บิล เกตส์ มหาเศรษฐี นักธุรกิจ และผู้ร่วมก่อตั้ง Microsoft และพัฒนาจนกลายเป็นยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา ได้แสดงความเห็นผ่านบล็อกโพสต์ส่วนตัว ยกย่องการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สำคัญที่สุดในรอบกว่า 40 ปี โดย AI ถือเป็นพื้นฐานในการสร้างไมโครโปรเซสเซอร์ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล อินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือ
ขณะเดียวกันเกตส์ยังเชื่อว่า AI จะมีบทบาทสำคัญในการเข้ามาเปลี่ยนวิธีการทำงาน การเรียนรู้ การเดินทาง การดูแลสุขภาพ และการติดต่อสื่อสารระหว่างกันของมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- บิล เกตส์ เตรียมสละตำแหน่งมหาเศรษฐีโลก ด้วยการบริจาคทรัพย์สินราว 2 แสนล้านดอลลาร์ให้การกุศล คืนประโยชน์สู่สังคม
- บิล เกตส์ เผยว่า ไม่ชอบแนวคิด Web3 กับ Metaverse เอาเสียเลย แต่กลับกัน มอง AI ค่อนข้าง ‘ปฏิวัติวงการ’
- ‘บิล เกตส์’ กล่าวว่าผู้ที่มี IQ สูงควรทำงานให้กับธุรกิจที่ ‘เป็นมิตรต่อสภาพอากาศ’ ด้วย แทนที่จะแห่กันไปที่ Wall Street อย่างเดียว
ความเห็นในครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่ Microsoft กลายเป็นจุดสนใจในแวดวงเทคโนโลยี เมื่อมีการเปิดตัวแชตบอตอย่าง ChatGPT ซึ่งพัฒนาโดย OpenAI
ChatGPT เป็นแชตบอตปัญญาประดิษฐ์ซึ่งตั้งโปรแกรมให้ตอบคำถามออนไลน์โดยใช้ภาษาที่เป็นธรรมชาติเหมือนมนุษย์ โดยเกตส์ระบวุ่า ตนเองได้พบปะพูดคุยกับทีมงาน OpenAI ที่อยู่เบื้องหลังปัญญาประดิษฐ์ที่ขับเคลื่อนแชตบอต ChatGPT ตั้งแต่ปี 2016 และในปี 2022 เขาก็ได้ท้าทายให้ทีม OpenAI ฝึก AI ที่สามารถผ่านการสอบชีววิทยาขั้นสูง (AP) ภายใต้เงื่อนไขว่า AI นั้นๆ ต้องได้รับการฝึกเหมือนเดิม ไม่ใช่เน้นเฉพาะการฝึกตอบคำถามด้านชีววิทยาแต่เพียงอย่างเดียว
จากนั้นในไม่กี่เดือนต่อมา AI ดังกล่าวสามารถตอบคำถามได้เกือบถูกทั้งหมด ขาดไปเพียงข้อเดียวจากทั้งหมด 50 ข้อ เมื่อเห็นผลดังนั้นเกตส์ได้ขอให้ AI เขียนจดหมายในฐานะพ่อเพื่อตอบโต้กับลูกที่กำลังป่วย และผลลัพธ์ก็คือ AI สามารถเขียนคำตอบได้อย่างรอบคอบ
เกตส์บรรยายว่า ผลลัพธ์ที่ได้รับในเวลานั้นคือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สำคัญที่สุดนับตั้งแต่มีการกำเนิดขึ้นของ GUI หรือ Graphical User Interface ซึ่งเป็นการใช้งานคอมพิวเตอร์ผ่านสัญลักษณ์ภาพ เช่น ไอคอน นอกเหนือจากการใช้งานทางตัวอักษร
ขณะเดียวกันเกตส์ได้ใช้โอกาสนี้เรียกร้องให้รัฐบาลต่างๆ ทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อ ‘จำกัดความเสี่ยง’ ของ AI โดยชี้ว่าเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถนำมาใช้เพื่อช่วยชีวิตผู้คนได้ ซึ่งเกตส์เชื่อมโยงว่าการปรับปรุงพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วย AI จะมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับประเทศยากจน
“คนจำนวนมากในประเทศยากจนไม่เคยไปพบแพทย์ และ AI จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น” เกตส์ขยายความ
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้มีการนำ AI มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เกตส์เรียกร้องให้นานาประเทศทั่วโลกมีแนวทางเป้าหมายสำหรับเทคโนโลยี AI ในอนาคตที่สอดคล้องไปในทางเดียวกัน เพราะกลไกตลาดจะไม่ผลิตผลิตภัณฑ์และบริการ AI ที่เอื้อต่อคนยากจน ดังนั้นจึงต้องมีการแทรกแซงจากภาครัฐเข้ามาช่วย
เกตส์เชื่อมั่นว่าด้วยเงินทุนที่เชื่อถือได้และนโยบายที่ถูกต้อง รัฐบาลและองค์กรการกุศลสามารถรับประกันได้ว่า AI จะถูกใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เกตส์ย้ำว่า AI ที่ดีที่สุดต้องถูกนำมาใช้แก้ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของโลก เหมือนกับที่โลกต้องการคนที่ฉลาดที่สุดในการให้ความสำคัญกับปัญหาที่ใหญ่ที่สุด
Google มุ่งพัฒนา ‘Bard’ ด้วยฟีดแบ็กจากสาธารณะ
ด้าน ซันดาร์ พิชัย ซีอีโอของ Alphabet บริษัทแม่ของ Google เสิร์ชเอนจินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ได้ออกมากล่าวกับพนักงานว่า ความสำเร็จของ Bard โปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ใหม่ของบริษัทที่เพิ่งเปิดตัวนั้น ขึ้นอยู่กับการทดสอบสาธารณะ โดยการทดสอบความสามารถของสาธารณจะช่วยทำให้มองเห็นข้อบกพร่อง ซึ่งมีความสำคัญต่อการปรับปรุงผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีพื้นฐานของ AI ของ Google
ข้อความดังกล่าวของพิชัยถึงพนักงานมีขึ้นหลังจากที่ Google เปิดตัว Bard แชตบอตปัญญาประดิษฐ์ ในเช้าวันอังคารที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา หลังจากรอคอยมานานหลายเดือน ผลิตภัณฑ์นี้สร้างขึ้นจาก LaMDA หรือ Language Model for Dialogue Applications ของ Google สามารถตอบคำถามที่ซับซ้อนหรือคำถามปลายเปิดแบบคุยได้ เช่น “ขอไอเดียสอนลูกสาวตกปลาแบบ Flying Fish”
ขณะเดียวกันก่อนที่จะมีการเปิดตัว Bard สู่สาธารณะ พิชัยเผยว่ามีพนักงาน Google 80,000 คนที่มีส่วนร่วมในการทดสอบ Bard ซึ่งรวมถึงการขอร้องให้พนักงานเขียนคำตอบที่ไม่ดีของแชตบอตใหม่ โดยสำหรับในช่วงทดสอบสาธารณะนี้พิชัยระบุว่า เป็นความพยายามของบริษัทที่จะทดสอบอย่างมีความรับผิดชอบ และได้เชิญผู้ทดสอบที่เชื่อถือได้ 10,000 คน “จากภูมิหลังและมุมมองที่หลากหลาย” มาร่วมทดสอบเพื่อปรับปรุงศักยภาพของ Bard ด้วย
ทั้งนี้ หลายฝ่ายมองว่าความเคลื่อนไหวของพิชัยมีขึ้นเพื่อให้กำลังใจพนักงาน Google ที่น่าจะเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงข้อผิดพลาดของ Bard โดยพิชัยย้ำว่าคำวิจารณ์ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา Bard ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
อ้างอิง: