การเคลื่อนไหวของบิตคอยน์เมื่อคืนนี้ (2 มีนาคม) เริ่มมีแรงขายออกมาอีกครั้ง และลงไปอยู่ระดับต่ำสุดของวันที่ระดับ 47,158 ดอลลาร์ หลังจากที่ แกรี่ เจนส์เลอร์ ว่าที่ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของสหรัฐฯ (SEC) แสดงจุดยืนหนักแน่นในการกวาดล้างการฉ้อโกง หลอกลวง และการจงใจปั่นราคาในตลาดคริปโตเคอร์เรนซี กลายเป็นการส่งสัญญาณที่ SEC จะดำเนินการกำกับดูแลการซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลอย่างเข้มงวด
ท่าทีดังกล่าวมีขึ้นระหว่างที่ตัวเขาขึ้นแสดงวิสัยทัศน์ต่อวุฒิสภา เพื่อยืนยันการเข้ารับตำแหน่งประธาน SEC นี้ ส่งผลให้บิตคอยน์ สกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซีที่มีมูลค่าที่ใหญ่ที่สุดในตลาด ปรับตัวลดลงมาถึง 3% มาอยู่ที่ 47,341 ดอลลาร์สหรัฐในตลาดนิวยอร์ก หลังจากที่สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้น 65% นับตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา
ส่วนสถานการณ์ตลาดหุ้น Wall Street เมื่อคืนที่ผ่านมา ปิดตลาดปรับตัวในแดนลบ โดยนักลงทุนในตลาดต่างเฝ้าจับตามองผลการพิจารณาหารือของวุฒิสภาเพื่อรับรองมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐของประธานาธิบดี โจ ไบเดน
โดยดัชนีอุตสาหกรรม Dow Jones ลดลง 143.99 จุด (0.46%) ปิดที่ 31,391.52 จุด ดัชนี S&P 500 ลดลง 31.53 จุด (0.81%) ปิดที่ 3,870.29 จุด และดัชนี Nasdaq Composite ลดลง 230.04 จุด (1.69%) ปิดที่ 13,358.79 จุด
ทั้งนี้ นักลงทุนต่างโยกย้ายการลงทุนจากหุ้นในกลุ่มพลังงานและหุ้นที่ทำผลงานได้ดีระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19 ไปสู่หุ้นกลุ่มอื่นๆ ที่มีแนวโน้มจะทำงานผลงานได้ดีในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว รับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ของรัฐบาลสหรัฐฯ
ขณะที่สถานการณ์ในตลาดพันธบัตรเริ่มคลี่คลาย โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวลดลงจาก 1.44% มาอยู่ที่ 1.41% หลังปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จนทำนักลงทุนหวั่นใจว่าอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้นจะสั่นคลอนเสถียรภาพของตลาด
ด้านราคาน้ำมันขยับลงเล็กน้อย โดยสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสงวดส่งมอบเดือนเมษายน ลดลง 89 เซ็นต์ ปิดที่ 59.75 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ด้านราคาน้ำมันดิบเบรนต์งวดส่งมอบเดือนเมษายน ลดลง 99 เซ็นต์ ปิดที่ 62.70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
แม้จะปรับตัวลดลง แต่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกอย่างโอเปก ระบุว่า ยังคงมีมุมมองทางบวกต่อตลาดน้ำมัน โดย โมฮัมหมัด บาร์กินโด เลขาธิการกลุ่มโอเปก ระบุว่า แนวโน้มที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันก็ยังไม่อาจวางใจได้ ตราบใดที่ปัญหาโควิด-19 ยังไม่หมดไป
ความเห็นดังกล่าวมีขึ้นก่อนหน้ากำหนดการประชุมโอเปกพลัสในวันที่ 4 มีนาคมนี้ โดยหลายฝ่ายคาดหมายว่า โอเปกพลัสอาจพิจารณาเปิดทางให้มีการปรับเพิ่มกำลังผลิตป้อนน้ำมันดิบกลับสู่ตลาด 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- https://apnews.com/article/financial-markets-australia-seoul-tokyo-hong-kong-14021e11828575e4bf6a67c92b1249ae
- https://www.channelnewsasia.com/news/business/opec-sees-positive-oil-market-outlook-but-downside-risks-persist-14316956
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-03-02/bitcoin-falls-after-gensler-says-sec-must-root-out-crypto-fraud