×

ชัชชาติลุยน้ำท่วมเขตบางเขน ชี้ กทม. ต้องเร่งป้องกันน้ำท่วมทั้งระบบ เสนอลงโทษผู้รับเหมาทิ้งงานสร้างเขื่อน เพิ่มงบแก้น้ำท่วมซ้ำซากตรอกซอยย่อย

โดย THE STANDARD TEAM
18.05.2022
  • LOADING...
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

วันนี้ (18 พฤษภาคม) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) หมายเลข 8 ลุยน้ำท่วมชุมชนริมคลองบางบัว และชุมชนในซอยพหลโยธิน 46 เขตบางเขน หนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักทั่ว กทม. เมื่อคืนวานนี้ (17 พฤษภาคม) และพบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากมาโดยตลอด พร้อมสำรวจพื้นที่ริมคลองบางบัว หรือคลองลาดพร้าว พบปัญหาน้ำเอ่อล้นตลิ่งท่วมขังบ้านเรือนประชาชน ระดับความสูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร พร้อมพูดคุยเรื่องผลกระทบที่คนในชุมชนเผชิญ 

 

ชัชชาติได้เสนอให้ กทม. เร่งหาทางป้องกันน้ำท่วมทั้งระบบโดยเร่งด่วน ตั้งแต่ระบบคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน ลดจุดเสี่ยงน้ำท่วม ขุดลอกและทำความสะอาดท่าระบายน้ำ พร้อมก่อสร้างคันกั้นน้ำให้แล้วเสร็จ เพื่อเพิ่มศักยภาพการไหลของน้ำสู่อุโมงค์ยักษ์ รวมทั้งลงโทษผู้รับเหมาทิ้งงานจนโครงการเขื่อนริมคลองบางจุดชะงัก 

 

“จริงๆ แล้ว กทม. มีโครงการก่อสร้างเขื่อน แต่พอดำเนินการไปสักระยะก็หยุดชะงัก เราต้องเอาจริงเอาจังกับผู้รับเหมาที่ทิ้งงาน ต้องขึ้นบัญชีดำหรือไม่ต้องมาดูกันอีกที หรือต้องปรับอย่างไร แต่ที่แน่ๆ คือเราต้องเอาจริงเอาจริงและเร่งก่อสร้างเขื่อนให้เสร็จโดยเร็ว” ชัชชาติกล่าว 

 

นอกจากนี้ชัชชาติเสนอว่า กทม. ต้องทบทวนการใช้งบประมาณลงทุนโครงการใหญ่ แล้วจัดสรรงบมาแก้ไขปัญหาพื้นที่ตรอกซอยที่น้ำท่วมซ้ำซาก เพื่อให้การใช้งบประมาณจากภาษีประชาชนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างยั่งยืนและเป็นระบบ ทั้งนี้จากสถิติพบว่าในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา กทม. ลงทุนงบประมาณด้านการป้องกันน้ำท่วมและระบบบริหารจัดการน้ำเป็นจำนวนเงินสูงกว่า 7 หมื่นล้านบาท

 

ชัชชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ฝนที่ตกหนักในพื้นที่ กทม. ตลอดคืนที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายพื้นที่เกิดน้ำท่วมรุนแรงกว่าที่คาด แต่จริงๆ แล้ว กทม. สามารถร่วมมือกับกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนล่วงหน้าได้ สำหรับเตรียมแผนจัดการสถานการณ์และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ขณะเดียวกันต้องเตรียมพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติสำหรับรับน้ำฝน เช่น บ่อน้ำในสวนสาธารณะ และสถานที่ราชการ ปัจจุบัน กทม. มีพื้นที่แก้มลิงที่สามารถรับน้ำได้ประมาณ 13 ล้านลูกบาศก์เมตร เสนอให้เพิ่มเติมอีกประมาณ 6-7 ลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้เพื่อเป็นพื้นที่พร่องน้ำล่วงหน้าก่อนเกิดฝนตกหนัก ตลอดจนต้องขุดลอกคูคลองอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่เฉพาะในช่วงหน้าฝนเท่านั้น

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising