×

สกลธีตอบ 4 คำถามจากตัวแทนประชาชน เผยเคยดันทำเว็บหางานคนพิการ จะนำระบบล้อ-เรือเสริมขนส่งให้เชื่อมต่อ และกระจายสวนดีใน กทม. ชั้นนอก

โดย THE STANDARD TEAM
15.05.2022
  • LOADING...
สกลธี ภัททิยกุล

วันนี้ (15 พฤษภาคม) ที่สยามพารากอน THE STANDARD จัดงาน THE CANDIDATE BATTLE พลิกโฉมดีเบต ศึกดวลความคิด พิชิตโหวต ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป โดยมีแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. ร่วมประชันวิสัยทัศน์ และตอบคำถามจาก 16 ตัวแทนคน กทม. ซึ่งเป็นเจ้าของปัญหาแบบสดๆ และไฮไลต์สำคัญคือการแบตเทิลตอบคำถามระหว่างผู้สมัคร

 

สำหรับรอบที่ 2: YOUR QUESTION YOUR VOICE วัดไหวพริบ ชิงกันตอบคำถามสดจากตัวแทนคนกรุงเทพฯ สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 3 ตอบคำถามทั้งสิ้น 3 ครั้ง แบ่งเป็นการกดไฟขอตอบคำถาม 2 คำถาม การกดเพื่อใช้สิทธิ์ Steal 1 คำถาม และการถูกสุ่มมาตอบคำถามพิเศษอีก 1 คำถาม

 

คำถามข้อแรกที่สกลธีเลือกกดไฟเพื่อขอตอบคำถาม คือคำถามจาก ณภัทร สะโน ตัวแทนกลุ่มผู้พิการ ที่ขอให้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. คิดนวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการมาหนึ่งอย่าง เขาระบุว่าตนค่อนข้างผูกพันกับคนพิการพอสมควร และเมื่อเป็นรองผู้ว่าฯ ก็ได้กำกับสำนักพัฒนาสังคม ก็เจอคนพิการหลายหน่วยงาน และเชื่อว่าคนพิการส่วนใหญ่ไม่ได้อยากได้ความเห็นใจ แต่อยากอยู่ได้ด้วยตนเองและมีศักดิ์ศรีในการใช้ชีวิต

 

สกลธีกล่าวต่อไปว่า สาเหตุที่ตนเองลาออกมาและเปิดตัวช้ากว่าผู้สมัครรายอื่น เพราะต้องการผลักดันเรื่องการหางานของคนพิการ ซึ่งที่ผ่านมามีกฎหมายบังคับให้ทั้งภาครัฐและเอกชนจ้างงานคนพิการอย่างน้อย 1% ของจำนวนคน แต่ไม่มีหน่วยใดในกรุงเทพฯ และในต่างจังหวัดที่จะจ้างคนพิการได้ถึงขนาดนั้น

 

“เพราะฉะนั้นผมก็เลยมานั่งคิด คุยกับองค์กรหลายองค์กรว่าทำอย่างไรถึงจะให้คนพิการเขามาเจอกับนายจ้างได้ ซึ่งปัญหามันมีเยอะเพราะว่านายจ้างก็ไม่รู้ว่าคนพิการที่อยากทำงานอยู่ที่ไหน ส่วนคนพิการก็ไม่รู้จะไปหางานที่ไหน เพราะฉะนั้นผมก็เลยนำคนที่เขาเก่งเรื่องการทำเว็บไซต์หรือการทำแอปพลิเคชันมาคุยกัน เพื่อเป็นสื่อกลางให้คนพิการมาเจอกับคนที่หางาน” 

 

เขาระบุว่าเรื่องนี้สำเร็จได้ด้วยดี เป็นเว็บหางานที่แปะลิงก์ไว้บนเว็บของสมาคมออทิสติกไทย โดยผู้พิการสามารถบอกคุณสมบัติของตน เช่น ที่อยู่ ความสามารถ ตำแหน่งท่ีอยากทำ และให้บริษัทหรือองค์กรภาครัฐเข้ามาเจอจากเว็บนี้ และในอนาคตจะต้องขยายไปทั่วประเทศให้ได้

 

ณภัทร ยังถามเสริมถึงสิทธิประกันสังคมที่หากผู้ทุพพลภาพต้องการกลับไปทำงาน จะต้องสละสิทธิประกันสังคมทุพพลภาพแล้วกลับไปใช้สิทธิตามมาตรา 33 ซึ่งทำให้คนพิการถูกจำกัดการประกอบอาชีพให้อยู่ในกลุ่มค้าขาย อิสระ สัญญาจ้าง แต่ไม่สามารถทำงานประจำได้ และประกันสังคมก็ให้คำตอบไม่ชัดเจนเท่าที่อยากทราบ จะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ สกลธีระบุว่าเรื่องนี้อยู่นอกเหนืออำนาจของผู้ว่าฯ กทม. แต่ถ้าตนเป็นผู้ว่าฯ จะอาสาไปหาคำตอบมาให้กับคนพิการ 

 

คำถามต่อมา มาจาก วิภาวี กิตติเธียร ตัวแทนด้านระบบขนส่งสาธารณะจากกลุ่ม MAYDAY ซึ่งถามว่า อยากทราบว่าในพื้นที่ไหนของ กทม. ที่ต้องปรับปรุงเรื่องการเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะโดยด่วนที่สุด และจะทำที่แรกเมื่อได้ตำแหน่งผู้ว่าฯ รวมถึงจะปรับปรุงอย่างไรให้เชื่อมต่อได้ดีที่สุด

 

สกลธีตอบคำถามนี้โดยระบุว่า การทำให้รถติดน้อยลงภายใต้ข้อจำกัดเรื่องอำนาจผู้ว่าฯ กทม. คือการทำให้ขนส่งสาธารณะเชื่อมต่อกันได้แบบไร้รอยต่อ และด้วยราคาที่จับต้องได้ นโยบายของตนคือการเชื่อมต่อ ล้อ-ราง-เรือ โดยรถไฟฟ้าซึ่งเป็นระบบรางนั้นมีปัญหาที่คนไม่ใช้ ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากราคาหรือการเข้าถึง ดังนั้นนโยบายของตนคือการเอาระบบล้อกับระบบเรือเข้ามาเสริม 

 

“ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เลย จุดหนึ่งที่ผมเห็นปัญหาที่สุดก็คือเส้นประดิษฐ์มนูธรรม ผมว่าหลายๆ คนก็จะอยู่ตรงนั้น ก็คือมันจะเป็นเขตติดต่อกัน 6-7 เขต วังทองหลาง ลาดพร้าว บางเขน บางกะปิ บึงกุ่ม คันนายาว คนอยู่กันเป็นแสนนะครับ แต่ว่ารถเมล์ ขสมก. วิ่งวันละสายเดียว ลองคิดดูสิครับว่าคนเป็นหลายๆ แสนคนแต่ว่าทุกคนต้องอาศัยรถส่วนตัว หรือว่าต้องดิ้นรนหาการขนส่งแบบอื่นเพื่อที่จะเข้าเมืองเนี่ย อย่างไรการจราจรหรือทุกอย่างก็เกิดกลียุค

 

“หลายคนก็อยู่แถวนั้น ผมเองเป็นคนอยู่เกษตร เวลาผมจะไปอีสต์วิลล์ หรือผมไปคริสตัลปาร์ค รถติดทุกวันนะครับ เสาร์-อาทิตย์ เพราะมันไม่มีทางเลือกอื่นที่คนจะเดินทางไปได้ เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเป็นผู้ว่าฯ ชื่อสกลธีเนี่ย ผมจะทำรถเมล์โดยสารของ กทม. เองโดยใช้รถไฟฟ้า วิ่งในเขตที่มีชุมชนเยอะๆ อย่างเช่นเส้นประดิษฐ์มนูธรรมแบบนี้ ที่เราจะเกี่ยวคนที่อยู่ตามซอยหรือตามป้ายรถเมล์ แล้วก็เอาไปใส่ระบบราง เพื่อที่จะให้เขาเดินทางเชื่อมต่อกันได้ หลายเส้นก็ต้องใช้แบบนี้เช่นกันครับ อย่างเช่นซอยอารีย์ หรือในเขตหลักสี่ ซึ่งจะมีรถไฟฟ้าสายสีแดง มีสายสีชมพูที่จะเสร็จ แต่ว่าข้างในตรงเมืองทองก็จะเป็นชุมชนของคนเยอะ ผมคิดว่าถ้าเราใช้ระบบในการที่จะใช้รถเมล์หลายๆ เส้นมาช่วย มันทำให้คนใช้ง่ายขึ้น หรือว่าจะเป็นเรือในคลองที่เป็นคลองหลัก เช่น คลองแสนแสบ คลองผดุงกรุงเกษม คลองลาดพร้าว หรือคลองเปรมประชากรก็ตาม ถ้าเราสามารถทำให้ทุกอย่างมันเป็นโครงข่ายเหมือนใยแมงมุมได้นี่ผมว่าการเดินทางในกรุงเทพฯ โดยการขนส่งสาธารณะมันจะสะดวกมากขึ้น และทำให้คนกรุงเทพฯ หันมาใช้มากขึ้น แล้วทำให้รถก็ติดน้อยลงโดยปริยาย” 

 

และคำถามที่สกลธีใช้สิทธิ์ Steal ตามกติกา เป็นชุดคำถามจาก อิทธิพล สมุทรทอง แอดมินเพจ ‘42.195K Club เราจะไปมาราธอนด้วยกัน’ ที่ถามรวมกันว่า พื้นที่ออกกำลังกายหรือสวนสาธารณะที่มีอยู่จะได้รับการดูแลให้ดีขึ้นอย่างไร พื้นที่ทางเท้าซึ่งถือเป็นพื้นที่สาธารณะเช่นกัน ทำอย่างไรให้ประชาชนออกกำลังกายไม่ลำบาก และการพัฒนาพื้นที่ที่ กทม. ไม่ได้ใช้สอยแต่อยู่ในชุมชนให้เป็นพื้นที่ออกกำลังกายอย่างจริงจังจะทำอย่างไร

 

สกลธีระบุว่าถ้าตนเป็นผู้ว่าฯ จะทำให้สวนดีๆ กระจายออกไปตามเขตชั้นนอกของกรุงเทพฯ และตนไม่เห็นด้วยที่จะเอาเงินทุ่มไปกับสวนลุมฯ สองพันล้านแล้วในขณะที่สวนอื่นๆ ที่ต้องการการแก้ไขกลับไม่ได้แก้ และสวนใหญ่ๆ ก็ควรจะต้องดึงศักยภาพมาให้เต็มที่ เช่น ที่บึงหนองบอน สามารถทำเป็นสวนกีฬาทางน้ำที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ได้

 

นอกจากนี้ สกลธียังยกตัวอย่างโครงการที่เขาระบุว่าเคยทำขณะเป็นรองผู้ว่าฯ อยู่ที่เขตลาดพร้าว เรียกว่า ‘สวนอยู่เย็น’ ซึ่งเขาระบุว่าตนไปเจอที่แปลงหนึ่ง 14 ไร่ มีชาวบ้านบุกรุกประมาณ 30 ครัวเรือน ก็ให้เขตเข้าไปคุย เจรจา ย้ายไปบ้านมั่นคง แล้วก็ถางที่ นำแรงงานเขตมาปลูกต้นไม้ ขอต้นไม้จากเอกชนในพื้นที่ และให้สำนักการโยธามาราดแอสฟัลต์เป็นลู่วิ่ง เขาระบุว่า “ไม่ได้ใช้งบประมาณเพิ่มแม้แต่บาทเดียว ซึ่งทุกวันนี้สวนนี้ก็เป็นต้นแบบแล้วก็ใช้อยู่

 

“ซึ่งผมตั้งใจว่าถ้ามีโอกาสเป็นผู้ว่าฯ ผมจะทำสวนแบบนี้ให้ทั่วทุกเขต บางทีไม่จำเป็นจะต้องสิบกว่าไร่ บางทีแค่สองร้อยวาหรือแค่ร้อยวา” สกลธีกล่าว

 

และท้ายสุดในรอบนี้มีคำถามพิเศษที่สกลธีถูกสุ่มชื่อขึ้นมาตอบ เป็นคำถามจาก อิงฟ้า วราหะ มิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2022 ระบุว่า หากเข้ามาเป็นผู้ว่าฯ กทม. แต่ไม่สามารถทำตามนโยบายที่พูดไว้ได้ จะมีความรับผิดชอบอย่างไร สกลธีตอบว่า ด้วยการที่เป็นรองผู้ว่าฯ มาสี่ปี ตนทราบว่าสิ่งใดทำได้ สิ่งใดทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นนโยบายที่ตนเสนอทั้งหมดตั้งแต่เกิดยันแก่ ก็จะเป็นนโยบายที่กลั่นกรองแล้วว่าทำได้ในสี่ปี โดยจะแบ่งการทำงานเป็นระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว ถ้าทำไม่ได้ก็คงต้องพิจารณาตนเอง แต่มั่นใจว่าทุกอย่างที่นำเสนอนั้นทำได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising