×

รสนาประกาศใหม่ ขอทิ้งไพ่ใบสุดท้าย ‘ไม่เลือกรสนา กลุ่มทุนสามานย์มาแน่’ ขออภัยพาดหัวปมชัชชาติ ทำประชาชนเข้าใจผิด

โดย THE STANDARD TEAM
21.05.2022
  • LOADING...
รสนา โตรสิตระกูล

วันนี้ (21 พฤษภาคม) รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) หมายเลข 7 ได้ออกมาชี้แจงกรณีการปราศรัยโค้งสุดท้ายที่วงเวียนใหญ่ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา ว่าขออภัยความเข้าใจผิดพาดหัวเรื่อง ‘ไม่เลือกรสนา ชัชชาติมาแน่’ และขอชี้แจงประเด็นกลุ่มทุนใหญ่อยู่เบื้องหลังการเลือกตั้ง ประกาศยกระดับ ‘ไม่เลือกรสนา กลุ่มทุนสามานย์มาแน่’

 

รสนาระบุว่า ก่อนอื่นขออภัยต่อพี่น้องประชาชนทุกท่านที่อาจเข้าใจผิดต่อการพาดหัวบทความ รวมถึงคำปราศรัยใหญ่เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ที่ว่า ‘ไม่เลือกรสนา ชัชชาติมาแน่’ แล้วคิดว่าดิฉันชวนให้ประชาชนเกิดความกลัวคุณชัชชาติ เพียงเพราะอ่านแต่การพาดหัวโดยไม่ได้อ่านบทความให้จบเสียก่อน

 

ในทางตรงกันข้ามดิฉันมีเจตนาตอบโต้ยุทธศาสตร์ ‘ไม่เลือกเรา เขามาแน่’ และตอบโต้วิชามาร ‘เลือกรสนา ชัชชาติมาแน่’ เพื่อโฆษณาชวนเชื่อให้สนับสนุนเทคะแนนให้คนที่ทุจริตกลับเข้าสู่อำนาจ ประเด็นนี้ต่างหากที่จะเป็นสิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่า จึงมีความจำเป็นต้องย้อนเกล็ดตอบโต้กลุ่มคนเหล่านี้ว่า ‘ไม่เลือกรสนาต่างหาก ที่ชัชชาติจะมาแน่’

 

รสนาระบุว่า ในความเป็นจริงแล้ว ประชาชนเลือกใครมากก็ควรจะได้คนผู้นั้นชนะการเลือกตั้ง และดิฉันตั้งใจดึงสติพี่น้องประชาชนว่า เป็นไปไม่ได้ที่ประชาชนที่มีความห่วงใยบ้านเมืองจะยอมเทคะแนนสนับสนุนคนทุจริตให้ไปบริหารกรุงเทพมหานคร เพียงเพื่อสนองตอบมายาคติความกลัวขั้วฝ่ายตรงกันข้าม และเราควรยุติความเชื่อ ‘ไม่เลือกเรา เขามาแน่’ ได้แล้ว  

 

เพราะยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะไม่มีวันได้ผล มีแต่จะทำให้เสียงแตก มีแต่ยุทธศาสตร์ การเลือกคนดีไปปกครองบ้านเมืองและการหยุดการทุจริตให้สำเร็จเท่านั้นที่มีโอกาสจะทำให้เป็นความหวังของคนกรุงเทพฯ ในการทำให้กรุงเทพมหานครดีกว่าเดิมได้ และถ้าคนกรุงเทพฯ เชื่อเช่นนั้นได้พร้อมกัน คนคนนั้นก็ย่อมจะชนะการเลือกตั้งได้เช่นกัน

 

รสนาระบุอีกว่า ในโอกาสโค้งสุดท้ายและวันสุดท้ายของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ดิฉันขอประกาศยกระดับทิ้งไพ่ใบสุดท้าย ‘ไม่เลือกรสนา กลุ่มทุนสามานย์มาแน่’

 

กลุ่มทุนสามานย์ไม่ใช่กลุ่มทุนทั่วไป หมายถึงกลุ่มทุนผูกขาดทุกกลุ่ม กลุ่มทุนล็อกสเปก กลุ่มทุนที่หาประโยชน์จากการจัดซื้อจัดจ้างทุกกรณี แล้ววันนี้มาเป็นกลุ่มทุนที่สนับสนุนให้กับพรรคการเมืองหรือผู้สมัครอิสระตัวปลอมเพื่อให้ผู้สมัครผู้ว่าฯ ของกลุ่มทุนเข้าไปสู่อำนาจแล้วเข้าไปเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนสามานย์ต่อไป

 

กลุ่มทุนสามานย์ไม่มีสีเสื้อ ไม่มีอุดมการณ์ทางการเมือง อุดมการณ์เดียวที่มีคือ กำไรสูงสุด โดยอาศัยอำนาจรัฐของนักการเมืองที่ได้อำนาจจากประชาชนมาประเคนตอบแทนให้ กลุ่มทุนสามานย์จึงสนับสนุนให้ทุกพรรค ทุกคนที่สามารถเข้าไปมีตำแหน่งทางการเมือง ผู้ใหญ่ในวงราชการท่านหนึ่งเคยกล่าวกับดิฉันว่า ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. กลุ่มทุนใหญ่ก็จะทำทุกวิถีทางในการสนับสนุนคนของตนให้เข้าสู่อำนาจเพื่อเอื้อเมกะโปรเจ็กต์ให้กลุ่มทุน

 

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่มีเงินเดือน 4 ปี แค่ 5.4 ล้านบาท แต่ใช้งบหาเสียงได้ถึง 49 ล้านบาท และเท่าที่ทราบจากวงในของผู้รู้ทางการเมือง บอกว่าเคยมีการใช้เงินหาเสียงผู้ว่าฯ กทม. กันถึงกว่า 200 ล้านบาท จึงต้องตั้งคำถามว่าใช้เงินจากไหน จากกลุ่มทุนสามานย์ทั้งสิ้น ใช่หรือไม่ โดยที่ไม่ได้ให้ฟรีๆ แน่นอน ต้องมีการตอบแทน ใช่หรือไม่

 

รสนาระบุว่า ดิฉันขอยกตัวอย่างกรณีศึกษา รักเกียรติ สุขธนะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่เคยถูกจำคุกเพราะคดีทุจริตยา 1,400 ล้านบาท โดยที่ดิฉันและเครือข่ายเป็นผู้ดำเนินการ เคยกล่าวเอาไว้ว่า

 

“การทุจริตอยู่คู่สังคมการเมืองไทย ความจำเป็นในการใช้จ่ายเงินในการเลือกตั้ง ที่ต้องอาศัยเงินจากกลุ่มทุนการเมือง จึงเป็นธรรมดา เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้วต้องตอบแทนกลุ่มทุนให้ได้ถอนทุนคืน บางครั้งก็ส่งคนของตัวเองมารับตำแหน่งเพื่อถอนทุนคืน พร้อมกับต้องสะสมทุนเพื่อการเลือกตั้งครั้งต่อไป”

 

ด้วยเหตุผลนี้ การเมืองไทยจึงตกอยู่ในวงจรอุบาทว์ของธุรกิจการเมืองที่ใช้เงินเข้าสู่อำนาจ และใช้อำนาจตอบแทนกลุ่มทุนให้สามานย์ได้ สร้างความร่ำรวยมากขึ้น แต่ประชาชนจนทั้งแผ่นดิน 

 

กลุ่มการเมือง 2 ขั้วความคิด ก็แค่ต่อสู้ผลัดกันเข้าสู่อำนาจ แต่ทุนสามานย์อยู่ได้กับทุกพรรคการเมือง กลุ่มทุนสามานย์คือผู้กำกับทิศทางการเมืองไทยที่แท้จริง มีอำนาจเหนือนักการเมืองทุกค่าย มีอำนาจเหนือนักวิชาการบางคน และเหนือสื่อมวลชนบางสำนัก มีอำนาจเหนือโพลหลายสำนัก เพราะทุกกลุ่มทำโพลต้องหาสปอนเซอร์ทั้งสิ้น ใช่หรือไม่

 

เมื่อดิฉันเป็นม้านอกสังกัดกลุ่มทุนสามานย์ จึงเป็นม้านอกสายตาของสื่อและโพลทั้งหลายไปด้วยโดยปริยาย

 

มีสื่อใหญ่บางแห่งและนักการเมืองที่มีสายสัมพันธ์กับกลุ่มทุนด้านคมนาคม ที่ออกมาตีนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทของดิฉันว่าทำไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น สื่อเนชั่นถึงกับปล่อยข่าวเท็จลงยูทูบว่า ดิฉันเคยสอบตกในการสมัครผู้ว่าฯ กทม. มาแล้วด้วยคะแนนต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ดิฉันไม่เคยลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. มาก่อน แต่ที่แน่ๆ คือดิฉันเคยได้คะแนนเลือกตั้ง ส.ว. 2 ครั้ง และเคยได้คะแนนสูงสุดในประเทศถึง 743,397 คะแนน สื่อเนชั่นนอกจากจะไม่ขอโทษต่อดิฉันในการนำเสนอข้อมูลที่ผิดพลาดแล้ว ยังไม่เคยเชิญดิฉันออกอากาศอีกด้วย ดิฉันตรวจสอบข้อมูลจึงเห็นว่าผู้บริหารของกลุ่มทุนเนชั่นและกลุ่มทุนธุรกิจรถไฟฟ้าเคยมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจอย่างใกล้ชิดมาก่อน ใช่หรือไม่

 

นอกจากนั้นบางสื่อที่เคยถูกดิฉันตรวจสอบเรื่องสัมปทานคลื่นทีวีก็ไม่เชิญไปออกรายการ ทั้งที่เจ้าหน้าที่รายการได้ติดต่อเชิญมาแต่กลับยกเลิกภายหลัง

 

เช่นเดียวกับการทำโพลของสำนักดุสิตโพลถูกดิฉันจับได้ว่า ใช้การสำรวจแบบโหวต คือคนตอบแบบสอบถามทำซ้ำกี่ครั้งก็ได้ แต่มารายงานแบบโพล และในแบบสอบถามมีระบุชื่อ 2 คนที่ยังไม่ได้ประกาศตัวลงสมัครผู้ว่าฯ แต่กลับไม่ปรากฏชื่อดิฉันทั้งที่ประกาศตัวชัดเจนมาแต่แรก และที่น่าสนใจที่สุดคือแบบสอบถามนั้นถูกส่งมาในกรุ๊ปไลน์ของหลักสูตรผู้นำเมืองของ กทม. ขอให้สมาชิกช่วยโหวตให้ผู้สมัครที่ยังไม่ประกาศตัวลงสมัครอีกด้วย

 

จึงไม่น่าสงสัยว่าโพลก็สามารถจ้างปั่นคะแนนให้ผู้สมัครได้ ใช่หรือไม่ เพื่อนำมาสู่การกำหนดยุทธศาสตร์ ไม่เลือกเรา เขามาแน่ โดยให้ใช้คะแนนจากผลโพลเพื่อสร้างมายาคติผ่านสื่อให้คน กทม. ต้องเลือกตามยุทธศาสตร์ โดยไม่ต้องสนใจว่าคนเหล่านั้นจะเป็นตัวแทนกลุ่มทุนสามานย์ เข้าไปทำธุรกิจการเมืองหรือไม่

 

ยุทธศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังก็คือ การแบ่งแยกเพื่อปกครอง สนองผลประโยชน์อันมิชอบของนักการเมืองบางคนและกลุ่มทุนบางกลุ่มด้วยการสร้างมายาคติ ‘ไม่เลือกเรา เขามาแน่’ กลุ่มทุนสามานย์จึงอยู่ได้กับทุกค่ายความคิด และแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตัวเอง

 

บ้านเมืองจึงตกอยู่ภายใต้ทุนใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่ระบายสีผังเมืองตามใจชอบ อยู่ภายใต้ทุนพลังงานที่ทำราคาพลังงานแพงเวอร์ และกลุ่มทุนโรงไฟฟ้าที่ไม่เดินเครื่องผลิตไฟก็ยังได้เงินจากกระเป๋าประชาชนปีละ 4.9 หมื่นล้านบาท ในขณะที่คนไทยยากจนลง กลุ่มทุนสามานย์ก็ร่ำรวยมากขึ้น ภายใต้ทุนก่อสร้างที่รอโครงการเมกะโปรเจกต์ของผู้ว่าฯ ส่วนภายใต้ทุนคมนาคม ก็หวังได้สัมปทานรถไฟฟ้ากันตลอดชาติ ใช่หรือไม่

 

สิ่งที่คน กทม. ได้จากการเลือกด้วยมายาคติดังกล่าว คือ

 

  1. อุโมงยักษ์ระบายน้ำหลายแห่งกลายเป็นเมกะโปรเจ็กต์ที่ระบายน้ำไม่ได้ และล่าสุด อุโมงค์ยักษ์ที่อาคารรับน้ำบึงหนองบอนก็เพิ่งถล่มเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2565 หนึ่งเดือนก่อนกำหนดรับมอบ

 

  1. รถไฟฟ้าที่จะถูกสร้างหนี้เพื่อเป็นเหตุผลให้ต้องต่อสัมปทานไปอีก 30 ปี ในราคา 65 บาท

 

  1. โรงไฟฟ้าจากขยะอ่อนนุชของ กทม. ที่ให้เอกชนขายไฟให้การไฟฟ้านครหลวง โดยมีการโฆษณาสวยหรูว่าจะเปลี่ยนบ่อขยะให้กลายเป็นป่าสีเขียวในกรุง แต่ในความเป็นจริงกลับส่งกลิ่นเหม็นสร้างความเดือดร้อนอย่างสาหัสแก่ชุมชนในรัศมี 10 กิโลเมตร ซึ่งเคยร้องเรียน กทม. มาตลอด 2 ปี แต่ กทม. ไม่สนใจแก้ไข จนดิฉันและสภาองค์กรของผู้บริโภคส่งเรื่องถึงคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โรงไฟฟ้าขยะจึงถูกพักใบอนุญาตเมื่อวันที่ 5 เมษายนมานี้เอง

 

รสนาระบุว่า เพราะดิฉันเป็นม้าที่อยู่นอกคอกของกลุ่มทุนสามานย์ใช่ไหม จึงมีความพยายามกีดกันดิฉันออกจากสารบบ มีอดีตสื่อผู้ใหญ่บางท่านเคยมาเกลี้ยกล่อมให้ดิฉันถอนตัวจากการสมัครผู้ว่าฯ หาว่าดิฉันจะไปขวางเรือเดินสมุทร และเมื่อดิฉันไม่ฟังโอวาทนั้น สิ่งที่ดิฉันพบก็คือกระบวนการปั่นกระแสว่าถ้าเลือกรสนา คะแนนจะตกน้ำเพราะผลโพลต่ำ

 

ดิฉันขอให้ชาว กทม. อย่าตกอยู่ภายใต้มายาคติของทั้ง 2 กลุ่มการเมืองที่แย่งชิงชัยตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ด้วยการปั่นกระแสไม่เลือกเรา เขามาแน่ เพราะผู้ที่ได้ประโยชน์แน่ๆ คือกลุ่มทุนสามานย์ ที่ร่วมจับมือกับนักการเมืองสร้างโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่เป็นการทุจริตเชิงนโยบายต่อไป

 

“ชาว กทม. ต้องเชื่อว่า ต้องหยุดการทุจริตให้สำเร็จ ต้องหยุดกลุ่มทุนสามานย์ไม่ให้ไปต่อ เพื่อให้กรุงเทพไปต่อได้” ดิฉันขอยกระดับทิ้งไพ่ใบสุดท้ายว่า ไม่เลือกรสนา กลุ่มทุนสามานย์มาแน่” รสนาระบุในท้ายที่สุด 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising