ในไตรมาส 2 ปี 2022 ราคา Bitcoin ดิ่งลง 58% และการที่เหรียญคริปโตเคอร์เรนซีเบอร์หนึ่งของโลกดิ่งลงต่อเนื่อง ได้ฉุดให้มูลค่าของตลาดคริปโตโดยรวมหายไปราว 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ ล่าสุดราคาของ Bitcoin ได้ปรับตัวลดลงมาต่ำกว่า 20,000 ดอลลาร์อีกครั้ง
การดิ่งลงอย่างหนักของตลาดคริปโตเป็นผลมาจากหลากหลายปัจจัยลบที่ถาโถมเข้ามา ซึ่ง CNBC ได้รวบรวม 5 สาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการดิ่งลงในรอบนี้
- แรงกดดันจากเศรษฐกิจโลก ระหว่างไตรมาสที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ ตัดสินใจเร่งขึ้นดอกเบี้ยถึง 2 ครั้งเพื่อหวังควบคุมเงินเฟ้อ ส่งผลให้เกิดความหวาดกลัวว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย
ความหวาดกลัวดังกล่าวส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นโดยตรง โดยเฉพาะกลุ่มหุ้นเทคโนโลยีที่เติบโตสูง สะท้อนได้จากดัชนี Nasdaq ที่ลดลงถึง 22.4% ในไตรมาสที่ผ่านมา ถือเป็นไตรมาสที่ดัชนีลดลงมากสุดนับแต่ปี 2008
ขณะที่ราคา Bitcoin เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ เป็นอย่างมากในระยะหลัง ก็ถูกเทขายออกมาเช่นเดียวกับตลาดหุ้น
- การล่มสลายของ TerraUSD
TerraUSD หรือ UST เหรียญ Stablecoin ประเภท Algorithmic และเหรียญในเครือเดียวกันอย่าง LUNA ได้ล่มสลายลงหลังจากที่ไม่สามารถจะตรึงมูลค่าของตัวเองไว้ที่ 1 ดอลลาร์ต่อ 1 UST ตามที่ตั้งใจไว้
การที่ UST และ LUNA ซึ่งเคยเป็น 2 ใน 10 เหรียญคริปโตที่ใหญ่ที่สุดในโลก สูญเสียมูลค่าไปจนเกือบหมด ส่งผลให้ตลาดคริปโตปั่นป่วนอย่างหนัก และส่งผลกระทบต่อเป็นลูกโซ่ไปยังกองทุนต่างๆ ที่ถือครอง UST และ LUNA อยู่ก่อนหน้านี้
- Celsius หยุดให้ผู้ลงทุนถอนเงิน
Celsius หนึ่งในแพลตฟอร์มให้บริการกู้ยืมและรับฝากคริปโตชื่อดังของโลก ประกาศหยุดให้ผู้ใช้งานถอนสินทรัพย์เป็นการชั่วคราวเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ Celsius เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางผ่านข้อเสนอที่ให้ผลตอบแทนกว่า 18% ต่อปี สำหรับผู้ที่ฝากคริปโตกับบริษัท หลังจากนั้นบริษัทได้นำคริปโตที่รับฝากนี้ไปปล่อยกู้ให้กับผู้ที่สนใจ
Celsius อ้างว่าการตัดสินใจหยุดพักธุรกรรมทั้งหมดนี้ เป็นผลจากความผันผวนของตลาดคริปโต
- กองทุนคริปโตอย่าง Three Arrows Capital ล้มละลาย
Three Arrows Capital เป็นเฮดจ์ฟันด์ที่เน้นลงทุนในคริปโต โดยก่อตั้งมานานถึง 1 ทศวรรษ โดยสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการล้มละลายครั้งนี้ก็เป็นผลกระทบจากเหรียญ UST และ LUNA
โดย Three Arrows Capital ไม่สามารถที่จะชำระคืนเงินกู้ที่ยืมมาจาก Voyager Digital จำนวน 660 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้กองทุนต้องล้มลงในที่สุด
- ศูนย์ซื้อขายคริปโต CoinFLEX ห้ามไม่ให้ผู้ลงทุนถอนเงินชั่วคราว
โดยเหตุผลที่ CoinFLEX ให้ไว้ก็คือเรื่องของความผันผวนของตลาดคริปโตเช่นเดียวกับ Celsius โดย CoinFLEX บอกว่า นักลงทุนรายใหญ่ของบริษัทอย่าง Roger Ver เป็นหนี้บริษัทอยู่ถึง 47 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม Ver ได้ออกมาปฏิเสธว่าเขาไม่ได้ติดหนี้ CoinFLEX อยู่แต่อย่างใด หลังจากนั้น CoinFLEX ตัดสินใจออกดิจิทัลโทเคนชื่อ Recovery Value USD หรือ rvUSD เพื่อระดมทุน 47 ล้านดอลลาร์ และจะทำให้บริษัทสามารถเปิดให้นักลงทุนถอนเงินได้อีกครั้ง ทั้งนี้ บริษัทได้เสนอผลตอบแทน 20% ต่อปี ให้กับนักลงทุนที่ต้องการซื้อและถือ rvUSD โทเคน
อ้างอิง: