่เคยด่ากลับ ก็มีโอกาสที่จะดีกันได้ ถ้าเราบอกว่าการเมืองคือการโอบรับความแตกต่าง เราต้องคิดอย่างนี้ให้ได้
แต่บางทีผมก็เจ็บนะ เจ็บเป็นเหมือนกัน
ที่มาของการเชียร์ลิเวอร์พูล
ผมรู้สึกทีมนี้มีความมุ่งมั่นดี แล้วก็อยากจะให้มันได้แชมป์สักที แล้วก็เชียร์มาตลอดจนรู้สึกว่าจนเราตายต้องได้แชมป์ลีกสักครั้ง การเชียร์ลิเวอร์พูลทำให้ผมเชื่อในการเปลี่ยนแปลง ผมเชื่อว่าทีมนี้มันดี ถ้ามุ่งมั่นต่อไปก็เป็นแชมป์ได้ เหมือนประเทศไทย สักวันหนึ่งก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้ ลิเวอร์พูลยังคว้าแชมป์ได้เลย รอตั้งหลายสิบปี
เลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งนี้ ผมรู้สึกเหมือนลิเวอร์พูลที่วิ่งไล่ตามแมนเชสเตอร์ ซิตี้ 14 แต้ม เหลือ 1 แต้ม ความสนุกคือการที่เราได้ทำเต็มที่ เราเล่นให้ได้ตามเกมของเรา แฟนบอลจะไม่มีทางเดินกลับบ้านก่อนนกหวีดเป่าแน่นอน ถ้าเราเล่นเต็มที่ ในแอนฟิลด์ต้องร้อง You will never walk alone กระหึ่ม คือนักฟุตบอลที่เห็นแฟนบอลกลับก่อนมันแป้วนะ ผมไม่รู้ว่าจะได้รับชัยชนะหรือไม่ แต่คิดว่าจะเล่นให้เต็มที่ตลอดเวลา 90 นาที
ประเด็นแจ้งเกิดคือการอภิปรายไอโอ ที่มาที่ไปวันนั้นเตรียมข้อมูลอย่างไร คิดว่าจะเป็นหมัดเด็ดที่ทำให้คนพูดถึงทั่วบ้านทั่วเมืองไหม
ตอนนั้นเราเจอข้อมูลว่ามันมีการปฏิบัติการ เรามีข้อสมมติฐานว่าต้องมี แต่ไอโอเป็นเหมือนผี เราจะทำอย่างไรให้ประชาชนเห็นว่าผีมีอยู่จริง มันยากนะครับ ทีนี้เรามีข้อมูล เชื่อไหมว่าที่ผมพูดประมาณชั่วโมงครึ่ง เราเตรียมข้อมูลมาเป็นเดือน ตอนนั้นสังเกตว่าวิธีคิดของผมคือ ผมดูการอภิปรายไม่ไว้วางใจมาเยอะมาก มันทำให้ผมจับสังเกตได้ว่าอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งก่อนหน้าครั้งนี้ยังไม่มีบทบาทของโซเชียลมีเดียเลยนี่นา เราต้องการความร่วมสมัยที่ทำให้ประชาชนสามารถติดตาม แล้วมีเอ็นเกจเมนต์ มีอินเตอร์แอ็กชัน กับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เราจะทำอย่างไรดี เราก็บอก โอเค ถ้าทำได้เราก็จะทำ เราก็เตรียมข้อมูล หลักฐานที่เราเห็น เราเห็น QR Code ไกลๆ แล้วผมก็ซูม ส่อง QR Code นั้น เข้าไปในกลุ่มไอโอนั้นจริงๆ ผมก็อุ๊ย! เหมือนคุณกรรชัย
เราก็เล่าเรื่องราวไป เล่าไทม์ไลน์ว่าเกิดอะไรขึ้น ช็อตนั้นจังหวะที่เขาประท้วงกัน ใจผมไม่ได้โกรธคนประท้วง ผมจะแอบให้เพื่อน ส.ส. ผมส่อง QR Code แล้วกระซิบ ไหวตัวทันไหม ไหวตัวทันหรือเปล่า ผมแค่รู้สึกว่าจังหวะที่ทำให้ประชาชนเห็นว่ามันมีอยู่จริงมันไม่ต้องพูดอะไรมาก ผมว่าคุณแค่ส่องเข้าไปให้เห็นจริงๆ อาจารย์คงจับผีมาให้คุณดูแล้ว เนี่ยผีอยู่ตรงนี้
วันนั้นกรุ๊ปนั้นแทบระเบิดเลยนะ
โอ้โห! ผมยังเจอในยูทูบ ทุกคนเข้าทันไหม ทันไหม
ทุกวันนี้ไอโอยังมีอยู่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือความตระหนัก ไม่รู้ล่ะ รูปหมารูปแมวที่ตามมาด่า เดิมเราเสียเวลาไปต่อว่า เสียพลังงานชีวิต ทีนี้เราเริ่มฉุกคิด เรากำลังต่อสู้กับร่างแยกอยู่หรือเปล่า ร่างอวตารหรือเปล่า
ความสำคัญคือความตระหนักของประชาชนว่าขบวนการข้อมูลข่าวสารมันมีอยู่จริง
เป็นที่จับตามอง หลายสื่อบอกว่าเป็นดาวเด่นสภา
ก็เป็นที่จับตาของสันติบาลด้วย กอ.รมน. ด้วย หลายฝ่ายเลย พร้อมมาดูแลผมและครอบครัวด้วย
เป็น ส.ส. อยู่ดีๆ กลายมาเป็นผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคก้าวไกล ที่มาที่ไปมาอย่างไร จู่ๆ มาลงผู้ว่าฯ กทม.
เอาจริงๆ ถ้าใครอยู่ในวง Hackathon หรือการพูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหา กทม. ก็จะมีชื่อผมอยู่ในวงเสวนามาโดยตลอดอยู่แล้ว แล้วถ้าใครรู้จักผมในพรรคก็จะบอกว่าผมสนใจงาน กทม. มาโดยตลอด แล้วตามกลไก พอพรรคเปิดสรรหาแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. ผมก็ยื่นแจ้งความจำนงว่าสนใจ แต่เป็นเรื่องธรรมดา พรรคก็ต้องคัดเลือก ซึ่งก็มีหลายคน
ท้ายที่สุดกลายเป็นคุณวิโรจน์ได้อย่างไร
สุดท้ายแล้ว การบริหารเป็นเรื่องที่ต้องทำแน่ แต่การบริหารภายใต้โครงสร้างของเมืองที่ไม่เป็นธรรม โครงสร้างที่คนกรุงเทพฯ ถูกลิดรอน ถูกเอารัดเอาเปรียบ อภิสิทธิ์ชนกลุ่มหนึ่งได้รับอภิสิทธิ์ในการตีตั๋วเด็ก นายทุนผู้รับเหมาต่างๆ ได้รับผลประโยชน์จากภาษี จากพี่น้องประชาชน เจตจำนงทางการเมืองสำคัญพอๆ กับการบริหาร
ต้องให้เจตจำนงทางการเมืองเปลี่ยนโครงสร้างแก้ปัญหาที่ใจกลางควบคู่กับการบริหารที่ดีด้วย กทม. ถึงจะเป็นความหวัง เป็นเมืองที่คนเท่ากันสำหรับทุกคนได้ การตัดสินใจก็ต้องเคารพการตัดสินใจของกรรมการบริหารที่เลือกเรา
หลายคนบอกว่าคุณวิโรจน์น่าจะเหมาะกับการเป็น ส.ส. มากกว่า แล้วด้วยความที่ไม่ได้เป็น ส.ส. เขต ไม่ได้ลงพื้นที่หาเสียงมาด้วย ต้องมาหาเสียงลงผู้ว่าฯ กทม. บางคนบอกว่าเป็นอย่างเดิมดีแล้ว มีอะไรอยากจะบอกกับคนกลุ่มนี้
แต่เดิมผมเคยมีเสี้ยวความคิดแบบนั้น แต่พอผ่านเวทีการดีเบตมาหลายครั้งผมไม่เคยรู้สึกอย่างนั้นอีกเลย ผมรู้สึกว่าผมต้องเข้าไปจัดการปัญหาของเมืองเมืองนี้ให้ได้ ผมตั้งคำถาม เวลาที่เราพูดถึงเรื่องขยะ รู้สึกไหมเราผลักภาระให้กับ 2.4 ล้านครัวเรือน ให้ครัวเรือนต้องคัดแยกขยะ ทั้งๆ ที่ขยะเปียกที่เป็นปัญหาเกิดจากนายทุน เจ้าของห้าง และธุรกิจค้าปลีก ถึง 40% ตั้งคำถามต่อว่าเวลาเราพูดถึงขยะ ฝุ่นมลพิษ เราพูดถึง PM2.5 ใช่ แต่เราต้องไม่ลืมปัญหากลิ่นขยะที่เกิดขึ้นกับกรุงเทพฯ ฟากตะวันออกด้วย ทั้งเขตประเวศ สวนหลวง และลาดกระบัง
แต่พอผมพูดเรื่องนี้เกี่ยวกับปัญหาโรงขยะที่อ่อนนุชที่เชื่อมโยงและสงสัยว่าเป็นบริษัทที่มีนายทหารระดับสูงเป็นกรรมการ ไม่มีคนช่วยผมพูดเลย แล้วการบริหารเมืองที่เราเว้นวรรคแบบนี้ บริษัทนั้นกรรมการจะเป็นทหารระดับสูงหรือไม่ ผมไม่ได้สนใจ นายทหารคนนั้นจะรู้จักกับ พล.อ. อนุพงษ์, พล.อ. ประวิตร, พล.อ. ประยุทธ์ หรือไม่ ก็ไม่ใช่ปัญหานี่ เขามีสิทธิ์ที่จะรู้จักกัน แต่ถ้าปัญหาการบำบัดกลิ่นมาจากเขา มาจากโรงงานนี้ มาจากผู้รับเหมา เขาก็ต้องมาซ่อม มาแก้ใช่ไหม แต่ถ้าไม่ใช่ก็มาเคลียร์กันว่าตรงไหน กทม. ต้องเข้าไปแก้ไข
แต่ปรากฏว่าผมพูดเรื่องนี้ทีไร ไม่มีใครช่วยผมพูดเลย ไม่มีใครช่วยสะท้อนปัญหานี้แบบจังๆ เลย ราวกับว่าปัญหานี้ไม่มีอยู่จริง แต่คนได้กลิ่นเหม็นเป็นแสนๆ คน เราพูดเสมอว่าเมืองยั่งยืน แล้วมันจะยั่งยืนได้อย่างไร ถ้าเราเว้นวรรคให้กับเรื่องแบบนี้ เราเว้นวรรคให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งด้วยความเชื่ออะไรก็ไม่รู้แบบนี้ นี่หรือความยั่งยืนที่ต้องเว้นวรรคให้กับใครบางคน นี่หรือเมืองที่ยั่งยืน คำว่ายั่งยืนคืออะไร แล้วที่ประเทศเราหรือที่กรุงเทพฯ ไม่ยั่งยืนเพราะอะไร เพราะการเว้นวรรคให้กับใครบางคน ถ้าเมื่อไรที่มีเงื่อนไขอะไรก็ไม่รู้ในการยกเว้นเต็มไปหมด มันไม่มีความยั่งยืนหรอกครับ เพราะมันจะมีการทำลายกติกาของคนส่วนมาก นั่นคือการเอารัดเอาเปรียบคน กทม.
ดังนั้น ณ วินาทีนี้ ผมคิดว่าถ้าเราต้องการคืนเมืองที่เป็นธรรมสำหรับคนทุกคน คืนเมืองที่คนทุกคนได้รับการใส่ใจดูแลเท่าเทียมกันและมีโอกาสเท่าเทียมกัน ทุกคนได้ตั้งตัว มีคุณภาพชีวิตที่ดี ณ วันนี้ผมยืนยันนะ ผมเหมาะที่สุดแล้ว
ก่อนหน้านี้เป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ ไม่เคยลงพื้นที่มาก่อนเลย ทุกวันนี้ลงพื้นที่แล้วเป็นอย่างไรบ้าง
ตอนเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ ก็ไปร่วมงานกับเพื่อนๆ ที่เป็น ส.ส. ไปพบปัญหาการศึกษา และส่วนใหญ่เป็นปัญหา กทม. แต่ผมเป็นคนอึดอยู่แล้ว คราวนี้พอเรามาเจอกับประชาชนจริงๆ มันทำให้เรารู้สึกถึงความทุกข์มากกว่าที่เราจินตนาการ
อย่างปัญหาคลองสามวา มีนบุรี หรือลาดกระบัง ผังเมืองเกษตร บ้านแต่ละหลังห่างกันเกิน 200 เมตร หลายสิบปีชุมชนตรงนี้ไม่มีน้ำประปาใช้ ถูกให้เหตุผลว่าบ้านไกลกว่า 200 เมตร ผมตั้งคำถามว่าการที่เขาอยู่ในผังเมืองเกษตรกรรม คนที่กำหนดผัง ไม่ใช่เขา แล้วการอยู่ในผังเมืองเกษตรกรรมแปลว่าต้องตัดขาดจากสาธารณูปโภคอย่างประปาด้วยเหรอ แล้ว กทม. จะปล่อยให้การประปานครหลวงผูกขาดโดยการที่มีคน กทม. จำนวนไม่น้อยถูกตัดขาดจากน้ำประปาเหรอ กทม. ต้องให้สิทธิ์เอกชนรายอื่นเข้ามาทำประปาสิถ้าการประปานครหลวงไม่พร้อม ปล่อยให้คน กทม. ที่คลองสามวาไม่มีน้ำประปาใช้ไม่ได้นะ พอข้ามไปสักพักถึงปทุมธานีมีน้ำประปาใช้ เนี่ย เมืองแบบนี้คนเท่ากันเหรอ
ปัญหา กทม. เท่าที่ลงพื้นที่หนักกว่าที่คิดไหม
มันเหลื่อมล้ำกว่าที่คิด มันไม่ใช่แค่หนัก สำหรับคนมีเงินกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่สบาย มีภัตตาคาร โรงแรมหกดาว รถไฟฟ้าที่เชื่อว่ายาวเป็นลำดับ 3 ของโลก มีโรงพยาบาล มีแพทย์เฉพาะทางดูแล 24 ชั่วโมง แต่สำหรับคนไม่มีสตางค์หรืออาจมีสตางค์แต่มีภาระค่าใช้จ่ายเยอะพอสมควร เมืองเมืองนี้มันเหนื่อยมากนะ ทั้งประเทศมีร้านขายยาแผนปัจจุบันประมาณ 17,000 แห่ง อยู่ กทม. ประมาณ 20% สะท้อนว่าคน กทม. เจ็บป่วยมีร้านขายยาเป็นที่พึ่ง ขนาดจะซื้อยากินเองยังต้องจ่ายเงินเลย นี่คือปัญหาในการเข้าถึงสาธารณูปโภคหรือเข้าถึงบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน ผมไม่เคยพูดถึงอะไรที่หรูหราฟู่ฟ่านะ แต่ผมต้องการให้คน กทม. เข้าถึงบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน ให้ได้มาตรฐานที่ควรจะเป็น โอเค สมมติต้องการให้เพิ่มเติมจากมาตรฐาน จะจ่ายก็มีสิทธิ์ แต่ไม่ควรต้องจ่ายเพื่อให้ได้ระดับมาตรฐาน เพราะเมื่อไรที่ไม่จ่ายก็ต้องทนกับความเฮงซวย ซึ่งมันไม่ใช่
กทม. มีสโลแกนว่า ‘กรุงเทพฯ ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว’ คิดอย่างไรกับประโยคนี้
กรุงเทพฯ ชีวิตดีๆ ถ้าคุณมีเงิน จริงไหม ถ้าคุณมีเงินในกรุงเทพฯ หาสิ่งดีๆ ได้เต็มไปหมดเลย คุณอยากจะได้โรงแรมหรูหกดาว คุณอยากจะไปไหน คุณมีเงิน คุณสามารถซื้อคอนโดหรูได้ แต่ถ้าเมื่อไรคุณไม่มีเงิน การอยู่ กทม. มันเหนื่อยนะ มันเหนื่อยจริงๆ แล้วปรากฏว่าความเศร้าคือเราคุ้นชินกับความเหนื่อย เราจึงต้องพูดเรื่องสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพให้ได้
มาพร้อมกับคำว่าท้าชน จะทำให้ดูเป็นคนเกรี้ยวกราดไปไหม สำหรับประชาชนคนกรุงที่อาจมองว่าทำไมดูแข็งกร้าวเกรี้ยวกราดอะไรแบบนี้
จริงๆ คนกรุงเทพฯ เป็นคนที่ไม่ค่อยทนกับอะไร คนกรุงเทพฯ เป็นคนที่พร้อมจะเรียกร้องสิ่งที่ตัวเองควรได้รับ ไม่ยอมจำนนต่อความอยุติธรรม ถ้าเป็นตัวแทนประชาชน เห็นประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบ เห็นกติกาไม่เป็นธรรม เห็นความอยุติธรรมอยู่ตรงหน้า ประชาชนต้องการเห็นคุณไปประนีประนอมกับสิ่งเหล่านั้นหรือ แกล้งทำเป็นไม่รู้อย่างนั้นหรือ
ประชาชนต้องการฟังคำอธิบายว่าเป็นกลาง ไม่ชอบความขัดแย้ง อย่างนั้นหรือ นี่ไม่ใช่เรียกวางตัวเป็นกลางครับ แต่เป็นการปกป้องตัวเอง เซฟตัวเอง รักตัวกลัวตาย แล้วปล่อยให้ประชาชนต้องถูกเอารัดเอาเปรียบแบบไม่จบไม่สิ้น ไม่แยแส ไม่ใส่ใจไยดี
ผมว่าคนกรุงเทพฯ ไม่ได้ต้องการผู้ว่าฯ ที่เป็นตัวแทนจากประชาชนที่อ้างความเป็นกลางแล้วทอดทิ้งเขาแบบนั้นนะ ผมคิดว่าคนกรุงเทพฯ ต้องการผู้ว่าฯ ที่กล้ายืนหยัดในความถูกต้อง กล้าเผชิญหน้าแทนพวกเขา ต่อสู้กับความอยุติธรรม เพื่อให้ทุกคนได้รับความเท่าเทียมกันและความเป็นธรรมจากเมืองเมืองนี้ต่างหาก กล้าที่จะปกป้องผลประโยชน์ให้กับพวกเขาต่างหาก ไม่ใช่หรือ
แล้วผมคิดว่าเป็นอะไรกันนักกันหนากับการชนกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เป็นอะไรกันนักกันหนากับการชนกับสิ่งที่อยุติธรรม ผมไปเจอประชาชน ทุกคนบอกว่าฝากเรื่องนั้นเรื่องนี้หน่อยนะ
เพราะคนหนึ่งคนเขารู้ว่าถ้าเขาขับเคลื่อนเรื่องนี้เสียงเขาอาจจะไม่ดัง เพราะรู้ว่าถ้าเขาขับเคลื่อนเรื่องนี้เขาอาจจะโดนอะไรก็ไม่รู้ แต่เราในฐานะผู้ที่ได้รับอำนาจจากเขา ผมก็ต้องเป็นตัวแทนของพวกเขาในการปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขา จริงไหม
บุคลิกท้าชนเป็นการเล่นเกมการเมืองหรือไม่ แทนที่จะเอานโยบายมาขาย
12 นโยบายผมก็ชัดเจน ถ้าดูดีๆ มันคือการจัดสรรงบประมาณใหม่ที่เอาผลประโยชน์ลงมาที่ประชาชน การบริหารเมืองที่แท้จริงคือการจัดสรรงบประมาณ คุณจะมีนโยบายสวยหรูอะไรก็ตาม ถ้าคุณจัดสรรงบประมาณที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายนั้นผมว่ามันไม่ใช่ ลองดูทุกนโยบายคือการจัดสรรงบประมาณใหม่
อำนาจของผู้ว่าฯ กทม. ทำได้แค่ไหน
ดู พ.ร.บ.กรุงเทพมหานคร ผู้ว่าฯ มีอำนาจเยอะมาก เพียงแต่ไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเท่านั้นเอง ผมรู้ว่าบางอย่างก็มีอำนาจที่จำกัด คำถามคือสังเกตไหมว่าไม่เห็นมีผู้ว่าฯ คนไหนที่พยายามจะส่งผ่านปัญหานั้นเข้าไปยังสภาผู้แทนราษฎรเพื่อแก้ไขกฎหมาย ราวกับว่าพึงพอใจกับอำนาจที่จำกัดแบบนั้น จะได้เอามาเป็นข้ออ้างในการปัดให้พ้นตัว บอกประชาชนว่าที่ทำไม่ได้เพราะไม่มีอำนาจ
บางอย่างที่มีข้อติดขัดก็ส่งข้อจำกัดนั้นให้เพื่อน ส.ส. ก้าวไกล ใช้กลไกอำนาจนิติบัญญัติผ่านสภาผู้แทนราษฎรในการแก้ไขข้อกฎหมาย อย่างเช่น พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน หรือประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ทำให้เราไม่สามารถดูแลประชาชนที่อยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ ที่มีการจดจัดตั้งนิติบุคคลที่เป็นปัญหากันอยู่ เราก็ต้องแก้กฎหมาย แต่ไม่ใช่พึงพอใจกับอำนาจที่จำกัดนั้น แล้วก็ใช้ข้ออ้างเดิมๆ ไม่มีอำนาจ แล้วปัดออกไปแบบนั้น
ขอพูดนอกเรื่อง กทม. เชื่อไหม กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงที่กลัวการมีงบประมาณที่เพียงพอที่สุด เพราะเมื่อเกิดปัญหาทุกครั้งก็จะอ้างว่าเพราะงบไม่เพียงพอ เด็กจึงเป็นได้แค่นี้ แต่ไม่มีโรงเรียนไหนกล้าบอกว่าถ้างบพอแล้วจะไม่มีปัญหานี้ ถ้ามีปัญหารับผิดชอบด้วยการลาออก ดังนั้นชอบที่งบไม่มีเพื่อไว้เป็นข้ออ้าง
เหมือนกับผู้ว่าฯ ถ้าผู้ว่าฯ ไม่มีอำนาจ แล้วทำไมไม่ขอให้มีอำนาจ แล้วที่บอกว่าประสาน ประสานให้ตายยังไง ปัญหาประชาชนก็ไม่ถูกแก้ คุณไม่เคยคิดที่จะทำวิธีอื่น คุณเคยบอกผลการประสานให้กับประชาชนได้รู้ไหม ประสานก็ต้องประสานอยู่แล้วครับ แต่ประสานแล้วมันไม่ได้ก็ต้องบอกประชาชน มันติดข้อจำกัดอะไร ไม่ใช่พึงพอใจกับการติดขัดนั้น
สมมติได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้ว่าฯ กทม. คนต่อไป โดยมาจากพรรคก้าวไกล การทำงานกับรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีปัญหาหรือไม่
ต้องทำงานได้กับทุกรัฐบาล ผู้ว่าฯ ได้รับเลือกมาโดยคนกรุงเทพฯ เจ้านายคือคนกรุงเทพฯ การทำงานต้องยึดผลประโยชน์คนกรุงเทพฯ การตัดสินใจใดๆ ต้องฟังเสียงคนกรุงเทพฯ
ถามว่าคนกรุงเทพฯ ต้องการผู้ว่าฯ ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง ที่ต้องเงี่ยหูฟังว่าจะปรับ ครม. เปลี่ยน รมว.มหาดไทย หรือเปล่า จะปรับ ครม. ต้องเปลี่ยนกระดูกสันหลัง เปลี่ยนสี เพื่ออิงแอบกับผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาล โดยไม่ฟังเสียงคนกรุงเทพฯ อย่างนั้นหรือ
ผมคิดว่าผู้ว่าฯ ต้องทำงานตรงไปตรงมาและยึดเอาผลประโยชน์ของคนกรุงเทพฯ เป็นหลัก ถ้าทุกอย่างไปอิงกับรัฐบาล ผู้ว่าฯ ไม่มีกระดูกสันหลังแล้ว พอปรับ ครม. ที เปลี่ยน รมว.มหาดไทยที คุณต้องเปลี่ยนสไตล์การทำงานเลยเหรอ คุณต้องไปกราบกราน รมว.มหาดไทย คนใหม่หรือ ไม่ใช่หรอก ผมว่ามันต้องยึดผลประโยชน์ของคนกรุงเทพฯ อย่างต่ออายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ผมไม่ชอบคำตอบประมาณว่าแล้วแต่ผู้ใหญ่ ใครเป็นผู้ใหญ่ ในเมื่อรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นของ กทม. ก็หมายความว่าเป็นของคนกรุงเทพมหานคร ดังนั้นการจะต่ออายุสัมปทานไปอีก 30 ปีต้องแล้วแต่คน กทม. ไม่ใช่แล้วแต่ผู้ใหญ่ ใครเป็นผู้ใหญ่ คน กทม. นี่แหละเป็นกำนัน ใหญ่กว่าผู้ใหญ่แน่นอน
สมมติวันที่ 22 พฤษภาคม ไม่สมหวัง อนาคตเส้นทางการเมืองของคุณวิโรจน์จะเป็นอย่างไร
ผมไม่ใช่คนที่แพ้แล้วเลิก คืออย่างนี้ครับ ผมคิดว่าความฝันของผมกับพรรคก้าวไกลและชาวอนาคตใหม่ทุกคน ทั้งเพื่อน ส.ก., ส.ส. แล้วก็สมาชิกทุกคน เราแข็งแรงมาก เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของประเทศนี้ ของคนทั้งกรุงเทพฯ แล้วก็ของทั้งประเทศไทย ความตั้งใจของเราผมคิดว่ายิ่งใหญ่มากและเราพยายามโอบรับความแตกต่างหลากหลาย เพื่อทำให้ทุกๆ คนในประเทศนี้ทั้งคนกรุงเทพฯ และทุกๆ คน มีเป้าหมายร่วมกันที่ยิ่งใหญ่ ผมไม่ใช่คนที่แพ้แล้วเลิก
ผมยังต้องทำงานขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ ให้ประเทศนี้ ให้คนกรุงเทพฯ มีความหวังกว่านี้ ให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่คนเราเท่าเทียมกัน ได้รับการดูแลที่ดีพอๆ กัน ไม่ว่าคุณจะเป็นคนจน คนยาก หรือเป็นคนที่มีอำนาจมากบารมีก็ตาม ผมยังต้องทำสิ่งนี้อย่างต่อเนื่อง
ผมไม่เคยสร้างเงื่อนไขนะว่าถ้าแพ้แล้วผมจะเลิก ถ้าเงื่อนไขแบบนี้หมายความว่ามันไม่ใช่ความตั้งใจ แต่มันเป็นการลองทำ ถ้าลองไม่ได้ก็เลิก แต่ถ้าตั้งใจ ถ้ามันไม่ได้วันนี้ก็ต้องตั้งใจใหม่ แล้วทำเรื่องนั้นต่อไป ผมไม่ใช่คนแพ้แล้วเลิก
เคยคิดหวังไหมว่าในอนาคตจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ผมมีความฝันที่อยากเห็นการศึกษาของประเทศไทยดีขึ้น เพราะผมอยู่ในทุกวงเสวนา เวลาเราโทษอะไรไปมามันจะมีสาเหตุที่พูดกันว่า คนไทยยังขาดความรู้อยู่ คนไทยไม่รู้เรื่องนั้น คนไทยไม่รู้เรื่องนี้ แล้วผมก็ตั้งคำถามกลับ แล้ว 8 สาระวิชา ถ้ายังให้เด็กทู่ซี้เรียนแล้วมันตอบโจทย์ไหม ในเมื่อไม่ตอบโจทย์แล้วให้เด็กเรียนทำไม แบบนั้นการศึกษาจะขโมยความฝัน ขโมยเวลาของเด็กไปเท่าไร
ยอมรับว่าการศึกษาเป็นความฝันหนึ่งของผม และผมคิดว่าถ้าเราสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องการศึกษาได้ และการศึกษาสามารถโอบรับความหวังของทุกคน เติมศักยภาพของเด็กแต่ละคนได้ มันจะทำให้เมืองเมืองนี้และประเทศนี้มีโอกาสพัฒนาไปข้างหน้าได้
จะทวงคืนสนามหลวงให้คนกรุงเทพฯ จะทำได้จริงเป็นรูปธรรมหรือไม่
ก็ตัวรั้วเกิดขึ้นมาในปี 2555 เป็นระเบียบที่ออกโดยผู้ว่าฯ ก็แก้ไขระเบียบนั้นก็จบ แต่อย่างนี้ เรื่องของสนามหลวงผมอยากให้มองภาพใหญ่ เมืองที่มีชีวิต เมืองที่สวยงาม จะสวยแค่ทัศนียภาพโดยปราศจากผู้คน ไล่คนให้ออกจากพื้นที่เมืองเหรอ เราอย่าพูดถึงเฉพาะสนามหลวง เราดูท่าเตียน ท่าช้าง หรือท่าพระจันทร์วันนี้ ตึกรามบ้านช่องทาสีใหม่ดูสวย แต่ไม่มีชีวิต
เราดูคลองโอ่งอ่าง เป็นระเบียบใช่ไหม เป็น แต่ไม่มีคนในสมการเลย คลองช่องนนทรีไม่มีชีวิตเลย ตลอดแนวถนนราชดำเนินไม่มีชีวิตเลย ความเป็นเมืองที่สวยงามต้องโอบรับกิจกรรมร่วมสมัย วิถีชีวิตของผู้คน มันถึงจะเป็นเมืองที่มีลมหายใจใช่ไหม นี่คือบริบทเมืองที่มีชีวิตของผม ป้อมมหากาฬมีครัวเรือนได้รับผลกระทบเกือบร้อยครัวเรือน วันนี้แลกมาด้วยสวนสาธารณะที่ไม่มีคนไปหรือมีคนไปน้อยมากๆ เราต้องการสวนที่มีคนไปน้อยๆ แบบนี้หรือ นี่คือเมืองที่มีชีวิตนะครับ
บางคนบอกว่าสนามหลวงเปิดให้ใช้อยู่แล้ว เป็นของประชาชนอยู่แล้ว
แล้วมีข้อจำกัดอะไรแบบนั้น คนที่อายุมากกว่าผมรักสนามหลวงมากกว่าผมอีก ผูกพันกับสนามหลวงมากกว่าผมอีก สมัยก่อนสนามหลวงหลังปี 2520 ที่ประกาศเป็นโบราณสถานแล้วก็ยังขายหนังสือกันอยู่ มีตลาดนัด คนอยากจะไปเล่นว่าว เล่นหมากรุก ดูดวง เสวนาทางการเมือง สภากาแฟ ไฮด์พาร์ก ทำได้หมดใช่ไหม นี่คือเมืองที่มีชีวิต แล้วถ้าเกิดสนามหลวงเปิดวันนี้ สนามหลวงมีเสน่ห์ เพราะใหญ่มาก สามารถทำ Public Space ที่โอบรับความแตกต่างหลากหลาย ทำกิจกรรมร่วมสมัย ผู้หลักผู้ใหญ่ก็เล่นหมากรุก เด็กก็เซิร์ฟสเกต ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน Generation Gap ก็ลดลงใช่ไหม
ผมยอมรับว่า ณ วันนี้ใช้ได้ แต่มันมีข้อจำกัดแบบนี้ บางคนก็เถียงว่ามันมีปัญหา แต่มนุษย์มีสติปัญญา สามารถสร้างกติกาในการแก้ปัญหาได้ ซึ่งไม่ใช่การล้อมรั้ว ผมเห็นด้วยกับการรักษาความปลอดภัย ผมเห็นด้วยกับการรักษาความสะอาด แต่คุณล้อมรั้วเหรอ
บางคนบอกถ้าไม่ล้อมรั้วเดี๋ยวก็มีปัญหาคนไร้บ้าน รั้วแก้ปัญหาคนไร้บ้านได้เหรอ คนไร้บ้านได้แค่ย้ายไปนอนที่อื่น ถ้าไม่ล้อมรั้วเดี๋ยวก็เจอปัญหาขยะ แก้ปัญหาขยะอย่างอื่นได้ คุณแก้ปัญหาอาชญากรรมอื่นๆ ได้ คุณจะทำให้ปัญหา กทม. เป็นเหมือนหนูในท่อไม่ได้ คุณรู้ว่ามันมีอยู่จริง แต่คุณซ่อนเอาไว้อย่างนั้นเหรอ ผมว่ามันไม่ใช่
หวั่นใจไหมว่าพรรคก้าวไกลจะถูกยุบ
ไม่เคยหวั่นเลย สำหรับคนที่เคยถูกยุบมาแล้วก็เห็นว่าวันนี้ก็สู้ต่อ วันนี้ก็เดินหน้าต่อ แล้วแข็งแรงกว่าเดิมด้วย ฉะนั้นผมไม่กลัวเลย
มีอะไรอยากฝากแฟนๆ รายการ THE STANDARD NOW
วันที่ 22 พฤษภาคม ถ้าเราจำกันได้ วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นวันที่อำนาจประชาชนถูกปล้นไป แล้วก็ทำลายความฝัน เป็นห้วงเวลาที่สูญเปล่า ณ วันนั้น ถ้าคนอายุสัก 20 ต้นๆ วันนี้ก็เลข 3 แล้ว ณ วันนั้นถ้าคน 50 ต้นๆ วันนี้ก็เกษียณแล้ว
วันที่ 22 พฤษภาคม ตรงกันเลย ปี 2565 จะเป็นโอกาสที่คนกรุงเทพมหานครจะเป็นโดมิโนตัวแรกที่ประกาศฉันทามติใหม่ว่า ความฝันของพวกเรา โอกาสในการทำให้ชีวิตของพวกเราดีขึ้น จะไม่ยอมให้ใครยึดเอาไปอีกแล้ว
22 พฤษภา เลือกวิโรจน์เป็นผู้ว่าฯ ออกไปกาให้คนเท่ากันครับ