×

ชัชชาติแจงทุกปม หลังถูกขุดเรื่องเก่าตั้งแต่เป็นวิศวกรยันรัฐมนตรี ชี้บางเรื่องอนุมัติในช่วงอภิสิทธิ์กับประยุทธ์ คนละยุคกับตอนตนเองนั่งตำแหน่ง

โดย THE STANDARD TEAM
19.05.2022
  • LOADING...
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

วันนี้ (19 พฤษภาคม) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) หมายเลข 8 อดีตผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์รายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ดำเนินรายการโดย ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ และ อมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ เผยแพร่ทางช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30

 

จากกรณีมีข้อกล่าวหาในช่วงใกล้วันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. โดยแบ่งเป็น 3 เรื่อง ประกอบด้วยการเซ็นอนุมัติสายการบิน รวมถึงการแก้แบบในสถานีกลางบางซื่อ สมัยเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และกรณีการประเมินมูลค่าโครงการในสนามบินสุวรรณภูมิเอื้อเอกชนหรือไม่ รวมถึงกรณีวิเคราะห์ความเสียหายสำหรับการเยียวยาผู้ประกอบการในสนามบินสุวรรณภูมิหลังม็อบพันธมิตร เมื่อปี 2551 ปิดสนามบิน 10 วัน สมัยชัชชาติเป็นวิศวกร

 

ผู้ดำเนินรายการถามถึงกรณี หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กถึงการเซ็นอนุมัติเปิดสายการบินเอกชน 40 สายการบิน ใน 1 ปี

 

ชัชชาติกล่าวว่า การอนุญาตสายการบินมี 2 ใบอนุญาต โดยใบแรกคือใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ (Air Operating License: AOL) เป็นใบอนุญาตเชิงพาณิชย์ และอีกใบคือใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certificate: AOC) เป็นใบอนุญาตเชิงความปลอดภัย

 

ใบอนุญาตใบแรก รัฐมนตรีเป็นผู้อนุมัติ สำหรับเงื่อนไขมีประกาศชัดเจนว่าเงื่อนไขเป็นอย่างไร ถ้าไม่มีอะไรเป็นข้อสงสัย รัฐมนตรีต้องเซ็นอนุมัติ ช่วงนั้นปี 2551-2562 Low Cost Airlines มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมาก แต่ที่อนุมัติ 40 ใบ ไม่ได้มีเฉพาะ Low Cost Airlines แต่รวมถึงเฮลิคอปเตอร์เช่าเหมาลำ ซึ่งมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจหลายอย่าง 

 

เมื่อได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีแล้ว เขาต้องไปขออนุญาตความปลอดภัยต่อที่กรม ไม่เกี่ยวกับรัฐมนตรี เป็นเรื่องเทคนิค เป็นงานประจำที่กรมไปตรวจ ซึ่งตอนนั้นจาก 40 ใบที่รัฐมนตรีอนุมัติพบว่า ออกใบอนุญาตผ่านมาตรฐานเรื่องความปลอดภัย AOC เพียง 10 กว่าใบที่บินได้ ซึ่งได้รับแจ้งมาทีหลัง มีคนไม่ผ่านเรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องเทคนิค 

 

ชัชชาติกล่าวด้วยว่า มีข้อสังเกตว่าถ้ารัฐมนตรีไม่อนุมัติใบแรก อาจจะเป็นประเด็นว่าจะไปเรียกอะไรจากเขาหรือเปล่า เพราะเขาทำตามมาตรฐานแล้ว นี่เป็นเรื่องความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เราไม่ดูว่าคนขอเป็นใคร แต่ดูว่าคุณสมบัติครบไหม แล้วก็มีการปรับระเบียบให้เคร่งขึ้น เช่น อายุเครื่องบินต้องน้อยลง จำนวนเครื่องบินมากขึ้น มีการประกันเรื่องผู้โดยสาร เรื่องตกค้าง ปรับระเบียบให้เข้มข้นขึ้น

 

ผู้ดำเนินรายการถามถึงข้อกล่าวหาข้อที่สอง มีการกล่าวหาว่าสนองตัณหาตัวเอง แก้เปลี่ยนแบบสถานีกลางบางซื่อทำให้สูญเปล่า 

 

ชัชชาติกล่าวว่า ถ้าไม่แก้ป่านนี้โดนด่าแล้ว เพราะสถานีกลางบางซื่อเป็นหัวใจการคมนาคมทางรถไฟ จะมีทั้งสายเหนือ อีสาน ใต้ ตะวันออก มาเชื่อมที่นี่หมด เป็นโอกาสเดียวในอีก 100 ปีข้างหน้าถ้าจะมี ซึ่งโครงการนี้อนุมัติตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ปี 2550 ตอนนั้นออกแบบเฉพาะรถไฟทางไกล เป็นรถไฟดีเซลเก่าๆ วิ่งทางไกล กับรถไฟฟ้าสีแดงชานเมือง แต่ไม่ได้มีการออกแบบเผื่อรถไฟความเร็วสูงเอาไว้ 

 

ส่วนที่ 1. รถไฟดีเซลเก่าๆ วิ่งทางไกล กับรถไฟสีแดงชานเมือง มีการออกแบบให้ใช้รางร่วมกัน ซึ่งปกติต้องแยกกันเป็น 4 ทาง แต่มีการออกแบบ 3 ทาง มีความอันตราย เพราะรถสีแดงวิ่งเร็ว ส่วนดีเซลเก่าวิ่งช้ากว่า จะทำให้เกิดคอขวด จึงให้ออกแบบใหม่ให้แยกกันเป็นอิสระอย่างละ 2 ทาง ไม่อันตราย

 

ส่วนที่ 2. กรณีไม่มีการออกแบบเผื่อรถไฟความเร็วสูงไว้ จึงให้การรถไฟแห่งประเทศไทยไปทบทวนแบบใหม่ให้สอดคล้องความต้องการในอนาคต รวมถึงรถไฟความเร็วสูงด้วย ตอนนั้นมีโครงการรถไฟความเร็วสูงจากทั่วประเทศ ดำเนินการทบทวนตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2555 แต่พอธันวาคม 2556 หยุดปฏิบัติการเพราะยุบสภาแล้วก็มีรัฐประหาร เขาก็ดำเนินการแก้แบบแต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ 

 

พอถึงรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา (หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557) ปลายปี 2557 ไปลงนามกับจีนเรื่องรถไฟความเร็วสูง แล้วมาอนุมัติการปรับแบบ มูลค่าเพิ่ม 9 พันล้านบาท ในช่วงรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ เดือนกุมภาพันธ์ 2558

 

ตอนนี้ชั้น 3 ทำไมว่าง ก็เพราะไว้สำหรับรถไฟความเร็วสูงกับแอร์พอร์ต เรล ลิงก์จากสนามบินที่กำลังจะมา ถ้าไม่มีพื้นที่เผื่อไว้ไม่ได้ แล้วเป็นการอนุมัติโดยที่ไม่ใช่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ด้วย

 

“สิ่งสำคัญคือ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ ก็อยู่ตั้งแต่สมัยเราเป็นรัฐบาล ท่านเป็นเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ท่านเห็นโครงการนี้ ท่านเป็นรัฐมนตรีคมนาคมก็เห็นความจำเป็นของโครงการนี้ เห็นความเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นไม่ใช่เรื่องสนองตัณหาของตนเอง ถ้าไม่แก้แบบ ถ้าไม่ทำไว้ ป่านนี้ก็คงโดนด่า” ชัชชาติกล่าว

 

ผู้ดำเนินรายการถามถึงข้อกล่าวหาสมัยเป็นวิศวกรที่ปรึกษาโครงการในสนามบินสุวรรณภูมิ ประเมินมูลค่าดิวตี้ฟรีเอื้อประโยชน์คิง เพาเวอร์หรือไม่

 

ชัชชาติกล่าวว่า เรื่องนี้ 18 ปีผ่านมาแล้ว ตอนกลับมาจากเมืองนอกใหม่ๆ ทำงานที่สถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิศวกรในโครงการ ช่วยดูด้านวิศวกรโยธา ส่วนเรื่องการประเมินมูลค่าไม่ได้ทำตรงนี้ ซึ่งเขามีกลุ่มหัวหน้าโครงการอยู่ 

 

พอเกิดรัฐประหาร 2549 แล้วมีการสอบสวนอย่างหนักในเรื่องนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็เข้ามาตรวจสอบ แต่ไม่มีอะไรเกี่ยวกับเรา เขาก็ดูแล้วเราไม่ได้เกี่ยว เพราะไม่ได้ทำเรื่องประเมินมูลค่า สุดท้าย ป.ป.ช. บอกว่าไม่มีมูล ก็ยุติเรื่องไปปี 2554 ตอนหลังรัฐประหารปี 2549 มีการตรวจสอบละเอียด แต่ตนเองทำงานด้านโยธาไม่เกี่ยวกับการประเมินมูลค่า 

 

ผู้ดำเนินรายการถามว่า ทำไม ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ฟันธงว่าชัชชาติมีส่วนร่วมให้ความเห็นเรื่องประเมินมูลค่าโครงการ 

 

ชัชชาติกล่าวว่า ถ้ามีหลักฐานชัดเจน ป.ป.ช. คงไม่ปล่อยไว้ เพราะมีการตรวจละเอียด

 

ผู้ดำเนินรายการถามถึงกรณีเยียวยาผู้ประกอบการในสนามบินสุวรรณภูมิหลังม็อบพันธมิตรเมื่อปี 2551 ปิดสนามบิน 10 วัน โดยเยียวยาผู้ประกอบการ 365 วัน รัฐเสียประโยชน์หรือไม่ ชี้แจงอย่างไร

 

ชัชชาติกล่าวว่า การอนุมัติเยียวยาน่าจะเป็นปี 2552 อนุมัติโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สนามบินสุวรรณภูมิมีกิจการหลายอย่างไม่เฉพาะดิวตี้ฟรี มีโครงการที่ผ่านพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 หรือ พ.ร.บ.ร่วมทุน

 

พอมีม็อบการเมือง การท่าอากาศยานออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในสุวรรณภูมิทั้งหมด แต่โครงการที่ผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุน จะต้องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อน จึงจะได้รับการช่วยเหลือได้ เพราะเขามีการดูแลที่เข้มข้นกว่าโครงการปกติในสุวรรณภูมิ ซึ่งตนเองเป็นที่ปรึกษาโครงการนี้อยู่ เมื่อมีมาตรการช่วยเหลือเราต้องวิเคราะห์ว่าความเสียหายเป็นอย่างไร และเนื่องจากโครงการเหล่านี้คิดมูลค่าขั้นต่ำต่อปี เราจึงต้องคิดว่า 1 ปี มีความเสียหายเท่าไร จากเหตุการณ์ 1 เหตุการณ์ ต้องคำนวณ 1 ปี เพราะมูลค่าผลตอบแทนเป็น 1 ปี จากนั้นก็สรุป มีหลักฐานชัดเจน แล้วให้กรรมการอิสระดู เข้ากระทรวงคมนาคม เข้า ครม. มีความโปร่งใสตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน เข้า ครม. ปี 2552 น่าจะเป็นสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพราะถ้ารอสมัยตนเองเป็นรัฐมนตรี ผู้ประกอบการคงตายไปแล้ว ยืนยันความโปร่งใสขนาดทุกคนเห็นข้อมูลหมดไม่มีการปิดบัง

 

ผู้ดำเนินรายการถามว่า ก่อนเลือกตั้งอีกไม่กี่วันจะถูกเปิดประเด็นอะไรออกมาอีกหรือไม่

 

ชัชชาติกล่าวว่า เรื่องที่มีมาตลอด ความเป็นอิสระ บันไดสามขั้น ซึ่งขอยืนยันความเป็นอิสระและมีทีมงานที่เป็นอิสระจริงๆ มั่นใจว่ามาถูกทาง มีความสุข

 

ผู้ดำเนินรายการถามว่า ถ้ามีใครมาโหนกระแสจะมาขอเดินตามเกาะด้วย ห้ามไม่ได้ใช่หรือไม่

 

ชัชชาติกล่าวว่า ห้ามไม่ได้ แต่เลือกได้ว่าจะร่วมงานกับใคร

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising