วันนี้ (4 เมษายน) ถือว่าเป็นวันสุดท้ายของการสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) โดยวันสุดท้ายมีผู้สมัครปิดจบที่ 31 หมายเลข จากนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะตรวจสอบคุณสมบัติอีกครั้ง แต่ที่ยังเป็นประเด็นรายวันท่ามกลางบรรยากาศการหาเสียงก็คือ ‘ป้ายหาเสียง’ ของผู้สมัครรายต่างๆ ที่มีให้เห็นมาตั้งแต่ก่อนเปิดรับสมัคร
ประเด็นดราม่ามีตั้งแต่ขนาดของป้าย การติดตั้งป้ายที่กีดขวางทางเท้า บางส่วนล้ำลงไปบนผิวการจราจร ขณะที่บางส่วนพูดถึงการใช้วัสดุ หรือการลดจำนวนป้ายเพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวที่ถูกพูดถึงมากในช่วงแรกคือป้ายของ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ที่บดบังทัศนวิสัยการเดินเท้า ซึ่งในเวลาต่อมาได้แก้ไขแล้ว พร้อมกับประกาศให้ประชาชนที่พบเห็นการติดตั้งป้ายที่มีปัญหาให้แจ้งเข้ามาเพื่อให้ทีมงานแก้ไขโดยเร่งด่วน ขณะที่ป้ายของวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ออกแบบให้สั้นติดเหนือศีรษะ ด้านชัชชาติ สิทธิพันธ์ ประกาศลดจำนวนป้ายหาเสียง และใช้ขนาดป้ายที่ใกล้เคียงกับความกว้างของเสาไฟฟ้า หรือให้มีความกว้างที่จำกัดลงมากว่าที่กฎหมายกำหนด ส่วน น.ต. ศิธา ทิวารี ก็ออกแบบป้ายขนาดใกล้เคียงกับชัชชาติและทยอยติดตั้งในหลายพื้นที่เช่นกัน
เสียงวิจารณ์ของประชาชน รวมถึงตลอด 9 ปีที่ไม่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ทำให้คนรุ่นใหม่และสังคมคาดหวังความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในมิติใหม่ไปพร้อมกันด้วย นอกจากการมีโอกาสเลือกตั้งรอบใหม่ ท่าทีของผู้สมัครก็สะท้อนต่อเสียงวิจารณ์เหล่านั้นด้วย ต้องจับตาไปจนถึงวันกาบัตรว่าคน กทม. จะเลือกใครมาเป็นผู้ว่าฯ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองหลวงที่เต็มไปด้วยปัญหาแห่งนี้