ท่ามกลางปัจจัยลบที่รุมเร้าตลาดการลงทุนและ การเงิน ในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นสงครามในยูเครน ซึ่งหนุนให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงทั่วโลก ห่วงโซ่อุปทานที่ยังคงถูกกระทบ กดดันให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงในปีนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้นักลงทุนรายใหญ่เริ่มประเมินความเสี่ยงระยะยาวที่อาจจะตามมาในอีก 5-10 ปีข้างหน้านี้
ในมุมของ Abby Joseph Cohen อดีตนักกลยุทธ์ของ Goldman Sachs Group ซึ่งปัจจุบันผันตัวมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย มองว่า ประเด็นที่น่ากังวลที่สุดคือเรื่องของประชากรและแรงงาน
เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตอย่างแข็งแกร่งจนโดดเด่นกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ตลอด 30-40 ปีที่ผ่านมา เป็นผลจากจำนวนแรงงานที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง มันคือสูตรคณิตศาสตร์ง่ายๆ ที่ว่า แรงงานมากขึ้น GDP ก็มากขึ้น และที่ผ่านมาสหรัฐฯ มีแรงงานอพยพเข้ามาค่อนข้างมาก
ปัจจุบันเมื่อเรามองไปยังข้อมูลจากบริษัทต่างๆ เราจะเห็นการขาดแคลนแรงงานในทุกอุตสาหกรรม อย่างภาคบริการซึ่งขาดแคลนแรงงานทั้งในสนามบิน โรงแรม ร้านอาหาร ฯลฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เงินเฟ้อในภาคบริการพุ่งสูงด้วย
เมื่อมองไปยังอนาคต คำถามที่เกิดขึ้นคือ เรามีนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร แพทย์ เพียงพอหรือไม่ ซึ่งคำตอบคือ ‘ไม่พอ’ และในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่ารายได้เฉลี่ยต่อครอบครัวในสหรัฐฯ ไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยเมื่อถูกปรับด้วยเงินเฟ้อ
นี่คือปัญหาซึ่งสะท้อนให้เห็นความแตกแยกทางการเมือง ความไม่สบายใจในหมู่ประชาชน และน่ากังวล เมื่อพยายามคิดหาทางแก้ปัญหาเหล่านี้
หนึ่งในทางออกคือการสร้างงานที่ให้ผลตอบแทนที่ดีเพียงพอที่จะทำให้พวกเขาเดินต่อไปได้ แม้ว่าการลงทุนจะมาจากภาครัฐ แต่ขณะเดียวกันก็มาจากภาคเอกชนด้วย ซึ่งเราได้เห็นการลงทุนเพื่ออนาคตเพิ่มขึ้นมาก ส่วนหนึ่งเพราะปัญหาเรื่องแรงงานขาดแคลน
ความแข็งแกร่งของการเติบโตของเศรษฐกิจ และความมั่งคั่งในระยะยาวของคนในประเทศ ค่อนข้างเชื่อมโยงกับชนชั้นกลาง โดยเฉพาะความพอเพียงของรายได้ที่เพิ่มขึ้น
ด้าน Sam Bankman-Fried ผู้ร่วมก่อตั้ง FTX ตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซี กล่าวว่า ปัญหาสำคัญที่มองเห็นคือ เราจะจัดการกับโรคระบาดในอนาคตได้อย่างไร
โควิดไม่ได้แสดงให้เราเห็นถึงกรณีที่เลวร้ายที่สุด แต่สิ่งที่น่ากังวลคือหากกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอีก เราไม่มีความพร้อมที่จะรับมือได้ดีพอ เมื่อผลกระทบจากโควิดเริ่มลดลง เช่นเดียวกับมาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการเงินที่ค่อยๆ ลดลงตาม หลังจากนั้นเราเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นว่า จริงๆ แล้วโควิดส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจ
ทั้งในส่วนของเงินเฟ้อพุ่งสูง ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจที่ชะลอลงพร้อมๆ กับตลาดทุน แต่สิ่งที่เราพยายามทำกลับเป็นเรื่องของการลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น
ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือ เราแทบไม่ได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งที่เกิดขึ้นในแง่ของภาคสังคม บ้านเมืองของเรายังคงเป็นเหมือนเดิมกับที่เราเป็นก่อนหน้านี้ และไม่ได้มีการหารือเกี่ยวกับโรคระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต
เราใช้เงินไปหลายล้านล้านดอลลาร์เพื่อพยายามคุมความเสียหายจากโควิด ซึ่งถือเป็นรายจ่ายมหาศาล แต่สิ่งที่เราถกเถียงกันเกี่ยวกับโควิดและการแพร่ระบาด กลับเป็นเรื่องของการใส่หน้ากากอนามัยเป็นส่วนใหญ่
เราล้มเหลวต่อการโฟกัสกับปัญหาที่สำคัญกว่า คือการมีระบบป้องกันที่ดีตั้งแต่แรก เช่น อาคารที่มีระบบระบายอากาศที่ดี เป้าหมายของเราคือการสร้างสถานที่ที่มั่นใจได้ว่าโรคระบาดไม่กลายเป็นการระบาดใหญ่ไปทั่วโลก ซึ่งจะได้ไม่ต้องทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก ผู้คนไม่ต้องล้มตาย และไม่จำเป็นจะต้องยอมเสียบางอย่างเพื่อให้ได้บางอย่าง
ในมุมของ Ken Moelis ผู้ร่วมก่อตั้ง และซีอีโอของ Moelis & Co. บริษัทวาณิชธนกิจ กล่าวว่า สิ่งที่เราเผชิญอยู่ในขณะนี้คือ โลกที่มีลักษณะเป็นโลกาภิวัตน์น้อยลง เรากำลังเห็นประเทศต่างๆ กลับไปโฟกัสที่ตัวเอง และพยายามทำให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถอยู่รอดได้ด้วยตัวเอง และลดการพึ่งพิงประเทศอื่นๆ
อย่างกรณีของเยอรมนี เศรษฐกิจของเยอรมนีพึ่งพาภายนอกอย่างเต็มตัว และเรียกได้ว่าเป็นตัวอย่างของโลกาภิวัตน์ เช่น การใช้ทหารรับจ้างจากสหรัฐฯ การบริหารการเงินภายใต้สหภาพยุโรป การพึ่งพิงพลังงานจากรัสเซีย และมีตลาดขายสินค้าในจีน แต่ขณะนี้เยอรมนีกำลังเผชิญปัญหาอย่างหนัก
สิ่งที่แต่ละประเทศจำเป็นจะต้องทบทวนคือ เรากำลังพึ่งพิงประเทศอื่นๆ เกี่ยวกับทรัพยากรที่จำเป็นอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะอาหารและพลังงาน เมื่อโลกหันมาโฟกัสถึงปัญหาเหล่านี้และยอมรับมันแล้ว แต่ละประเทศจำเป็นจะต้องผลิตสิ่งจำเป็น และลดการพึ่งพิงการค้าโลก ซึ่งจะเป็นผลดีต่อประชากรของตัวเอง
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP