วันนี้ (10 พฤษภาคม) มีรายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า กกต. ได้วินิจฉัยและสั่งถอนชื่อ สราวุธ เบญจกุล อดีตเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) หมายเลข 28 ออกจากบัญชีรายชื่อผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เรียบร้อยแล้ว ตามมาตรา 56 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562
รายงานข่าวยังระบุว่าได้มีการแจ้งอย่างไม่เป็นทางการด้วยวาจาไปยังผู้สมัครแล้ว ก่อนจะมีการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
โดยเมื่อผู้สมัครรายดังกล่าวได้รับหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการแล้ว จะยังสามารถยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ กกต. ต่อศาลอุทธรณ์ได้จนถึงก่อนวันเลือกตั้ง และคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ถือเป็นที่สิ้นสุด
ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565 สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) มีการพิจารณาวาระผลการสอบสวนวินัยร้ายแรง สราวุธ เบญจกุล อดีตเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักงานศาลยุติธรรม ในคดีโครงการปรับปรุงอาคารศาลจังหวัดพระโขนง เป็นศาลแพ่งและศาลอาญาพระโขนง วงเงิน 42.3 ล้านบาท ที่ถูกร้องเรียนถึงปัญหาว่ามีเอกชนเข้ามาดำเนินการปรับปรุงอาคารก่อนที่สำนักงานศาลยุติธรรมจะประกาศประกวดราคา และลงนามทำสัญญากับเอกชนอย่างเป็นทางการ และยังปรับปรุงศาลตลิ่งชันและศาลมีนบุรีรวมเป็น 134 ล้านบาทเศษด้วย โดยที่ประชุม ก.ต. มีมติ 12 ต่อ 3 เสียง เห็นว่าสราวุธผิดวินัยร้ายแรง และมีมติ 8 ต่อ 7 เสียง เห็นสมควรให้ลงโทษไล่ออกจากราชการ
รายงานข่าวจาก กกต. วันนี้ระบุว่า มติให้ไล่ออกจากราชการดังกล่าวปรากฏเป็นข่าวโดยทั่วไป ถือเป็น ‘ความปรากฏต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น’ ตามมาตรา 56 ของ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 จึงมีการประสานตรวจสอบไปยังสำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม และต่อมาปรากฏว่าเหตุของการไล่ออกเป็นไปตามมาตรา 77 (1) และ 77 (3) ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ซึ่งเป็นการตรวจสอบที่ใช้กับผู้สมัครในการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นการทั่วไปอยู่แล้ว
โดยมาตรา 77 ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมฯ กล่าวถึงการลงโทษข้าราชการตุลาการว่า การไล่ออกนั้น ประธานศาลฎีกาจะสั่งลงโทษได้ เมื่อข้าราชการตุลาการผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 77 (1) ถึง 77 (5) และมาตรา 77 (1) ระบุเหตุเรื่องการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ส่วนมาตรา 77 (3) ระบุเหตุเรื่องการไม่ถือและปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนและประเพณีปฏิบัติของทางราชการและจริยธรรมของข้าราชการตุลาการ และการไม่ถือและปฏิบัตินั้นเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง
และเหตุตามมาตรา 77 (1) นี้เองที่เข้ากับลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 50 (8) ‘เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ’
รายงานยังระบุว่า ผู้อำนวยการเลือกตั้งท้องถิ่นประจำ กทม. ได้พิจารณากรณีนี้เป็นการเบื้องต้น ก่อนแจ้งเป็นความปรากฏมายังสำนักงาน กกต. กทม. ซึ่งทางสำนักงานฯ ก็มีกรรมการวินิจฉัยสิทธิสมัครเบื้องต้นที่ได้ตรวจสอบหลักฐานของทั้งฝ่ายผู้อำนวยการเลือกตั้งท้องถิ่นและฝ่ายผู้สมัคร ตลอดจนเชิญทั้งสองฝ่ายมาให้ข้อมูล ก่อนมีการรวบรวมและส่งเอกสารไปยัง กกต. กลาง เพื่อวินิจฉัยอีกครั้งและสั่งถอนชื่อสราวุธออกจากบัญชีรายชื่อผู้สมัครดังกล่าว
และจากรายงานข่าวดังกล่าว ผู้สื่อข่าว THE STANDARD พยายามติดต่อไปยังสราวุธทางหมายเลขโทรศัพท์มือถือ ซึ่งโทรติดแต่ไม่มีผู้รับสาย และเมื่อตรวจสอบไปยังเพจเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า ‘สราวุธ เบญจกุล’ (https://web.facebook.com/sarawutofficial28) ซึ่งผู้สื่อข่าวเคยพบการโพสต์นโยบายของสราวุธมาก่อนหน้านี้ พบว่า ณ เวลา 19.30 น. ในเพจดังกล่าวไม่มีโพสต์ใดๆ เหลืออยู่แล้วนอกจากภาพโปรไฟล์จำนวน 2 ภาพเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวยังได้ส่งข้อความไปแนะนำตัวและสอบถามผ่านทางอินบ็อกซ์ของเพจดังกล่าวเมื่อเวลา 17.43 น. วันนี้ว่าสราวุธได้ทราบเรื่องการถอนชื่อดังกล่าวแล้วหรือไม่ และจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ปรากฏว่าขึ้นสัญลักษณ์ว่ามีการอ่านข้อความดังกล่าวแล้วเมื่อเวลา 17.52 น. หรือ 9 นาทีต่อมา แต่จนถึงเวลา 19.30 น. ยังไม่พบว่ามีข้อความตอบกลับใดๆ จากเพจดังกล่าว
ทั้งนี้ หากมีการตอบกลับหรือมีความคืบหน้าใดๆ เพิ่มเติมจะรายงานให้ทราบต่อไป
อ้างอิง: