×

‘เมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ เปิดวิสัยทัศน์ผู้ว่าฯ กับแผนรับมือระบบสวัสดิการ-การชุมนุมความเห็นต่างในบ้านเมือง

โดย THE STANDARD TEAM
04.05.2022
  • LOADING...
วิสัยทัศน์ผู้ว่าฯ

‘กรุงเทพฯ เมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ คือชื่องานและหัวข้อใหญ่ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา งานนี้เป็นการเปิดโอกาสให้เหล่าผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ทั้งในโพลและนอกโพล ได้มาร่วมแสดงวิสัยทัศน์ สะท้อนนโยบายเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาจะมอบให้คนกรุงเทพฯ หากวันข้างหน้าได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ ทั้งในเรื่องสิทธิสวัสดิการ การเกิด แก่ เจ็บ และตาย รวมไปถึงเสรีภาพในการคิดต่าง มองต่าง หากวันข้างหน้าเกิดข้อขัดแย้ง ผู้ว่าฯ…จะทำอย่างไร

 

ก่อนเริ่มการปราศรัยจากผู้ลงสมัคร ได้มีตัวแทนจากทั้งนักศึกษาและองค์กรอิสระร่วมกันตั้งประเด็นคำถามที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับพวกเขา เริ่มต้นที่ตัวแทนจาก 

 

‘Mob Data Thailand’

  • หากได้รับตำแหน่ง จะมีนโยบายเปิดพื้นที่แสดงออกอย่างไร ทั้งเรื่องอำนวยความสะดวก ปัจจัยพื้นฐาน ห้องน้ำ ไฟฟ้า และการจัดการขยะ ภายใต้อำนาจของ กทม.
  • พื้นที่ที่ กทม. เป็นผู้มีอำนาจดูแล จะมีนโยบายเปิดพื้นที่ให้ทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมโดยไม่สร้างข้อจำกัดอย่างไร

 

‘กลุ่มเส้นด้าย’

  • ที่ผ่านมาวิกฤตสาธารณสุขมักขึ้นอยู่กับฝ่ายเอกชน เพราะ กทม. มีระบบราชการที่ไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน ถ้าเกิดวิกฤตสาธารณสุขขึ้นอีก คุณจะทำให้ระบบราชการ กทม. เร็วกว่านี้ได้อย่างไร

 

‘มูลนิธิอิสรชน’

  • นโยบายเกี่ยวกับประชากรแฝง คนไร้บ้าน คนเร่ร่อน หรือคนจนเมือง มีนโยบายในการจัดการและจะดูแลประชากรส่วนนี้อย่างไรบ้าง 
  • แนวนโยบายในการรับมือกับผู้ป่วยจิตเวชบนถนน กลไกการไหลไป การรักษา การจ่ายยาข้างถนน หรือแม้แต่ตัวของผู้สูงอายุที่เป็นอัลไซเมอร์ หลงออกจากบ้าน ทำอย่างไรบ้าง 

 

‘ตัวแทนคนรุ่นใหม่’ 

  • กระบวนการเปลี่ยนแปลงลักษณะของพื้นที่จากการหลั่งไหลของผู้อยู่อาศัยและธุรกิจที่ร่ำรวยล้อมรอบชุมชนดั้งเดิมหลายแห่งในกรุงเทพฯ เช่น ชุมชนย่านเกาะรัตนโกสินทร์ ทำให้เกิดภาวะค่าครองชีพสูงขึ้น การลบเลือนวัฒนธรรม ไปจนถึงการไล่รื้อที่อยู่อาศัย ที่ยิ่งสร้างกำแพงชนชั้นทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมให้สูงขึ้นในเมืองหลวง ในฐานะ ผู้ว่าฯ กทม. จะแก้ไขอย่างไร
  • จากเศรษฐกิจที่ซบเซาและการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้เด็กจบใหม่และผู้ว่างงานได้รับผลกระทบมาก แม้ กทม. จะมีศูนย์ฝึกวิชาชีพ แต่ก็ไม่ช่วยให้ประกอบอาชีพได้จริง ผู้ว่าฯ กทม. จะกระตุ้นอัตราการจ้างงานช่วงหลังโควิดเพื่อไม่ทิ้งให้ขาดรายได้ได้อย่างไร
  • นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่เข้ามาศึกษาในกรุงเทพฯ มักเจอปัญหาค่าที่พักใกล้สถานศึกษาราคาสูงเกินไป ซึ่งหอพักสถานศึกษาก็มีอยู่ไม่เพียงพอสำหรับทุกคน ผู้ว่าฯ กทม. จะสามารถช่วยเหลือประชากรแฝงนี้ที่มีอยู่ทุกปีโดยไม่ทิ้งไว้ข้างหลังได้อย่างไรบ้าง
  • ปัญหาฝุ่น PM2.5 ท่านสามารถรับปากได้ไหมว่าฤดูหนาวแรกในวาระการดำรงตำแหน่ง ฝุ่นจะลดลงหรือหายไป และผู้ว่าฯ จะมีบทบาทอย่างไรเพื่อรักษาสิทธิในการหายใจ
  • ธุรกิจกลางคืนมีสัดส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจ แต่กลับถูกทิ้งด้วยกฎหมายและระบบราชการ ผู้ว่าฯ กทม. จะมีบทบาทอย่างไรในการบริการจัดการพื้นที่ท่องเที่ยวกลางคืน ตลอดจนผู้ประกอบอาชีพกลางคืน เช่น เจ้าของสถานประกอบการ นักดนตรีกลางคืน และพนักงานบริการ ที่ล้วนได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงโควิด และยังขาดการช่วยเหลือจากสนับสนุนจากภาครัฐอย่างที่ถูกทิ้งตลอดมา

 

‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ หมายเลข 1 สังกัดพรรคก้าวไกล  

เริ่มพูดถึงประเด็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการชุมนุมว่า อนาคตต้องมีการจัดเตรียมสุขา กล้องวงจรปิด ทำให้ทุกพื้นที่เป็นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน และต้องมีความยุติธรรม 

 

ในส่วนของเจ้าหน้าที่ก็ต้องดูแลอย่างเป็นกลาง ไม่ทำร้ายประชาชน ในส่วนของ พ.ร.บ.ความสะอาด ต้องบังคับใช้กับทุกคนอย่างไม่เลือกปฏิบัติ และตั้งคำถามไปถึงการกระทำที่ผ่านมาว่า เกิดกรณีดำเนินคดีกับคนนำกระดาษไปติดตามที่ต่างๆ แต่คนที่ตั้งรั้วลวดหนาม หรือนำตู้คอนเทนเนอร์มาวาง กลับไม่ดำเนินคดีเหมือนกัน 

 

วิโรจน์ยังพูดถึงคำสั่งการหยุดเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสในครั้งที่มีการชุมนุมว่า จะมีคำสั่งแบบนี้เพื่ออะไร จะลิดรอนสิทธิเดินทางประชาชนไปทำไม หากเกิดอันตรายกับผู้ชุมนุมจะทำอย่างไร หรือต้องให้เกิดเหตุการณ์เหมือนที่วัดปทุมวนาราม ที่มีคนนำปืนขึ้นไปเพื่อส่องยิงคน 

 

ส่วนประเด็นผู้สูงอายุ วิโรจน์ย้ำว่าต้องมีนโยบายเร่งด่วน เน้นฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ และต้องมีสถานที่ไว้ฟื้นฟูร่างกายให้ผู้สูงอายุอย่างทั่วถึง ซึ่ง กทม. มีหน้าที่ต้องดูแลในส่วนนี้ ปัญหาของคนรุ่นใหม่ กับเมืองที่เห็นแก่ตัว บีบคนให้ออกไปอยู่ต่างจังหวัด วิโรจน์ระบุว่า เรามีห้างใจกลางเมือง แต่เราไม่มีตลาดค้าขายเพื่อให้คนทำมาหากิน มีภัตตาคารระดับมิชลิน แต่ไม่มีศูนย์อาหารราคาย่อมเยาสำหรับประชาชน ปัญหาเหล่านี้เกิดจากการจัดสรรหรือกติกาที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงการเก็บค่าธรรมเนียมที่ควรจะเป็น 

 

ทั้งนี้ วิโรจน์กล่าวต่อว่าต้องมีการแยกประเภทคนไร้บ้านว่าจะมีคนไร้บ้านหน้าใหม่ ต้องมีงานให้เขาทำร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, คนไร้บ้านสมัครใจ ต้องให้สิทธิต่างๆ ตามฐานะประชาชน, คนไร้บ้านที่ป่วย ต้องมีที่รักษาเยียวยาให้พวกเขา

 

‘สกลธี ภัททิยกุล’ หมายเลข 3 สังกัดอิสระ

กล่าวว่า ธีมงานวันนี้ที่ระบุว่าไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตรงกับนโยบายที่ได้เคยแถลงไว้ในวันเปิดตัวการลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา สำหรับนโยบายของตนที่นำเสนอจะเกี่ยวข้องกับประชาชนในทุกกลุ่ม แต่การที่จะเริ่มทำโครงการหรือนโยบายได้ต้องเริ่มจากการมีงบประมาณก่อน

 

ตนจะเป็นผู้ที่หางบมาให้ได้และทำให้มีเงินพอใช้ นี่ถือเป็นเรื่องที่แตกต่าง เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีผู้ว่าฯ กทม. คนไหนหาเงินได้มาก่อน ส่วนตัวเห็นปัญหาเรื่องงบประมาณในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด งบประมาณที่ต้องรอจากภาครัฐเพื่อนำมาจัดสรรแก้ปัญหาเกิดความล่าช้าอย่างมาก 

 

โดยนโยบายที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณสุขการแพทย์และอนามัย หัวใจที่สำคัญคือการกระจายอำนาจลงไปตามจุดต่างๆ การบริหารงานที่ผ่านมาเหมือนการรวมทุกอย่างไว้ศูนย์กลางมากเกินไป จากนี้ต้องบริหารงบประมาณให้ไปถึงระบบการแพทย์ที่มีศูนย์สาธารณสุข 69 ศูนย์กระจายไปตามชุมชนต่างๆ 

 

สกลธีระบุว่า นโยบายของตนคือการติดอาวุธ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากร งบประมาณ เทคโนโลยี ทุกอย่างต้องทำให้ศูนย์สาธารณสุข แบ่งเบาภาระโรงพยาบาลของกรุงเทพฯ ทั้ง 11 ที่ได้ และเมื่อเปรียบเทียบกับเขต 50 เขตแล้ว จำเป็นที่จะต้องมีศูนย์บริการสาธารณสุขเพิ่มขึ้น เพื่อกระจายความช่วยเหลือได้ทันท่วงที ต้องปรับงบประมาณของกรุงเทพฯ ให้ยืดหยุ่น ถ้าอยู่ในภาวะวิกฤต การจัดซื้อยา กระบวนการต้องไม่ใช้เวลานาน ต้องมีแนวทางที่ภาวะฉุกเฉินตอบสนองประชาชนให้เร็วที่สุด รวมไปถึงการรวบรวมอาสาที่ออกมาทำงานในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา มองว่าจากนี้ต้องเอาทุกหน่วยมาทำในระบบให้หมดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

 

ส่วนเรื่องเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ แม้อำนาจหน้าที่ผู้ว่าฯ กทม. อาจจะไม่ได้มีหน้าที่ดูแลเรื่องปากท้องของชาวบ้านโดยตรง แต่มองว่าจำเป็นที่ผู้ว่าฯ กทม. ต้องใช้ทุกอย่างที่มีเพื่อช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ ส่วนที่คิดว่าจะช่วยได้คือ อย่างแรกต้องหาเงินให้พวกเขาก่อน ซึ่งเงินนี้มีอยู่แล้ว โดยอยู่ในข้อบัญญัติระเบียบของ กทม. สามารถจ่ายได้ หรือ กทม. เป็นตัวแทนประสานงานกับหน่วยงานที่จะให้สินเชื่อกับผู้ที่ต้องการเงินทุน รวมไปถึงโรงเรียนฝึกอาชีพที่จะเพิ่มอาชีพเพิ่มรายได้อีกทาง

 

ส่วนการค้าขายบนทางเท้าที่กลายเป็นปัญหา มองว่าหากบริเวณนั้นไม่ได้กระทบ หรือเป็นปัญหากับผู้ใช้ทางเท้ามากไป ก็สามารถยืดหยุ่นให้เป็นพื้นที่ซื้อขายได้ ส่วนทางแก้ในระยะยาว นโยบายของตนจะจัดการพื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ นำมาใช้

 

ทั้งนี้ การใช้พื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็นชุมนุม มองว่าต้องทำได้อย่างเสรีภาพภายใต้กฎหมายที่ผ่านการอนุญาต โดยสกลธีระบุว่า เข้าใจเป็นอย่างดีถึงการที่ประชาชนออกมาเรียกร้อง เพราะอย่างที่หลายคนรู้ว่าตนก็เคยผ่านการทำหน้าที่ในการออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพเช่นกัน ซึ่งขณะนั้นการแสดงสิทธิเสรีภาพที่ทำเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และทำให้ต้องต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมมา 7-8 ปี 

 

ส่วนเรื่องของบุคคลเร่ร่อน การจัดการต้องเริ่มตั้งแต่การประสานงานระหว่างหน่วยงานของ กทม. และตำรวจที่จะต้องแบ่งแยกประเภทของผู้ที่พบเจอก่อน แต่เรื่องนี้ก็ยอมรับว่า หลายคนที่พบเจอไม่ต้องการย้ายไปอยู่ในสถานที่ที่หน่วยงานจัดไว้ให้ ฉะนั้นต้องใช้วิธีการแก้ไขในการให้เงิน ให้อาชีพ ให้ที่ทำกิน

 

‘สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์’ หมายเลข 4 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ 

ยอมรับว่าจากการลงพื้นที่ทำให้เห็นว่าคนกรุงเทพฯ มีสวัสดิการที่ไม่เท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดคือ ต้องทำให้กรุงเทพฯ เป็นสวัสดิการที่ทันสมัย เท่าเทียม และเป็นต้นแบบของอาเซียน ต้องทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงระบบการบริการที่ไม่ใช่แค่ฟรี ไม่ใช่แค่ถูก แต่ต้องมีคุณภาพ

 

เรื่องสิทธิพื้นฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยต้องเป็นหน้าที่ของ กทม. เช่น กล้องวงจรปิดที่ไม่เคยใช้ได้ต้องใช้ได้ และเพิ่มเติมกล้องระบบ CCTV แบบ WiFi เพื่อให้ประชาชนสามารถช่วยเป็นหูเป็นตาได้ ซึ่งถ้ามีการชุมนุมเกิดขึ้น การชุมนุมนั้นก็จะปลอดภัยไปในตัว

 

ส่วนเรื่องของคนไร้บ้าน มองว่าต้องเริ่มต้นที่คิดว่าคนในเมืองต้องได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกัน ถ้าสามารถส่งให้เขากลับบ้านให้มีความอบอุ่นได้ นั่นคือสิ่งที่ต้องทำ ในช่วงนี้จะเห็นว่าคนไม่มีบ้านมีอยู่จริงใน กทม. สาเหตุมาจากไม่มีบ้านอยู่ก่อนแล้ว หรือตกงาน ทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่ กทม. ต้องดูแล ต้องมีที่พักพิงชั่วคราว และอาจเพิ่มไปถึงเรื่องฝึกอาชีพ ต้องหางานให้พวกเขาได้

 

สุชัชวีร์กล่าวต่อว่า นอกจากการดูแลเรื่องสุขภาพทางกาย โครงการมีหมอ 3 วันต่อสัปดาห์ที่ดูแลโรคเฉพาะผู้สูงอายุแล้ว ยังต้องดูแลเรื่องสุขภาพจิต และสำหรับเรื่องการหางานของกลุ่มเด็กที่จบปริญญาตรี ตนมองว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญที่สุดที่กทม. จะต้องตีโจทย์ให้ได้ ต่อไปนี้คนที่ผ่านศูนย์ฝึกอาชีพหรือกำลังหางานจะต้องสามารถทำงานได้จริง ส่วนตัวตั้งใจจะทำศูนย์หาอาชีพของกรุงเทพฯ ให้เป็นศูนย์กลาง เพราะมองว่าเรื่องนี้เป็นบริการขั้นพื้นฐานที่ทั่วโลกพัฒนาแล้วมี

 

‘รสนา โตสิตระกูล’ หมายเลข 7 สังกัดอิสระ

ระบุว่าสิ่งสำคัญขณะนี้คือเจตจำนงสำคัญของ กทม. คือ ต้องหยุดโกง กรุงเทพฯ เปลี่ยนแน่ ซึ่งถ้าหยุดโกงได้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับ กทม. ได้ เพราะรายละเอียดต่างๆ ย่อมเปลี่ยนแปลงได้อยู่แล้ว 

 

รสนามองว่า กทม. ควรจะตอบรับ ประกาศกลวิธีในการหยุดโกง เพื่อแสดงเจตจำนงว่าจะบริหารงานด้วยธรรมาภิบาลได้อย่างไร ซึ่งตนเองขอประกาศว่า ถ้ามีโอกาสเป็นผู้ว่าฯ กทม .จะนำเอาเครื่องมือระบบ AI มาใช้ ซึ่งเป็นกระบวนการฐานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะโครงการใหญ่ๆ ส่วนใหญ่มักมีเงินทอน ดังนั้นการนำระบบ AI มาตรวจสอบเก็บข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง หากนำมาใช้ก็จะตรวจสอบได้

 

เชื่อว่าถ้าประกาศเจตจำนงแล้วทุกคนจะบริหารงานอย่างโปร่งใส และถ้าทำงานอย่างโปร่งใสแล้วก็จะมีงบประมาณมากมายที่จะสามารถนำไปใช้ในสวัสดิการด้านอื่นๆ ทั้งนี้ยังมองว่าหากมีการประมูลใดๆ ใน กทม. ก็ควรจะเปิดให้มีคนเข้ามาดูแลสังเกตการณ์ด้วย และหาก กทม. มีเจตจำนงในการบริหารงาน เปิดการมีส่วนร่วม จะแก้ปัญหาต่างๆ ใน กทม. ได้ ทั้งเรื่องคนเร่ร่อน คนป่วย คนติดเตียง ที่เป็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน 

 

อย่างไรก็ตาม รสนายังมองอีกว่า ที่ผ่านมาการตรวจสอบเป็นเหมือนเขาวงกต ไม่สามารถตรวจสอบและแก้ปัญหาได้ จึงมองว่าธรรมาภิบาลเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด

 

‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ หมายเลข 8 สังกัดอิสระ

กล่าวว่า คำว่าสิทธิมนุษยชนตรงกับวิสัยทัศน์ของตนเองที่ว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มเปราะบาง คนแก่ เด็ก ตนจะเน้นที่โครงการระดับเส้นเลือดฝอย เพราะที่ผ่านมามีเมกะโปรเจ็กต์กรุงเทพฯ พอสมควรแล้ว แต่ยังขาดเส้นเลือดฝอยการเข้าถึงคนตัวเล็กตัวน้อย

 

ชัชชาติบอกถึงเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ดังนั้น กทม. ต้องอำนวยความสะดวกเต็มที่ ทั้งการเก็บขยะ ห้องน้ำ น้ำดื่ม แพทย์ฉุกเฉิน กล้องวงจรปิด เพื่อดูแลประชาชน ซึ่งจะปฏิเสธไม่ได้แม้จะมีความคิดเห็นต่างจากรัฐบาลอย่างไรก็ตาม และมองว่าการเตรียมพื้นที่ของ กทม. ให้เป็นพื้นที่ชุมนุมได้ เช่น บริเวณลานคนเมือง และพื้นที่สาธารณะในทุกเขต ซึ่งจะต้องทำให้เกิดเป็นวัฒนธรรมที่มาพูดคุยกัน แล้วทำให้ข้างๆ เป็นตลาดนัด สร้างเศรษฐกิจในเมืองด้วย

 

ส่วนเรื่องปัญหาโควิดนั้น มองว่าหลังโควิด ระบบสาธารณสุขใน กทม. ต้องไม่เหมือนเดิม เพราะที่ผ่านมาไม่มีระบบในการบริหารจัดการ ไม่ทั่วถึง และไม่ฟังประชาชน ซึ่งหัวใจของสาธารณสุขหลังโควิดนั้น กทม. จะต้องเน้นศูนย์สาธารณสุขใกล้บ้าน 69 แห่งให้มีคุณภาพ และเชื่อมโยงหมอผ่านระบบแพทย์ทางไกล ลงไปตรวจใกล้บ้าน และต้องหารือกับ สปสช. เพิ่ม อสส. ในพื้นที่เพื่อมาดูแลประชาชน

 

ประเด็นเรื่องคนไร้บ้าน ปัจจุบันมีเพิ่มขึ้นมาก มีทั้งคนไร้บ้าน คนเร่ร่อน ผู้ป่วยจิตเวช คนขายบริการ และ 6 เดือนที่ผ่านมา อัตราคนไร้บ้านเพิ่มขึ้น 6,000-7,000 คน จึงมองว่าไร้บ้านแต่ต้องไม่ไร้สิทธิ ไร้โอกาส ดังนั้น กทม. ก็จะต้องลงทะเบียนร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ได้สวัสดิการพื้นฐาน และจะต้องเปิดที่อยู่อาศัยทำเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราวให้กับคนไร้บ้าน โดยใช้พื้นที่ตามใต้ทางด่วน และมีหน่วยเคลื่อนที่เร็วไปดูแลด้านจิตเวช เพื่อดูแลคนไร้บ้านตามท้องถนน 

 

ทั้งนี้ เรื่องของความเหลื่อมล้ำในเมืองที่มีการขายที่ต่างๆ ให้กับนายทุนนั้น มองว่าหัวใจสำคัญคือ อย่าปล่อยให้เมืองพังแล้วค่อยมากังวล แต่ต้องไปสร้างอัตลักษณ์ของเมือง มี 50 เขต ต้องไปดูอัตลักษณ์ของแต่ละเขต เพื่อไม่ให้นายทุนเข้ามากว้านซื้อ และจะต้องดูแลคนในเมืองตั้งแต่ตอนนี้ พัฒนาย่านต่างๆ ให้เกิดความเข้มแข็ง รวมถึงผังเมืองก็จะต้องแข็งแรง และย้ำว่า กทม. ต้องลดการคอร์รัปชัน ความไม่โปร่งใส ซึ่งยืนยันว่างบประมาณสามารถทำได้ เพราะหน้าที่ของ กทม. คือการดูแลเส้นเลือดฝอย และถ้ามีนโยบายชัดเจนก็ต้องทำตามนโยบายที่พูด ซึ่งที่ผ่านมาพูดชัดถึงการดูแลเส้นเลือดฝอย ไม่ได้พูดถึงเมกะโปรเจ็กต์

 

‘ศิธา ทิวารี’ หมายเลข 11 สังกัดพรรคไทยสร้างไทย

ยืนยันว่าจะทำในสิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม. ไม่เคยทำ ก่อนจะเริ่มเล่าว่าตนเองอยู่ใน กทม. มากว่า 50 ปี ยังไม่เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะได้รับการแก้ไข ไม่ว่าผู้ว่าสมัยไหนก็ทำกันแบบเดิม ศิธากล่าวว่า กรณีการจัดชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สามารถทำได้ ข้อบังคับต่างๆ ต้องให้ความยุติธรรมกับคนทุกคน รวมถึง กทม. ที่มีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ชุมนุมทุกคนด้วย

 

ส่วนปัญหาคนเร่ร่อนนั้น ส่วนนี้นอกจากการดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แล้ว กทม. ต้องดูแลควบคู่ด้วย ต้องช่วยบริการ จัดหาวิธี หากมีกรณีผู้ป่วยจิตเวช ต้องเร่งรักษาผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีการดูแลเรื่องที่พักของนักศึกษา และปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด ย้ำว่าต้องมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ และมองว่าสถานที่ราชการหรือโรงแรมสามารถเข้าไปขอความร่วมมือทำเป็นโรงพยาบาลสนามได้ด้วย ถ้าบริหารได้ดี จำนวนคนเสียชีวิตจะไม่เยอะขนาดนี้ สิ่งต่างๆ สะท้อนให้เห็นว่าหน่วยงานต่างๆ นั้น ประชาชนไม่เชื่อมั่น 

 

ส่วนหากอนาคตได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะสามารถทำงานเองได้มาก-น้อยแค่ไหน ศิธายกตัวอย่างการทำงานในอดีตให้ฟัง ก่อนย้ำว่าสิ่งใดที่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ ตนจะไม่ทำอย่างแน่นอน 

 

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามสังกัดอิสระ มาร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในประเด็นดังกล่าวเช่นเดียวกัน

 

‘วรัญชัย โชคชนะ’ หมายเลข 22 

กล่าวว่า มีนโยบายที่จะแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย โดยประสานงานกับการเคหะแห่งชาติ เรื่องสุขภาพจะประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข และกลับมาเปิดโรงเรียนให้นักเรียนได้เรียน การจัดการขยะมีความคิดที่จะทำโรงไฟฟ้าขยะให้ได้ 

 

‘พิศาล กิตติเยาวมาลย์’ หมายเลข 13 

กล่าวว่า นโยบายจะมุ่งสร้างระบบขนส่งสาธารณะให้วิ่งทุก 5 นาที สนับสนุนให้มีทางจักรยานที่ปลอดภัย และทางเท้าต้องปลอดภัย และอำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุและผู้พิการ รวมถึงการให้ความปลอดภัยบนท้องถนน สำหรับปัญหาคนไร้บ้าน จะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ และค่อยพัฒนาเป็นการจัดการพื้นที่ 

 

‘ภูมิพัฒน์ อัศวภูภินทร์’ หมายเลข 27 

กล่าวว่า สิทธิที่ประชาชนชาว กทม. ควรได้รับ ต้องเกิดจากสวัสดิการจากภาครัฐ เช่น สิทธิของคนพิการ จะต้องอำนวยความสะดวกทั้งเรื่องการเดินทาง และส่งเสริมให้ กทม. สร้างอาชีพให้คนพิการ ผลิตอุปกรณ์ของคนพิการที่มีคุณภาพ, สิทธิของเด็กพิเศษ (ออทิสติก) กทม. จะต้องสำรวจและทำแผนแม่บทให้ดำเนินการบริหารจัดการต่อไป 

 

‘กฤตชัย พยอมแย้ม’ หมายเลข 29 

กล่าวว่า ส่วนตัวใกล้ชิดปัญหาของประชาชน ใหม่ด้วยแนวคิดและเทคโนโลยี และมีนโยบายทำให้กรุงเทพฯ มีเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม ส่วนตัวเห็นว่าสิทธิมนุษยชนมีความสำคัญมาก แต่หน่วยงานรัฐไม่ให้ความสำคัญ ตนจะส่งเสริมให้มีพื้นที่ในการแสดงออก ทั้งนี้มีนโยบายเรื่องการส่งเสริมอาชีพให้กับคนไร้บ้านด้วย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising