×

จาก Bitcoin ถึง RS ไตรลักษณ์โลกธุรกิจปี 2018 ที่เราไม่มีวันลืม

28.12.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

12 MINS READ
  • THE STANDARD หยิบไฮไลต์ที่น่าสนใจของวงการธุรกิจในปี 2018 ที่ผ่านมา ตั้งแต่เรื่องเงินดิจิทัล การยกเลิกค่าธรรมเนียมธนาคาร และการปรับตัวทางธุรกิจของค่ายเพลงดัง
  • ไม่มีใครเป็นผู้ชนะในเกมไปได้ตลอด ในยุคปัจจุบันเกิดสิ่งที่เหนือความคาดหมายอยู่เสมอ โจทย์ที่สำคัญคือ จะก้าวต่อไปข้างหน้าหรือถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

ปี 2018 ผ่านไปอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงของวงการธุรกิจที่ปรับตัวอยู่ตลอดเวลา บางองค์กรยังคงวิ่งไปข้างหน้าเต็มฝีเท้า เพียงเพื่อให้ทันกับหางขบวนของการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) ที่เคลื่อนที่ด้วยอัตราเร่งทวีคูณ หลายองค์กรที่ไล่ตามไม่ทันก็ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และกลายเป็นเรื่องเล่าที่จะจางหายไปเท่านั้น

 

ไม่มีใครอยากถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แต่ประชากรกลุ่มนี้กลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 

ปีที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์สำคัญในโลกธุรกิจหลายประการ ทีมข่าว THE STANDARD เลือกไฮไลต์สำคัญที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนเกมหรือความพลิกผันที่ไม่คาดคิดมาเรียงร้อยกับหลักคิด ‘เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป’ ความจริงอันเป็นนิรันดร์ที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ผ่านบทความนี้

 

อนิจจัง: ใดใดในโลกล้วนไม่เที่ยง สวรรค์ Bitcoin ล่ม จากสูงสุดสู่ความจริง

 

Photo: shutterstocks

 

เงินดิจิทัลหรือคริปโตเคอเรนซี คือหนึ่งในหัวข้อที่ร้อนแรงที่สุดต่อเนื่องจากสิ้นปี 2017 ถึงต้นปี 2018 ด้วยกระแสขาขึ้นของราคาบิตคอยน์ที่นักลงทุนบางคนคาดการณ์ว่า ราคาจะกระโดดถึง 2 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 6.6 แสนบาทต่อ 1 บิตคอยน์ ซึ่งสิ่งนั้นไม่เคยเกิดขึ้น และผลลัพธ์ยังสวนทางจนแมลงเม่าผู้แสวงหากำไรได้แต่อ้าปากค้าง

 

วันที่ 1 มกราคม 2018 ราคาบิตคอยน์ยังลงต่อเนื่องที่ 13,480 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 บิตคอยน์ หลังจากที่เคยทะยานไปได้ถึง 19,650 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2017 และปรับลดลงจนหลุดระดับ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงปลายเดือนมกราคม สถานการณ์เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือในเวลาเพียง 45 วันเท่านั้น ไม่เพียงแต่บิตคอยน์ ราคาของเงินดิจิทัลสกุลอื่นๆ ก็พากันปรับตัวลดลงตามไปด้วยเช่นกัน กระนั้นก็ยังมีผู้ให้ความเห็นว่า เป็นการปรับตัวของตลาดหลังจากที่ถูกเก็งกำไรอย่างหนัก และเชื่อว่าราคาบิตคอยน์จะใกล้เคียงกับความต้องการที่แท้จริงที่ 7 พันดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 บิตคอยน์

 

แต่สถานการณ์ไม่เป็นเช่นนั้น

 

ราคาของบิตคอยน์ดิ่งลงทะลุระดับ 7,000 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ 6,905 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 บิตคอยน์ ก่อนที่จะดีดตัวแรงขึ้นกลับไปยืนเหนือระดับ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐได้ในช่วงกลางเดือน และไต่ระดับไปถึง 11,377 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 บิตคอยน์ได้ในต้นเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นระดับราคาสุดท้ายของปี 2018 ที่ทำให้ผู้ที่ถือครองยิ้มได้ แม้เพียงชั่วคราวก็ยังดี

 

ฝันร้ายของเงินดิจิทัลก่อตัวชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เหมือนเมฆดำในช่วงมรสุม รัฐบาล ธนาคารกลาง หน่วยงานด้านตลาดเงิน ตลาดทุนของประเทศมหาอำนาจ ทั้งสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ ต่างประกาศมาตรการและการดำเนินการที่เข้มงวดมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อการแลกเปลี่ยน เคลื่อนย้าย และอีกหลายกิจกรรมของผู้ถือเงินดิจิทัลสกุลต่างๆ ด้วยเหตุผลสำคัญด้านความมั่นคง การฟอกเงิน และการกระทำที่ผิดกฎหมายผ่านช่องทางของเงินสกุลดิจิทัลที่ยากจะติดตามเส้นทางธุรกรรม เนื่องจากไม่ผ่านระบบตัวกลางเหมือนกันแบบสกุลเงินในระบบการเงินที่ใช้ในปัจจุบัน

 

Photo: shutterstocks

 

ความกังวลต่อสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนของนักลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ราคาบิตคอยน์มีจังหวะที่ดีดกลับบ้างในเดือนพฤษภาคมและกรกฎาคม แต่ไม่เคยกลับไปจุดสูงสุดได้อีกเลย จากนั้นขยับในกรอบแคบที่ระดับกว่า 6 พันดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 บิตคอยน์ในเดือนตุลาคมจนถึงกลางเดือนพฤศจิกายน บางส่วนเชื่อว่านี่คือจุดดุลยภาพ (Equilibrium) ของมันแล้ว แต่ราคากลับปรับตัวลดลงแรงอีกครั้ง จนแตะจุดต่ำสุดที่ 3,195 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

 

หากเปรียบเทียบจุดสูงสุดเมื่อช่วงเวลาเดียวกันที่บิตคอยน์ทะยานไปแตะเกือบ 2 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ กับจุดต่ำสุดนับจากที่ปรับตัวลดลงมา เท่ากับมูลค่าหายไปเกือบ 84% หากคิดแบบสุดโต่งคือ มีนักลงทุนที่กัดฟันถือเอาไว้ไม่ยอมตัดขาย เพื่อหนีขาดทุน (Cut Loss) ถ้าซื้อบิตคอยน์เมื่อ 1 ปีที่แล้ว 1 ล้านบาท ขณะนี้จะเหลือมูลค่าราว 1.6 แสนบาทเท่านั้น ซึ่งนักลงทุนที่พากันเข้าซื้อเมื่อราคายังสูงมีจำนวนมาก และอาจลงทุนเป็นสิบหรือร้อยล้านบาท จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ตลาดนี้ก้าวข้ามเรื่องการเก็งกำไรและการบาดเจ็บล้มตายของนักแสวงโชคไปไม่พ้น

 

ในช่วงปลายปี 2018 ราคาของบิตคอยน์ขยับไม่หวือหวานัก มีนักวิเคราะห์บางรายประเมินว่า ราคาจะตกลงไปอีกจนหลุด 3 พันดอลลาร์สหรัฐในระยะสั้นนี้ สาเหตุที่เงินดิจิทัลอันลือเลื่องนี้ราคาตกหัวทิ่มไม่เหลือฟอร์มภายในเวลาเพียงปีเดียว เป็นที่ถกเถียงกันทั่วโลกในมุมที่แตกต่างกันออกไป ความเห็นที่มีต่อเงินดิจิทัลยังถูกประเมินจากเส้นขนานที่บรรจบกันได้ยากระหว่างผู้ที่เชื่อในการปฏิวัติของระบบกระจายศูนย์ (Decentralization) ที่จะพังทลายข้อจำกัดของระบบตัวกลางลง และกลุ่มผู้กำกับดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินที่ยังเห็นความเสี่ยงบางประการที่ไม่อาจปล่อยผ่านไปได้แม้แต่ก้าวเดียว

 

Photo: shutterstocks

 

สำนักข่าว THE STANDARD ไม่มีความเห็นที่เฉพาะเจาะจงต่อเรื่องดังกล่าว แต่สิ่งที่สะท้อนและเห็นตรงกันคือ ความไม่แน่นอนของสรรพสิ่ง จากสินทรัพย์ดิจิทัลที่เคยร้อนแรงจนบางคนเชื่อว่าจะเปลี่ยนโลก กลายเป็น ‘ตัวเลือก’ ความเสี่ยงสูงที่ถูกประเมินอย่างหวาดหวั่นโดยมายาคติของการเก็งกำไร ไม่มีใครรู้ว่าราคาของบิตคอยน์จะดีดกลับทะยานเหนือ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐอีกหรือไม่ และใช้เวลาเท่าไร แต่ 1 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นบทเรียนที่ดีให้กับนักลงทุน ตอกย้ำหลักการเดิมเสมอคือ ควรลงทุนในสิ่งที่เราได้เรียนรู้และเข้าใจจริงเท่านั้น

 

‘คำเตือน: การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน’

 

ทุกขัง: เรื่องร้อนใจของธนาคารพาณิชย์ โบกมือลาค่าธรรมเนียมทั้งน้ำตา

 

‘งก ช้า ห่วย’

 

คือสิ่งที่อยู่ในใจของผู้บริโภคมาช้านาน ธนา เธียรอัจฉริยะ Chief Marketing Officer ของธนาคารไทยพาณิชย์หยิบประเด็นโดนใจนี้ขึ้นมาตีแผ่ และเลือกที่จะฉีกทุกกฎของวงการธนาคาร เพื่อก้าวต่อไปของโลกการเงินบทใหม่

 

 

เติบโตหรือจะตายอยู่ตรงนี้

 

ภาพของผู้คนที่แน่นขนัดในสาขาธนาคาร ค่าธรรมเนียมในการโอนเงินที่แพงแสนแพง และความเบื่อหน่ายของผู้ใช้บริการที่ต้องรอคิวยาวเหยียด เป็นความคุ้นเคยที่เราจดจำได้ดี และภาพนั้นก็เกิดขึ้นต่อเนื่องนานนับหลายทศวรรษ เมื่อเกิด Digital Disruption ขึ้น ก็สั่นคลอนไปทั้งโลก ปลุก ‘เสือนอนกิน’ ทั้งหลายให้ตื่นและต้องหันมาปรับตัวครั้งใหญ่ก่อนที่จะสายเกินไป

 

รายได้จากค่าธรรมเนียมธุรกรรมการเงินถือเป็นถุงเงินถุงทองของธนาคารพาณิชย์มาช้านาน เป็นองค์ประกอบสำคัญหนึ่งของกลุ่มรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย และทำให้ตัวเลขกำไรยังงดงามเป็นที่น่าพอใจเสมอมา จนเมื่อการเปลี่ยนแปลงมาถึง ทุกธนาคารต่างต้องการชิงชัยในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม (Platform Economy) ของโลกยุค 4.0 การสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคเข้ามาใช้งานและใช้ชีวิตอยู่ในระบบนิเวศบนแอปพลิเคชันของตน คือภารกิจสูงสุดที่ต้องทำ

 

การรุกคืบของแพลตฟอร์มต่างชาติที่เติบโตจากกระแสของอีคอมเมิร์ซร้อนแรงเกินกว่าที่ใครจะต้านทานได้ ตอกย้ำการเข้าชิงพื้นที่ของกลุ่มนอนแบงก์ที่เริ่มต้นจากบริการชำระเงิน และเริ่มขยายไปถึงการให้บริการสินเชื่อและบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ สิ่งเหล่านี้ทำให้กลุ่มธนาคารไทยไม่อาจวางใจได้ เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่คาดเสมอ ด้วยการผลักดันของเทคโนโลยีที่พัฒนาแบบก้าวกระโดด หากยังคงย่ำอยู่กับที่และกอดกองเงินกองทองที่เคยมีไว้เฉยๆ สักวันเมื่อ ‘ประตูบ้าน’ เปิด ธุรกิจก็อาจสั่นคลอนได้จากผู้เล่นหน้าใหม่นอกอุตสาหกรรมที่คิดนอกกรอบกว่า คิดได้เร็วกว่า และทำได้เร็วกว่า

 

และกลุ่มธนาคารไทยก็เขียนประวัติศาสตร์ใหม่ที่ไม่มีใครคาดคิดขึ้น

 

ธนาคารไทยพาณิชย์ประกาศแถลงข่าวใหญ่วันพุธที่ 28 มีนาคม 2561 ก่อนหน้านั้นมีข่าวเล็ดลอดออกมาเรื่องการทุบหม้อข้าว ยกเลิกค่าธรรมเนียม และทุกสายตาต่างใจจดจ่อไปที่งานแถลงข่าวในวันนั้น สิ่งที่แบงก์สีม่วงไม่คาดคิดคือ ก่อนวันงานเพียง 2 วัน ธนาคารกสิกรไทยประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมบนช่องทางดิจิทัล ทั้งโมบายแบงกิ้งและออนไลน์แบงกิ้ง แม้จะเป็นการประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมถึงสิ้นปี 2561 แต่ก็ถือเป็นการปาดหน้าเค้ก ชิงพื้นที่สื่อที่ไม่ธรรมดา

 

ไม่เหนือความคาดหมาย ธนาคารไทยพาณิชย์ประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินต่างสาขา โอนเงินข้ามธนาคาร เติมเงินมือถือ และจ่ายบิล เป็นการยกเลิกแบบ ‘ตลอดกาล’ พร้อมเปิดตัวมานี ‘เบลล่า ราณี’ ดาราสาวที่กำลังโด่งดังเป็นพลุแตกจากละคร บุพเพสันนิวาส ในเวลานั้นด้วย เปิดฉากเกมรบธุรกิจธนาคารเพื่อปลดแอกวงจร ‘งก ช้า ห่วย’ และผลักดันธุรกรรมทางการเงินบนมือถืออย่างเต็มตัว

 

 

แต่เกมนี้ไม่ง่ายเลย ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่ธนาคารไทยพาณิชย์แถลงข่าว ช่วงเย็นวันเดียวกัน ธนาคารกสิกรไทยก็ทิ้งไพ่เดิมพันหมดหน้าตัก ประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมจากตลอดปี 2561 เป็น ‘ตลอดไป’ เช่นเดียวกัน ไม่ยอมให้เกิดช่วงสุญญากาศในใจของลูกค้า และไม่ปล่อยให้ธนาคารไทยพาณิชย์เป็น Talk of the town อยู่คนเดียว

 

ภายในสัปดาห์นั้น บรรดาธนาคารพาณิชย์แบรนด์อื่นๆ ต่างก็พากันประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมตามด้วยเช่นกัน แม้ในทางเทคนิค การโอนเงินในรูปแบบเดิมที่เคยใช้กันในระบบธนาคารกับการโอนเงินในรูปแบบใหม่บนช่องทางดิจิทัลมีช่องทางและต้นทุนที่แตกต่างกัน แต่ก็ถือเป็นเรื่องหลังบ้าน สิ่งที่ผู้บริโภครับรู้คือ การทำธุรกรรมที่ฟรีทั้งค่าธรรมเนียมโดยไร้กังวล

 

และการแข่งขันชิงพื้นที่ของโมบายแบงกิ้งก็รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ มาจนถึงวินาทีนี้

 

จากข้อมูลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ไทยไตรมาส 3/2561 โดยธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิของธนาคารไทยขนาดใหญ่อยู่ที่ 1.75 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยธนาคารละ 7.6 พันล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 1.84 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยธนาคารละ 7.87 พันล้านบาท เมื่อพิจารณาเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิของธนาคารขนาดใหญ่นับจากช่วงการประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมโดยรวมไตรมาส 2 และ 3 ของปีนี้จะอยู่ที่ 2.96 หมื่นล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่ 3.05 หมื่นล้านบาท

 

Photo: shutterstocks

 

แม้รายได้จากค่าธรรมเนียมส่วนที่หายไปจะเป็นสัดส่วนเล็กน้อยเมื่อเทียบกับรายได้ส่วนอื่นๆ ของธนาคาร แต่ก็ถือเป็นการสร้างบรรยากาศการแข่งขันที่ดีของอุตสาหกรรมนี้ เพื่อผลประโยชน์ของผู้บริโภคที่เป็นรูปธรรมที่สุดครั้งหนึ่ง ด้วยแรงกดดันของการเปลี่ยนแปลง ทำให้อุตสาหกรรมการเงินไทยไม่อาจทนอยู่แบบเดิมๆ ได้อีกต่อไป และความร้อนอกร้อนใจก็เป็นจุดเปลี่ยนให้บรรดายักษ์ใหญ่ทั้งหลายได้ตื่นขึ้นมาพบกับความจริง

 

ตราบที่ยังอยู่ในวัฏสงสารก็ยังมีทุกข์รออยู่ข้างหน้า และมีปัญหาให้แก้เสมอ เช่นเดียวกับการต่อสู้ไม่รู้จบของธนาคารพาณิชย์นั่นเอง

 

อนัตตา: ไม่ใช่ของเรา ไม่มีตัวเรา ก้าวใหม่ของ RS จากค่ายเพลงสู่ขายครีม

 

‘RS จะปิดปี (2561) ด้วยกำไร All Time High นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท 37 ปี’

 

 

เป็นข้อความจากทวิตเตอร์ของ เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS ที่ทำให้คนในวงการธุรกิจหันมามองค้อนขวับและนึกอิจฉา ในวันที่วงการสื่ออยู่ในจุดที่เปราะบางและสุ่มเสี่ยงมากที่สุด

 

ช่องทีวีดิจิทัลทั้งหลายเดินไปข้างหน้าด้วยความหวาดหวั่น บรรดาสิ่งพิมพ์ยังทยอยปิดตัวต่อเนื่อง แต่ RS กลับมีรายได้ดีถึงขั้นผู้นำองค์กรออกมาประกาศกำไรครั้งประวัติศาสตร์อย่างมั่นใจ ไม่ใช่เรื่องธรรมดา

 

เพราะ RS จะไม่ใช่ธุรกิจสื่ออีกต่อไปแล้ว

 

ภาพจำของ RS คือคู่แข่งตลอดการของ GMM Grammy ในฐานะค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของไทยที่เปิดตัวศิลปินหน้าใหม่อยู่ตลอดเวลา ความฝันยุคป๊อปคัลเจอร์ของวัยรุ่นไทย คือการได้ส่งเดโมเทปเพื่อให้สองค่ายเพลงได้พิจารณา และก้าวสู่ฝั่งฝันด้วย การเป็นนักร้องเต็มอาชีพที่มียอดขายเทปล้านตลับ

 

 

สิ่งเหล่านั้นเป็นแค่ภาพจำและเรื่องเล่า เช่นเดียวกับตัวเทปคาสเซตต์ไปแล้ว

 

หลังจากอินเทอร์เน็ตและโลกาภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คน ศัตรูตัวฉกาจของค่ายเพลงคือ เทปผี ซีดีเถื่อน และไฟล์เพลงละเมิดลิขสิทธิ์ ที่แพร่ขยายรวดเร็วและไม่มีใครควบคุมได้ แม้จะพยายามผลักดันเรื่องสตรีมมิงของตนเอง แต่ก็ไม่ได้ช่วยฉุดรั้งวงการเพลงไทยที่กำลังทรุดลงได้เท่าไรนัก ธุรกิจเพลงที่เคยเป็นรายได้สำคัญของบรรดาค่ายเพลงก็หมดความขลัง แต่ละแห่งเริ่มผลักดันการขายโชว์และอีเวนต์ที่ทำเงินดีกว่าแทนการผลิตศิลปินหน้าใหม่ๆ

 

เมื่อเกิดอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลในปี 2014 ทั้งสองค่ายเพลงต่างก็เป็นธุรกิจสื่อที่มีแพลตฟอร์มเป็นของตนเอง นั่นคือช่อง GMM 25 และ One ของ Grammy ส่วน RS ก็มีช่อง 8 อยู่ในมือ และลุยศึกวงการโทรทัศน์ด้วยความฝันอันยิ่งใหญ่ จนเมื่อเวลาผ่านไป ทุกบริษัทต่างฝันค้าง และพบว่า ธุรกิจนี้อยู่ในช่วงขาลง ขาดทุนหนักจนบางรายต้องเปลี่ยนมือเจ้าของ บางรายก็ยุติการดำเนินการ ขณะที่เม็ดเงินที่เคยเป็นกอบเป็นกำจากผู้สนับสนุนรายการก็ไหลออกไปที่สื่อประเภทอื่นที่ราคาถูกกว่า และมีประสิทธิภาพในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากกว่าอย่างสื่อออนไลน์

 

สิ่งที่เกิดกับวงการสื่อในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาคือ Digital Disruption ของจริง

 

เฮียฮ้อคิดทำธุรกิจสุขภาพและความงามตั้งแต่ปี 2014 แล้ว โดยนำร่องขายก่อนช่วงครึ่งปีหลัง จนมียอดขายกว่า 1 ล้านบาท และเริ่มมั่นใจ จากนั้นจึงประกาศเดินหน้าธุรกิจ ‘Lifestar’ ในปี 2015 รายได้จากการขายเครื่องสำอางโดยใช้ช่องทางของสื่อที่มีในมือเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด จนปี 2016 มีรายได้จากธุรกิจสุขภาพและความงามราว 228 ล้านบาท มีกำไรขั้นต้นถึง 169 ล้านบาท ปี 2017 รายได้จากธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นเกือบแตะ 1.4 พันล้านบาท มีกำไรขั้นต้นถึง 922 ล้านบาท

 

ยอดขายเพิ่ม 6 เท่าตัวในปีเดียว และกำไรขั้นต้นสูงถึง 66%

 

จากงบการเงินที่ RS รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไตรมาส 3/2561 พบว่า มีรายได้ 2.87 พันล้านบาท มีกำไร 380 ล้านบาท อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) เท่ากับ 29.95 เฮียฮ้อยังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดด้วยสัดส่วน 34.76% โดยในปีหน้าบริษัทจะมุ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจพาณิชย์ คาดว่า หลังจากปิดงบการเงินปี 2561 ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 จะเตรียมยื่นเรื่องต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเปลี่ยนจากหมวดธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์เป็นการค้าพาณิชย์อย่างเต็มตัว RS ประกาศสัดส่วนรายได้ในปี 2562 โดยตั้งเป้าว่า การขายสินค้าหรือพาณิชย์หลายช่องทางจะขยับมาเป็นรายได้ส่วนใหญ่ถึง 60% รองลงมาคือรายได้จากธุรกิจสื่อประมาณ 30% และรายได้จากธุรกิจเพลงและอีเวนต์อีก 10%

 

ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว

 

สำนักข่าว THE STANDARD ไม่ขอตีความเรื่องอนัตตาในเชิงธุรกิจ เนื่องจากหลักธรรมะเป็นองค์ความรู้ขั้นสูงสุดที่ยากจะนำมาเปรียบเทียบ สิ่งที่สะท้อนเรื่องนี้คือ การละทิ้งของเก่าที่เคยยึดถือของเฮียฮ้อ และ RS ไปสู่สิ่งใหม่ แทนการล่มสลายเพราะยึดติดกับความสำเร็จเดิมๆ จากวงการเพลงและธุรกิจสื่อ ไม่มีใครเดาได้ว่าในใจเฮียฮ้อคิดอะไรกันแน่ หากแต่ RS สะท้อนเรื่องการปรับตัวทางธุรกิจได้ดีทีเดียว ทุกสิ่งล้วนเป็นของชั่วคราว เมื่อถึงเวลาปล่อยก็ต้องปล่อย สิ่งที่สำคัญคือ การพาองค์กรไปต่อข้างหน้าให้ได้ และนี่คือที่มาของกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์เกือบ 4 ทศวรรษของ RS

 

ปี 2018 มอบบทเรียนและโจทย์ข้อถัดไปให้กับโลกธุรกิจ การเงิน และการลงทุน มรสุมจากมวลมหาพายุแห่งดิจิทัล (Perfect Storm) ยังคงอยู่ จำนวนคนที่ก้าวต่อไปข้างหน้าเริ่มพอๆ กับจำนวนคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนเคยอยู่ในระนาบเดียวกันทั้งหมด และแนวโน้มของคนกลุ่มหลังจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่พิลึกพิลั่นมากขนาดไหน ทุกอย่างยังคงดำเนินภายใต้หลักไตรลักษณ์เสมอ ไม่มีอะไรที่แน่นอน ไม่มีใครที่จะแน่ไปได้ตลอด

 

คนที่หยุดเรียนรู้และปรับตัว คือคนที่ตายไปแล้ว

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X