×

จาก BIMSTEC ถึงกำแพงภาษีทรัมป์: ทางแยกนโยบายที่ต้องตัดสินใจอย่างเฉียบขาด

โดย THE STANDARD TEAM
04.04.2025
  • LOADING...
ไทยยืนอยู่บนทางแยกนโยบาย ระหว่างการประชุม BIMSTEC และการรับมือกำแพงภาษีทรัมป์

ในช่วงเวลาเดียวกันของต้นเดือนเมษายน 2568 ประเทศไทยกำลังเผชิญทั้ง โอกาส และ แรงกดดันมหาศาล จากเวทีระหว่างประเทศสองด้าน คือ บทบาทเจ้าภาพการประชุม BIMSTEC ซึ่งมีการเยือนของผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย และมาตรการตั้งกำแพงภาษีของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ไทยจะวางตัวและอยู่บนทางแยกนโยบายในจุดเปลี่ยนนี้อย่างไร ทั้งบทบาททางการทูต และเศรษฐกิจ บนเวทีโลกที่กำลังร้อนแรง

 

ไทยในเวที BIMSTEC: ต้องสมดุลระหว่างภาพลักษณ์และการเมืองภูมิภาค

รศ. ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช นายกสมาคมภูมิภาคศึกษา และอาจารย์ประจำสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า การประชุมสุดยอดผู้นำ BIMSTEC ระหว่างวันที่ 2-4 เมษายน 2568 ณ กรุงเทพมหานคร มีจุดเปลี่ยนสำคัญที่น่าจับตา คือการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา

 

เวที BIMSTEC ซึ่งมีสมาชิก 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่เชื่อมโยงกับอ่าวเบงกอล แต่สิ่งที่ประเทศไทยควรระมัดระวังคือ ‘ภาพลักษณ์’ และ ‘ท่าทีทางการทูต’ ที่อาจถูกตีความว่าเป็นการยอมรับหรือสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมา

 

“หากปรากฏภาพว่านายกรัฐมนตรีไทยพบปะพูดคุยกับ มิน อ่อง หล่าย ในลักษณะใกล้ชิดเป็นการส่วนตัว จะทำให้นานาชาติตีความว่าไทยให้การยอมรับเขาเป็นพิเศษ”รศ. ดร.ดุลยภาค กล่าว

 

จุดสมดุลที่ไทยควรยืนอยู่ คือ ‘ความสุภาพแบบมีระยะห่าง’ เช่น การร่วมถ่ายภาพหมู่ การแสดงความห่วงใยต่อปัญหาภัยพิบัติ หรือแสดงความขอบคุณในกรณีปล่อยตัวแรงงานไทย แต่ไม่ควรแสดงออกถึงการสนับสนุนการเลือกตั้งในเมียนมาอย่างชัดเจน

 

“การปรากฏภาพความใกล้ชิด จะทำให้ความสัมพันธ์ระดับผู้นำดูราบรื่นในระยะสั้น แต่ในเวทีโลก มันอาจแลกมาด้วยราคาทางการทูตที่สูงลิ่ว”

 

โอกาสฟื้น ‘Look West Policy’: เชื่อมสัมพันธ์อินเดีย

นอกจากความท้าทายด้านภาพลักษณ์แล้ว รศ. ดร.ดุลยภาค ยังมองเห็น ‘โอกาสเชิงยุทธศาสตร์’ ของไทยในการใช้เวที BIMSTEC เป็นจุดเริ่มต้น ฟื้นฟูนโยบาย ‘มุ่งสู่ตะวันตก’ (Look West Policy) เพื่อเชื่อมความร่วมมือกับอินเดียอีกครั้ง

 

ในอดีตรัฐบาลไทยภายใต้การนำของ ทักษิณ ชินวัตร เคยผลักดัน Look West Policy เพื่อเจาะตลาดเอเชียใต้ผ่านเมียนมา ขณะที่อินเดียมีนโยบาย ‘มองไปทางตะวันออก’ (Look East Policy) ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็น ‘Act East Policy’ หรือการปฏิบัติการเชิงรุกจริงจังในภูมิภาคนี้

 

วันนี้ ไทยยังไม่มี ‘Act West Policy’ ที่ตอบรับทิศทางยุทธศาสตร์ของอินเดีย จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการยกระดับบทบาทและร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรม

 

“อินเดียภายใต้ นเรนทรา โมดี แสดงจุดยืนชัดว่าต้องการมีบทบาทในกระบวนการสร้างสันติภาพในเมียนมา ไทยจึงควรใช้โอกาสนี้ในการเจรจาเรื่อง Act West Policy และเสริมบทบาทของตนในฐานะผู้เชื่อมต่อระหว่างอาเซียนกับเอเชียใต้”  รศ. ดร.ดุลยภาค กล่าว

 

หากไทยสามารถพูดคุยเรื่องความร่วมมือในเชิงนโยบายอย่างมีโครงสร้าง ร่วมกับการกำหนดท่าทีที่สมดุลในการรับมือเมียนมา จะทำให้เวที BIMSTEC กลายเป็นหมากตัวสำคัญในกระดานภูมิรัฐศาสตร์เอเชีย

 

วิกฤตเศรษฐกิจจากกำแพงภาษีทรัมป์: เกมที่ใครช้า = เจ็บ

ขณะเดียวกันอีกฟากหนึ่งของโลก ผศ. ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เตือนว่ามาตรการขึ้นภาษีทางการค้าของ โดนัลด์ ทรัมป์ คือสถานการณ์ ‘ฉุกเฉิน’ ที่รัฐบาลไทยต้องรับมืออย่างเร่งด่วน

 

“นี่คือเกมทางเศรษฐศาสตร์ ใครมาเร็วย่อมได้เปรียบ และยิ่งช้ายิ่งเจ็บ”

 

“การช้าไปแม้แต่นาทีเดียว จะทำให้ไทยตกเป็นเบี้ยล่างทันที เพราะทรัมป์เป็นคนคิดเร็ว ตัดสินใจเร็ว และพร้อมจะมองข้ามประเทศที่ไม่ตอบสนองทันที”

 

แม้สหรัฐฯ เปิดโอกาสให้แต่ละประเทศเจรจาโดยเสนอ Action Plan ที่ชัดเจน ในการลงทุนในสหรัฐฯ เพื่อสร้างงานและรายได้ แต่การเจรจานั้นต้องเกิด ‘ภายใน 24 ชั่วโมง’ ไม่ใช่การรอทำหนังสือหรือเชิญประชุมตามขั้นตอนเดิม

 

ข้อเสนอของไทยต้องแสดงจุดยืนที่สมดุลระหว่างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความเป็นกลางทางการเมือง โดยเฉพาะในประเด็นทุนจีนในไทย ที่สหรัฐฯ อาจมองว่าไทยใกล้ชิดจีนเกินไป

 

เป้าหมายคือการเข้าไปอยู่ใน ‘กลุ่มประเทศที่น่าสนใจพอจะเจรจา’ ซึ่งทรัมป์อาจยอมผ่อนปรนให้ เพราะบางประเทศ แม้มีข้อเสนอดี แต่ก็อาจถูก ‘เชือดไก่ให้ลิงดู’ ได้เหมือนกัน

 

ป้องกันสินค้าจีนทะลักไทย: บังคับใช้กฎหมายกีดกันการค้าอย่างเข้มข้น

หากไทยเจรจาไม่ทัน ผลกระทบที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้คือการ ทะลักเข้ามาของสินค้าจากจีน ที่อาจถูกกันออกจากตลาดสหรัฐฯ และหันมาระบายในตลาดภูมิภาคแทน โดยเฉพาะในไทย

 

“ต้องเร่งสร้าง ‘กำแพง’ ด้วยกฎหมายและระเบียบกีดกันการค้าที่เข้มงวด ไม่ปล่อยให้สินค้าไหลบ่าเข้ามาง่ายๆ เหมือนที่ผ่านมา” ผศ. ดร.เกียรติอนันต์ กล่าว

 

นอกจากนี้ รัฐบาลควรใช้วิกฤตนี้เป็นแรงผลักให้เกิดการ ปฏิรูปโครงสร้างการผลิต ครั้งใหญ่ในประเทศ โดยอาศัยเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

 

ไทยต้องเลือกทิศทาง: รอไม่ได้อีกต่อไป

แม้ประชาชนทั่วไปอาจยังไม่รู้สึกถึงผลกระทบของกำแพงภาษีหรือท่าทีการทูตในทันที แต่อย่างช้าที่สุด มันจะย้อนกลับมากระทบผ่านลูกโซ่ทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่ยอดส่งออกตก คนตกงาน และกำลังซื้อในประเทศลดลง

 

“การแจกเงินในเวลานี้ไม่ช่วยอะไร ซ้ำร้ายจะทำให้เรามีเงินเหลือน้อยลงในการตั้งกำแพงที่จำเป็นจริงๆ” ผศ. ดร.เกียรติอนันต์ กล่าว

 

ในห้วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกกำลังสั่นคลอน และภูมิรัฐศาสตร์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การตัดสินใจของรัฐบาลไทยในวันนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องยุทธศาสตร์ แต่มันคือเรื่องของ ‘อนาคตประเทศ’ 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising