×

ประวัติ ‘พิชัย ชุณหวชิร’ รัฐมนตรีคลังคนใหม่ กับโจทย์ท้าทายอย่าง ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’

28.04.2024
  • LOADING...

เปิดประวัติ ‘พิชัย ชุณหวชิร’ ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนล่าสุด ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งตำแหน่งสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่กำลังเผชิญกับปัญหารุมเร้ามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าศักยภาพมาหลายปี ปัญหาหนี้ครัวเรือน และปัญหาเชิงโครงสร้างมากมาย

 

นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าจับตาว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่จะมีบทบาทอย่างไรต่อโครงการ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ซึ่งได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายถึงความคุ้มค่าของโครงการ รวมถึงข้อเรียกร้องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องการทำให้กลุ่มเป้าหมายโครงการดังกล่าวมีความเฉพาะเจาะจง (Targeted) มากขึ้น

 

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพิชัยประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คนที่ 18 หลังจากดำรงตำแหน่งไม่นาน (ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567)

 

เปิดประวัติการศึกษา ‘พิชัย ชุณหวชิร’

 

  • ปริญญาตรี บัญชีบัณฑิต (การบัญชี) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ปริญญาโท บริหารธุรกิจ Master of Business Administration, Indiana University of Pennsylvania, USA
  • ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารการเงิน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  • ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม

 

เปิดประวัติการทำงาน ‘เคย’ ดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง

 

ด้านการทำงาน นอกจากตำแหน่งประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว พิชัยยังเคยดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง ได้แก่ คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย, นายกสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์, กรรมการ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP, คณะกรรมการกลั่นกรองกรรมการรัฐวิสาหกิจ, คณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI, ประธานกรรมการ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP, ประธานกรรมการ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ BBGI

 

ความสัมพันธ์กับ 3 นายกฯ เศรษฐา-ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ

 

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 พิชัยได้รับการแต่งตั้งจาก ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น ให้เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และนั่งเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

 

ในปี 2544-2552 พิชัยเข้ามานั่งบริหารดูแลงานคุมสายการเงินของ บมจ.ปตท. หรือ PTT ในยุครัฐบาลของนายกฯ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ที่มีนโยบายดำเนินการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ขายหุ้น IPO และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (ตลท.) จนได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน PTT และเกษียณอายุการทำงานที่องค์กรนี้

 

อีกทั้งในช่วงปี 2557 พิชัยถือเป็นหนึ่งพยานคนสำคัญในคดีปล่อยปละละเลยการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ซึ่ง ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ได้ยื่นเสนอต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้เรียกพิชัยเข้ามาให้ปากคำในคดีนี้

 

โดยยิ่งลักษณ์ชี้แจงเหตุผลในหนังสือยื่นคำร้องถึงการขอเสนอชื่อพิชัยมาเป็นพยานในตอนนั้นว่า พิชัยเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ คุณวุฒิ เป็นที่ยอมรับของผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านบัญชี และเป็นพยานบุคคลภายนอก ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับตนเอง

 

สื่อต่างชาติจับตา ‘พิชัย’ รับ ‘เผือกร้อน’ ต่อนายกฯ

 

ด้านสื่อต่างชาติต่างๆ อย่าง Bloomberg, Reuters และ Nikkei Asia จับตามองว่าพิชัยกำลังรับไม้ต่อ โดยต้องเร่งแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของไทย ไม่ว่าจะเป็นหนี้ครัวเรือน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ล้าหลังเพื่อนบ้านในภูมิภาค

 

พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า หลังจากนี้พิชัยจะต้องมาดูแลนโยบายต่างๆ ต่อจากนายกฯ ซึ่งรวมถึงโครงการเรือธงอย่าง ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ซึ่งได้รับการวิจารณ์อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับความคุ้มค่าและความถูกต้องทางกฎหมาย

 

อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาลได้ปฏิเสธคำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ และเดินหน้าโครงการต่ออย่างเต็มที่ แม้ว่า ธปท. จะแนะนำให้มุ่งเป้าไปที่กลุ่มเปราะบางเท่านั้น

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising