เกิดอะไรขึ้น:
InnovestX Research ได้จัดทำบทวิเคราะห์พรีวิวผลประกอบการ 4Q66 ของ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) ซึ่งคาดว่าจะประกาศผลประกอบการวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567
โดยคาดว่า OSP จะรายงานกำไรสุทธิ 4Q66 ที่ 1.68 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 3%YoY และ 142%QoQ หากไม่รวมขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 20 ล้านบาท กำไรปกติ 4Q66 จะอยู่ที่ 1.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 2%YoY และ 136%QoQ โดยการเติบโต YoY ได้รับการสนับสนุนจากยอดขายและ EBIT Margin ที่ดีขึ้น ซึ่งมากเกินพอที่จะชดเชยดอกเบี้ยจ่ายที่สูงขึ้น ในขณะที่การปรับตัวเพิ่มขึ้น QoQ เกิดจากปัจจัยฤดูกาลและอัตราภาษีที่ลดลง
สำหรับยอดขาย 4Q66 ยอดขายน่าจะเติบโต 2%YoY สู่ 4.0 หมื่นล้านบาทจากกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ (MSC) ซึ่งคาดว่ายอดขายจะเติบโต 3.5%YoY จากการขยายสาขา (จำนวนสาขาไม่รวมร้านโดนใจ เพิ่มขึ้น 8%YoY และ 4%QoQ สู่ 1,962 สาขา ณ สิ้นปี 2566) SSS มีแนวโน้มหดตัว 0.5%YoY (เทียบกับเพิ่มขึ้น 6.1%YoY ใน 4Q65 และ 2.1%YoY ใน 3Q66) เนื่องจากยอดขายสินค้าที่ไม่ใช่อาหารที่ลดลง เพราะ Sentiment อ่อนแอ และยอดขายสินค้าอาหารสดที่ลดลงเพราะราคาเนื้อสัตว์ลดลง (ยอดขาย 2% เกิดจากสินค้าเนื้อสัตว์ หากไม่รวมผลกระทบจากราคาสินค้าอาหารที่ปรับตัวลดลง SSS ในกลุ่มสินค้าอาหารสดจะอยู่ในระดับทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย YoY) หักล้างยอดขายสินค้าอาหารแห้งที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ ยอดขายจากกลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ (PSC) น่าจะทรงตัว YoY เนื่องจากยอดขายบรรจุภัณฑ์แก้วที่ดีขึ้นในประเทศไทยจะช่วยชดเชยยอดขายกระป๋องอะลูมิเนียมที่ลดลงในประเทศเวียดนาม (45% ของการผลิตบรรจุภัณฑ์กระป๋อง) เนื่องจากเศรษฐกิจเวียดนามอ่อนแอ ยอดขายจากกลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภค (CSC) น่าจะลดลง 2%YoY เนื่องจากยอดขายกระดาษทิชชูที่ลดลงจะหักล้างยอดขายสินค้าอาหารและของใช้ส่วนตัวที่ดีขึ้น
ส่วนรายการอื่นๆ ใน 4Q66 อัตรากำไรขั้นต้นน่าจะเพิ่มขึ้นสู่ 20% เพิ่มขึ้น 120 bps YoY โดยได้รับการสนับสนุนจากมาร์จิ้นที่ดีขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่ม MSC (เพิ่มขึ้น 15 bps YoY) จากการบริหารจัดการสินค้าคงคลังและโลจิสติกส์ได้ดีขึ้น ประกอบกับการปรับปรุงประสิทธิภาพศูนย์กระจายสินค้า กลุ่ม PSC (เพิ่มขึ้น 500 bps YoY) จากต้นทุนก๊าซธรรมชาติและค่าไฟฟ้าที่ลดลง และต้นทุนวัตถุดิบแผ่นอะลูมิเนียมที่ลดลง รวมถึงกลุ่ม CSC (เพิ่มขึ้น 320 bps YoY) จากต้นทุนเยื่อกระดาษ น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันปาล์ม ที่ลดลง
EBIT Margin น่าจะเพิ่มขึ้นสู่ 8.4% เพิ่มขึ้น 30 bps YoY จาก
- อัตรากำไรขั้นต้นที่กว้างขึ้น
- การควบคุมอัตราส่วนค่าใช้จ่าย SG&A / ยอดขายได้ดีขึ้น โดยลดลงมาอยู่ที่ 20% (ลดลง 20 bps YoY) หลักๆ เกิดจากค่าไฟฟ้าที่ลดลง
- รายได้ค่าเช่าและรายได้อื่นที่อยู่ในระดับทรงตัว YoY (อัตราค่าเช่าและอัตราการเช่าที่ดีขึ้นหักล้างกับรายได้อื่นที่ลดลง) ดอกเบี้ยจ่ายน่าจะอยู่ที่ 1.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 13%YoY และ 3%QoQ จากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น อัตราภาษีที่แท้จริงน่าจะอยู่ที่ 1% (เทียบกับ 1% ใน 4Q65 และ 18% ใน 3Q66) โดยมีกำไรมากขึ้นในบริษัทที่มีผลขาดทุนทางภาษียกยอดมา
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น BJC ปรับลง 5.20% สู่ระดับ 23.70 บาท ขณะที่ SET Index ปรับลง 2.79% สู่ระดับ 1,376.28 จุด
แนวโน้มผลประกอบการปี 2567:
InnovestX Research ปรับประมาณการกำไรปี 2567 ลดลง 5% เพื่อสะท้อนดอกเบี้ยจ่ายที่สูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นใน 1Q67TD ซึ่งประเมินได้ว่า SSS หดตัวลง 2%YoY จากผลกระทบเชิงลบของปีปฏิทินจากเทศกาลตรุษจีน (เดือนกุมภาพันธ์ 2567 เทียบกับเดือนมกราคม 2566) โดยคาดว่ายอดขายจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของ 1Q67
ส่วน 1Q67 คาดว่ากำไรจะเติบโต YoY จากยอดขายและมาร์จิ้นที่ดีขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจหลัก แต่จะลดลง QoQ จากปัจจัยฤดูกาล
ปัจจุบันหุ้น BJC เทรดอยู่ในระดับที่น่าสนใจมากขึ้นที่ P/E ปี 2567 ระดับ 17.5 เท่า (-2 S.D. จาก P/E เฉลี่ย 10 ปี) ในขณะที่คาดว่ากำไรปี 2567 จะเติบโต 12%YoY และแนะนำ Outperform สำหรับ BJC โดยปรับราคาเป้าหมายกลางปี 2567 อ้างอิงวิธี DCF (WACC 7.2% และการเติบโตระยะยาว 2.5%) ใหม่เป็น 32 บาทต่อหุ้น (จาก 36 บาท) หลังจากปรับประมาณการกำไรปี 2567 ลดลง 5% เพื่อสะท้อนต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือ การเปลี่ยนแปลงในกำลังซื้อและต้นทุนที่สูงขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และนโยบายของรัฐบาลใหม่ ปัจจัยเสี่ยง ESG ที่สำคัญคือ การบริหารจัดการพลังงาน ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน (E) และแนวปฏิบัติด้านแรงงาน / การจ้างงาน (S)