วันนี้ (10 พฤษภาคม) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) หมายเลข 8 ลงพื้นที่เขตดอนเมืองและเขตหลักสี่ สำรวจปัญหาน้ำท่วมขัง จากกรณีฝนตกหนักในพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่คืนวานนี้ (9 พฤษภาคม) ทำให้พบปริมาณน้ำฝนสูงสุดในพื้นที่เขตหลักสี่ 73.5 มิลลิเมตร มากกว่าประสิทธิภาพการระบายน้ำของ กทม. ทั้งระบบเพียงเล็กน้อย ซึ่งมีประสิทธิภาพการระบายเฉลี่ยที่ 60 มิลลิเมตรเท่านั้น
โดยชัชชาติเริ่มสำรวจจากถนนช่างอากาศอุทิศ หมู่บ้านศิริสุข และซอยปิ่นเงิน พบว่าถนนช่างอากาศอุทิศ เขตดอนเมือง มีน้ำท่วมขังเป็นระยะตลอดแนว โดยพื้นที่ที่เป็นแอ่งกระทะที่มีปริมาณน้ำท่วมสูงสุดอยู่ระหว่างซอยช่างอากาศอุทิศ 12-16 ความสูงของระดับน้ำประมาณ 20 เซนติเมตรจากพื้นผิวถนน
ชัชชาติกล่าวว่า การแก้ปัญหาน้ำท่วมในภาพใหญ่ของ กทม. มีทิศทางที่ดีขึ้น ภายหลังก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ อย่างไรก็ตาม ยังพบปัญหาน้ำท่วมตามตรอกซอยย่อย กระทบต่อประชาชนที่อาศัยในพื้นที่จำนวนมาก โดยหลายพื้นที่เป็นจุดที่พบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากจำเป็นต้องเร่งแก้ไขทันที
พร้อมกันนี้ ชัชชาติได้เสนอนโยบายตั้งเป้าหมายลอกทำความสะอาดท่อระบายน้ำให้ไม่น้อยกว่า 3,000 กิโลเมตรต่อปี เชื่อมโยงโครงข่ายในการระบายน้ำจากพื้นที่เส้นเลือดฝอย ตรอก ซอย ชุมชนต่างๆ ให้สามารถระบายไปสู่ระบบเส้นเลือดใหญ่อย่างอุโมงค์ระบายน้ำ รวมถึงทบทวนศึกษา เตรียมแผนรับมือ และจัดสรรงบประมาณเร่งรัดให้ดำเนินการแก้ไขจุดเสี่ยงน้ำท่วม 9 จุด และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมในถนนสายหลักอีกกว่า 48 จุด ซึ่งใช้งบประมาณไม่สูงมาก แต่สามารถแก้ไขปัญหาเส้นเลือดฝอย และสามารถทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
“ปัญหาน้ำท่วมเป็นปัญหาที่คนกรุงเทพฯ ต้องพบเจอ เป็นปัญหาแก้ไขไม่ได้ง่าย ต้องเริ่มแก้จากจุดที่มีน้ำท่วมซ้ำซ้อน สำหรับพื้นที่เขตดอนเมือง-หลักสี่ ต้องมีการลงทุนเรื่องท่อ ทำท่อใหม่ ติดตั้งปั๊มน้ำเพิ่ม ผลักดันน้ำลงคลองเปรมประชากร ต้องเอาจริงเอาจังทั้งระบบ เพราะชาวบ้านต้องเจอปัญหามาเป็นเวลานานกว่า 10 ปีแล้ว” ชัชชาติกล่าว
ชัชชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า ในระยะยาวต้องมีการปรับระดับความสูงถนนและซอยอีกหลายจุดใน กทม. พร้อมขยายขนาดท่อระบายน้ำให้สอดคล้องกับโครงสร้างพื้นฐานของเมืองที่ขยายขึ้น ตลอดจนเปิดพื้นที่ที่เป็นบ่อน้ำในสวนสาธารณะ และสถานที่ราชการให้เป็นแก้มลิงรับน้ำจากพื้นที่ท่วมขังชั่วคราว ก่อนจะผ่องถ่ายน้ำเข้าระบบระบายน้ำหลักของ กทม. ต่อไป เท่านี้ก็พอจะช่วยให้การระบายน้ำเร็วขึ้นกว่าเดิม
ทั้งนี้ หากประชาชนในพื้นที่ใดที่พบเจอปัญหาน้ำท่วมขังซ้ำซาก สามารถแจ้งเข้ามาทางทีมงานได้ทันที เพื่อนำปัญหาเหล่านั้นเข้าสู่ระบบนโยบายรายเขต บนเว็บไซต์ chadchart.com เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาโดยทันที