×

“มันง่ายมากที่จะบอกไม่ใช่หน้าที่ แต่เราต้องทำสิ่งที่ยากกว่า คือการประสานงาน” คือหัวใจของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

29.04.2022
  • LOADING...
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

HIGHLIGHTS

15 mins. read
  • การสัมภาษณ์นี้เกิดระหว่างการสมัครรับเลือกตั้ง ปัจจุบัน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ลงสมัครในนามอิสระ ได้หมายเลข 8
  • ใจความสำคัญของการสัมภาษณ์ได้ครอบคลุมในหลายประเด็น ตั้งแต่ตัวตน การตัดสินใจ คำถามค้างคาใจที่สังคมอยากรู้ รวมถึงนโยบาย
  • ชัชชาติอยู่ในสนามการเมืองระดับชาติ เขาเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก่อนขยับสู่การเสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารท้องถิ่นในเมืองหลวงแบบเต็มตัว ในฐานะผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. 

THE STANDARD NOW ดำเนินรายการโดย อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์ เผยแพร่ทาง Facebook และ YouTube ของ THE STANDARD วันที่ 19 เมษายน 2565 

 

สัมภาษณ์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย 

 

ล่าสุดลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) โดยเป็นผู้สมัครอิสระไม่สังกัดพรรคการเมือง

 

 

ช่วงนี้ลงพื้นที่หนักไหม

ลงพื้นที่ทุกวัน คะแนนเรายังขาดอยู่ 

 

โอ้โห นำมาทุกโพล

ไม่จริง อย่าไปเชื่อ โพลเนี่ยนะ มาทีไรเจ๊งทุกที บางคนโพลนำ แหกโค้งทุกที ผมว่าคะแนนชุมชนเรายังขาดเยอะ จะต้องลงพื้นที่ ถ้าในโซเชียลมีเดียอาจจะพอไปได้ แต่ผมว่ามีพี่น้องอีกกลุ่มที่อาจจะไม่มีเวลาเล่นโซเชียลมีเดีย อาจจะใช้สื่อปกติ ป้ายอะไรแบบนี้ ซึ่งมีเป็นหลายแสน จุดที่ยังขาดอยู่ก็ต้องลงพื้นที่ต่อเนื่อง พยายามลงพื้นที่ไปให้เขาเห็นหน้าเขาก็ชื่นใจแล้ว บางคนก็บอกไม่เคยเห็นหน้าเลย แล้วกรุงเทพฯ ก็กว้างมากเลยนะ 1,600 ตารางกิโลเมตร มีตั้ง 2,000 ชุมชน ก็ต้องพยายามแล้วลงอิสระ ไม่ได้มี ส.ก. เดินให้เรา ช่วงนี้ก็ต้องพยายามลงพื้นที่เยอะๆ 

 

จริงๆ แล้วในวัยเด็กฝันว่าโตมาแล้วจะเป็นอะไร 

ผมมีฝาแฝดเป็นพี่ชาย แล้วก็มีพี่สาวอายุแก่กว่า 7 ปี พี่สาวเป็นคนเรียนเก่ง เรียนสถาปัตย์ ได้ไปเรียนต่อเมืองนอก เราก็มองพี่สาวเป็นไอดอล ไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยดี เราก็อยากจะไปเรียนอย่างนั้น แล้วพ่อเป็นข้าราชการตำรวจ แม่เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ท่านก็เน้นแต่เรื่องการเรียน ถ้าเรียนดีก็ให้รางวัล ซื้อของเล่นให้ มีสิ่งล่อใจ 

 

ตอนเด็กเป็นเด็กเรียน ขยัน แต่ตัวสูง ไปนั่งหลังห้อง พี่น้องฝาแฝดก็เหมือนแข่งกันเรียน เรียนดีทั้งคู่ ใช้เวลากับการเรียนเยอะ แต่ก็มีออกกำลังกายบ้าง มีระเบียบวินัยพอสมควร เพราะแม่เป็นคนมีวินัยมาก ดูหนังสือเสร็จ เย็นออกกำลังกาย วิ่งเล่น มีตารางดูหนังสือ ค่อนข้างเป็นระเบียบ  

 

ความฝันในช่วงมัธยมปลาย คืออยากจะเป็นอาจารย์ ส่วนตอนเด็กไม่ได้คิดอะไรมาก อยากจะเรียนให้ดี

 

ตอนแรกพ่อแม่อยากจะให้เรียนหมอทั้งคู่ แต่ผมไม่ชอบเลือด เห็นเลือดแล้วใจอ่อน สุดท้ายพี่ชายไปเรียนหมอ พี่ก็เสียสละไป ตอนแรกพี่ก็อยากเรียนวิศวะเหมือนกันนะ แต่ก็ดีจะได้มาดูแลพ่อแม่ตอนแก่ เราก็มาวิศวะ ก็อยากจะเป็นอาจารย์ เป็นข้าราชการ เคยฝันอยากจะเป็นอธิการบดีจุฬาฯ แต่ชีวิตก็มีพลิกผันนะ มีเรื่องหลายเรื่องเกิดขึ้นระหว่างทาง ชีวิตไม่ใช่ซิมโฟนีที่มีโน้ตให้เล่น ชีวิตคือแจ๊ส ต้องอิมโพรไวส์ ต้องด้นสด 

 

ได้เป็นอาจารย์อย่างที่ใจหวัง อาจจะไม่ได้เป็นอธิการบดี แต่ก็ได้เป็นอาจารย์อยู่ในวงการการศึกษา

ชีวิตผมจริงๆ แล้วมีสิ่งไม่คาดฝันเกิดขึ้นหลายเรื่อง พอเราเรียนจบ ได้รับพระราชทานทุนไปเรียนปริญญาโท ปริญญาเอก กลับมาบรรจุเป็นอาจารย์ก็โอเค ไปตาม Career

 

แต่ถึงจุดหนึ่งก็มีเรื่องพลิกผัน ตอนที่ลูกผมหูหนวก เพิ่งรู้ว่าเขาหูหนวกตอน 1 ขวบ ตอนนั้นหยุดทุกเรื่องไว้ก่อนเลย เราดูแลลูกก่อน ตอนนั้นกำลังไปได้ดีเรื่องการงาน เตรียมทำวิจัย พอรู้ว่าลูกหูหนวกก็ต้องหาทางรักษาลูกก่อน พาไปผ่าตัดที่ออสเตรเลีย สอบเอาทุนวิจัยที่จุฬาฯ ก็ต้องหยุด 1-2 ปี แล้วก็ทุ่มเทกับการฝึกลูกให้พูดได้

 

ชีวิตก็เลยผกผันไป แต่ไม่ได้เสียใจ ผมว่าเป็นเรื่องที่เราทำได้ดีที่สุดอย่างที่บอก ชีวิตมันเหมือนแจ๊ส เราไม่รู้หรอกว่าโน้ตตัวต่อไปจะเล่นอะไร บางทีมันก็ต้องด้นไปสดๆ เหมือนกัน จากนั้นก็เลยไปเรื่อย ไปนักการเมือง ไปนักธุรกิจ แล้วก็กลับมาเป็นแคนดิเดตผู้ว่าฯ อะไรแบบนี้ 

 

 

ความเข้าใจกลุ่มคนหูหนวก กลุ่มเปราะบาง  

ช่วงทุกข์ทรมานตอนรู้ว่าลูกหูหนวก เราก็ไปหาความช่วยเหลือทุกแห่งเลย แล้วความช่วยเหลือไม่ได้มีพอ สุดท้ายต้องหาให้ตัวเอง แล้วก็จะเจอผู้ปกครองของเด็กหูหนวกที่เป็นแบบเดียวกันเยอะ แต่เราโชคดีเพราะเราสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้ สามารถพาลูกไปผ่าตัดได้ มีคนอีกจำนวนมากเลยที่สุดท้ายไม่มีทางเลือก ต้องใช้ภาษามือ ต้องยอม 

 

เพราะฉะนั้นนี่เป็นจุดสำคัญ กลุ่มเปราะบางเหล่านี้ที่รัฐต้องเข้ามาช่วยเพราะว่าเขาไปด้วยตัวเองไม่ได้ อย่างคนปกติยังพอมีทางไปได้ถูกไหม ฉะนั้น ส่วนหนึ่งทำให้เราเข้าใจมากขึ้น ทำให้เรารู้สึกว่าเราอ่อนไหวกับเรื่องพวกนี้นะ ผมเชื่อว่าชีวิตทุกคนไม่ง่ายหรอก ลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรามีลูกที่เป็นเด็กพิเศษที่ต้องการดูแล ชีวิตยิ่งลำบากมากขึ้น ต้องช่วยดูแลคนกลุ่มนี้ด้วย

 

ถือว่าโลดโผนพอสมควร จากวันนั้นถึงวันนี้

พอได้ครับ คนละแบบ 

 

ชื่อเล่น คนไม่ค่อยเรียกกัน 

ผมชื่อทริป เรียกยากนิดหนึ่ง มาจากภาษาอังกฤษ Trip ตอนนั้นพ่อแม่ไปฮันนีมูนรอบสอง แล้วแม่ท้อง สมัยโน้นไม่มีอัลตราซาวด์ก็เลยนึกว่ามีลูกคนเดียว เขาเลยตั้งชื่อทัวร์ ตั้งไว้ชื่อเดียว พอออกมา 2 คน ก็เลยเป็นทัวร์กับทริป ก็แปลกดี บางทีคนฟังผิด เคยไปสหกรณ์เอกมัย แม่เรียกทัวร์กับทริป พนักงานได้ยินเป็น ไอ้ถั่ว กับ ไอ้พริก เขาเลยเรียกไอ้ถั่วกับไอ้พริก

 

ชื่อทริปเรียกยาก คนเลยไม่ค่อยเรียก ส่วนใหญ่เขาก็เรียกชัชชาติ อาจจะมีเพื่อนเตรียมฯ เพื่อนวิศวะเรียกทริป

 

มาเป็นนักการเมืองได้อย่างไร

สมัยก่อนมีรุ่นพี่วิศวะบางท่านไปเกี่ยวกับการเมือง เราก็ไปช่วยท่าน เป็นที่ปรึกษาอะไรแบบนี้ ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจะทำการเมือง ก็ไปช่วยดูเรื่องรายละเอียดเทคนิคต่างๆ แล้วก็ได้เป็นบอร์ดบ้าง ด้านเทคนิค จากนั้นทำอยู่ 2-3 ปี แล้วมีอยู่วันหนึ่งตอนนั้นรัฐบาลท่านยิ่งลักษณ์ ท่านก็โทรมา ขอให้ไปเป็นรัฐมนตรีช่วยคมนาคม 

 

ตอนนั้นคิดนานไหม 

ไม่มีเวลาคิดหรอก กำลังโทรศัพท์ จะไปบอกเดี๋ยวคิดก่อน มันไม่ได้ ก็แวบขึ้นมา เราเคยด่าคนอื่นไว้เยอะว่าทำการเมืองไม่เห็นได้เรื่องเลย ทีนี้ถ้าเกิดมีโอกาสมา ผมว่าก็น่าจะลองสักตั้งหนึ่ง ก็แค่แวบเดียว พลิกชีวิต ก็ไม่ได้ปฏิเสธอะไร 

 

ผมมองว่าชีวิตมันเหมือนการสะสมจุดนะ คือเราไม่สามารถสะสมจุดในอนาคตได้ มันคือจุดในอดีตที่เราจะเอามาต่อเป็นคำตอบปัจจุบัน ถามว่าทำไมผมกล้ารับนาทีนั้น เพราะผมมาเกี่ยวข้องกับคมนาคมหลายปี มาแบบไม่ได้ตั้งใจ มาอ่าน มาศึกษา โดยไม่ได้คิดอะไรตอบแทน

 

ฉะนั้น ชีวิตเรามันขึ้นอยู่กับเราสะสมจุดมามากน้อยแค่ไหน ถ้าชีวิตเราไม่เคยสะสมจุดนอกจากที่เราทำ มันจะไม่สามารถต่อคำตอบได้ เหมือนที่ สตีฟ จ็อบส์ พูดไว้ ต้องสะสมจุดในอดีต

 

เป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมเราชอบอ่านหนังสือ ทำไมเราชอบรู้เรื่องราวที่ไม่ได้เกี่ยวกับวิศวะ เพราะนั่นคือการสะสมจุด ถ้าเทียบกัน ตอนที่ผมเป็นอาจารย์ ผมก็ไปเรียน MBA เพราะเรารู้สึกเราไม่ค่อยมีความรู้เรื่องการเงิน ทั้งๆ ที่ไม่รู้อนาคตจะมีอะไร แล้วมาเรียนจบตอนเป็นรัฐมนตรี รับปริญญาตอนเป็นรัฐมนตรีช่วย แต่นี่คือการสะสมจุด เพราะตอนโดนปฏิวัติ ตกงานก็ไม่รู้จะทำอะไร ก็มีรุ่นพี่ชวนไปเป็นซีอีโอบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ถามว่านาทีนั้นถ้าเราไม่สะสมจุดที่เราเรียน MBA รู้เรื่องการบริหารองค์กร รู้เรื่องไฟแนนซ์ อ่านงบดุลได้ นาทีที่เราจะตัดสินใจเป็นซีอีโอเราคงไม่กล้าหรอก 

 

ฉะนั้น จริงๆ แล้วชีวิตอย่าไปคิดเลยว่าความรู้ที่เราได้ในวันนี้มันจะมีประโยชน์อะไร อนาคตสิ่งตรงนี้แหละมันจะเชื่อมเป็นจุด แล้วเป็นคำตอบให้เราได้

 

 

ฟังดูแล้ว ชีวิตมีสาระตลอดเวลา เวลาว่างมีเล่นเกม เตะบอล นอนอุดอู้เหมือนเด็กผู้ชายคนอื่นไหม

ดูหนัง ผมก็ชอบดูหนัง หาเสียงเหนื่อย มาดูข่าว แล้วก็เปิดไปดูหนัง ดู HBO อะไรแบบนี้ รีแล็กซ์ไปเรื่อย มีเล่นเกมบ้าง ตอนเด็กๆ ก็มีเล่นเกม ปกติก็เหมือนเด็กทั่วๆ ไป 

 

ผมเริ่มจากอ่านหนังสือ พล นิกร กิมหงวน ด้วยนะ คือตอนเด็กๆ แม่ผมชอบให้อ่านหนังสือไง ท่านบอกว่าอ่านอะไรก็ได้ จำได้เลย อ่านเป็นร้อยๆ เล่มเลยนะ ไปหัวหินทีก็ไปซื้อที่ตลาด แล้วก็อ่านการ์ตูน แต่ผมชอบอันหนึ่งที่เขาบอกว่า ให้อ่านในสิ่งที่คุณรัก จนกระทั่งคุณรักการอ่าน พล นิกร กิมหงวน ผมก็อ่าน ผมอ่าน ต่วย’ตูน สุดท้ายผมติดหนังสือ แล้วก็จะเริ่มอ่านหนังสือที่เป็นสาระมากขึ้น พอเราชิน พอเรารักการอ่าน เราก็อ่านอะไรได้เยอะ ถ้ามีลูกมีหลานที่อ่านการ์ตูน อย่าไปว่าเขานะ ผมว่านั่นคือจุดเริ่มต้นของการรักการอ่าน อ่านไปเลย ตามใจ อ่านในสิ่งที่คุณรัก แล้วเป็นเรื่องดี ช่วยเพิ่มจุดในชีวิต ถึงเวลาคุณต้องการคำตอบใหม่ของชีวิต คุณมีต้นทุนที่เอามาสร้างคำตอบได้

 

ทุกวันนี้ยังมีเวลาอ่านหนังสือไหม 

มีครับ อย่างน้อยต้องมีติดมือ ตอนนี้อ่านง่ายขึ้นเพราะมีอีบุ๊กไปงานหนังสือที่บางซื่อ ก็ได้มาหลายเล่ม หนังสือบางเล่มอ่านไป 2-3 หน้า เรารู้สึกว่าไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตก็วางทิ้ง แต่ไม่แน่อีก 3-4 ปี กลับมาอ่านใหม่มันอาจจะเกี่ยวข้องก็ได้ คือชีวิตเปลี่ยนไปไง ฉะนั้น หนังสือ ก็อย่าไปคิดว่าซื้อมาแล้วอ่านไม่สนุก ซื้อมาเถอะ ให้มีใกล้มือเอาไว้อ่าน 

 

จากรัฐมนตรีช่วย แล้วมาเป็นรัฐมนตรีว่าการคมนาคม แล้วบุรุษแข็งแกร่ง ฉายานี้มาอย่างไร 

นี่ตัวช่วยชีวิตเลย ตอนผมเป็นรัฐมนตรีช่วยคมนาคม ผมเข้ามาน่าจะเดือนกุมภาพันธ์ แล้วกลางปีมีการทำโพล มีรัฐมนตรีโลกลืม ผมเป็นอันดับ 1 คนไม่รู้จัก เพราะเราก็ทำงานเหมือนเดิม แต่ว่าเราสื่อสารไม่เป็น เราไม่มีวิธีสื่อสารกับเด็ก แล้วบังเอิญ มีมตัวนี้ออกมา มีคนถ่ายไปลงเฟซบุ๊ก แล้วมีคนตั้งฉายา ผมไม่ได้ตั้งนะ แล้วมันก็พลิกผันนะ ทำให้เรามีช่องทางในการสื่อสารกับเด็กรุ่นใหม่มากขึ้น 

 

ภาพถือถุงแกง วันนั้นเกิดอะไรขึ้น

วันนั้นไปประชุม ครม. ที่สุรินทร์ แล้วเช้าๆ ผมไปวิ่งออกกำลังกายก็ใส่บาตรก่อน หลักคือเราไปดูเมือง จังหวัดที่ดีคือจังหวัดที่มีสวนสาธารณะดี ฉะนั้น สุรินทร์เนี่ยดี มีที่วิ่ง วิ่งเสร็จแล้วก็ไปใส่บาตร แล้วตอนใส่บาตรหาพระไม่เจอ ก็เลยถือถุงไปหาพระหน้าวัด ใส่บาตรไม่ใส่รองเท้าอยู่แล้วไง แล้วก็มีคนถ่ายรูป มีคนโพสต์

 

จากวันนั้นก็ทำให้คนเหมือนกับมองเราเป็นตัวตลก ขำ แล้วก็เล่น 

 

โกรธไหม 

ไม่โกรธหรอก ผมว่าตลกดีไง แล้วเด็กครีเอทีฟมาก เราเห็นแต่ละรูป โอ้โห โคตรจะครีเอทีฟเลย ปรากฏว่ามันเป็นช่องทางในการสื่อสารอย่างนึกไม่ถึงเลย ทำให้เรามีวิธีสื่อสาร เป็นบทเรียนสำคัญเลยว่า การสื่อสารสำคัญ การทำงานต้องมีการสื่อสาร ทำอย่างไรทั้ง 2 ทาง จากนั้นมาพอเรามีช่องทางในการสื่อสาร มีเฟซบุ๊ก คนเริ่มมาดูมากขึ้น มันทำให้เราสื่อสารนโยบายต่างๆ ได้ดีขึ้น 

 

 

ผลงานที่หลายคนยังแชร์อยู่ ภาพแผนอนาคตไทย 2022 ที่มีรถไฟความเร็วสูง ย้อนกลับไปในวันนั้นมาจนถึงวันนี้ ยังมีภาพนั้นในความคิดไหม

จริงๆ แล้ว โครงการที่ผมทำ เป็นโครงการที่ต่อเนื่องกันมาหลายรัฐบาล เพราะโครงการคมนาคมไม่มีทางทำสำเร็จในคนเดียว วันนั้นที่เราทำโครงการ 2 ล้านล้าน เราคิดว่าโครงสร้างพื้นฐานเป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศ ยิ่งเราอยู่ศูนย์กลางอาเซียนก็เอาโครงการทั้งหมดมารวบรวมแล้วผลักดันให้เดินหน้า มีมอเตอร์เวย์ รถไฟความเร็วสูง มีรถไฟทางคู่ สนามบิน ท่าเรือ อะไรแบบนี้ ซึ่งปัจจุบันน่าจะถึงครึ่งก็เริ่มทำไปแล้ว จริงๆ แล้วก็มีการเดินหน้าไป อย่างมอเตอร์เวย์ 3 สาย ไปโคราช, บ้านโป่ง, พัทยา, สัตหีบ ก็ทำแล้ว รถไฟทางคู่ก็ทำไปเยอะแล้ว 

 

รถไฟในกรุงเทพฯ หลายสายก็ทำแล้ว รถไฟความเร็วสูงก็เริ่มทำแล้ว หลายๆ โครงการทำไป ถนน 4 เลน สนามบินที่มีท่าเรือก็มี ฉะนั้นผมว่าโครงการก็ทำไปแล้ว ไม่ใช่ว่ามันหายไปหมด แต่ว่าความเชื่อมโยงอาจจะไม่เหมือนกับที่เราวางแผนไว้ 

 

ผมเชื่อว่าก็ทำไปได้มากพอสมควรที่เราผลักดันไป แต่ว่าผมว่า สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกดีใจนะ คือมันกระตุ้นให้คนเห็นคุณค่าของเวลา ตอนนั้นคำที่เราพูดคือ เวลามีค่า เหมือนกับเมืองไทยเวลาผ่านไปโดยไม่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แล้วเวลาพวกนี้ ทุกประเทศมีเวลาเท่ากัน มันขึ้นอยู่กับใครใช้เวลาตรงนี้ได้คุ้มค่ากว่ากัน 

 

อันนั้นเป็นตัวกระตุ้นหนึ่ง แล้วอีกอันหนึ่ง ทำให้คนเห็นความสำคัญของการเชื่อมโยง ตอนนั้นเรื่องรถไฟความเร็วสูงก็ทำให้ทุกจังหวัดตื่นตัวว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มจากรถไฟความเร็วสูงได้อย่างไร เพราะเราพูดเสมอว่ารถไฟเป็นแค่เครื่องมือ แต่คุณต้องเอาตรงนี้ไปทำมาหากิน ฉะนั้น จะเพิ่มคุณค่าของจังหวัดอย่างไร อยากจะเป็นอะไรก็เอาอุปกรณ์นี้ไปหากิน ก็เป็นตัวกระตุ้นช่วงนั้น เป็นจุดที่พลิกวิธีคิด พลิกมุมมองเรื่องเวลา มีผลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้

 

ตอนนั้นถูกแซวว่า จะสร้างรถไฟความเร็วสูงไปขนผักผลไม้ 

ตอนนี้ก็เป็นอยู่ คือจีนก็ขนผักจาก สปป.ลาว ไปด้วยรถไฟความเร็วสูง เพราะโลจิสติกส์เป็นเรื่องสำคัญ จริงๆ แล้วถ้าเราทำได้ เรามีสินค้าที่มีมูลค่ามากมายเลย รถไฟก็ไม่เลว รถไฟไปเชื่อมกับยูนนาน ด้านบนมีคนอยู่เป็นร้อยล้านคน จริงๆ แล้วผมว่ามันแล้วแต่มุมมอง แต่ผมเชื่อว่ามันก็มีประโยชน์ในการโลจิสติกส์ ในการขนของด้วย ทั้งในแง่ขนคนและขนสินค้าที่สูญเสียได้ง่าย

 

สมัยเป็นรัฐมนตรีช่วย คนไม่รู้จัก ชีวิตพลิกด้วยมีมเดียว คนรู้จักมากขึ้น คนแชร์กันเยอะมากขึ้น ณ ตอนนั้น ชีวิตเปลี่ยนไปไหม เวลาเราไปไหนมาไหน 

ก็มีคนรู้จักมากขึ้น แต่ทำงานหนักเหมือนเดิม เพียงแต่มีวิธีสื่อสารที่ง่ายขึ้น มีช่องทางในการสื่อสาร ผมถึงย้ำว่าพวกเราทำงาน เรื่องการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ ต่อให้เราทำดีแค่ไหน ถ้าเราไม่สื่อสาร ไม่มีฟีดแบ็กกลับมา ผมว่าอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ คือไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดี ฟีดแบ็กเป็นเรื่องสำคัญ สื่อสารทั้ง 2 ทาง มีมิติที่เตือนเราว่าดีหรือไม่ดี

 

ผมก็จะมีทีมเป็นเด็กรุ่นใหม่และคนสูงอายุรวมกัน 7-8 คน เป็นทีมอเวนเจอร์ เป็นคนที่กล้าท้าทายเรา เป็นคนที่กล้าด่าว่าเราผิด คือการพูดว่า “อาจารย์ ผมไม่เห็นด้วย” ผมว่าอันนี้ดีนะ เพราะบางทีมุมมองเราแคบ บางอย่างมันต้องอาศัยหลายๆ คนช่วยกันคิด แล้วถ้าเกิดมีคนทักแล้วเราไว้ใจเขานะ ผมว่ามันก็ช่วยให้เราได้สิ่งที่มันรอบคอบขึ้น ผู้บริหารเองต้องมี เพราะบางทีเราไปติดหุบเขาแห่งความโง่ เราเชื่อมั่นในความเชื่อเรา จริงๆ แล้วต้องมีคนรอบข้างที่กล้าท้าทาย 

 

 

ถ้าเป็นผู้ว่าฯ กทม. ในทีมก็จะมีทั้งคนรุ่นใหม่คนรุ่นเก่าผสมกัน

มีทั้งคนอายุมากอายุน้อยรวมกัน ส่วนคนรุ่นใหม่อยู่ที่วิธีคิด อายุไม่ใช่ตัวจำแนกคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า เป็นเรื่องมุมมองมากกว่า เด็กถ้ามีวิธีคิดแบบล้าสมัยอาจจะเป็นคนรุ่นเก่าก็ได้ หรือคนอายุเยอะแต่วิธีคิดทันสมัยก็เป็นคนรุ่นใหม่ได้ 

 

จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มาสู่แคนดิเดตนายกฯ แล้วล่าสุด แคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. อะไรทำให้ตัดสินใจจากการเมืองใหญ่มาเป็นการเมืองสนามย่อยแบบนี้ 

ตอนเป็นแคนดิเดตนายกฯ ไม่ค่อยสนุก พอเราอยู่ในระบบพรรค เวลาเราไปดีเฟนด์นโยบายต่างๆ บางทีเราก็ดีเฟนด์ไม่เต็มปาก เพราะเราไม่ใช่คนคิดนโยบายเองไง คือระบบพรรคเขาจะมีกรรมการ มี Think Thank มีหลายฝ่ายคิด แล้วบางอย่างนโยบายเราก็ไม่ได้คิดทุกเรื่อง มันก็เป็นเรื่องที่เหมือนมีระบบที่เขาคิดมา 

 

ฉะนั้นพอเราไม่ได้ทำเอง บางทีเราไปดีเฟนด์มันก็ลำบากนิดหนึ่ง เพราะเราอาจจะไม่ได้เข้าใจเนื้อหา แล้วผมว่าการทำงานในระบบพรรคจริงๆ แล้วมีความจำเป็นกับระบอบประชาธิปไตยในการเมืองใหญ่ แต่บางทีพอมีขั้นตอน มีระบบ เรารู้สึกบางทีมันไม่ทันใจ

 

แล้วช่วงที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ เราก็ลงพื้นที่กรุงเทพฯ เยอะ ก็เห็นปัญหาต่างๆ ซึ่งคิดว่าปัญหาต่างๆ ในกรุงเทพฯ จริงๆ แล้วถ้าเกิดเรามีทีม เราสามารถแก้ได้ คิดว่าน่าจะอยู่ในกำลังที่เราทำได้ แล้วพอเรามาทำอิสระปุ๊บ ก็รู้สึกว่ามันคล่องตัวขึ้น เพราะนโยบายต่างๆ ทุกข้อเราคิดเองหมด ทีมงานเราช่วยกันคิด ฉะนั้นเวลาเราไปดีเฟนด์ เราสนุก เรารู้รายละเอียด และอยู่ในกำลังที่เราพอทำได้ แล้วงานผู้ว่าฯ กทม. เป็นงานระดับท้องถิ่น ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับเรื่องแนวคิดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นแนวคิดใหญ่ที่ต้องมีพรรคมีความคิดที่หลากหลาย 

 

พอมาเป็นระดับท้องถิ่นมันเป็นการแก้ปัญหา เหมือนกับเราเป็นซีอีโอบริษัท เราลงมาแก้ปัญหา แล้วก็มอง Strategy อยู่ในสโคปที่เรากับทีมทำได้ แล้วก็ไม่ต้องผ่านลำดับชั้นของพรรคซึ่งมีระบบตามระเบียบเขาอยู่ เพราะพรรคต้องมีกรรมการ 

 

พอเป็นอิสระ เราก็ทำงานได้คล่องตัวขึ้น

 

คนมองว่า ลงอิสระ แต่คือเพื่อไทย ขณะที่เพื่อไทยก็ส่งแต่ ส.ก. 

เพื่อไทยจะทำอะไร ผมไปบังคับเขาไม่ได้ ท่านจะส่งหรือไม่ส่งผมไม่เกี่ยว แต่เราประกาศอิสระมาตั้ง 2 ปีครึ่งแล้ว ตอนผมลาออกจากพรรคเพื่อไทยผมยังโดนด่าเลยว่าเนรคุณ มีคนด่าผมนะ ลืมบุญคุณหรือเปล่า ซึ่งอันนี้เราก็ประกาศมาตั้งแต่ต้นว่าเราอยากลงอิสระ เพราะว่ามีเหตุผล เราอยากจะทำงาน เราไม่อยากไปวุ่นกับความขัดแย้งระดับชาติ เราอยากจะแก้ปัญหาให้คนกรุงเทพฯ 

 

ส่วนเรื่องเพื่อไทยก็ปฏิเสธไม่ได้ ผมเกิดทางการเมืองเพราะเพื่อไทย อันนี้เป็นข้อเท็จจริงซึ่งเราก็ยอมรับ ไม่เคยปฏิเสธเลย เรามาอยู่วันนี้ได้ ถ้าไม่มีเพื่อไทยเมื่อ 7 ปีก่อน หรือ 3-4 ปีก่อน ผมก็ไม่มีวันนี้ในการเมืองหรอก แต่ในเมื่อตัดสินใจลงอิสระ เราก็ต้องอิสระจริงๆ ไม่ได้โกหกประชาชน จริงๆ แล้วผมว่าช่วงที่ผ่านมาเราก็พิสูจน์ตัวเอง

 

เพราะทีมงานที่มาร่วมเป็นอาสาสมัครทั้งหลาย ส่วนใหญ่แล้วมาร่วมเพราะว่าเราอิสระ เขาไม่ได้มาร่วมเพราะเราเป็นพรรค ฉะนั้นการที่เขามาร่วมกับเรา แล้วเขายังอยู่กับเราได้ เขาต้องเห็นว่าเราอิสระจริง แล้วก็ผมว่าช่วงหลังเดือนที่ผ่านมา นักข่าวที่ลงพื้นที่ก็เห็นว่าเราก็ไปของเราเองแหละ เห็นว่าเราก็จะมั่วๆ นะ ไม่ค่อยมีแผนมีอะไร ป้ายหาเสียงเราก็ไปของเราเอง น้องๆ ก็คิดกันเอง Strategy การลงพื้นที่ก็ดุ่ยๆ ไป คือไม่ใช่รูปแบบของพรรคเหมือนเดิม 

 

แต่ถามว่ายังเป็นเพื่อนกันไหม ก็ยังเป็นเพื่อนกันอยู่ คำว่าอิสระ คืออิสระจากนโยบาย จากการควบคุม จากทรัพยากรต่างๆ แต่ไม่ใช่เป็นศัตรู เรามีเพื่อนทุกพรรค 

 

ถ้าคนสงสัยก็ไปบังคับเขาไม่ได้ ก็แล้วแต่ แต่ผมว่าเรายืนตรงๆ แบบนี้ ผมคิดว่าเรามาถูกทาง ผมมั่นใจว่าที่ทำมาสองปีครึ่งเรามาถูกทาง เรามีคนมาร่วมเป็นหมื่นๆ คน ส่วนหนึ่งเพราะเราเป็นอิสระ หลายคนไม่ค่อยอยากมายุ่งเรื่องพรรคการเมือง แล้วหลายคนที่มาร่วมก็อาจจะเคยอยู่พรรคอื่นด้วยซ้ำ พอลงอิสระปุ๊บ เป็นการมาทำงานเมืองมากกว่า ไม่ใช่การเมือง ทุกคนก็มาร่วมกัน เรามีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยเยอะเลย พอเราเป็นอิสระทำให้หล่อหลอมคนเข้ามาได้ด้วยกัน ซึ่งในระดับท้องถิ่นนี่ทำได้ แต่การเมืองระดับชาติมันต้องเป็นพรรค เพราะมีเรื่องละเอียดมากกว่านี้ เรื่องใหญ่กว่านี้ ส่วนท้องถิ่นเป็นงานเหมือนบริหารบริษัทหรือการทำงานรูทีนบวกกับงาน Strategy ผมเชื่อว่าอิสระทำได้ แล้วที่ผ่านมาหลายคนก็เป็นอิสระ หรือหลายเมืองในแต่ละประเทศผู้ว่าฯ ก็เป็นอิสระ หน้าที่ของผู้ว่าฯ มันต้องประสานทุกกลุ่มเข้าด้วยกัน ยิ่งอิสระยิ่งทำงานได้ง่ายขึ้นด้วยซ้ำ 

 

 

ไปดึง พิจิตต รัตตกุล มา เป็นการไปดึงเอาฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์มาด้วยหรือไม่ 

ไม่หรอกๆ ผมว่าท่านเองก็ไม่ได้เกี่ยวกับประชาธิปัตย์แล้ว แต่ต้องเรียนว่าที่บ้านรู้จักกันมานาน ตั้งแต่สมัยคุณพ่อก็คุ้นกัน เราไปซาวเสียงคนใน กทม. หลายคนบอก ผู้ว่าฯ ที่ดี ดร.พิจิตต ก็อยู่ในอันดับต้นๆ ท่านมาช่วยเป็นที่ปรึกษา มาช่วยแนะนำเรา ท่านไม่ได้มาเกี่ยวกับการบริหารอะไร มีหลายคนเข้ามาเกี่ยวข้องโดยมาจากหลากหลาย 

 

เปิดตัวมา 2 ปีกว่า เร็วกว่าผู้สมัครรายอื่นๆ วันแรกที่ลงพื้นที่กับวันนี้ ความรู้สึกเปลี่ยนไปไหม 

ผมว่าปัญหาก็ยังเหมือนเดิมนะ แต่คนอาจจะรู้จักเรามากขึ้น คนในกรุงเทพฯ ยังเจอปัญหาเหมือนเดิม แต่อาจจะหนักขึ้น คือตอนเดินช่วงแรกเรื่องเศรษฐกิจยังไม่หนักมาก ช่วงแรกคือช่วงโควิดใหม่ๆ แต่ตอนนี้เรื่องปากท้องเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องสาธารณสุข ปากท้อง

 

แต่ปัญหาเดิมๆ เรื่องขยะ น้ำเสีย ก็ยังอยู่ การเดินทาง คุณภาพชีวิต ก็ยังเป็นปัญหาที่ทุกคนยังพูดถึงตลอดอยู่

 

สโลแกนของ กทม. ที่หลายคนชอบแซว เอาไปล้อเลียน กรุงเทพฯ ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว ในมุมของอาจารย์คิดเห็นอย่างไร 

ก็อาจจะดีๆ ที่ลงตัวสำหรับบางคน แต่ไม่ใช่ทุกคน คำพูดนี้ก็อาจจะมีคนที่รู้สึกมีความสุขอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ก็มีคนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รู้สึกอย่างนี้ ฉะนั้น คีย์เวิร์ดต้องอินคลูซีฟสำหรับคนส่วนใหญ่ เพราะกรุงเทพฯ มีความเหลื่อมล้ำเยอะ นั่นคือจุดต้นเหตุของปัญหาเหมือนกัน

 

ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกมานาน แล้วก็แตกย่อยออกไปในหลายๆ ปัญหาของ กทม. ปัญหาใหญ่สุดในมุมของอาจารย์คืออะไร 

ถ้าเรามองดูภาพรวม ปัญหา กทม. เหมือนร่างกายคน เรามีระบบเส้นเลือดใหญ่กับเส้นเลือดฝอย ร่างกายส่วนใหญ่ตายเพราะเส้นเลือดใหญ่อุดตัน แต่กรุงเทพฯ เส้นเลือดใหญ่ค่อนข้างดี มีรถไฟฟ้า BTS มีทางด่วน เรามีโรงพยาบาลระดับประเทศ เรามีมหาวิทยาลัยระดับโลก เส้นเลือดใหญ่เราค่อนข้างเข้มแข็ง คนที่อยู่แนวเส้นเลือดใหญ่จะอยู่ได้ แต่เส้นเลือดฝอยที่ไปเลี้ยงอวัยวะ เลี้ยงชุมชน บางทีจะมีปัญหาตีบตัน ท่อระบายน้ำหน้าบ้านตัน ขยะไม่เก็บ โรงเรียนในชุมชนไม่ดี ไม่มีศูนย์เด็กเล็กที่โรงเรียน กลายเป็นเมืองที่มีความเข้มแข็งในระบบแกนกลาง ระบบเส้นเลือดใหญ่ แต่เส้นเลือดฝอยมีความเปราะบาง 

 

ทีนี้ผมว่าอันหนึ่งอาจจะมาจากมายด์เซ็ต เราไปเน้นเรื่องเส้นเลือดใหญ่เยอะ มีเมกะโปรเจกต์เยอะ ทำอุโมงค์ ซึ่งอาจจะมีเรื่องผลประโยชน์เกี่ยวข้อง ทำอุโมงค์ระบายน้ำ ทำรถไฟฟ้า แต่เราลืมคิดไปว่าคนจะเข้าบ้านอย่างไร ฟุตปาธ หน้าบ้านเป็นอย่างไร หรือศูนย์เด็กอ่อนในชุมชนเป็นอย่างไร ฉะนั้น นี่เป็นปัญหาหนึ่ง พอเราไปเน้นเรื่องเมกะโปรเจกต์ ทำให้เราลืมเรื่องเส้นเลือดฝอย แล้วสิ่งที่ชาวบ้านบ่นเมื่อลงไป มันคือเส้นเลือดฝอยทั้งนั้นแหละ รถเมล์ รถสองแถว ต้องเปลี่ยนวิธีคิดให้สมดุลมากขึ้นระหว่างเส้นเลือดใหญ่กับเส้นเลือดฝอย 

 

ปัญหาสุดคลาสสิกของ กทม. น้ำท่วม รถติด 

ผมว่ามันก็เป็นวิทยาศาสตร์ ต้องยอมรับความจริง อย่างเรื่องรถติด พอตั้งว่ารถติด ก็ไปเน้นเรื่องรถ จริงๆ แล้วหัวใจอยู่ที่ความคล่องตัวมากกว่า ฉะนั้น รถติดต้องมีขนส่งมวลชนที่ดีก่อน เรื่องรถเมล์ รถไฟฟ้าก็ต้องเชื่อมโยงกันดี แล้วผมว่าอีกอันหนึ่งคือเรื่องบริหารจัดการ ผู้ว่าฯ กทม. ไม่ได้ดูแลการจราจรทั้งหมด มีหน่วยงาน 37 หน่วยงานที่ดูแลเรื่องการจราจร 

 

กทม. ต้องเป็นเจ้าภาพ ต้องทำซิงเกิลคอมมานด์รวมทั้งหมด มีศูนย์บัญชาการร่วม กทม. ตำรวจ รถเมล์ รถไฟฟ้า ทางด่วนมารวมกัน แล้วอาจจะต้องเจอทุกเดือน คุยกันจะแก้ปัญหาอย่างไร กทม. ต้องเริ่มลงทุนเรื่องเทคโนโลยีให้มากขึ้น คือปัจจุบันตำรวจดูแลไฟจราจร แต่เขาไม่ได้ลงทุนให้ ฉะนั้น กทม. อาจจะต้องลงทุนระบบ ซึ่งปัจจุบันถูกลงเยอะ เป็นเหมือน Smart Traffic ช่วยกำกับ เก็บข้อมูล ดูแลผู้ทำผิด กทม. ต้องเอาจริงเอาจังกับปัญหาบนท้องถนนมากขึ้น เช่น คนก่อสร้างรถไฟฟ้า แล้วทำให้รถติด ไม่แบ่งเส้นจราจร กทม. เป็นเจ้าบ้านต้องลงไปไล่ 

 

ผมสังเกตเห็นปัญหาเรื่องรถติดส่วนหนึ่งมาจากจุดฝืดจุดเดียว ต้องพยายามจำกัดจุดฝืด ให้เทศกิจช่วยดูได้ไหม กทม. ต้องพยามยามดูแลขนส่งมวลชนให้มากขึ้น รถเมล์ปัจจุบันอาจจะวิ่งไม่ทั่วถึง กทม. ขอรถเมล์เสริมได้

 

ส่วนเรื่องน้ำท่วมเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ มีน้ำเหนือ น้ำทะเลหนุน น้ำทุ่ง และน้ำฝน

 

น้ำเหนือกับน้ำทะเลหนุน ต้องทำเขื่อนกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาให้ดี แต่จะมีฟันหลอเยอะ ต้องไปสำรวจฟันหลอ บางทีอุดไม่ได้ เพราะชาวบ้านเข้าออก ต้องเตรียมกระสอบทราย รู้ว่านี่จุดอ่อนถ้าน้ำขึ้นก็อุด ส่วนน้ำทุ่งต้องคุยกับกรมชลประทาน 

 

ที่หนักสุดคือน้ำฝน ต้องลงท่อระบายน้ำไปคลอง ลงแม่น้ำเจ้าพระยา หรือลงอุโมงค์ไปแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ผ่านมาเราไม่ค่อยได้ลอกท่อ เรามีท่อประมาณ 6,000 กิโลเมตร ลอกปีหนึ่ง 1,000 กิโลเมตร ถ้าปรับเป็น 3,000 กิโลเมตรต่อปีได้ไหม ใช้เงินไม่เยอะ 300 ล้านบาท ปรับคลองลอกคลอง น้ำก็มีที่ไป ส่วนอุโมงค์หลายหมื่นล้านช่วยได้ระดับหนึ่ง น้ำไปไม่ถึงอุโมงค์ต้องแก้จากหน้าบ้าน ขุดลอกต้องทำ ความใส่ใจ ลงรายละเอียดทำให้ดีขึ้นได้  

 

 

บางคนบอกว่า อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ ทำไม่ได้หรอก 

ถ้าทำไม่ได้ก็อย่ามาอาสาเป็นผู้ว่าฯ เพราะอันนี้มันคือเงื่อนไขที่มีอยู่ ต้องรับมัน ถ้าบอกว่าจะเปลี่ยนอำนาจผู้ว่าฯ ให้มีเยอะขึ้น อันนี้ไม่ใช่หน้าที่ผู้ว่า เป็นหน้าที่รัฐบาล เพราะต้องเปลี่ยน พ.ร.บ. แต่เราอาสามาแล้ว เราต้องดูเงื่อนไข 

 

ผมว่าทุกตำแหน่งหน้าที่มีเงื่อนไขนี้หมด จะเป็นซีอีโอบริษัทก็ไม่มีอำนาจล้นฟ้าหรอก เพราะต้องมีเงื่อนไขว่านี่คือหน้าที่ผู้บริหาร ถามว่าจะทำอย่างไร เราก็ต้องเป็นผู้ประสานงานที่เข้มแข็ง เช่น เรื่องรถติด มันง่ายมากที่จะบอกว่า เฮ้ย เราไม่เกี่ยว เป็นเรื่องของการจราจร แต่ถ้าคุณเป็นเจ้าบ้าน คุณก็ต้องจัดประชุมเลย จัดซิงเกิลคอมมานด์เซ็นเตอร์ ช่วยเหลือเขา ถ้ามีปัญหาก็ต้องบอกประชาชนว่า เฮ้ย หน่วยงานนี้ไม่ให้ความร่วมมือ ปัญหามันอยู่ที่นี่

 

มันง่ายมากที่จะบอกว่าไม่ใช่หน้าที่คุณ มันยากกว่าถ้าจะไปประสานงาน แต่เราต้องเลือกทำสิ่งที่ยากกว่า

 

อย่าไปคิดเรื่องไม่มีอำนาจ เราต้องหาทางแทรกหรือเอาเทคโนโลยีมาช่วย ต้องทำให้ได้ อย่าไปยอมแพ้ ถ้าอาสามาเป็นผู้ว่าฯ แต่บอกว่าผู้ว่าฯ ไม่มีอำนาจ ยอมแพ้ตั้งแต่ยังไม่เริ่ม อันนี้ไม่ได้ เชื่อว่าไม่มีทางที่ผู้ว่าฯ จะมีอำนาจล้นฟ้า ทุกตำแหน่งก็มีจำกัด หน้าที่เราบริหารให้ดีที่สุด ทรัพยากร อำนาจ หน้าที่      

 

รถไฟฟ้าราคาแพงแก้ปัญหาอย่างไร

ปัญหาตอนนี้มีเรื่องเดียว ก่อนปี 2572 ทำอะไรไม่ได้ สัมปทานเป็นของเอกชน แต่หลังปี 2572 แล้วทั้งหมดจะเป็นของ กทม. รายได้ค่าตั๋วก็เป็นของ กทม. ทั้งหมด ค่าโฆษณาเป็นของ กทม. ทั้งหมด  

 

ปัญหาอย่างเดียว คือค่าจ้างเดินรถที่เราเซ็นสัญญาไปถึงปี 2585 เราไม่รู้ว่าค่าจ้างเท่าไร ฉะนั้น ตอนนี้ถ้าเราไม่รู้ค่าจ้าง เราพูดยากเหมือนกันนะ ยกเว้นเราบอกว่าเรายอมขาดทุน เราเก็บ 20 บาทก็ได้ ส่วนจ้างเท่าไรไม่รู้ ปัญหาคือ ความลับของตรงนี้ที่เราไม่มีข้อมูล 

 

เราต้องไปดูข้อมูลนี้ก่อน

ใช่ ถ้าไม่ยุติธรรมก็ต้องพยายามต่อรองว่าค่าจ้างเป็นเท่าไร แต่ผมยังไม่เห็น ถ้าดูจากงบดุลของเอกชนที่เราวิเคราะห์มา ต้นทุนการเดินรถ+กำไร ผมว่าไม่น่าเกิน 25 บาท เฉลี่ย 8 สถานี เรามีตัวเลขในใจอยู่ แต่การจ้างเดินรถที่เขาจ้างล่วงหน้าหลายปี เราไม่มีข้อมูล อยู่ที่กรุงเทพธนาคม ตรงนี้ถ้ามีข้อมูลปุ๊บ เราจะรู้เลยว่าค่าโดยสารจะเป็นเท่าไรถ้าเราไม่อยากขาดทุน 

 

แต่ถ้าเรายอมขาดทุน หลังปี 2572 เราตั้งราคาเท่าไรก็ได้ เพราะเรารับผิดชอบเรื่องรายได้แล้ว หน้าที่เราคือต้องไปจ่ายค่าจ้างเดินรถ ถ้าเราไม่อยากให้ขาดทุนก็ต้องให้ใกล้เคียงกัน หรือไปต่อรองค่าเดินรถให้สมเหตุสมผล 

 

รถไฟฟ้าของ กทม. มีสายเดียว คือ BTS กับมี BRT ซึ่งก็ขาดทุนอยู่เยอะ ใช้ทรัพยากรไม่คุ้ม รถน้อยขึ้นลงไม่สะดวก 

 

ต้องทำอย่างไร บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีอยู่ 

BRT มีขาประจำอยู่ นักเรียนกับคนทำงานน่าจะได้วันละ 2 หมื่นคน เคยนั่งแล้วป้ายมันห่างกันมาก ต้องทำป้ายให้ถี่ขึ้น เพิ่มจำนวนรถ ปรับราคาลดลง ปัจจุบันเสียค่าบริหารจัดการเยอะ ต้องมีแตะบัตรเข้าแตะบัตรออก ทำเหมือนรถไฟฟ้า ถ้าหยอด 5 บาท ไม่ต้องมีกระเป๋า เพิ่มความถี่ขึ้น ถ้าทำไม่ได้ดีขึ้นก็อาจจะต้องยกเลิก แต่ขอเข้าไปดูก่อนถ้ามีโอกาส คงสัญญาตอนนี้ไม่ได้ เพราะข้อมูลเรายังไม่ค่อยชัดเจน แต่เชื่อว่าก็เป็นตัวหนึ่งที่เป็นต้นทุน 

 

นโยบายภาพรวมจะทำกรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน 

คำว่าเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน เราก็คิดกันนาน ตอนแรกเราอยากจะเป็นเมืองอัจฉริยะ อยากจะเป็นมหานครระดับโลก แบบหรูหราอะไรแบบนี้นะ แต่สุดท้ายมาที่คำง่ายๆ เมืองน่าอยู่ แล้วต้องอินคลูซีฟอย่างที่บอก สำหรับทุกคน ไม่ใช่เป็นเมืองชีวิตดีๆ ที่ลงตัวสำหรับบางคน 

 

เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ซึ่งถามว่าน่าอยู่อย่างไร ก็ไปดูของฝรั่ง มี 5 ด้าน 30 อินเด็กซ์ เราทอนมาเป็น 9 ด้าน คำว่าน่าอยู่แต่ละคนไม่เหมือนกัน เราไม่สามารถมีนโยบายเดียวให้ทุกคนแฮปปี้ได้ ฉะนั้น เรามาดู 9 ด้าน เริ่มจากความปลอดภัย สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม การเรียน บริหารจัดการตรงกลาง การเดินทางโครงสร้าง เศรษฐกิจ การสร้างสรรค์ 9 ด้านจะตอบโจทย์ทุกคนได้หมด แบ่งมาเป็นนโยบายย่อยๆ อีก 200 กว่านโยบาย ฟังแล้วดูเยอะ บางคนบอกชัชชาติโม้หรือเปล่า แต่จริงๆ แล้วไม่ได้เยอะ เพราะเรามีข้าราชการลูกจ้าง 8 หมื่นคน มี 16 สำนัก 50 เขต 

 

ผมว่า 200 นโยบายสามารถเดินได้ทันทีเลย บางเรื่องใช้เวลานาน บางเรื่องใช้เวลาสั้น แต่ถ้าเริ่มเดินวันนี้พร้อมๆ กัน เราเป็นผู้นำแล้วเริ่มเดิน ผมคิดว่ามันจะมีอิมแพ็กต์กับชีวิตคนทุกๆ คนในแต่ละด้านที่เขาต้องการ แต่ถ้าเรามีแค่ 4-5 นโยบาย มันจะมีคนที่ตกหล่นเยอะแยะเลย แล้วก็จะมีหน่วยงานเยอะแยะเลยที่ไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม เป็นแนวคิดเราซึ่งอาจจะผิดหรือถูกไม่รู้นะ แต่เรามั่นใจว่าเรามาถูกทาง เราได้ฟีดแบ็ก เราได้คำตอบ เว็บไซต์เราคนเข้าไปให้ความเห็น หลายคนก็ชื่นชมว่าเป็นนโยบายที่ไม่เคยมีคนคิดมาก่อน เขาบอกเป็นนโยบายที่ทำได้จริง ไม่ต้องใช้งบประมาณมาก แล้วก็แตะกับชีวิตทุกคน 

 

โครงการสภากาแฟเพื่อนชัชชาติ 

คือผมว่าที่ผ่านมา เรามักจะมีกลุ่มที่คุยกันทางออนไลน์ ซึ่งจะเป็นเฟซบุ๊ก กลุ่มไลน์ จะเป็นกลุ่มคนที่ความคิดคล้ายๆ กันมาอยู่ด้วยกัน จะกลายเป็น Echo Chamber คนความเห็นเหมือนกัน สุดท้ายจะสะท้อนความเชื่อเดียวๆ กัน ผมก็เลยคิดว่า แต่ก่อนเรามีสภากาแฟ เหมือนกับอะนาล็อก ไม่ใช่ดิจิทัล

 

อะนาล็อกที่เป็นกลุ่ม คนที่มามีคนเห็นแตกต่างกัน มันทำให้เราบริหารความแตกต่างได้ดีขึ้น มีความเห็นต่างเจอคนที่เห็นต่างกัน ก็เลยลองคิดง่ายๆ เราลองตั้งสภากาแฟเพื่อนชัชชาติ ตามที่ต่างๆ ได้ไหม แล้วให้เขามาคุยกัน เขาอาจจะไม่ใช่คนที่ชอบเราก็ได้ เขาก็มาคอมเมนต์ว่าเขาเห็นว่าปัญหาเมืองคืออะไร มาเจอกันบ้าง ก็ไม่มีอะไรแค่เอาบอร์ดไปตั้ง บอร์ดปัญหาเมืองเขตนี้คืออะไร แล้วก็อาจจะมีคนมานั่งคุยกัน เขียนคอมเมนต์อะไรแบบนี้ ทำไปประมาณ 300 กว่าแห่งก็ดี มีคนมาเยอะเลย 

 

เราก็จะได้รู้ว่าพื้นที่นี้ปัญหาเรื่องคมนาคมเยอะ เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องขนส่ง เป็นแพลตฟอร์มสำคัญ พอเป็นอะนาล็อกแพลตฟอร์ม เมื่อเจอกันตัวเป็นๆ ผมว่าเราจะบริหารความขัดแย้งได้ดีขึ้น เพราะคนที่มาอาจจะเห็นต่าง หรือเห็นเหมือนกันบางเรื่อง ถ้าเป็นออนไลน์จะถูกดูดไปที่กลุ่มคล้ายๆ กัน ทำให้เกิด Echo Chamber 

 

ดังนั้น เป็นสิ่งที่ดี น่าสนใจ อนาคตอาจจะใช้แพลตฟอร์มนี้เป็นตัวขยายสภาเมือง เราคิดถึงสภาคนรุ่นใหม่ด้วย เนื่องจากว่าคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยมีที่ให้แสดงออก เป็นไปได้ไหมที่ผู้ว่าฯ จะมาเจอคนรุ่นใหม่ทุกเดือน อาจมีตัวแทนจากหลายๆ กลุ่ม จากสถาบันการศึกษา จากคนทำงาน อาจจะมาวันเสาร์-อาทิตย์ ใช้สภากรุงเทพฯ ให้เข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน อยากจะให้เมืองเป็นอย่างไร สภากาแฟก็ดีเป็นตัวอย่างที่ดี แต่ทำในเวลาสั้นๆ ตอนนี้หยุดกิจการไปก่อน เพราะเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง ก็เลยไม่สามารถจะไปทำกิจกรรมพวกนี้ได้ แต่ก็เป็นตัวอย่างที่ดี การมีพื้นที่ให้คนมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น อะนาล็อกก็เป็นสิ่งสำคัญ ผมว่านั่นคือพื้นฐานของการเรียนรู้ความแตกต่างการอยู่กับความแตกต่าง

 

ต้องควบคู่กันไปทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ 

ใช่ๆ แล้วบางทีผมว่าออฟไลน์ก็ยังจำเป็นนะ คือบางที อย่างที่เราเรียนรู้ว่าเราจะเผชิญความขัดแย้งอย่างไร บริหารความขัดแย้งนี่ก็เจอหน้าแล้วก็คุยกัน    

 

 

ดราม่าพื้นที่แสดงออกทางการเมืองที่อาจารย์ให้สัมภาษณ์ไว้ แล้ว ช่อ พรรณิการ์ ไม่เห็นด้วย ตกลงเรื่องนี้เป็นอย่างไร 

ผมอาจจะสื่อสารไม่ดีเอง ต้องขอโทษที คือเราไม่ได้จัดโซนนิ่ง หน้าที่ กทม. ไม่ได้เกี่ยวกับโซนนิ่งเลย คือเราแค่เตรียมพื้นที่ไว้ ถ้าเขาต้องการมาใช้ มาได้ 

 

เราไม่ได้บังคับให้เขามาใช้ แต่ถ้าเกิดเขาอยากจะใช้ตรงนี้ก็เป็นที่ว่าง อาจจะมีห้องน้ำ ถ้ามีเครื่องเสียงตามกฎหมายก็เตรียมให้ แล้วจริงๆ ไม่ใช่แค่ในเมือง อาจจะกระจายทุกเขตเลยก็ได้ คนอาจจะแสดงความเห็นเรื่องอื่นก็ได้ เรื่องคอนโดใกล้บ้าน เรื่องความขัดแย้ง เรื่องมาจอดรถหน้าบ้าน ความจริงแล้ว ผมว่าถ้าเรามีสถานที่พวกนี้เตรียมไว้ให้คนมาแสดงความเห็น แล้วอาจจะทำอย่างอื่นด้วยก็ได้ อาจจะแสดงดนตรี แสดงศิลปะ เป็น Public Space พื้นที่สาธารณะที่คนมาใช้ได้ 

 

เพราะฉะนั้น เราไม่ได้บังคับว่าโซนนิ่ง และไม่ใช่อำนาจ กทม. อยู่แล้ว เหมือนกับเรามาเตรียมน้ำไว้ให้ ถ้าคนกระหายจะมาดื่มก็ดื่ม แต่ถ้าอยากจะไปดื่มน้ำที่อื่นก็ไม่เป็นไร เราไม่ได้บังคับ อย่างน้อยให้เห็นว่าเมืองใส่ใจเรื่องการแสดงออก ผมว่าเมืองที่สำคัญคือเมืองต้องมีพื้นที่ให้คนกล้าแสดงออก ไม่ใช่เมื่อคนไม่ได้ฟังกันแล้วทะเลาะ สุดท้ายปัญหาบานปลาย ถ้าเรามีพื้นที่ให้เขาได้แสดงออก แสดงความขัดแย้งเห็นต่าง ผมเชื่อว่าปัญหามันจะคลี่คลายได้ดีขึ้น ก็แค่นั้นเอง ไม่ได้คิดโซนนิ่งเพราะไม่ใช่อำนาจ กทม. แต่ กทม. มีพื้นที่ก็เตรียมให้ ถ้าอยากมาก็เชิญ ถ้าไม่อยากมาเราก็ตามไปดูแลอยู่ดี

 

เพราะเราดูแลคน ดูแลห้องน้ำ ไม่เกี่ยวกับความคิดของเขา เราไม่ได้คิดว่าเขาคิดอย่างไร แต่ว่าเราดูแลคนกรุงเทพฯ 

 

ผู้ว่าฯ กทม. ต้องทำงานร่วมกับรัฐบาล โดยเฉพาะทางมหาดไทย ก็อาจจะมี พล.อ. อนุพงษ์ พล.อ. ประยุทธ์ สมมติเป็นผู้ว่าฯ ทำงานกับรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ไหวไหม ได้ไหม

ผมว่าได้ ก็คือเอาประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง ถ้าอะไรที่บิดเบือนจากประโยชน์ประชาชนเราก็ไม่เอา แล้วผู้ว่าฯ กทม. เป็นตำแหน่งที่มีคนเลือกมากที่สุดในประเทศไทย อย่างคราวที่แล้วล้านกว่าเสียง นายกฯ ยังไม่ได้เลือกจากล้านเสียงเลย ส.ส. ยังแค่แสนเสียง เพราะฉะนั้น เราต้องเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง แล้วก็พูดกันด้วยผลประโยชน์ประชาชน

 

ผมว่าเราก็ต้องมองรัฐบาลในแง่ดีก่อน ว่าสุดท้ายแล้วเขาก็ต้องเอาประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง แล้วถ้าเกิดคุยกันด้วยประโยชน์ประชาชนของคน กทม. เป็นที่ตั้ง สุดท้ายก็ไม่น่ามีปัญหาเรื่องบริหาร แต่ถ้าขัดแย้งกันที่ผลประโยชน์ประชาชน ผมว่าต้องให้ประชาชนรู้ว่าปัญหาคืออะไร แต่ผมว่าเราต้องมาคิดบวกก่อน อย่าเพิ่งไปคิดว่าใครจะอะไรแบบนี้ บางเรื่องคงต้องคุยบนพื้นฐานประโยชน์ประชาชน

 

แทบทุกโพลคะแนนมาเป็นที่หนึ่งตลอด แทบไม่เคยลด ยังเยอะอยู่

โอเค พูดแบบนี้ก็รับ อย่าปฏิเสธ ดี แต่ว่าอย่าไปเชื่อมาก เพราะก็มีตัวอย่างแค่พันกว่าตัวอย่าง เป็นหลักวิชาการ แต่ก็ทำให้เรามั่นใจว่ามาถูกทางระดับหนึ่ง ไม่เด๋อมาก เพราะทีมงานเราก็มีแต่เด็กๆ เรื่องการเมืองยังละอ่อน อย่างน้อยก็ยังดีใจที่มาถูกทาง แต่ว่าผมเชื่อว่ากรุงเทพฯ หักปากกาเซียนตลอด อย่างลงพื้นที่ ทุกคนบอกว่านอนมา ผมบอกถ้านอนมาคือคนไม่ไปลงคะแนน คราวนี้นอนมาแน่ มีพระนำมาด้วย 

 

ฉะนั้น อย่าไปเชื่อโพล สุดท้ายต้องออกไปลงคะแนน แล้วสุดท้ายประชาชนออกไปให้เยอะที่สุด อย่าไปเชื่อว่าจะนอนมา แล้ว กทม. 2 ครั้งหลังคือหักปากกาเซียนตลอด มาก็แหกโค้งหมด คนมาแรง ผมว่าอย่าไปเชื่อมากครับ แล้วผมว่าทุกคนมีคุณภาพ ผมเป็นประเภทมาแต่ไก่โห่ มาก่อน แต่ช่วงหลังก็เป็นช่วงที่ต้องแข่งขันกันเต็มที่ ฉะนั้น โพลก็ดีทำให้เรามีความมั่นใจขึ้น ไม่ได้ไปผิดทาง แต่ก็บอกน้องๆ ว่าลุยต่อ อย่าไปหลงกับโพล แล้วก็บอกประชาชน อย่าไปหลงกับโพล ต้องออกมาเลือกตั้งนะ ใครบอกนอนมานี่ เจ๊งมาหลายรายแล้วครับ ไม่ได้ๆ 

 

การที่เปิดตัวก่อนคนอื่นนานมากๆ ทำให้เราได้เปรียบ ทำให้คนได้เห็นเรามากกว่าไหม 

ผมว่ามันก็มีผลในแง่ของความตั้งใจ เรามุ่งมั่นจริงๆ แล้วทำให้เห็นปัญหาขึ้น เห็นปัญหาละเอียด เพราะเราอยู่กับปัญหา ลงพื้นที่ เจอชาวบ้าน อะไรแบบนี้ ก็มีได้เปรียบบ้าง แต่ว่าก็มีความล้านะ เพราะทีมงานก็ล้า ตอนแรกจำได้ คิดว่าจะเลือกปี 2563 หลังเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 ปรากฏมาถึง 2565 แต่ก็ดีพิสูจน์ความอึด ผมว่าเราก็เตรียมตัวมานานทั้งร่างกายจิตใจก็เพราะวันนี้แหละที่เราเตรียมตัวมา

 

ตอบมาหลายเวทีว่านโยบายแรกสิ่งแรกที่จะทำถ้าเป็นผู้ว่าฯ คือจะเปลี่ยนความคิดคน ช่วยขยายความหน่อย 

จริงๆ แล้วนโยบายที่มี ต้องเริ่มทั้ง 200 นโยบายทันที แต่การจะเริ่มทันทีได้ ความคิดของข้าราชการก็สำคัญ เพราะ 200 เรื่องส่วนใหญ่เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง ต้องเปลี่ยนแนวคิดเป็น ‘หันหลังให้ผู้ว่าฯ หันหน้าให้ประชาชน’ คือไม่ต้องมองผู้ว่าฯ แล้ว มองประชาชนเป็นหลัก People Centric ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก เพราะเวลาเปลี่ยนคน เราเปลี่ยนไม่ได้ เราจะเปลี่ยนรถที่ขับ หันพวงมาลัยรถได้ แต่เปลี่ยนใจคน เราไปเปลี่ยนไม่ได้ ต้องเป็นตัวเขาเอง ฉะนั้น การเปลี่ยนใจคนต้องใช้เวลา ให้เขามั่นใจศรัทธาในตัวเรา ถ้าเปลี่ยนได้ก็มีผลในระยะยาว 

 

วิธีคิด 200 นโยบายที่มีอยู่ ผลักดันทันที ทุกเรื่อง เริ่มปลูกต้นไม้ล้านต้น อาทิตย์แรกปลูกต้นไม้ทุกเขต เขตละร้อยต้น ทำแพทย์ทางไกลมีรถลงไป ให้ประชาชนแจ้งเหตุมีแอป Fondue อยู่แล้ว ก็คือให้ประชาชนแจ้งเหตุปัญหาต่างๆ ได้เลย แจ้งทุจริตคอร์รัปชัน สัปดาห์แรกมีแอปให้เห็นเลย บางโครงการระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ยิ่งโครงการระยะยาวต้องรีบทำวันแรกเพราะจะใช้เวลา แต่ละคนมีปัญหาต่างกัน 

 

วันก่อนไปลงพื้นที่เจอชาวบ้านด่าว่าพวกผู้ว่าฯ มา 4 ปีหน เห็นวันนี้อีก 4 ปีโผล่มาใหม่ 

 

อาจารย์ตอบว่าอย่างไร 

ผมยังไม่เคยเป็นผู้ว่าฯ นะ ถ้าเป็นก็เป็นผู้ว่าฯ สัญจรมาเจอทุกเขต เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง

 

แต่ก็ดีนะสะท้อนว่าชาวบ้านเขาเบื่อนักการเมือง 4 ปีก็มาที เราต้องไม่เป็นอย่างนั้น   

 

ถ้าไม่ได้เป็นผู้ว่าฯ จะทำอย่างไร 

เลิกการเมืองเลย พอแล้ว อายุ 55-56 ปีแล้ว โลกขาดเราได้ ประเทศขาดเราได้ คือการเมืองไม่จำเป็นต้องมีเราหรอก ถ้าประชาชนตัดสินใจแล้วว่าเราไม่เหมาะกับผู้ว่าฯ ผมว่าเราก็ควรจะมูฟออนไปที่อื่น อย่าไปยื้อ ก็มีงานเยอะแยะเลย แต่สิ่งแรกที่อาจจะทำคือไปงานรับปริญญาลูก แล้วก็เตรียมอนาคต แต่เชื่อว่าจะไม่ทิ้งชุมชน เพราะที่ผ่านมาก็ผูกพันกับชุมชนเยอะ อยากทำกิจกรรมที่ช่วยชุมชนด้วย ก็อาจจะหาอาชีพ ทำสตาร์ทอัพ 

 

ชีวิตคือแจ๊ส ไม่มีโน้ต ผลออกมาวันที่ 22 พฤษภาคม ก็ต้องอิมโพรไวส์อีก แต่นั่นคือความสนุกตื่นเต้น เราไม่กลัวเพราะเรามีจุดที่เราสะสมเอาไว้ เรามีทางเดินเยอะ เราไม่กลัว 

 

 

กทม. ถ้าอยู่ในมือผู้ว่าฯ ชัชชาติ อีก 4 ปีจะเป็นแบบไหน 

คือ 9 ด้านต้องดีขึ้นทุกด้าน ผมว่าความปลอดภัยเพิ่มขึ้น CCTV ไฟแสงสว่าง ทางฟุตปาธดีขึ้น สาธารณสุขต้องดีขึ้น หมอถึงบ้าน ศูนย์สาธารณสุขมีบริการที่ดีขึ้น สิ่งแวดล้อม ต้นไม้ 4 ปีต้องได้ล้านต้น สวนสาธารณะใกล้บ้าน โรงเรียนคุณภาพดีขึ้น การบริหารจัดการโปร่งใส ไม่มีคอร์รัปชัน ใช้ข้อมูลเทคโนโลยีให้มากขึ้น การเดินทางสะดวกขึ้น รถไฟฟ้าราคาถูกลง รถเมล์บริการเสริมมากขึ้น โครงสร้าง ท่อระบายน้ำถนนคุณภาพดีขึ้น

 

เศรษฐกิจ อันนี้คนลืมคิดเศรษฐกิจต้องดีขึ้นมี Strategy พัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาคให้ได้

 

คนรุ่นใหม่มีพื้นที่ในการสร้างสรรค์ สร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ Creative Economy ก็คือ 200 เรื่องที่สัญญาไว้ ต้องดีขึ้น

 

แตะชีวิตของพวกเราทุกคน ไม่ว่าด้านใดด้านหนึ่ง 

อยากจะบอกอะไรกับแฟนรายการและคน กทม.

9 ปีแล้วไม่ได้ออกไปเลือกตั้ง ก็ออกไปเลือกตั้งกัน ผมเชื่อว่าเรามีความมุ่งมั่นตั้งใจ ทีมงานเรามีความพร้อม นโยบายเราทำได้จริงไม่เพ้อฝัน ไม่ได้ใช้งบประมาณมาก และแตะชีวิตพวกเราทุกคน ก็ขอให้ออกไปเลือกตั้งเยอะๆ นะครับ เรามั่นใจว่าเรามีคำตอบที่ดี เลือกคนที่พวกเรามั่นใจ ไว้ใจ และผมว่าจะทำให้กรุงเทพฯ ดีขึ้นได้ครับ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising