×

แม้ไม่ฉุดคร่าไม่ได้แปลว่าไม่ใช่ข่มขืน

โดย คำ ผกา
15.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • มีการถกเถียงเกี่ยวกับการข่มขืน โดยปัญหาหลักๆ คือ หากต้องร่วมเพศกับคนที่เราไม่เต็มใจ แต่ร่างกายมีการตอบสนองถึงความพึงใจต่อการร่วมเพศนั้น การขืนใจให้เกิดการร่วมเพศนี้จะเรียกว่าการข่มขืนหรือไม่?
  • การจับมือถือแขน การจูบ นำไปสู่ความเข้าใจว่าหมายถึงใบอนุญาต มีเพศสัมพันธ์ – ซึ่งต้องบอกแก่ทุกคนในที่นี้ว่า ‘ไม่ใช่’ เมื่อจูบ แปลว่า จูบ ไม่ใช่การออกใบอนุญาตให้มีกิจกรรมที่เลยเถิดไปกว่านั้น และเมื่อผู้หญิงพูดว่า ‘ไม่’ ไม่ได้หมายถึงการออกบัตรเชิญ ไม่ต้องถอดรหัสว่า การขัดขืนของผู้หญิงคือ ‘การยั่วยวน’ หรือ แสร้งขัดขืนเพื่อให้ผู้ชายง้อ
  • วัฒนธรรมการข่มขืน ไม่เพียงแต่ไม่ตั้งคำถามต่อบทบาทเชิงรุกของผู้ชายในเรื่องเพศ แต่ยังเชื่อว่า การข่มขืนเป็นสิทธิของผู้ชายที่อ้างอิงอยู่กับบทบาทเชิงรุกของพวกเขา และถ้าผู้หญิงไม่อยากถูกข่มขืน พวกเธอจงประพฤติตนอยู่ใน ‘กรอบ’ และ ‘กติกา’ ที่สังคม ‘กำหนด’ เอาไว้

     ประมาณหนึ่งเดือนที่ผ่านมา มีการถกเถียงในแวดวงนักกิจกรรมทางการเมือง เจอนัลลิสต์ และผู้สนใจในประเด็นเฟมินิสต์เกี่ยวกับการข่มขืน

     ฉันติดตามการถกเถียงอยู่ห่างๆ ประเด็นที่เป็นปัญหาหลักๆ คือ หากเราต้องร่วมเพศกับใครสักคนที่เราไม่เต็มใจ แต่ร่างกายของเรามีการตอบสนองที่ส่งสัญญาณได้ว่า เรามีความพึงใจต่อการร่วมเพศนั้น การขืนใจให้เกิดการร่วมเพศนี้จะเรียกว่าการข่มขืนหรือไม่?

     เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเราคุ้นเคยกับคำว่า Date rape มาแล้วเป็นอย่างดี หรือแม้แต่กฎหมายไทย หากสามีขืนใจภรรยาให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย ก็ถือเป็นการข่มขืน ดังนั้นการร่วมเพศใดๆ ที่เกิดจากการไม่ยินยอมพร้อมใจของอีกฝ่ายหนึ่ง ย่อมนับเป็นการข่มขืนทั้งสิ้น

     หากพูดกันในทางทฤษฎีมันไม่มีอะไรซับซ้อน แต่หากลงไปพิจารณากรณีต่อกรณี เราจะพบรายละเอียดที่ทำให้เราต้องเผชิญหน้ากับความกำกวมของคำว่า ข่มขืน

     ฉันจะเล่าเรื่องหนึ่งให้ฟัง และเชื่อว่ามีผู้หญิงเยอะมากที่มีประสบการณ์เช่นนี้

     เมื่อเรียนมหาวิทยาลัยปีสาม มีผู้ใหญ่ที่คุ้นเคยกับญาติของฉันคนหนึ่งและเขาก็เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยนั้นด้วย เขามักจะพาฉันไปกินอาหารเย็น ซึ่งฉันรู้สึกว่าเรามีญาติผู้ใหญ่คอยดูแล และการไปกินอาหารเย็นนั้นก็ไม่บ่อยอีก และไม่ใช่สถานที่ที่ฉันชวนให้คิดว่าเป็นการ ‘จีบ’ หรือไปสู่การล่อลวงทางเพศ เช่น ไปกินที่ร้านอาหารสโมสรอาจารย์ เป็นต้น

     เหตุการณ์ดำเนินไปเกือบครึ่งปี การกินอาหารเริ่มออกไปไกลมหาวิทยาลัยมากขึ้น พร้อมๆ กับที่ฉันรู้สึกสบายใจ และ ‘ปลอดภัย’ พร้อมกันนั้นก็ ‘เพลิดเพลิน’ – นั่นคือ ฉันอายุสิบเก้า จะว่ารู้โลกก็รู้ ไม่รู้โลกก็ไม่รู้

     เพื่อความเป็นธรรมกับผู้ใหญ่คนนั้น ฉันต้องสารภาพว่า ในท่ามกลางความเพลิดเพลินที่เกิดขึ้น ฉันไม่ขัดขืนเมื่อผู้ใหญ่คนนั้นเริ่มใช้ร่างกายในการสื่อสาร เช่น จับมือ ลูบแขน จนนำไปสู่การจูบ

     ฉันอธิบายไม่ถูกว่าชอบหรือไม่ชอบ ในความขยะแขยง มีความพึงใจบางอย่างบังเกิด แต่ไม่ได้แปลว่าเรามีเสน่หา มันคล้ายๆ กับการที่เราไปนวดกับหมอนวด แล้วได้รับความรื่นรมย์จากการสัมผัสของมนุษย์อีกคนหนึ่ง แต่ถามว่าเรามีเสน่หาต่อหมอนวดไหมคำตอบคือไม่มี ดังนั้น มันจึงมีภาวะก้ำกึ่งระหว่างเต็มใจกับไม่เต็มใจ

     ถามว่า กลัวไหม ไม่กลัว ถามว่ารังเกียจไหม ตรงนี้ยืนอยู่คาบเส้นระหว่างรังเกียจกับพึงใจในการสัมผัส

     การจูบจึงดำเนินมาอีกสามถึงสี่ครั้ง จนกระทั่งคืนหนึ่ง ที่การออกไปกินข้าวเลยเถิดจนเลยเวลาที่หอพักปิด – จึงขอหมายเหตุไว้ตรงนี้ว่า หอในมหาวิทยาลัยที่กำหนดมีเวลาปิดเฉพาะหอหญิง มีส่วนในการผลักผู้หญิงไปอยู่ในสถานการณ์อันตราย เพราะเมื่อพวกเธอกลับห้องของเธอไม่ได้ เธอจึงต้องไปในสถานที่ที่อาจเปราะบางต่อสวัสดิภาพของพวกเธอ (หลายๆ คนอาจบอกว่า สมน้ำหน้า ก็อยากแรดเองนี่)

     ฉันคิดว่าจะไปค้างที่หอพักเพื่อนที่อยู่นอกมหาวิทยาลัย ซึ่งฉันก็ไปค้างอยู่บ่อยครั้ง จึงไม่กังวลอะไร

     ผู้ใหญ่ท่านนั้นบอกว่า อย่าเลย ไปคอนโดฯ ของผมดีกว่า ไม่ต้องกลัว ผมไม่ได้อยู่ที่นี่ ผมส่งคุณแล้วจะกลับไปนอนบ้านตัวเอง

     ถามว่าฉันเชื่อไหม? ฉันไม่ได้ไร้เดียงสาขนาดนั้น และก็รู้ว่าสิ่งที่รออยู่ข้างหน้าคืออะไร แต่ฉันมีทางเลือกกี่ทาง?

     อยู่ในรถของเขา จะกระโดดลงจากรถ คงไม่ใช่ทางเลือกที่ฉลาด ไปถึงคอนโดฯ จะวิ่งมาขึ้นรถแดงกลางดึก อาจจะอันตรายกว่า

     ขอร้องให้เขาไปส่งหอเพื่อน – ย่อมนำไปสู่บทสนทนาและการต่อรองที่ยืดเยื้อ ฉันจึงนั่งเงียบๆ จำนนต่อการไปที่ห้องของเขาในคอนโดฯ แล้วก็ไม่มีอะไรพลิกล็อก เขาพยายามจะมีเพศสัมพันธ์กับฉัน แน่นอนว่า ปราศจากความเต็มใจ

     สมองของฉันพยายามประเมินสถานการณ์​ และรู้ว่าการขัดขืนน่าจะเหนื่อยแรงเปล่า จึงเสี่ยงดวงด้วยการนอนนิ่งๆ ปล่อยให้เขาถอดเสื้อผ้า และกระทำการใดๆ ตามอำเภอใจ และฉันก็คงนอนนิ่งอยู่อย่างนั้น เหมือนคนตาย

     เขาพยายามทุกวิถีทางเพื่อปลุกความรู้สึกของฉันขึ้นมา ซึ่งก็สำเร็จบ้างอย่างประเดี๋ยวประด๋าว สักพัก ฉันก็นอนนิ่งเป็นศพต่อ ดำเนินอยู่อย่างนั้นจนท้ายที่สุด เขาจึงตัดสินจะ ‘สอดใส่’ แต่เนื่องจากฉันนิ่งเหมือนถอดจิตออกจากร่างไปแล้ว จะด้วยเหตุผล เงื่อนไขอะไรก็แล้วแต่ ความพยายามของเขาล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า

     สุดท้าย เขายอมแพ้

     เมื่อรุ่งเช้า ปราศจากบทสนทนา เขาพาฉันมาส่งที่หอพัก ฉันรู้สึกมีชัยชนะเล็กน้อย จึงนั่งเงียบๆ ไม่โวยวายอะไร ลงจากรถพนมมือขอบคุณ กลับห้อง อาบน้ำ ไปเรียนหนังสือเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

     ส่วนที่ตกค้างอยู่ในความคิดของฉันเมื่อครั้งอายุสิบเก้าตอนนั้นคือ – นี่เรียกว่าการข่มขืนหรือไม่?

     ถ้าฉันไปร้องเรียน แจ้งความจะเกิดอะไรขึ้น?

     เธอไปกินข้าวกับเขาครึ่งปี เธอจูบกับเขา เธอเดินขึ้นห้องไปกับเขา – ยังจะมีหน้ามาร้องแรกแหกกระเชอว่าถูกข่มขืน

     นั่นคือสิ่งที่ฉันคิด ไม่มีใครเห็นด้วยกับฉันแน่ๆ ว่า ฉันไม่ได้ต้องการการร่วมเพศ แม้จะมีความอยากรู้อยากเห็นในหลายเรื่องก่อนหน้านี้

     ดังนั้นฉันจึงไม่เคยบอกใครนอกจากเพื่อนสนิท

     โชคดีที่ฉันเรียนประวัติศาสตร์ มันเป็นวิชาที่ช่วยให้ฉันรอดพ้นจากการตกเป็นเหยื่อของ ‘ขนบ’

     ฉันจึงมีกระบวนการคิดต่อเรื่อง ‘ร่างกาย’ และ ‘ความภาคภูมิใจ’ ในตัวเองนอกขนบแบบไทย และไม่อยู่ในกรอบคิดเรื่องคุณค่าของผู้หญิงแบบกระแสหลัก ฉันจึงไม่เคยคิดว่าตัวเองแปดเปื้อน มีมลทิน เสียหายใดๆ ทั้งสิ้น สิ่งค้างคาใจเดียวที่มีอยู่คือ เพราะเหตุใด เราจึงคิดว่าการพูดเรื่องนี้ออกไป สังคมต้องคิดว่าเราเป็นฝ่ายผิด

     เราได้ยินคำพูดในทำนองที่ว่า “จะโทษผู้ชายได้ไง เปิดโอกาสให้เขาซะขนาดนั้น”

ผู้ชายไม่มีส่วนในความผิดนี้เลยหรือ และต่อให้ฉันจะจูบกับเขาอีกกี่ร้อยครั้ง แต่หากเมื่อถึงคราวมีเพศสัมพันธ์ เมื่อฉันพูดว่าไม่ ย่อมแปลว่า ‘ไม่’ ไม่ใช่หรือ?

     เหตุการณ์ทำนองนี้ยังเกิดขึ้นอีกเนืองๆ ที่การจับมือถือแขน การจูบ นำไปสู่ความเข้าใจว่าหมายถึงใบอนุญาต มีเพศสัมพันธ์ – ซึ่งฉันคงต้องบอกแก่ทุกคนในที่นี้อีกครั้งว่า ‘ไม่ใช่’ เมื่อฉันจูบ แปลว่า จูบ ไม่ใช่การออกใบอนุญาตให้มีกิจกรรมที่เลยเถิดไปกว่านั้น และเมื่อฉันหรือผู้หญิงพูดว่า ‘ไม่’ ไม่ได้หมายถึงการออกบัตรเชิญ ไม่ต้องถอดรหัสว่า การขัดขืนของผู้หญิงคือ ‘การยั่วยวน’ หรือ แสร้งขัดขืนเพื่อให้ผู้ชายง้อ อย่างที่ในละครไทยชอบทำให้เราไขว้เขว

     เขียนถึงตรงนี้ อาจมีคนแย้งว่า โห แล้วผู้ชายจะไปตรัสรู้ได้ยังไงว่า คุณไม่เต็มใจ ไปกันถึงไหนๆ จูบก็แล้ว เล้าโลมก็แล้ว พอจะเข้าด้ายเข้าเข็ม เกิดนึกอะไรขึ้นได้แล้วบอกว่า “เฮ้ย ไม่เอาๆ เปลี่ยนใจ”

     ผู้หญิงเล่นเกมหรือเปล่า หลอกให้ผู้ชายหัวหมุน งุนงง นอนไม่หลับ ถือเป็นความรุนแรงที่กระทำต่อผู้ชายอย่างหนึ่งหรือเปล่า ไปไม่ถูกแล้วตรู เอะอะอะไรผู้ชายก็ผิด

     ลองคิดในทางกลับกัน เดตกันแล้ว จูบกันดูดดื่มแล้ว ผู้หญิงมั่นใจมากว่าได้ ‘กิน’ ผู้ชายคนนี้แน่ๆ ในคืนนี้ ผู้หญิงชวนไปที่ห้อง ถอดเสื้อผ้า ผู้ชายเกิดนึกขึ้นได้ว่า “ไม่เอาๆ ไม่ได้ชอบเธอขนาดนั้น เปลี่ยนใจ ไม่ทำแล้วนะ นอนจับมือกันเถอะ หรือ เรานอนกอดกันเฉยๆ ได้ไหม แต่เราไม่อยากมีอะไรกับเธอนะ”

     หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ผู้หญิงจะ ‘ข่มขืน’ ผู้ชายหรือไม่? และผู้หญิงสามารถเคลมได้หรือไม่ว่า การที่ผู้ชายให้เธอนอนกอด แปลว่าผู้ชายต้องอยากมีเซ็กซ์กับเธอ เธอจึงสามารถบังคับขืนใจเขาได้? หรือเที่ยวไปร้องแรกแหกกระเชอว่า ผู้ชายคนนี้ใช้ไม่ได้ นอนกอดเธอทั้งคืน แต่ไม่ยอมให้เธอ ‘เอา’

     และถ้าผู้หญิงจะนอนกอดผู้ชายทั้งคืน โดยไม่ล้วงล้ำก้ำเกินเขามากไปกว่านั้น แปลว่าผู้หญิงคนนั้นเป็นคนดี เป็นสุภาพสตรี ไม่ขืนใจบุรุษผู้เป็นเพศพ่อ?

     อ่านถึงตรงนี้ เราจะเริ่มคิดได้ว่า การนำสถานการณ์มาสลับร่างกันตรงไปตรงมาแบบนี้ไม่เมกเซนส์เท่าไหร่

     เพราะอะไรถึงไม่เมกเซนส์?

     ไม่มีอะไรซับซ้อนเลย พวกเรายอมรับมาโดยตลอดว่าบทบาททางเพศของหญิงและชายคือ ชาย รุก, หญิง รับ ต่อให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายรุกก็ต้องสร้างสถานการณ์ขึ้นมาให้เหมือนกับว่าเราเป็นฝ่าย ‘รับ’ คำว่า ‘ทอดสะพาน’ นั้นค่อนข้างชัดเจน เพราะมันแปลว่า ผู้หญิงต้องส่ง ‘ซิก’ บางอย่าง เพื่อให้ผู้ชายรู้ว่า ‘เดินขึ้นสะพาน’ มาจีบฉันสิ – ฉันส่งสัญญาณ ให้เธอ ‘รุก’ ได้แล้วนะ จากนั้นฉันอาจจะทำเป็นขัดขืนพองาม เพื่อให้เธอ ‘รุก’ อีกนิด แต่เธออย่ายอมแพ้นะ เธอต้องรุกต่อ สักพักฉันก็จะทำเป็นว่าฉันต้องยอมเพราะต้านทานแรง ‘รุก’ ของเธอไม่ได้ สุดท้าย เราจึงต้องร่วมหอลงโรงกันโดยปริยาย

     ไวยากรณ์นี้กลายเป็นพล็อตรักโรแมนติก ตบ – จูบ ถูลู่ถูกังจนนำไปสู่ฉากข่มขืนของนวนิยายโรแมนซ์ของอเมริกัน จนนวนิยายไปก๊อบปี้มาเป็นต้นแบบของนิยายน้ำเน่าไทย และกลายมาเป็นละครทีวีที่ถูกรีเมกครั้งแล้วครั้งเล่า และคนดูที่เป็นสตรีทั้งหลายก็ดูไปจิกหมอนไป อยากถูกพระเอกหล่อๆ รวยๆ อย่างในละครข่มขืนบ้าง

     บทบาท ‘รุก’ ของเพศชายอยู่ในจิตสำนึกของเราจนกระทั่งเราคิดว่านี่คือ ความถูกต้องตามธรรมชาติ พระเจ้าสร้างเรามาแบบนี้ สร้างผู้ชายให้เข็มแข็ง สร้างผู้หญิงให้อ่อนแอ สร้างให้ผู้ชายล่าสัตว์ ผู้หญิงทอผ้า เลี้ยงลูก หุงหาอาหาร ปัดกวาดถ้ำ – โอ๊ย มันก็เป็นแบบนี้มาตั้งแต่ยุคหิน – เมื่อเราเชื่อเช่นนี้ เราจึงเชื่อต่อไปอีกว่า วิธีที่ผู้หญิงจะมีชีวิตที่ดีและปลอดภัยคือ เราต้องสอนให้ผู้ชาย ‘ดูแล’ ผู้หญิง ช่วยผู้หญิงถือของหนัก ลุกให้ผู้หญิงในรถสาธารณะ นับถือผู้หญิงในฐานะที่เป็นเพศแม่และแสนอ่อนแอ ดังนั้น ผู้ชายที่ดีต้องห้ามทำร้ายผู้หญิงนะเฟ้ย ใครทำร้ายผู้หญิงแม่งหน้าตัวเมียว่ะ ใครแต่งงานแล้วไปมีผู้หญิงอื่น ไม่ให้เกียรติเมีย ถือว่าไม่เป็นลูกผู้ชายเฟ้ย ฯลฯ

     หืมมมม – ย้อนแย้งมากไหม? ใครทำร้ายผู้หญิงหน้าตัวเมีย ตกลงจะนับถือหรือไม่นับถือผู้หญิงกันแน่?

     กระบวนการทางสังคม วัฒนธรรม และการเมืองที่ทำให้เราเห็นเรื่องบทบาทเชิงรุกของผู้ชายเป็น ‘ธรรมชาติ’ คือผลผลิตของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ – เป็นธรรมชาติขนาดไหนก็ขนาดที่ว่า ขนาดที่ทำให้เราเชื่อว่า – ชายเป็นใหญ่, ชายเป็นหัวหน้าครอบครัว ฯลฯ คือเรื่อง ‘ธรรมชาติ’ นั่นแหละ พอผู้หญิงทำงานนอกบ้าน ผู้ชายเลี้ยงลูก ทำงานบ้าน เราก็เรียกสิ่งนั้นว่า ‘ผิดธรรมชาติ’ ทันที

     สังคมชายเป็นใหญ่ เข้าใจง่ายมาก เมื่อเราพูดเรื่องการต่อสู้เพื่อให้ผู้หญิงได้สิทธิในการเลือกตั้งเหมือนผู้ชาย หรือ ผู้หญิงควรได้ค่าแรงเท่ากันกับผู้ชาย ผู้หญิงต้องได้เรียนหนังสือเหมือนกับผู้ชาย ฯลฯ แต่เมื่อต้องมาพูดถึงเรื่อง วัฒนธรรมการข่มขืน หรือ rape culture มันจะเริ่มเป็นเรื่องที่เข้าใจยากขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะสังคมไทยเท่านั้นด้วย

     เพื่อให้เข้าใจง่าย ลองมาทำเช็กลิสต์ดูว่า เราเป็นคนที่สมาทานวัฒนธรรมข่มขืนหรือไม่ จงตอบว่า ใช่ หรือ ไม่ใช่ จากคำถามดังต่อไปนี้

  • คุณคิดว่าการแต่งตัวโป๊ เป็นเหตุให้ผู้หญิงถูกข่มขืนหรือไม่?
  • คุณคิดว่าผู้หญิงไม่ควรออกไปไหนตอนกลางคืนตามลำพังเพื่อความปลอดภัยของเธอใช่หรือไม่?
  • คุณคิดว่าผู้หญิงไม่ควรไปไหนกับผู้ชายสองต่อสองใช่หรือไม่?
  • คุณคิดว่าผู้หญิงไม่ควรดื่มเหล้าจนเมาในงานปาร์ตี้ใช่หรือไม่?
  • คุณคิดว่าเราควรมีตู้รถไฟหญิงล้วน รถเมล์หญิงล้วน หอพักหญิงล้วน และอื่นๆ หญิงล้วนเพื่อความปลอดภัยของผู้หญิงใช่หรือไม่?
  • คุณคิดว่าผู้หญิงแรดๆ ชอบอ่อยผู้ชาย ไม่รักนวลสงวนตัว มีแฟนมาแล้วหลายคน หากจะโดนข่มขืนก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใช่หรือไม่?
  • คุณคิดว่า ผู้หญิงในอาชีพให้บริการทางเพศ ไม่ควรโวยวายเมื่อถูกข่มขืนใช่หรือไม่?
  • คุณคิดว่าการที่ผู้หญิงเปิดประตูต้อนรับเพื่อนชายให้เข้ามาในห้องของเธอแปลว่า เธออนุญาตให้เขามีเพศสัมพันธ์กับเธอใช่หรือไม่?

     ถ้าคุณ (ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน) ตอบว่า ‘ใช่’ ต่อคำถามเหล่านี้แปลว่า คุณคือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการข่มขืน

     วัฒนธรรมการข่มขืน ไม่เพียงแต่ไม่ตั้งคำถามต่อบทบาทเชิงรุกของผู้ชายในเรื่องเพศ แต่ยังเชื่อว่า การข่มขืนเป็นสิทธิของผู้ชายที่อ้างอิงอยู่กับบทบาทเชิงรุกของพวกเขา และถ้าผู้หญิงไม่อยากถูกข่มขืน พวกเธอจงประพฤติตนอยู่ใน ‘กรอบ’ และ ‘กติกา’ ที่สังคม ‘กำหนด’ เอาไว้ นั่นคือ เป็นกุลสตรี ไม่แรด ไม่ร่าน ไม่ออกไปไหนคนเดียว ไม่แต่งตัวโป๊ ไม่เที่ยวกลางคืน ไม่ดื่มเหล้า ไม่อยู่กับผู้ชายสองต่อสอง – หากไม่ปฏิบัติตนเช่นนี้ แล้วเกิดถูกข่มขืนขึ้นมา สังคมจะ ‘สมน้ำหน้า’ แล้วบอกว่า ‘สมแล้วก็แรดเสียขนาดนั้น’ หรือ ‘สมแล้วก็นุ่งสั้น โชว์นมเสียขนาดนั้น’ (และที่สังคมสามารถสร้างกติกาต่อผู้หญิงได้เส็งเคร็งขนาดนี้ ก็เพราะมันเป็นสังคมชายเป็นใหญ่ไง)

     ผู้หญิงต่อให้เป็นกะหรี่ หรือแต่งตัวโป๊แค่ไหน ก็ไม่ใช่ ‘ข้ออ้าง’ ที่ใครจะไปข่มขืนเธอ ถ้ายังไม่เข้าใจ ก็ลองนึกเปรียบเทียบดูว่า หากวันหนึ่งเราไปเดินในที่เปลี่ยว แล้วโดนปล้นโดนจี้ ในกรณีนี้คนที่ผิดเป็นเราที่เสือกไปเดินในที่เปลี่ยว หรือ คนที่ผิดคือโจร?

     ฉันใดก็ฉันนั้น ในเรื่องของหลักการ เราต้องยืนยันว่า คนเดินในที่เปลี่ยวไม่ผิด แต่คนผิดคือโจร ใช่หรือไม่? อย่างน้อยที่สุดการเดินในที่เปลี่ยวอย่างมากก็ผิดแค่เรื่อง ‘ไม่ระวังตัว’ แต่ไม่ผิดกฎหมาย เพราะการเดินในที่ที่กฎหมายไม่ห้ามให้เราเดิน แปลว่า เรามีสิทธิ์เดิน และไม่มีใครใช้ความประมาทของเราเป็นข้ออ้างในการปล้นเรา!

     เช่นกันผู้หญิงในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งไม่ควรถูกลิดรอนสิทธิ์ของเธอ (ในนามของความหวังดี) ในการแต่งตัว ในการเดินทาง ในการแรด ในการสำส่อน ในการจะเลือกอาชีพขายตัว ในการไปไหนสองต่อสองกับผู้ชาย ในการชวนผู้ชายมาบ้าน เพียงเพราะใครๆ บอกว่า หากเธอทำเช่นนั้นมันจะไม่ปลอดภัยต่อตัวเธอเอง

     และท้ายที่สุดเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ยากหรือซับซ้อนเกินกว่าจะเข้าใจเลย

     ถามตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณเป็นผู้หญิงว่า คุณคือส่วนหนึ่งของการสร้างความเข้มแข็งให้กับวัฒนธรรมข่มขืนหรือไม่? คุณคือหนึ่งในคนที่สมน้ำหน้าผู้หญิงแต่งตัวโป๊ที่ถูกข่มขืนหรือไม่? คุณคือผู้หญิงที่สมน้ำหน้าหากผู้หญิงถูกข่มขืนเพียงเพราะเธอเปิดประตูให้เพื่อนชายเข้ามาในบ้านหรือไม่?

     เพราะในวัฒนธรรมข่มขืน ความรุนแรงที่สุดของมันคือ การทำให้พวกเธอเป็นได้เพียงนกตัวน้อย เปราะบางน่าทะนุถนอมอยู่ในกรง แทนการได้เป็นมนุษย์ที่มีสิทธิทุกประการเหนือชีวิตของเธอเองเยี่ยงมนุษย์ผู้หนึ่งพึงจะมี

 

หมายเหตุ: การข่มขืนในบทความชิ้นนี้ยังไม่ได้ครอบคลุมเรื่องการข่มขืนเพศชาย และเพศสภาพอื่นๆ และถ้าไม่ขี้เกียจ หรือลืม หรือเบื่อ จะเขียนถึงในคราวต่อๆ ไป ซึ่งไม่รับปากว่าเมื่อไหร่

ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising