×

รู้จัก BIMSTEC ความร่วมมือเหนืออ่าวเบงกอล ที่ครอบคลุมตั้งแต่เศรษฐกิจ จนถึงปัญหามนุษยชาติ

23.11.2020
  • LOADING...
รู้จัก BIMSTEC ความร่วมมือเหนืออ่าวเบงกอล ที่ครอบคลุมตั้งแต่เศรษฐกิจ จนถึงปัญหามนุษยชาติ

HIGHLIGHTS

ึ8 mins read
  • BIMSTEC (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) มีชื่อเต็มๆ ว่า ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ เป็นการรวมตัวของ 7 ประเทศ ไทย เมียนมา ศรีลังกา บังกลาเทศ อินเดีย ภูฏาน และเนปาล
  • ผ่านมา 23 ปี BIMSTEC ยังคงล้มลุกคลุกคลาน มีความท้าทายหลายอย่างที่ต้องทำให้ความร่วมมือจับต้องได้มากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีโอกาสหลายอย่างรออยู่
  • 7 ประเทศมีประชากรรวมแล้วกว่า 1,600 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 23 ของประชากรโลกทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ไม่น้อย โดยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่น่าสนใจคือ ในกลุ่มประเทศ BIMSTEC ประชากรเป็นวัยแรงงานเกินครึ่ง จึงนับเป็นภูมิภาคที่มีกำลังในการผลิตสูงมาก

หากปักวงเวียนลงตรงกลางประเทศไทยแล้วตีเส้นรอบวง ก็จะพบว่าอ่าวเบงกอลนั้นอยู่ในรัศมีที่ใกล้ประเทศไทยมาก ครอบคลุมประเทศเพื่อนบ้านที่พึ่งพาอ่าวเบงกอลอย่างเมียนมา บังกลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา เลยขึ้นไปถึงภูฏาน และเนปาล 

 

เป็นกลุ่มประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการค้า วัฒนธรรม และศาสนามาหลายร้อยปี โดยมีอ่าวเบงกอลเป็นศูนย์กลางที่ร้อยประสานวิถีชีวิตของคนในพื้นที่นี้ไว้ด้วยกัน

 

คนแถบนี้ยึดโยง แลกเปลี่ยน และทำการค้ากัน ตั้งแต่ก่อนจะมีการขีดเส้นแบ่งเขตประเทศอย่างที่ปรากฏบนแผนที่โลกปัจจุบัน 

 

แต่สงครามเย็นทำให้ประเทศเหล่านี้มีความสัมพันธ์ที่เหินห่าง จนทำให้ในการเมืองโลกสมัยใหม่ อนุภูมิภาคนี้กลับได้ชื่อว่ามีการรวมตัวกันน้อยที่สุดในโลก

 

การละเลยความสัมพันธ์ตรงนี้จึงก่อให้เกิดกรอบความร่วมมือที่เรียกว่า ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ หรือที่เรียกว่า BIMSTEC (บิมเทค) ขึ้นมาในปี 1997 

 

ผ่านมา 23 ปี BIMSTEC ยังคงล้มลุกคลุกคลาน มีความท้าทายหลายอย่างที่ต้องทำให้ความร่วมมือจับต้องได้มากขึ้น 

 

แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีโอกาสหลายอย่างรออยู่

 

BIMSTEC คืออะไร และมีความหมายต่อไทยอย่างไร

BIMSTEC (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation)  มีชื่อเต็มๆ ว่า ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ เป็นการรวมตัวของ 7 ประเทศ ไทย เมียนมา ศรีลังกา บังกลาเทศ อินเดีย ภูฏาน และเนปาล

 

BIMSTEC ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ปี 2540 หรือปีที่ไทยเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง โดยมีรัฐบาลไทย สมัยของชวน หลีกภัย เป็นผู้ริเริ่ม

 

เมียนมาเป็นประเทศที่เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกในภายหลัง แต่ได้กลายเป็นตัวเชื่อมไทยกับประเทศกลุ่มเอเชียใต้ และทำให้ BIMSTEC เป็นกรอบความร่วมมือเดียวระหว่างเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ด้วยสภาพเศรษฐกิจในตอนนั้น ที่แนวโน้มกีดกันการค้าระหว่างประเทศสูงขึ้น BIMSTEC จึงต้องการหันมาฟื้นฟูความสัมพันธ์ในภูมิภาคนี้เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หลังจากความสัมพันธ์ของกลุ่มประเทศเหล่านี้ชะงักลงไปในช่วงสงครามเย็น โดยเฉพาะกับอินเดีย เนื่องจากอินเดียหันไปพัฒนาและทดสอบอาวุธนิวเคลียร์กับสหภาพโซเวียต

 

ในตอนแรก BIMSTEC จึงเริ่มจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจ มีการทำข้อตกลงการค้าเสรีเว้นภาษีให้กับสินค้าหลายชนิด คล้ายกับอาเซียนคือ ต้องการให้เกิดสิทธิพิเศษทางเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้มีเป้าหมายใช้สกุลเงินเดียวกันอย่างสหประชาชาติยุโรป

 

ต่อมา BIMSTEC ได้ขยายความร่วมมือออกมาเป็น 14 ด้านตั้งแต่ เศรษฐกิจ ภัยพิบัติ ประมง สาธารณสุข พลังงาน จนถึงการเกษตร

 

7 ประเทศมีประชากรรวมแล้วกว่า 1,600 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 23 ของประชากรโลกทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ไม่น้อย โดยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ที่น่าสนใจคือ ในกลุ่มประเทศ BIMSTEC ประชากรเป็นวัยแรงงานเกินครึ่ง จึงนับเป็นภูมิภาคที่มีกำลังในการผลิตสูงมาก

 

แต่สิ่งที่ทำให้ประชาชนเองยังไม่รู้จัก BIMSTEC เท่าไรนัก คือประเทศเหล่านี้พึ่งพาการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ดังนั้นความร่วมมือและการลงทุนระหว่างประเทศอาจส่งผลกระทบต่อแต่ละประเทศ และภาคประชาชนไม่มากนัก

 

 

ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำวิจัยศึกษาเกี่ยวกับ BIMSTEC เสนอมุมมองว่า หากทั้งรัฐบาล ผู้ประกอบการ และภาคส่วนต่างๆ ปรับมุมมองว่าความร่วมมือสามารถเป็นได้หลายอย่างนอกเหนือจากเศรษฐกิจ และไทยอาจไม่ได้มีแค่บทบาทผู้รับในภูมิภาคนี้ จะทำให้ไทยเห็นโอกาสมากมายจาก BIMSTEC 

 

“สิ่งหนึ่งผมไม่เห็นด้วยคือ อย่ามองความร่วมมือให้เป็นผลประโยชน์ทางการค้าและการพาณิชย์อย่างเดียว เราจะคิดแค่เรื่องคนของเราอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องคิดเรื่องที่ใหญ่ขึ้น แล้วประเทศไทยที่มีรายได้ต่อหัวเท่านี้ เด่นด้านท่องเที่ยวและสาธารณสุข เราสามารถเข้าไปแลกเปลี่ยนกับเขาได้ เพื่อเผชิญกับปัญหาที่กำลังท้าทายมนุษยชาติร่วมกัน”

 

 

BIMSTEC กับโอกาสด้านการท่องเที่ยว

BIMSTEC เป็นความร่วมมือที่ครอบคลุมถึง 14 ด้าน ทั้งการค้า ลงทุน คมนาคม สื่อสาร พลังงาน ท่องเที่ยว เทคโนโลยี ประมง เกษตร สาธารณสุข ความยากจน ภัยพิบัติ วัฒนธรรม ปฏิสัมพันธ์ และอากาศ

 

ความร่วมมือที่หลากหลายเช่นนี้ เป็นอีกสิ่งที่ ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล มองว่าเป็นความท้าทายที่ทำให้ BIMSTEC ไม่สามารถชูเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้เด่นออกมา แต่ในความร่วมมือทั้งหมดนี้ มีเรื่องท่องเที่ยวที่สามารถทำให้เป็นผลประโยชน์ที่ประชาชนจับต้องได้ และจริงๆ แล้วมีสิทธิประโยชน์ที่คนไทยเข้าถึงได้แล้ว

 

เช่น เมื่อคนไทยเดินทางไปยังอินเดีย พาสปอร์ตของไทยสามารถซื้อตั๋วเข้าชมบางสถานที่ได้ในราคาที่ถูกลง เนื่องจากเป็นประเทศสมาชิกกลุ่ม BIMSTEC แต่ไทยยังไม่มีประโยชน์ตรงนี้ให้กับประเทศสมาชิก

 

ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล จึงมองว่า เมื่อพ้นวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 BIMSTEC อาจคิดถึงสิทธิประโยชน์ตรงนี้ได้ ซึ่งทั้งผู้ประกอบการและประชาชนเองสามารถนำเสนอในงานการทูตสาธารณะของประเทศสมาชิกบิมเทค ที่จัดขึ้นในวันที่ 20-21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ศูนย์การค้ามาบุญครองได้ 

 

“เรามีความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวที่สร้างสรรค์ได้มั้ย เดี๋ยวนี้เวลาเราจะไปเที่ยวไหน เราไม่ได้ไปเพียงประเทศเดียว เราอาจมาคิดเรื่องวีซ่าท่องเที่ยวได้ นี่คือโอกาสของไทย”

 

หากมาดูแต่ละประเทศสมาชิก จะพบว่าล้วนเป็นประเทศที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมสำคัญ ปัจจุบันคนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวอินเดีย เพื่อไปทำกิจกรรมปีนเขาและขี่จักรยาน จนถึงท่องเที่ยวเชิงศาสนา

 

หรืออย่างศรีลังกาและเนปาล ที่เด่นเรื่องท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณ ส่วนไทยเองมีเอกลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของตัวเองเช่นกัน

 

BIMSTEC กับการถ่วงดุลอำนาจจีนในน่านน้ำอ่าวเบงกอล

ความสัมพันธ์ของประเทศกลุ่มอ่าวเบงกอล มีขึ้นมาก่อนที่จะมีการกำหนดเขตแดนภูมิภาคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือเอเชียอาคเนย์ โดยมีอ่าวเบงกอลเป็นเส้นทางการค้าที่เชื่อมประเทศเหล่านี้เอาไว้ และยังเป็นเส้นทางที่เชื่อมไปยังประเทศอื่นอย่างจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย จนถึงยุโรป

 

เส้นทางการค้าตรงนี้จึงน่าดึงดูด โดยเฉพาะกับมหาอำนาจอย่างจีน ที่เข้ามาเช่าท่าเรือแฮมบันโตตาของศรีลังกาเป็นเวลา 99 ปี ซึ่งตำแหน่งตรงนี้ถูกมองว่า เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ของจีนที่จะมีบทบาทต่อการทำการค้าในภูมิภาคนี้อย่างมาก และเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ขยายอำนาจของจีนที่แทรกซึมไปยังภูมิภาคต่างๆ

 

 

ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล ชี้ว่า BIMSTEC จะช่วยขัดเกลาการครอบงำของมหาอำนาจในภูมิภาคนี้ได้ 

 

“ทำไมเราไม่ใช้การถ่วงดุลให้เป็นประโยชน์ เช่น สิทธิพิเศษการสำรวจน่านน้ำของประเทศสมาชิก เพื่อที่จะต้องการบอกทุกคนว่า อย่ามาครอบงำทะเลตรงนี้”

 

BIMSTEC กับปัญหาท้าทายมนุษยชาติที่เผชิญร่วมกัน

ในความร่วมมือระหว่างประเทศ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจมักถูกขับเคลื่อนได้เร็วที่สุด เพราะตรงไหนก็ตามที่มีผลประโยชน์ ย่อมดึงดูดคนให้เข้ามาร่วมได้ง่ายกว่า และยังเป็นสิ่งที่จับต้องได้ เพราะมีตัวเลขชี้วัดอย่างชัดเจน 

 

ที่สำคัญกว่านั้นคือ เป็นเรื่องที่อ่อนไหวน้อยที่สุด ที่ประเทศสมาชิกไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า 

 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่ประเทศสมาชิกมีร่วมกัน ไม่ได้มีเพียง ‘โอกาส’ แต่มี ‘ปัญหา’ ด้วย

 

BIMSTEC เป็นอนุภูมิภาคที่เผชิญปัญหาร่วมกันหลายด้าน ตั้งแต่ปัญหาฝุ่น PM2.5 การค้ามนุษย์ ความยากจน สภาวะโลกร้อน ภัยพิบัติ จนถึงผู้อพยพ และความคิดสุดโต่ง

 

เป็นปัญหาที่ไม่ใช่กิจการภายในประเทศ แต่เป็นปัญหาระหว่างประเทศที่ไม่สามารถแก้ไขได้เพียงลำพัง

 

แต่ BIMSTEC มีความท้าทายคล้ายกับอาเซียนคือ เป็นสถาบันความร่วมมือที่มีหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศสมาชิก หรือ Non-Interference ซึ่งหลักการนี้ถูกตั้งคำถาม และมีความเห็นที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงวิกฤตชาวโรฮีนจา วิกฤตผู้ลี้ภัยที่อาเซียนเองถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายว่า ไม่สามารถหยุดการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮีนจาได้

 

ซึ่งถ้าหากมาดู BIMSTEC จะพบว่า จริงๆ แล้วมีประเทศสมาชิกที่ทั้งเกี่ยวข้องและเผชิญกับวิกฤตโรฮีนจามากกว่าอาเซียนเสียอีก คือ เมียนมา ไทย และบังกลาเทศ 

 

โดย ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล มองว่า แม้ BIMSTEC จะมีหลักการไม่แทรกแซงกิจการประเทศอื่น แต่เขามองว่า ความร่วมมือลักษณะนี้ทำให้เกิดช่องทางของการพูดคุยกันได้ และวิกฤตโรฮีนจาอาจจะกลายเป็นตัวเร่งเลยก็ได้

 

“การผนวกรวมทุกคนในความร่วมมือระหว่างประเทศแบบนี้ มันทำให้ทุกคนมาเล่นเกมตาม Rule of Law (หลักนิติธรรม) เหมือนเราไปดึงให้แต่ละประเทศเข้าสู่กระบวนการต่างประเทศ 

 

“ต้องมีการพูดคุยกันว่าต้นตอปัญหาโรฮีนจาคืออะไร ไทยคุยนะ เพราะมันเริ่มส่งผลกับไทย หนีมาเข้าไทย มีผลต่อฉัน

 

“ถ้าเรามองแบบอียู เราก็จะบอกว่าอาเซียนไม่ได้เรื่อง แต่ถ้าเรามองแบบ ASEAN Way มันก็อาจจะมีทางของมันอยู่ พอห้ามแทรกแซงกิจการภายใน ห้ามโหวต มันก็บีบบังคับให้เขาต้องไปคุย ดังนั้นผมสนับสนุน ASEAN Way ไม่ใช่เพราะผมชื่นชมกับการกดขี่ แต่ผมคิดว่า มันเป็นช่องทางสำคัญที่อาจจะเปลี่ยนอะไรได้อยู่”

 

อย่างไรก็ตาม โจทย์คือจะทำอย่างไรให้ความร่วมมือขยับขึ้นไปมากกว่าแค่มองปัญหามนุษยชาติเมื่อมันกระทบต่อประเทศเราเท่านั้น ผศ.สุรัตน์ โหราชัยมองว่า “ถ้าเราหมุนตามความร่วมมือนี้ไปเรื่อยๆ มันจะทำให้แต่ละประเทศกลับมาคิดเรื่องความมั่นคงขั้นพื้นฐานของมนุษย์ (Human Security)”

 

นอกจากเรื่องวิกฤตโรฮีนจา อีกเรื่องที่เกี่ยวพันมาด้วยคือ เรื่องความคิดสุดโต่งที่กำลังเป็นภัยคุกคามของทุกประเทศสมาชิก BIMSTEC และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ 

 

ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุลชี้ว่า เวทีความร่วมมือแบบ BIMSTEC นี้จะเป็นพื้นที่คุยเพื่อหาทางออกเรื่องนี้ได้ 

 

“ตอนนี้ความคิดสุดโต่งพบเห็นได้ในหลายศาสนา พุทธ มุสลิม จนถึงฮินดู จำเป็นมากต้องมีการวางแผน ให้พื้นที่คุยเรื่องนี้ได้ ให้คนรุ่นใหม่เจอกันได้ ทำอย่างไรที่มันจะหาทางได้ โรฮีนจาจะกลายเป็นตัวเร่งเลยสำหรับบางกลุ่ม มันมีสิ่งที่เราสามารถทำด้วยกันได้

 

“เราอาจทำให้สังคมอ่าวเบงกอลมีสันติภาพและความยั่งยืนได้ ถ้าเราขายของกัน แต่ฆ่ากันทุกวัน มันจะอยู่กันได้เหรอ” ผศ.สุรัตน์ ทิ้งท้าย

 

ทั้งนี้ ในช่วงปี 2564-2565 ประเทศไทยจะได้รับเกียรติในฐานะประธานและเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำ BIMSTEC และนี่คือโอกาสครั้งใหม่ของประเทศไทยในการผลักดันความร่วมมือต่างๆ ในภูมิภาคนี้

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising