×

เจาะ 6 ตลาดสมาชิก โอกาสไทยใน BIMSTEC

03.04.2025
  • LOADING...
แผนที่แสดงกลุ่มประเทศ BIMSTEC ที่เชื่อมโยงไทยกับเอเชียใต้

BIMSTEC (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) มีชื่อเต็มๆ ว่า ‘ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ’ เป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยง ไทย เข้ากับ 6 ประเทศใกล้เคียง ได้แก่ อินเดีย, ศรีลังกา, บังกลาเทศ, เมียนมา, ภูฏาน และเนปาล ทั้งหมดนี้มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและการค้าสูง ครอบคลุมตลาดผู้บริโภคกว่า 1.8 พันล้านคน หรือคิดเป็นราว 22% ของประชากรโลกทั้งหมด

 

แต่ละประเทศมีจุดแข็งเฉพาะตัวที่น่าสนใจ อินเดียได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ศรีลังกาและบังกลาเทศเติบโตอย่างรวดเร็วด้านสิ่งทอและอุตสาหกรรม เมียนมามีที่ตั้งเชื่อมโยงระหว่างเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนภูฏานและเนปาลก็มีทรัพยากรธรรมชาติและการท่องเที่ยวที่น่าสนใจ โอกาสในการลงทุนและขยายตลาดมีอยู่มากมาย ไทยจะใช้โอกาสนี้อย่างไร

 

แผนที่แสดงกลุ่มประเทศ BIMSTEC ที่เชื่อมโยงไทยกับเอเชียใต้

 

บังกลาเทศมีบทบาทสำคัญใน BIMSTEC หลายด้าน เนื่องจากเป็นหนึ่งในประเทศผู้ก่อตั้ง และยังเป็นที่ตั้งของสำนักเลขาธิการ BIMSTEC ตั้งแต่ปี 2014

 

นอกจากนี้ บังกลาเทศยังมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่สำคัญ โดยอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงอินเดียกับเมียนมาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ อีกทั้งยังเป็นชาติที่ให้ความสำคัญกับไทยในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาอีกด้วย โดยบังกลาเทศมีศักยภาพเป็นแหล่งลงทุนของไทย เนื่องจากมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงต่อเนื่องหลายปี

 

ปัจจุบันบังกลาเทศเป็นประเทศนำในสาขาการค้า การลงทุน และพัฒนา

โดยมีภารกิจสำคัญคือการผลักดันความตกลงเขตการค้าเสรี BIMSTEC (BIMSTEC Free Trade Area: FTA)

 

 

ความน่าสนใจอย่างหนึ่งของภูฏานคือการเป็นชาติที่ยึดหลักทฤษฎีความสุขมวลรวมประชาชาติในการพัฒนาประเทศ และไทยเองก็มีสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับภูฏานมาอย่างยาวนาน แม้จะเป็นประเทศขนาดเล็กและไม่มีทางออกสู่ทะเล แต่ภูฏานก็มีอิทธิพลในด้านความร่วมมือระดับภูมิภาคของ BIMSTEC โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน สิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

 

สำหรับภารกิจสำคัญของภูฏานคือการผลักดันประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม โดยภูฏานเสนอจัดตั้ง ‘คณะทำงานร่วมด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ’ (BIMSTEC Joint Working Group on Environment and Climate) เพื่อส่งเสริมการผลักดันประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศภายในภูมิภาค BIMSTEC ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ตลอดจนการรับมือกับภัยธรรมชาติต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

อินเดียนับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอิทธิพลมากที่สุดใน BIMSTEC เนื่องจากเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในกลุ่ม และมีประชากรมากที่สุดในโลก อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในประเทศผู้ก่อตั้ง BIMSTEC ในช่วงแรกเริ่มร่วมกับอีก 3 ประเทศคือ บังกลาเทศ ศรีลังกา และไทย (ซึ่งขณะนั้นคือ BIST-EC)

 

สำหรับภารกิจสำคัญของอินเดียคือการให้ความสำคัญกับมิติด้านความมั่นคงในหลากหลายประเด็น เช่น การต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ การต่อต้านยาเสพติด และความมั่นคงทางทะเล โดยมีกลไกความร่วมมือสำคัญคืออนุสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญา และอนุสัญญา BIMSTEC ว่าด้วยความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้าย องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และการลักลอบค้ายาเสพติด

 

 

เมียนมาเข้าร่วมเป็นสมาชิก BIMSTEC เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 1997 ถึงแม้จะเข้ามาเป็นสมาชิกในภายหลัง (ประเทศลำดับที่ 5) แต่ได้กลายเป็นตัวเชื่อมไทยกับประเทศกลุ่มเอเชียใต้ และทำให้ BIMSTEC เป็นกรอบความร่วมมือเดียวระหว่างเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

แม้สถานการณ์ความขัดแย้งภายในประเทศจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองจะยังคงยืดเยื้อ แต่เมียนมานับได้ว่าเป็นประเทศที่มีทรัพยากรสมบูรณ์ เป็นแหล่งวัตถุดิบ ตลาดการค้า แรงงาน และแหล่งลงทุนสำคัญของไทยโดยเฉพาะด้านพลังงาน อีกทั้งยังเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์โดยธรรมชาติ มีพรมแดนทางบกติดกับไทยยาวที่สุด มีผลประโยชน์ร่วมกันในทุกมิติ และในขณะเดียวกันก็ยังต้องร่วมมือกันแก้ไขความท้าทายร่วมกับไทยหลายประการด้วยเช่นกัน

 

สำหรับภารกิจสำคัญของเมียนมาคือการให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหาร ผ่านการจัดตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านความร่วมมือทางการเกษตร

 

 

เนปาลเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลและมีภูมิประเทศเป็นเทือกเขา มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และทางพระพุทธศาสนา โดยเนปาลเข้าร่วมเป็นสมาชิก BIMSTEC เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2004 ปัจจุบันเนปาลเป็นประเทศนำสาขาการติดต่อระหว่างประชาชน (People-to-People Contact) 

 

สำหรับภารกิจสำคัญของเนปาลคือการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนในภูมิภาค ซึ่งครอบคลุม 3 สาขาย่อย ได้แก่ วัฒนธรรม การท่องเที่ยว และการติดต่อระหว่างประชาชน ผ่านกลไกความร่วมมือที่สำคัญอย่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการก่อตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมวัฒนธรรม และศูนย์ปฏิบัติการอุตสาหกรรมวัฒนธรรม BIMSTEC

 

 

ศรีลังกาเป็นประเทศที่รุ่มรวยไปด้วยพลอยและอัญมณี อีกทั้งยังเป็นแหล่งปลูกชาชั้นดีของโลก โดยไทยและศรีลังกามีความใกล้ชิดกันทางด้านศาสนาและวัฒนธรรม เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันศรีลังกาอยู่ระหว่างการฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจ หลังจากที่เคยผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศในปี 2022 ซึ่งในปัจจุบันเศรษฐกิจก็เริ่มขยายตัวและมีเงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น

 

ทั้งนี้ ศรีลังกาเป็นหนึ่งในประเทศผู้ร่วมก่อตั้ง BIMSTEC มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลและการกระจายสินค้าที่สำคัญของโลก ขณะที่ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ทำให้ทั้งสองฝ่ายสามารถเป็นประตูเชื่อมโยงระหว่างเอเชียใต้กับอาเซียน

 

ปัจจุบันศรีลังกาเป็นประเทศนำสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Science, Technology and Innovation) ซึ่งครอบคลุมประเด็นด้านเทคโนโลยี สาธารณสุข และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยมีภารกิจสำคัญคือการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางเทคโนโลยี ตลอดจนการพัฒนาระบบสาธารณสุขและทรัพยากรมนุษย์

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising