วันนี้ (4 เมษายน) จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) ครั้งที่ 6 พร้อมผู้นำและผู้แทนสมาชิก BIMSTEC จากอินเดีย เนปาล ภูฏาน ศรีลังกา เมียนมา และบังกลาเทศ ที่โรงแรมแชงกรีลา กรุงเทพฯ
นายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลงเปิดการประชุมฯ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมา ซึ่งส่งผลกระทบถึงประเทศไทยด้วย พร้อมขอให้ผู้เข้าร่วมประชุมยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 1 นาที เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งนี้
หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับผู้นำและผู้แทนระดับสูงจากประเทศสมาชิกสู่การประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 6 พร้อมระบุว่า เป็นความภาคภูมิใจของไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม หลังจากที่ไม่ได้จัดการประชุมแบบพบหน้ากันมาเป็นเวลากว่า 7 ปี ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ และหารือแนวทางในการเสริมสร้างความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ในกลุ่มสมาชิก BIMSTEC
ทั้งนี้ BIMSTEC เป็นกลุ่มประเทศที่มีประชากรรวมกันกว่า 1,800 ล้านคน หรือคิดเป็น 22% ของประชากรโลก และมี GDP รวมกันประมาณ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ความร่วมมือนี้ถือเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและเสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนในอนาคต
นายกรัฐมนตรียังได้เสนอ ‘วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030’ ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือที่ออกแบบเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง ส่งเสริมความเชื่อมโยง และการเสริมสร้างศักยภาพในการรับมือกับปัญหาระดับโลก
ด้านศักยภาพทางเศรษฐกิจของ BIMSTEC ด้วยจำนวนประชากร รวมกันเกือบ 1 ใน 4 ของประชากรโลก การค้าภายใน BIMSTEC อยู่ที่ประมาณ 6% จึงเสนอให้สมาชิกเร่งผลักดันการจัดทำ BIMSTEC FTA ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจ การค้า
นอกจากนี้การลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล จะเป็นการเชื่อมโยงเส้นทางการค้าทางทะเลที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขณะที่โครงการ แลนด์บริดจ์ของไทยจะช่วยเสริมการเชื่อมโยงระหว่างอ่าวไทยกับอ่าวเบงกอลด้วย
ทั้งนี้ประเทศไทยยังมุ่งมั่นร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อเร่งรัดการก่อสร้างทางหลวงสำคัญระหว่างประเทศที่จะเชื่อมโยงประเทศไทยไปยังเมียนมาจนถึงอินเดียให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดได้ส่งผลกระทบต่อความคืบหน้าของโครงการนี้
นายกรัฐมนตรียังกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ BIMSTEC จำเป็นต้องเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและความสามารถทางเทคโนโลยี โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น AI และการเชื่อมต่อทางดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาเร่งด่วน และเตรียมความพร้อมของภูมิภาคในการรับมือกับความท้าทายในปัจจุบันและอนาคต
ขณะเดียวกันเหตุการณ์แผ่นดินไหว มลพิษทางอากาศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโรคระบาด ทำให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเสริมสร้างความยืดหยุ่นของระบบสาธารณสุขและห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายเหล่านี้ ไทยได้เสนอจัดตั้ง ‘ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเวชศาสตร์เขตร้อนของ BIMSTEC’ และสนับสนุนข้อเสนอของอินเดียในการจัดตั้ง ‘ศูนย์จัดการภัยพิบัติ BIMSTEC’ เพื่อตอบสนองต่อภัยธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบเตือนภัย พร้อมสนับสนุนการจัดการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านความร่วมมือการจัดการภัยพิบัติ
โอกาสนี้ ไทยยังเน้นย้ำถึงการแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ โดยขอความร่วมมือจากประเทศสมาชิกในการดำเนินการตามอนุสัญญา BIMSTEC ว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ และการค้ายาเสพติด เพื่อยกระดับความมั่นคงในภูมิภาคและความยืดหยุ่นพร้อมต่อการตอบสนองต่อภัยพิบัติ
นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำด้วยว่า ไทยได้เสนอจัดตั้งสภาที่ปรึกษาธุรกิจ BIMSTEC (BIMSTEC Business Advisory Council) เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายระหว่างภาคธุรกิจ สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ และเพิ่มความยืดหยุ่นและความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในระยะยาว พร้อมเน้นย้ำความสำคัญของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม รวมถึงชุมชนที่ถูกมองข้าม ผู้หญิง และเยาวชน
นอกจากนี้การเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนใน BIMSTEC จะส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในภูมิภาค การสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงสถานที่สำคัญระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจร่วมกัน ประเทศไทยในฐานะประธานปัจจุบันของกรอบ Asia Cooperation Dialogue (ACD) มุ่งมั่นที่จะสร้างความร่วมมือระหว่าง BIMSTEC กับเวทีระหว่างประเทศอื่นๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สันติภาพ และเสถียรภาพในภูมิภาค
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้ร่วมกันรับรองปฏิญญาการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 6 และประกาศให้บังกลาเทศเป็นประธาน BIMSTEC ลำดับถัดไป ซึ่งนายกรัฐมนตรีมั่นใจว่าบังกลาเทศจะนำพา BIMSTEC ไปสู่ความสำเร็จและความเจริญรุ่งเรืองในอนาคต