รายการ THE STANDARD NOW เผยแพร่ทาง Facebook และ YouTube ของ THE STANDARD ร่วมกับ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center: UddC) และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เกาะติดการแข่งขันชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ในมุมใหม่ กับ THE STANDARD NOW: BKK ELECTION Policy Critic พลิกนโยบายแคนดิเดต ในซีรีส์ 4 ตอนพิเศษ ทุกวันศุกร์ ดำเนินรายการโดย อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์
คลิกชมรายการ
สำหรับวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา เป็นตอนแรก พบกับการนำเสนอ 3 นโยบายจาก 3 ผู้เชี่ยวชาญ ในหัวข้อ ‘3 นโยบายนอกสายตาผู้สมัคร’ ประกอบด้วย
เมืองซื้อกิน: นโยบายว่าด้วยเรื่องการขายบริการทางเพศ ทำอย่างไรถึงจะจัดระเบียบและสร้างสวัสดิการให้กับผู้ประกอบอาชีพได้ โดย รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประชากรแฝง: นโยบายในการจัดการและดูแลประชากรแฝงที่เข้ามาประกอบอาชีพในกรุงเทพฯ ตั้งแต่วณิพกจนถึงชุมชนพื้นที่ริมทางรถไฟ โดย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พื้นที่แสดงออกทางการเมือง: ควรจัดการพื้นที่ชุมนุมแสดงออกทางการเมืองอย่างไร ในเมื่อการชุมนุมกลายเป็น New Normal โดย รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
-
ไม่อยู่ในอำนาจผู้ว่าฯ แต่ไม่ได้หมายความว่าทำอะไรไม่ได้
รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ชื่อหัวข้อเมืองซื้อกิน ที่ THE STANDARD ตั้ง เหมือนจะมองไปฝั่งผู้ซื้อ แต่วิธีที่เราจะคุยกันในวันนี้ชวนให้มองไปทางฝ่ายผู้ขายบริการทางเพศ ซึ่งผู้ขายบริการทางเพศในเขต กทม. ไม่ได้แยกเป็นกลุ่มต่างหาก แต่ซ้อนอยู่กับกลุ่มอื่น เช่น ประชากรแฝง หรือคนที่ออกมาใช้พื้นที่แสดงออกทางการเมือง ซ้อนหลายเรื่อง
เรื่องการซื้อขายบริการทางเพศ ไม่ว่าใครจะชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจผู้ว่าฯ กทม. แต่อยู่ที่อำนาจของรัฐบาลกลาง เมื่อไล่ดูว่าฝั่งผู้ขายบริการทางเพศมีเรื่องอะไรบ้าง สถานะตามกฎหมาย อะไรทำได้หรือไม่ได้ อยู่ในมือกระทรวงมหาดไทย ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานบริการ หรือ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ปี 2539 ซึ่งใช้อยู่
เรื่องไม่ได้อยู่ในมือผู้ว่าฯ กทม. แต่ไม่ได้แปลว่าผู้ว่าฯ ทำอะไรไม่ได้เลย มีบางเรื่องที่ผู้ว่าฯ พอจะทำได้บ้าง
คนขายบริการทางเพศเฉพาะใน กทม. ข้อมูลการสำรวจจากมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ Service Workers IN Group หรือ SWING ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา 85.5% ตอบว่าหารายได้เพื่อไปส่งเสียครอบครัว ซึ่งช่วงโควิดระบาดไม่ใช่เฉพาะผู้ค้าบริการทางเพศ แต่เป็นคนที่ต้องส่งเสียทั่วประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบ
ที่คลองหลอด มีคนค้าบริการทางเพศจำนวนประมาณ 500 คน มีคนอายุ 50 ปีขึ้นไปอยู่ไม่น้อย และอายุสูงสุดที่เจอคือ 78 ปี คนที่คลองหลอดอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ไม่ได้สังกัดสถานบริการใดๆ พอถามถึงความยากลำบาก ความต้องการ ใน 500 คนจะพูดคล้ายกันคือ ปัญหาไม่มีห้องน้ำ
เรื่องนี้ผู้ว่าฯ กทม. ทำได้ไหม ห้องน้ำในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งไม่เฉพาะคนขายบริการ แต่จะมีอาชีพและกิจกรรมอีกหลายประเภท ห้องน้ำเป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงไฟส่องสว่าง ความปลอดภัย ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ว่าฯ กทม. ทำได้ทั้งสิ้น อยากจะชี้ให้เห็นว่า ถ้ามองไปที่ตัวคน คนขายบริการเป็นใครบ้าง แล้วเขาเจอกับสถานการณ์อะไรบ้าง ก็จะนำไปสู่นโยบาย หรือจริงๆ เป็นมาตรการที่ กทม. สามารถจะทำได้อยู่หลายเรื่อง
จำนวน 54% ไม่มีงานทำเพราะโควิด ผลกระทบรุนแรง หลายเรื่องดูเหมือน กทม. เกือบจะทำได้ แต่ทำไม่ได้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ความช่วยเหลือพื้นฐานส่วนมากเรื่องอาหารและสิ่งของจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของผู้ค้าบริการทางเพศ มาจากภาคประชาชนที่เข้าไปช่วยเหลือ ต้องขอขอบคุณคนไทยหลายกลุ่มที่ช่วยในเรื่องนี้ แปลว่าที่ทำให้อยู่รอดพอประคองกันมาได้ ไม่ใช่รัฐบาล ไม่ใช่ กทม. ไม่ใช่รัฐไทย แต่คือประชาชนที่ช่วยเหลือกันอยู่
ขณะที่ กทม. ในฐานะเจ้าของพื้นที่จะเกิดอาการปะทะกับภาคประชาชนที่พยายามจะช่วยเหลือกันเอง ใครเคยบริจาคของหรือเอาข้าวไปให้คนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจะทราบดี
กทม. ช่วยอำนวยความสะดวกให้บรรดาคนแต่ละกลุ่มไม่ดีกว่าหรือ เพื่อจะให้คนช่วยเหลือกันเองได้ แต่กลายเป็นว่า กทม. กลายเป็นผู้สร้างความไม่สะดวกเวลาคนพยายามจะช่วยเหลือกันเอง คือไม่ได้เรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือ ไม่ได้เรียกร้องให้ กทม. ช่วยเหลือ เวลาประชาชนจะช่วยเหลือกันเอง กทม. ทำอะไรดีกว่านี้ได้ไหม ดีกว่าที่ผ่านมา
แต่ก็ต้องขอชื่นชมศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. หลายๆ ศูนย์เรื่องการให้ความช่วยเหลือ ที่ดีมากส่วนหนึ่งเพราะทำงานกับภาคประชาชน อะไรทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ที่ถ้าแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. หันมาดูนโยบายแบบนี้ ก็จะเห็นได้ว่าคนค้าบริการทางเพศมีความต้องการเฉพาะหลายเรื่องร่วมกับคนกลุ่มอื่นๆ ในเขต กทม. เช่น เรื่องความปลอดภัย ไฟฟ้าส่องสว่าง การเดินทางมาทำงาน ก็เป็นสิ่งที่ท่านสามารถจะมองไปกว้างๆ จะได้เห็นทั้งปัญหาเฉพาะและปัญหาร่วมของคนที่ค้าบริการทางเพศ
-
สถานะก้ำกึ่งผิดกฎหมาย แต่รายได้หลักการท่องเที่ยวมาจากคนค้าบริการทางเพศ
ผู้ดำเนินรายการถามว่าจะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้ได้รับการเหลียวแลและได้รับการยอมรับมากกว่านี้
รศ.ดร.ชลิดาภรณ์กล่าวว่า ต้องพิจารณาไปที่สถานะการค้าบริการทางเพศ ซึ่งประดักประเดิดมากในสังคมนี้ เพราะหลายๆ ท่านยังพยายามจะบอกว่า การค้าบริการทางเพศผิดกฎหมาย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ไม่ได้บอกว่าการค้าบริการทางเพศโดยตัวของมันเองผิดกฎหมาย แต่เฉพาะการค้าที่มีลักษณะประกอบบางประการ เช่น อายุของผู้ค้า จึงจะผิดกฎหมาย คือไม่ใช่ทั้งหมดผิดกฎหมาย เมื่อเข้าใจผิดเช่นนี้ สถานะก้ำๆ กึ่งๆ เช่นนี้ ทำให้ประเด็นนี้ควรให้ความช่วยเหลือและรัฐควรหันมาพิจารณา เพราะนี่คือกลุ่มคนที่ทำรายได้ให้รัฐไทยมหาศาล รายได้หลักของระบบเศรษฐกิจไทยที่มาจากการท่องเที่ยว มาจากคนค้าบริการทางเพศเท่าไร แต่สถานะที่ว่าผิดกฎหมายผิดศีลธรรมมันบล็อกการเห็นของผู้คนอยู่
ผู้ดำเนินรายการถามว่า แบบนี้เป็นเหตุให้แคนดิเดตผู้ว่าฯ ไม่อยากลงรายละเอียด เพราะประชาชนบางคนมองว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนหรือไม่
รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ กล่าวว่า ทั้งแคนดิเดตผู้ว่าฯ และผู้นำทางการเมืองหลายๆ ท่านเลยทีเดียว ซึ่งส่วนตัวเข้าใจได้ว่าไม่ค่อยอยากจะเปิดประเด็นเพราะในที่สุดจะนำไปสู่การโต้เถียงว่าด้วยเรื่องศีลธรรมความเหมาะสมเรื่องเพศ และอะไรอื่นๆ อีกมาก
เรื่องการอำนวยความสะดวกคงเป็นประเด็นที่แคนดิเดตขณะนี้น่าจะคิดใคร่ครวญได้ ขอยกตัวอย่างปิดท้ายเรื่องการใช้สวนสาธารณะใน กทม. ช่วงโควิด มีการกำจัดคนที่เข้าไปอยู่ในสวนสาธารณะหลายแห่งใน กทม. ด้วยเหตุผลกลัวการแพร่กระจายของโควิด ย้ายผู้คนออกไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ค้าบริการทางเพศเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบแน่นอน แม้ว่าผู้ย้ายคือหน่วยงานส่วนกลาง โดย กทม. ไม่ได้ย้าย แต่ก็เป็นพื้นที่ กทม. คำถามคือ ถ้าสัตว์ยังอยู่ในสวนสาธารณะได้ คนจะใช้พื้นที่สาธารณะเช่นนั้นบ้างไม่ได้เชียวหรือ ฝากถามบรรดาแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม.
รศ.ดร.ชลิดาภรณ์กล่าวว่า การชุมนุมประท้วงแสดงออกทางการเมืองในที่ต่างๆ มีกติกา กฎหมาย มาตรการของรัฐที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ชุมนุมประท้วง แต่เท่าที่เห็นการจัดชุมนุมประท้วงในโลก ในที่สุดจะมีการประสานงานบางประการระหว่างผู้ชุมนุมกับฝ่ายรัฐในระดับต่างๆ ไม่มากก็น้อยอยู่แล้ว ยกตัวอย่างการชุมนุมที่อื่นที่เคยไปร่วมชุมนุม เช่น การชุมนุมทุกวันพุธเวลาเที่ยง ที่โซล ที่หน้าสถานทูตญี่ปุ่นก็จะมีผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงที่เคยเป็น Comfort Women ซึ่งตอนนี้ล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ ก็จะมาชุมนุมทุกวันพุธเวลาเที่ยงที่หน้าสถานทูตญี่ปุ่นประมาณ 1 ชั่วโมง จะเห็นว่ามีการประสานกัน มีตำรวจ มีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกทุกสัปดาห์ ซึ่งการชุมนุมในประเทศไทยก็มีการตกลงอะไรกันบางอย่างอยู่แล้วกับฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐ
ภาพใหญ่ผู้ว่าฯ กทม. ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง สิ่งที่ต้องทำมีหลายเรื่อง ทั้งมาตรการเฉพาะ กิจกรรมเฉพาะ ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกในกิจกรรมเล็กน้อยทั้งหลาย และการประสานงาน เนื่องจากตำแหน่งของผู้ว่าฯ กทม. ในโครงสร้างทางการปกครองของไทย ท่านอยู่ในจุดที่ในที่สุดแล้วต้องประสานงานกับรัฐบาลกลาง ภาคเอกชน และอะไรอีกมากมาย
อีกเรื่องหนึ่งคือ ผู้ว่าฯ กทม. ต้องคิดภาพใหญ่เช่นกันว่าจะวาง กทม. ไว้ที่ไหนของโลก ในลักษณะอะไร เพราะฉะนั้นเรื่องมันเยอะ เวลาท่านพูดกับเราหรือพูดกับคนกลุ่มต่างๆ ก็จะมีมาตรการเฉพาะ แต่ทำอย่างไรให้เป็นไปได้พร้อมๆ กัน แล้วอยากจะได้ยินก่อนวันเลือกตั้ง