×

เช็กทุกปัจจัย อะไรทำให้ ‘Big Mountain’ ยังคงเป็น ‘Music Festival’ ที่คนเสพเพลงต้องไป

30.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

14 Mins. Read
  • Big Mountain Music Festival ปีนี้จะกลับไปที่จัดที่ ‘เขาใหญ่’ อีกครั้ง เพียงแต่ผู้ชมจะได้ประสบการณ์ใหม่ เพราะนี่คือการเสพวัฒนธรรมดนตรีกลางแฟร์เวย์สนามกอล์ฟ! ที่ ดิ โอเชียน จังหวัดนครราชสีมา
  • สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของวัฒนธรรมมิวสิกเฟสติวัลคือ การไปพบกับวงที่เราไม่รู้จัก ไปเจอสิ่งที่ไม่เคยเห็น หรือไปพบกับสิ่งที่ไม่ได้คาดหมายไว้ ตอนเข้าไปเราอาจจะตั้งใจมาดูศิลปินที่ชอบสัก 2 วง แต่กลับออกไปเมื่อจบงาน เราอาจจะชอบศิลปินเพิ่มขึ้นอีก 3-4 วง หากได้หยุดชมการแสดงสดของพวกเขา
  • ยุทธนา บุญอ้อม เล่าว่า เขาเรียนรู้หัวใจของมิวสิกเฟสติวัลจากส้วมแบบ ‘long drop’ ของเทศกาลดนตรีแกลสตันบูรี หมายถึงว่า บางทีความสะดวกสบายไม่ใช่หัวใจสำคัญ แต่มันคือประสบการณ์ที่ได้รับมา ซึ่งอาจจะไม่ใช่ความสะดวกสบาย แต่มันอาจเป็นหนึ่งในโมเมนต์ที่คนรักดนตรีจะไม่มีวันลืม  
  • Big Mountain Music Festival 2017 จะบัตรจำหน่ายที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส All Ticket ในร้าน 7-Eleven ทุกสาขา ความพิเศษในระดับที่พลาดไม่ได้คือ บัตร Early Cow ราคา 1,500 บาท (จากราคาปกติ 2,000 บาท) มีจำหน่ายในวันที่ 31 สิงหาคม วันเดียวเท่านั้น!

 

     พอเข้าใกล้ปลายปี เรียกได้ว่าเป็นเวลาสำคัญของ ‘มิวสิกเฟสติวัล’ และจะขาดไม่ได้เลยคือเทศกาลดนตรีที่ใหญ่สุดของประเทศอย่าง ‘Big Mountain’ ที่ปีนี้จะได้กลับสู่ ‘เขาใหญ่’ อีกครั้งในชื่องานแบบเต็มๆ ว่า PEPSI Presents Big Mountain Music Festival 2017 ‘กลับเขาใหญ่แบ๊ววว!’ ความพิเศษที่น่าจะสร้างความแตกต่างสำหรับคนที่เคยไปในครั้งก่อนๆ คือประสบการณ์เสพดนตรีกลางแฟร์เวย์สนามกอล์ฟของ ดิ โอเชียน เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา

     แต่ก่อนจะถึงเวลาเปิดให้จองบัตรแบบ Early Cow (1,500 บาท) ในวันพรุ่งนี้ (31 สิงหาคม วันเดียวเท่านั้น) THE STANDARD คิดว่าน่าจะชวน เจ๋อ-ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค และขาดไปไม่ได้ เต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม ที่เป็นยิ่งกว่า ‘โลโก้’ ของ Big Mountain ไปแล้ว เพื่อมานั่งเคลียร์ นั่งเช็กทุกปัจจัย ตรวจจุดเด่น-จุดด้อยกันเสียหน่อยว่าภายในงานจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เวทีที่เคยชอบจะยังมีอยู่ไหม เราจะจอด จะกิน จะนอน จะถ่ายหนัก ถ่ายเบากันยังไง และสำคัญที่สุด! ทำไมเราถึงควรต้องเดินทางไปเสพ ตกลงเราจะได้อะไรบ้างจากเทศกาลดนตรี!

 

มากกว่าการไปดูคอนเสิร์ต แต่ ‘มิวสิกเฟสติวัล’ เป็นอะไรมากกว่านั้น   

     เต็ด: มิวสิกเฟสติวัลมันเอื้อให้คนที่ไปมีเวลาอยู่ในงานมากกว่าอยู่ในคอนเสิร์ต โดยทั่วไปเวลาเราไปคอนเสิร์ต เราจะประทับใจสิ่งที่อยู่บนเวที แต่ถ้าไปมิวสิกเฟสติวัล มันมีเรื่องให้เราประทับใจมากกว่านั้น เพราะเรามีเวลาที่จะใช้ชีวิตอยู่ในนั้น บางคนประทับใจการนอนเต็นท์ในมิวสิกเฟสติวัล ตื่นนอนมีน้ำค้าง ลุกขึ้นมาชงกาแฟกินกัน บางคนไปขอแฟนแต่งงานที่นั่น บางคนไปเลิกกันที่นั่น บางคนสนุกกับการเต้นอยู่ที่เวทีเต้นรำ เท้าเหยียบพื้นหญ้า ตามองขึ้นไปบนท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาว ฯลฯ ทุกคนมีโมเมนต์ไม่เหมือนกันเลย

     มิวสิกเฟสติวัลจึงเป็นวัฒนธรรม มันไม่ใช่แค่งานอีเวนต์หรือคอนเสิร์ตที่ทุกคนหันหน้าเข้าเวที เพราะอยู่ในมิวสิกเฟสติวัล สายตาทุกคนเห็นไปในทิศทางไหนก็ได้หมด บางคนชอบเดินไปเดินมามากกว่าจะหยุดอยู่ที่เดียวด้วยซ้ำ แต่ละคนที่มาจึงเลือกจะมีความสุขได้ในแบบของตัวเอง

 

 

ทำไมเมืองไทยถึงต้องมี ‘มิวสิกเฟสติวัล’ และทำไมเราถึงต้องไป ‘Big Mountain’ สักครั้งในชีวิต  

     เต็ด: มันยากที่จะตอบเหมือนกันครับ แต่ทุกประเทศเขาต้องมีมิวสิกเฟสติวัลหลักประจำประเทศของเขา ซึ่งมันจะทำหน้าที่คล้ายๆ กัน คือเป็นการสรุปสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในรอบปี สิ่งที่มันอยู่ในแวดวง ‘ป๊อปคัลเจอร์’ เพลงไหนดังที่สุดในรอบปี ศิลปินคนไหนที่กำลังเป็นที่พูดถึง แม้กระทั่งเรื่องราวไหนที่คนพูดถึงมากที่สุดในรอบปี มันจะถูกนำมาสรุปรวมอยู่ใน Big Mountain

     งานในลักษณะแบบนี้ พอมันถูกเริ่มต้นและวางรากฐานเอาไว้ ถึงเวลามันจะเคลื่อนตัวต่อไปข้างหน้าได้เอง ถึงเวลาคนจะเรียกร้องให้จัด อย่างผมเอง ตอนนี้มันเหมือนทำเป็นหน้าที่ ยังไงก็ต้องจัด ถ้าไม่จัด มันคล้ายๆ ว่าจะมีเรื่องเกิดขึ้น (หัวเราะ)

     เจ๋อ: ผมชอบที่พี่เต็ดพูดในเรื่องของหน้าที่นะ เพราะการทำ Big Mountain ครั้งนี้มีสิ่งหนึ่งที่ผมสัมผัสได้เลย คือมีคนรอคอย เพราะว่าเราได้สร้างพฤติกรรมหรือทำให้มันกลายเป็นคัลเจอร์ไปแล้วว่า เมื่อถึงปลายปีจะมีมิวสิกเฟสติวัลที่ดีที่สุดเกิดขึ้น การหายไปในปีที่แล้ว ผมเชื่อว่าทุกคนเข้าใจได้ แต่ยังไงมันจะไม่มีวันหายตลอดไป และสำคัญที่สุด ผมเชื่อว่าทั้งผู้จัดงาน ผู้เสพ และศิลปินผู้เข้าร่วมงาน เราสัมผัสได้ถึงความคิดถึง และทุกฝ่ายต่างก็รอคอย เพราะหลังจากที่ปล่อยแคมเปญโปรโมตออกไป เรามีการรีเสิร์ช ทำให้ทราบว่ากว่า 90% ทราบแล้วว่า Big Mountain จะกลับไปเขาใหญ่ มากไปกว่านั้น เหตุผลอันดับหนึ่งที่คนจะไปคือ ‘ยังไม่เคยไป’ และอยากลองไป

     เต็ด: ซึ่งก็สอดคล้องกับสถิติที่เราทำภายในงานมาทุกปี คือประมาณ 30-40% ที่มา Big Mountain คือคนที่มาเป็นครั้งแรก นั่นแปลว่ามีคนหน้าใหม่มาในงานทุกปี ความรู้สึกที่ผู้คนมีต่อ Big Mountain มันถึงมาคู่กับคำว่า ‘ครั้งหนึ่งในชีวิต’ ต้องไปให้ได้ และผมว่ามันไม่ใช่เฉพาะแค่คนดูนะครับที่เรียกร้อง แต่ศิลปินเองก็รอคอย

     ศิลปินเพลงเขามอง Big Mountain เป็นเหมือนมอเตอร์โชว์น่ะครับ คือมอเตอร์โชว์เนี่ยเขามีไว้เพื่อโชว์รถยนต์รุ่นใหม่ ศิลปินเพลงก็เช่นกัน ด้วยความที่แต่ละปีเขาจะต้องเอาผลงานเพลงไปโชว์ตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะตามผับ ตามงานอีเวนต์ ฯลฯ ฉะนั้นที่ผ่านมาเขาจะใช้ Big Mountain เพื่อเป็นการนำเสนอโชว์ใหม่ หลังจากที่โชว์แบบเดิมมาตลอดทั้งปี ไม่อย่างนั้นคนดูจะรู้สึกซ้ำ หรือบางวงออกซิงเกิลใหม่ไป 3 เพลง บางวงปรับโชว์ใหม่ บางวงปรับสคริปต์ใหม่ แล้วมาลองที่ Big Mountain

     นั่นคือเรื่องของศิลปิน แต่นอกเหนือจากนั้น อย่างอินบ็อกซ์ในเพจ พ่อค้าแม่ค้าจะถามมาตลอดว่าเมื่อไรจะเปิดให้จองพื้นที่ในตลาดขายของ หน้าเพจไม่ว่าจะรถตู้ โรงแรมต่างๆ เข้ามาโปรโมตที่พักจนเป็นเรื่องปกติ อย่างวันที่ผมกลับไปสำรวจพื้นที่เขาใหญ่ ผมรู้สึกได้เลยว่าทุกที่ที่ผมไป ทุกคนจำผมได้ เหมือนเขาดีใจว่ามันกลับมาแล้ว เพราะเราจัดงานที่นั่นมา 7 ปี และเขารู้สึกได้ว่าการที่ Big Mountain ไม่ได้จัดที่เขาใหญ่ มันเหมือนขาดอะไรไปบางอย่าง

     ผมเคยพูดเล่นๆ นะฮะว่า ต่อไปถ้าผมสมัครเป็น อบต. เขาใหญ่ ผมเชื่อว่าผมได้รับเลือกแน่ๆ (หัวเราะ) เพราะได้ทำประโยชน์ให้ผู้ประกอบธุรกิจในเขาใหญ่ไว้มากมาย

     นี่เป็นตัวอย่างของสิ่งที่ผมบอกว่าการจัดงาน Big Mountain มันกลายเป็นหน้าที่ไปแล้ว คือถ้าผมเลิกทำ ยังไงต้องมีคนทำต่อ มันเป็นงานที่เลิกไม่ได้ เพราะมันเกี่ยวพันกับชีวิตผู้คนเยอะเกินกว่าที่นึกจะเลิกก็เลิกได้

 

 

 

‘Big Mountain – เขาใหญ่ – สนามกอล์ฟ’ เทศกาลดนตรีที่จะเขียวขจีกว่าทุกครั้ง

     เจ๋อ: ผมคุยกับพี่เต็ดมานาน ด้วยความที่ปีที่แล้วเราหยุดไป ระหว่างนั้นเราได้ทำรีเสิร์ชกันแล้วพบว่ามีอยู่ ‘ข้อเรียกร้องหนึ่ง’ ที่เราปรึกษากันอย่างลำบากใจ คืออยากให้ Big Mountain กลับไปจัดในพื้นที่ออริจินัลที่ ‘เขาใหญ่’ หลังจากนั้นเราเลยตั้งโจทย์กันว่า ถ้าปีนี้เราจะต้องกลับไปเขาใหญ่ แต่ติดขัดตรงที่ยังใช้สถานที่เดิมไม่ได้ และต้องหาสถานที่มาทดแทน มันพอจะมีโอกาสใหม่ๆ แบบไหนบ้าง

     เต็ด: ตั้งแต่คราวที่เราต้องย้ายงานออกจาก ‘โบนันซ่า’ เราก็ได้ลองพยายามไปหาพื้นที่ แต่ด้วยความที่มันต้องใช้พื้นที่กว่า 1,200 ไร่นี่แหละ มันเลยไม่ง่าย (Big Mountain Music Festival ครั้งที่ 7 ย้ายไปจัดที่ แก่งกระจาน คันทรี คลับ จังหวัดเพชรบุรี) คราวนี้พอเจอกับเสียงเรียกร้อง บวกกับความโชคดีที่เจ้าของพื้นที่อย่าง ดิโอเชียน เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา อยากให้มีการจัดงานในลักษณะนี้ขึ้นในพื้นที่ของเขา แล้วเป็นเรื่องเส้นผมบังภูเขาจริงๆ เพราะผมจัดงานที่เขาใหญ่มา 6-7 ปี แต่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีพื้นที่นี้อยู่ ทั้งที่เป็นพื้นที่ที่สวยมาก เพราะอยู่ติดถนนเลย

     คิดดูแล้วกันว่าการอนุญาตให้งานใหญ่ขนาดนี้ คนเยอะขนาดนี้ เข้าไปอยู่ในสนามกอล์ฟ ซึ่งปกติแล้วเป็นพื้นที่ที่เขาหวงกันมาก แล้วพอ ดิ โอเชียน แฮปปี้ที่จะให้เราใช้ มันเลยนำพามาซึ่งความแปลกใหม่ เพราะเราไม่เคยจัดงานในพื้นที่ที่มีหญ้าเยอะขนาดนี้มาก่อน นั่นหมายถึงเราจัดงานกันในแฟร์เวย์ของสนามกอล์ฟ

     ถึงใครไม่เคยตีกอล์ฟ อาจจะเคยผ่านตาการถ่ายทอดสดหรือเทปการแข่งขันกอล์ฟมาบ้าง ซึ่งเราจะเห็นเลยว่าพื้นที่มันเขียวขจีมาก แล้วพอเป็นลักษณะพื้นที่แบบใหม่ มันเลยทำให้เราต้องออกแบบเวทีใหม่ทั้งหมดเพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะพื้นที่ ฉะนั้นสิ่งที่น่าตื่นเต้นคือ ถึงเคยไป Big Mountain ปีก่อนๆ มาแล้ว แต่ภาพงานในปีนี้คุณจะไม่คุ้นเคยมาก่อน เวทีชิงช้าสวรรค์ หรืออย่างเวทีวัว ฯลฯ มันยังมีอยู่นะครับ เพียงแต่มันจะถูกออกแบบใหม่ให้สอดคล้องกับพื้นที่ที่เป็นสนามกอล์ฟ ซึ่งถือเป็นความท้าทายใหม่สำหรับทีมงานด้วย

     เจ๋อ: แล้วไม่ใช่แค่มีหญ้านะครับ แต่คราวนี้มันจะเป็น Big Mountain ที่ผมว่าร่มเงาเยอะที่สุด

     เต็ด: ใช่ครับ ที่ผ่านมาทุกปีเนี่ย ตอนกลางวันผู้ชมมักจะไม่รู้จะไปหลบที่ร่มตรงไหน ต่อให้ทำขึ้นมาเท่าไรก็ไม่เคยพอ เพราะเราไม่สามารถทำร่มเงาให้คนจำนวน 5-6 หมื่นคนอยู่ในที่ร่มพร้อมกันได้ แต่คราวนี้ด้วยความที่เราจัดในสนามกอล์ฟ มันจะมีทิวสนที่คั่นอยู่ระหว่างแฟร์เวย์ (ทางเรียบสำหรับตีกอล์ฟ) ยาวตลอดทั้ง 9 หลุม ซึ่งถ้าคนเล่นกอล์ฟจะรู้ว่าพอเราตีเสร็จหลุมหนึ่ง มันจะต้องมีร่มเงาเพื่อให้เราเดินเลาะไปถึงสนามอีกหลุมได้ ซึ่งสำหรับทีมงาน มันเป็นอะไรที่เพอร์เฟกต์มาก

 

 

มันสำคัญอย่างไรกับการที่ Big Mountain จะกลับไป ‘เขาใหญ่’  

     เต็ด: ผมขอเล่าย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นเลยนะครับ ตอนที่เราคิดจะทำมิวสิกเฟสติวัลหลักของประเทศเนี่ย เราเริ่มต้นด้วยการหาโลเคชันก่อน ตอนนั้นเลยมองว่าพื้นที่ควรจะห่างจากกรุงเทพฯ ในระยะทางที่ขับรถไปได้ประมาณสัก 2 ชั่วโมง พอขับรถสำรวจไปเรื่อยๆ เราก็พบว่าเขาใหญ่นี่แหละเวิร์กที่สุด เพราะเดินทางสะดวก อากาศดี ตอนนั้นโชคดีต่อไปอีกที่เราเจอพื้นที่อย่าง ‘โบนันซ่า’ ซึ่งเพอร์เฟกต์มาก

     ตอนแรกเราตั้งใจจะตั้งชื่อว่า ‘เขาใหญ่ มิวสิกเฟสติวัล’ แต่อีกใจก็มองไปไกลๆ  ว่า เดี๋ยวต่อไปเวลาบอกชาวต่างชาติเขาอาจจะไม่เข้าใจ กลัวจะเรียกยาก สะกดยาก สุดท้ายเลยลงตัวที่ชื่อว่า ‘Big Mountain’ หรือแปลตรงตัวเลย (หัวเราะ) ซึ่งความจริงเขาใหญ่ไม่เคยมีชื่อภาษาอังกฤษมาก่อน ฉะนั้นจุดเริ่มต้นของมันจึงเกิดขึ้นที่เขาใหญ่มาตั้งแต่แรก

     จนเมื่องานจัดมาเรื่อยๆ มันมีความผูกพัน มีความคุ้นชินในเรื่องสภาพอากาศ เรื่องของผู้คนในท้องถิ่นที่เข้ามาเกี่ยวพัน สุดท้ายเขาใหญ่เลยเป็นบ้านของ Big Mountain ซึ่งเราไม่ได้คิดไปเอง แต่คนที่เคยไปเขาก็รู้สึกแบบนั้น มันถึงเกิดเสียงเรียกร้องให้กับไปจัดงานที่เขาใหญ่เหมือนเดิม

 

จุดเด่น – ถอดบทเรียนจาก 7 ครั้งที่ผ่านมาของ ‘Big Mountain’

     เต็ด: ผมเรียนรู้มาอย่างหนึ่งจากเทศกาลดนตรีหลักๆ ของแต่ละประเทศอย่าง แกลสตันบูรี, ฟูจิร็อก, ซัมเมอร์โซนิก ฯลฯ อย่างแรกคือเทศกาลดนตรีหลักจะต้องครอบคลุมดนตรีทุกแนว เพื่อที่ไม่ว่าเวลาผ่านไปแค่ไหน ต่อให้ดนตรีแนวไหนกำลังได้รับความนิยม แต่ตัวเทศกาลดนตรีจะเป็นหลักอยู่ได้ ซึ่งต่างจากเทศกาลดนตรีอย่าง แดนซ์เฟสติวัล, ร็อกเฟสติวัล, แจ๊ซเฟสติวัล ฯลฯ ที่จะมีความเฉพาะทาง  

     โดยเฉพาะกับเทศกาลดนตรีอย่างแกลสตันบูรี ซึ่งถือว่าเป็นแรงบันดาลใจหลักของ Big Mountain เขาจะวางโครงสร้างแต่ละเวทีเพื่อเกื้อหนุนให้ศิลปินตั้งแต่เริ่มต้นเข้าสู่วงการจนก้าวไปถึงระดับซูเปอร์สตาร์ ก็ยังคงร่วมโชว์อยู่ในงานได้

     ทุกวงดนตรี ไม่ว่าดังแค่ไหนจะมีพื้นที่ของตัวเอง ในงานจึงมีเวทีขนาดเล็ก เวทีขนาดกลาง เวทีขนาดใหญ่ บางเวทีแยกหมวดหมู่ไปตามรสนิยมของคนดู ฯลฯ ลักษณะแบบนี้เราค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาใน Big Mountain แต่ละปี จนตอนนี้ค่อนข้างเป็นรากฐานชัดเจน

 

จุดด้อย – ถอดบทเรียนจาก 7 ครั้งที่ผ่านมาของ ‘Big Mountain’ เรื่องจอด เรื่องกิน เรื่องนอน และเรื่องขี้!

     เต็ด: ใช่ฮะ (หัวเราะ) คืออีเวนต์สเกลนี้เนี่ย จริงๆ แล้วความยากไม่ใช่เรื่องบนเวทีเลย เพราะแค่วางโปรแกรมดีๆ เลือกวงที่จะขึ้นไปโชว์ให้อยู่ในพื้นที่หรือเวทีที่ถูกต้อง ที่เหลือศิลปินเขาสามารถทำได้เอง สคริปต์เราก็ไม่ต้องเขียนให้เขา เสื้อผ้าหน้าผมก็ไม่ต้องออกแบบให้ เพราะเขาเตรียมมาเต็มที่

     แต่เรื่องยากที่สุดคือการสร้างความสะดวกสบาย ฉะนั้นระหว่างที่งานกำลังเกิดขึ้น 2 วัน 2 คืน ผมเป็นเหมือนผู้ใหญ่บ้านเลยนะฮะ เพราะใน Big Mountain มีคนมาอยู่รวมกัน 5-6 หมื่นคน ความยากมันเลยเป็นเรื่องของการจัดการกับระบบจราจร คนจะเข้าออกยังไง แต่ละเวทีอีกล่ะ ถ้าใกล้กันมากไป เสียงก็จะตีกัน แต่ถ้าไกลกันเกินไป คนก็ขี้เกียจเดิน ฉะนั้นต้องหาระยะที่มันพอดี

     ห้องน้ำควรจะอยู่ตรงไหน อยู่ใกล้เวทีเกินไปก็เหม็น อยู่ไกลเกินไปเขาก็บ่น จะต้องคำนวณหาจุดวางในปริมาณที่เพียงพอ  

     พ่อค้าแม่ค้าที่มาขายจะต้องเข้าทางด้านไหน ถ้าผักหมด หมูหมด ไข่หมด รถที่ขนของเข้ามาจะทำยังไง นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าจากเดิมที่เคยมีอาหารเมนูหลากหลาย ในที่สุดเลยมีแค่ร้านข้าวเปล่ากับไข่เจียว ทั้งหมดนี้แหละที่เป็นบทเรียนในเรื่องการวางผังที่เหมาะสม ซึ่งก็ท้าทายทีมงานทุกปีด้วยเหมือนกัน

 

 

‘มิวสิกเฟสติวัล’ จุดศูนย์รวมของสิ่งที่เรียกว่า ‘ป๊อปคัลเจอร์’

     เต็ด: ผมอยากจะเสริมว่า สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งในวัฒนธรรมการไป ‘มิวสิกเฟสติวัล’ คือการไปพบกับวงที่เราไม่รู้จัก ไปเจอสิ่งที่ไม่เคยเห็น หรือไปพบกับสิ่งที่ไม่ได้คาดหมายไว้ เช่น มา Big Mountain ครั้งนี้เราอาจจะตั้งใจมาดู เป๊ก ผลิตโชค หรือ Lomosonic แต่ความตื่นเต้นของมิวสิกเฟสติวัลคือ ระหว่างทางที่เรากำลังเดินไปดูโชว์ของศิลปินที่ชอบ เราอาจจะไปเจอเข้ากับวงอะไรสักวงที่ไม่เคยสนใจ ไม่เคยดูโชว์ของเขามาก่อนที่เวทีหนึ่งระหว่างทางก็เป็นได้

     มันเลยกลายเป็นว่า แทนที่คุณจะมีวงโปรดอยู่แค่ 2 วง แต่เมื่อจบงานแล้วกลับออกไป คุณอาจจะมีวงโปรดเพิ่มขึ้นอีก 4-5 วงก็ได้ และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลากับคนที่เดินทางไปดูมิวสิกเฟสติวัลทั่วโลก

     เจ๋อ: นึกออกไหมว่าการเดินทางไปงานมิวสิกเฟสติวัล มันคือการที่เราไปแลกเปลี่ยนความสนใจใหม่ มันคือการไปค้นพบบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ใช่แค่การไปหาสาวสวยๆ ในงาน (หัวเราะ) ซึ่งสิ่งที่ได้กลับไปหลังจากงานจบ ความจริงมันเปิดโลกให้กับคนดูบางคนได้เหมือนกันนะ

 

ลึกลงไปในความ ‘ป๊อปคัลเจอร์’ อะไรคือเสน่ห์ของมิวสิกเฟลติวัล ทำไมทุกประเทศถึงต้องมี และทำไมเราถึงควรจะต้องไปสักครั้งในชีวิต

     เต็ด: ผมเชื่อว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้มันอยู่ในดีเอ็นเอของมนุษย์นะ คือผมนึกไม่ออกหรอกว่ามีตำราไหนเคยเขียนไว้ไหม แต่ผมนึกย้อนกลับไปเองว่า ภาพแรกในความบันเทิงของมนุษย์ควรจะเป็นภาพอะไร ซึ่งผมนึกถึงภาพมนุษย์เอากระดูกมาเคาะเป็นจังหวะรอบกองไฟ คือเสร็จจากงานล่าสัตว์ ปลูกพืชผัก ตอนกลางคืนไม่มีอะไรทำก็จุดไฟแล้วนั่งล้อมวงกินข้าว เต้นรำ คุยกัน มันเป็นอย่างนี้มาตั้งนานแล้ว เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบให้แตกต่างกันไปเท่านั้นเอง เพราะในที่สุดแล้วดีเอ็นเอของมนุษย์คือต้องออกมาเจอกันเพื่อที่จะหย่อนใจ เพื่อที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน  

     ผมว่ามิวสิกเฟสติวัลมันเป็นรูปแบบที่ค่อนข้างเปิดกว้างให้กับรสนิยมที่หลากหลาย แล้วผมเชื่อว่าดนตรีมันเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นเองนะฮะ คนที่ไปมิวสิกเฟสติวัลเนี่ย ความสุขที่เขาได้รับมันไม่ใช่แค่การได้ดูวงที่ชอบ แต่สิ่งที่ให้มากกว่านั้นคือโมเมนต์อย่างการต่อแถวซื้อข้าวไข่เจียวด้วยกัน หรือเขาใหญ่มันหนาวกว่าที่คิดนะ เตรียมเสื้อหนาวมาไม่พอเลยเอาผ้าห่มมาห่มด้วยกัน ฯลฯ การมางานประเภทนี้มันมีปัจจัยที่เอื้อให้เกิดโมเมนต์พิเศษได้เยอะมาก แม้กระทั่งโมเมนต์ที่ยากลำบากที่สุด

     ยกตัวอย่างตอนผมไปเทศกาลดนตรีแกลสตันบูรีก็ได้ เพราะว่ามันเป็นเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทุกปีแกลสตันบูรีฝนตกหนัก ทุกอย่างเละเป็นโคลน ทุกคนที่เคยไปจะรู้เลยว่าสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เป็นอันขาดคือ ‘รองเท้าบู๊ต’ ใครไม่เอาไปคือเตรียมตัวเดินเท้าเปล่าได้เลย แต่นั่นแหละคือโมเมนต์ที่ทุกคนกลับรู้สึกว่า ถ้าไปแกลสตันบูรีแล้วฝนไม่ตก เขาจะรู้สึกเสียใจมาก ทั้งที่ความจริงมันลำบากมาก เราจะรู้สึกว่ามันเหนื่อยเหลือเกินกว่าจะย่ำโคลนเดินไปไหนได้แต่ละก้าว แต่พอเหตุการณ์นั้นผ่านไป ถึงปีหน้าเราอยากไปอีกแล้ว นั่นแหละคือสิ่งที่มิวสิกเฟสติวัลมันสร้างได้

 

 

ประสบการณ์ร่วม ‘มิวสิกเฟสติวัล’ ที่จะไม่มีวันลืม

     เต็ด: ตอนไปเทศกาลดนตรีแกลสตันบูรีแน่นอน จริงๆ แล้วจุดกำเนิดที่ทำให้ผมอยากทำมิวสิกเฟสติวัลเกิดขึ้นจากการดูหนังเรื่อง Woodstock (1970) แต่นั่นคือการมองช่วงเวลาในอดีตที่เคยมีคนบันทึกเอาไว้ ซึ่งผมไม่สามารถไปสต็อกได้จริงๆ แต่กับปัจจุบัน ที่ที่เราพอจะเห็นจิตวิญญาณแบบ Woodstock ได้ก็คือแกลสตันบูรี ผมก็เลยเดินทางไปที่นั่นเมื่อเกือบสิบกว่าปีที่แล้ว

     สิ่งที่น่าประทับใจคือมันเหมือนตอนเราไป ‘เขาชนไก่’ คือตอนที่อยู่เนี่ย เราจะรู้สึกว่าชีวิตมันยากลำบากมาก ผมจำได้ว่าตอนอยู่ในแกลสตันบูรี แค่ผมเดินจากฝั่งหนึ่งเพื่อไปอีกฝั่งหนึ่งของเวทีหลัก ผมใช้เวลาถึงครึ่งชั่วโมงในการฝ่าฝูงชน แล้วเท้าแต่ละก้าวที่เหยียบลงไปเนี่ย มันต้องใช้แรงในการดึงขึ้นมา เพราะดินมันกลายเป็นโคลนแทบทั้งหมดเลย  

     ตรงจุดนั้นแหละที่ผมให้ผมรู้สึกว่า เฮ้ย ทำไมเราต้องมายืนอยู่ตรงนั้นวะ ซีดีของวงที่เรากำลังจะดูก็มีอยู่แล้ว คือนอนฟังซีดีอยู่ที่บ้านสบายกว่าเยอะ แต่อยู่ตรงนั้นมันกลับรู้สึกว่าเพลงมันเพราะว่ะ การได้ฟังเพลงเหล่านั้นอยู่ท่ามกลางคนมากมาย…

     อีกสิ่งที่ประทับใจที่สุดของผมในการไปแกลสตันบูรีก็คือ การที่ผมต้องนอนเต็นท์ในนั้น 5 คืน แล้วส้วมที่นั่นเนี่ยเรียกว่าเป็นระดับตำนานเลยนะครับ เขามีชื่อเรียกของเขาเลยนะ เขาเรียกว่า ‘long drop’ ซึ่งก็ตามชื่อเลยครับ คือดรอปขี้ลงไป (หัวเราะ)

     เอกลักษณ์ของส้วมในแกลสตันบูรีคือ เขาจะทำถังใบใหญ่ๆ ประมาณสระว่ายน้ำขึ้นมา จากนั้นก็เอาแผ่นเหล็กมาวางทับเหมือนเป็นฝาปิดถังทั้งหมด แล้วก็เจาะรูเท่ากับส้วม ต่อด้วยทำที่นั่งเหมือนฝาชักโครกวางแปะลงไป ทำแบบนี้เรียงเป็นตับเลยนะครับ แล้วก็ทำผนังกั้น

     ฉะนั้นถ้าก้มลงไปมอง มันก็คือสระว่ายน้ำใหญ่ๆ อยู่ข้างล่าง เพียงแต่สิ่งที่อยู่ในนั้นมันไม่ใช่น้ำ และมันรวมไว้ซึ่งขี้ของทุกคนที่อยู่ในงานนั้น (หัวเราะ) ก่อนผมไป ความจริงผมทำการบ้านมาก่อน ผมเลยทราบว่ารถจะเข้ามาทำความสะอาดส้วมทุก 6 โมงเช้า แต่ถ้าเกิดคุณไปเข้าส้วมสักประมาณห้าทุ่มถึงเที่ยงคืน ปรากฏการณ์ที่จะเห็นก็คือ พอคุณเปิดฝาชักโครกที่ปิดไว้ มันจะมีภูเขาของสิ่งที่ทุกคนไปดรอปไว้ทะลุขึ้นมา เรียกว่าคุณนั่งลงไปไม่ได้ เพราะมันจะจ่อตูดคุณเลย มันคือที่สุดจนผมต้องถ่ายรูปเก็บไว้

     อยากจะบอกว่าหลังจากที่ผมกลับมาเริ่มต้นทำ Big Mountain ครั้งแรก แล้วคนบ่นเรื่องห้องน้ำว่าลำบาก แหม ผมคิดเล่นๆ ในใจ ผมอยากจะออกค่าตั๋วเครื่องบินพาไปแกลสตันบูรีสักรอบหนึ่ง (หัวเราะ) ลองไปนั่งส้วม long drop กับผมดูหน่อย แล้วจะรู้ว่าห้องน้ำ Big Mountain นี่โคตรวีไอพีเลย

     ผมเรียนรู้หัวใจของมิวสิกเฟสติวัลจากส้วมของแกลสตันบูรี

     ที่พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าผมจะทำให้ส้วมของ Big Mountain มันเละเทะแบบนั้นนะ แต่ผมรู้สึกว่าบางทีความสะดวกสบายไม่ใช่หัวใจสำคัญ แต่มันคือประสบการณ์ต่างหาก มันเหมือนกับประสบการณ์ตอนที่ครั้งหนึ่งเคยไปเดินขึ้นภูกระดึง แล้วพอมีคนคิดจะทำกระเช้าขึ้นไป บางคนเลยรู้สึกว่าเสน่ห์ของภูกระดึงกำลังจะหายไป ผมเข้าใจเขาเลยนะ ทั้งๆ ที่ผมเองก็ไม่เคยเดินขึ้นภูกระดึงสักครั้ง เพราะถ้าให้ผมปีนขึ้นไป ผมก็ปีนขึ้นไม่ไหว แต่ผมเข้าใจคนที่รักเสน่ห์ข้อนั้นของภูกระดึง ซึ่งมันเป็นเรื่องที่หาเหตุผลมาอธิบายได้ยาก

 

Photo: สลัก แก้วเชื้อ

FYI
  • ตัวอย่างภาพยนตร์ Woodstock (1970) แรงบันดาลใจที่ทำให้ ยุทธนา บุญอ้อม เดินทางไปเทศกาลดนตรีแกลสตันบูรี และกลับมาสร้าง Big Mountain Music Festival ครั้งที่ 1 ในปี 2553 ที่โบนันซ่า เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา
  • ภาพส้วม long drop จากเทศกาลดนตรีแกลสตันบูรี ปี 2007 ที่ ‘ป๋าเต็ด’ ประทับใจขนาดที่ต้องบันทึกภาพเก็บไว้!

 

  • ป๋าเต็ดบอกว่า ที่เขาสนุกและอินมากกับการจัดงานสเกลใหญ่ระดับมิวสิกเฟสติวัล เพราะเขาชอบเล่นเกม Sim City
  • ไฮไลต์ใน Big Mountain Music Festival 2017 มีเยอะมาก แน่นอนว่ารายชื่อศิลปินเปิดเผยมาแล้ว แต่ความพิเศษอีกอย่างคือศิลปินจาก The Mask Singer ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากทุเรียน หน้ากากจิงโจ้ หน้ากากกวางมูส ฯลฯ จะไปรวมตัวกันอยู่ที่เวทีวัว
  • Big Mountain Music Festival 2017 จะบัตรจำหน่ายที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส All Ticket ในร้าน 7-Eleven ทุกสาขาทั่วประเทศ และที่ www.allticketthailand.com
  • ความพิเศษในระดับที่พลาดไม่ได้คือบัตร Early Cow 1,500 บาท (จากราคาปกติ 2,000 บาท) 31 สิงหาคม วันเดียวเท่านั้น!
  • ใครสนใจงานและรายละเอียดเพิ่มเติม คลิกเข้าไปเลยที่เฟซบุ๊กเพจ Big Mountain Music Festival และเว็บไซต์ www.bigmountainmusicfestival.com
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X