×

บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่สะเทือน เมื่อทั่วโลกพร้อมใจกดดันแก้ปัญหาโลกร้อน

28.05.2021
  • LOADING...
บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • เมื่อ 3 บริษัทผู้ผลิตน้ำมัน ExxonMobil, Chevron และ Royal Dutch Shell เผชิญแรงกดดันจากทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม ที่เรียกร้องให้บริษัทเหล่านี้ออกมาตรการแก้ปัญหา ‘ภาวะโลกร้อน’ หลังจากนิ่งเฉยมานาน
  • ผู้ถือหุ้น ExxonMobil โหวตไล่ผู้บริหาร 2 คน จากทั้งหมด 12 คน ออกจากบอร์ดบริหาร สะท้อนถึงความเอาจริงเอาจังของผู้ถือหุ้นที่มีต่อปัญหาด้านสภาพอาการและผลดำเนินงานของบริษัท
  • ศาลกรุงเฮกของเนเธอร์แลนด์มีคำสั่งให้ Royal Dutch Shell ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิลงให้ได้ถึง 45% ภายในปี 2030 นับเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ เพราะเป็นครั้งแรกที่ศาลมีคำสั่งให้บริษัทขนาดใหญ่ปฏิบัติตามข้อตกลงปารีส 
  • ด้าน Chevron เป็นอีกบริษัทที่ต้องเผชิญแรงกดดันจากผู้ถือหุ้น เมื่อมีผู้ถือหุ้นราว 61% อนุมัติข้อเสนอการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการผลิตของบริษัท

กลายเป็นข่าวที่สร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม และอาจถือเป็นก้าวแรกของความสำเร็จของภาครัฐและภาคประชาสังคมในการออกมาร่วมมือกดดันและเรียกร้องให้ 3 บริษัทผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกอย่าง ExxonMobil, Chevron และ Royal Dutch Shell ที่ต้องออกมาเคลื่อนไหวปรับเปลี่ยนนโยบาย กลยุทธ์ และแผนการดำเนินธุรกิจต่างๆ ของบริษัท ให้มีมาตรการในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ หรือ ‘ภาวะโลกร้อน’ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ทำให้สภาพอากาศผิดธรรมชาติในปัจจุบัน อย่างจริงจัง

 

เริ่มต้นที่ ExxonMobil หลังผิดหวังกับท่าทีที่ค่อนข้างนิ่งเฉยของ ดาร์เรน วูดส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ในเรื่องการจำกัด ‘คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint)’ งานนี้บรรดาผู้ถือหุ้นของบริษัทต่างรวมตัวออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ผู้บริหารใช้บทบาทบริษัทด้านพลังงานรายใหญ่ของโลก จัดการบรรจุมาตรการผลักดันการแก้ปัญหาโลกร้อนลงไปในแผนธุรกิจระยะยาวของบริษัท ไม่ใช่แค่การกล่าวถึงปัญหานี้แต่เพียงอย่างเดียว ขณะเดียวกันยังเรียกร้องให้บริษัทจัดทำรายงานกิจกรรมการผลักดันการแก้ปัญหาโลกร้อนออกมาเพิ่มเติมด้วย

 

เว็บไซต์นิตยสาร Forbes รายงานว่า แถลงการณ์ดังกล่าวถือเป็นข้อความที่แสดงความไม่พอใจของผู้ถือหุ้นที่มีต่อกลยุทธ์ของ ExxonMobil ในด้านภาวะโลกร้อนได้อย่างชัดเจนที่สุด โดยหลายปีที่ผ่านมาวูดส์และทีมบอร์ดบริหารต่างออกโรงโต้ขอเรียกร้องของนักเคลื่อนไหวที่ขอให้บริษัทหันไปลงทุนในพลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานลมและแสงอาทิตย์ ด้วยเหตุผลว่าพลังงานดังกล่าวไม่คุ้มค่าเงินที่นักลงทุนมอบให้กับ ExxonMobil ทั้งยังไม่มีทางทำกำไรเทียบเท่าน้ำมันได้

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ExxonMobil ก็ยังไม่อาจทำกำไรได้ดีสักเท่าไรนัก โดยในปี 2020 มีรายงานว่าบริษัทขาดทุนหนักถึง 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ขณะเดียวกันเพื่อตอกย้ำถึงความไม่พอใจ บรรดาผู้ถือหุ้นของบริษัทยังได้ลงคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ โหวตไล่ทีมบอร์ดบริหาร 2 คน จากทั้งหมด 12 คน ออกไป ซึ่ง เฟรด ครัปป์ ประธานกองทุนปกป้องสิ่งแวดล้อม (Environmental Defense Fund) กล่าวว่า การลงคะแนนดังกล่าวส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าผู้ถือหุ้นให้ความสำคัญกับการดำเนินการด้านสภาพอากาศ เพราะเป็นปัจจัยที่จำเป็นและส่งผลต่อสถานะการเงินขององค์กรในระยะยาว

 

ทั้งนี้ ExxonMobil ไม่ได้เป็นเพียงบริษัทน้ำมันรายใหญ่แห่งเดียวเท่านั้นที่ต้องเผชิญกระแสกดดันด้านสภาวะโลกร้อน เพราะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ศาลกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีคำสั่งตัดสินให้ Royal Dutch Shell ปรับลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิลงให้ได้ถึง 45% ภายในปี 2030 หรืออีก 9 ปีข้างหน้า

 

โดยการตัดสินของศาลครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่องค์กรเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม 7 หน่วยงาน นำโดย Friends of the Earth ยื่นฟ้องบริษัทพลังงานรายใหญ่แห่งนี้ว่ากำลังละเมิดมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่

 

ศาลกรุงเฮกให้เหตุผลชัดเจนว่า นโยบายเพื่อความยั่งยืนของ Royal Dutch Shell ในขณะนี้ขาดรูปธรรมที่ชัดเจนเพียงพอ และในฐานะบริษัทด้านพลังงานรายใหญ่ชั้นนำของโลก Shell ย่อมมีภาระหน้าที่สำคัญในการรับผิดชอบเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน รวมถึงจัดการให้เหล่าซัพพลายเออร์และผู้ซื้อของบริษัทปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อตกลงปารีสให้ลุล่วง

 

เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ The Guardian รายงานว่า คำตัดสินของศาลเนเธอร์แลนด์นับเป็นการส่งสัญญาณเตือนโดยตรงต่อบริษัทในอุตสาหกรรมพลังงานและบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่รายอื่นๆ ที่มีส่วนสำคัญในการก่อมลพิษและบ่อนทำลายสิ่งแวดล้อม

 

ด้านตัวแทนทนายความขององค์กร Friends of the Earth กล่าวว่า ผลลัพธ์ในครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ เพราะถือเป็นครั้งแรกที่ศาลมีคำสั่งให้บริษัทที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมขนาดใหญ่ปฏิบัติตามข้อตกลงปารีสอย่างจริงจัง โดยทางกลุ่มหวังว่าคำตัดสินของศาลครั้งนี้จะเป็นกรณีตัวอย่างให้องค์กรและกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมทั่วโลกออกมากดดันให้บรรดาบริษัทข้ามชาติทั้งหลายปรับปรุง เปลี่ยนแปลง บทบาทขององค์กรให้เข้ามามีส่วนร่วมรับมือกับปัญหาเร่งด่วนอย่างภาวะโลกร้อนให้มากขึ้น

 

ขณะที่ Royal Dutch Shell ได้ออกมาระบุว่า ยินดีน้อมรับคำตัดสินของศาล อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าบริษัทมีเวลา 2 ปีในการดำเนินการอุทธรณ์ แต่หลายฝ่ายมองว่า Shell น่าจะดำเนินการตามคำสั่งศาลอย่างจริงจัง เห็นได้จากท่าทีของผู้บริหารที่ออกมาประกาศเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้าว่าจะดำเนินเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ Powering Progress ที่มุ่งสร้างคุณค่าแก่ผู้ถือหุ้น ชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เป็นศูนย์ ส่งเสริมและสนับสนุนคุณภาพชีวิตที่ดี และให้ความเคารพต่อธรรมชาติ

 

ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลของ Carbon Majors พบว่า Shell ถือเป็นผู้ปล่อยมลพิษที่ใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลกในช่วงปี 1988-2015 แต่ด้วยปัญหาโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น บวกกับกระแสเรียกร้องทางสังคม ทำให้ Shell เริ่มวางมาตรการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Shell เพิ่งจะออกมาเปิดเผยว่า บริษัทวางแผนที่จะเปลี่ยนผ่านโมเดลธุรกิจไปสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอน 0% พร้อมตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซ 6-8% ในปี 2023, 20% ในปี 2030, 45% ในปี 2035 และ 100% ในปี 2050

 

อย่างไรก็ตาม นักเคลื่อนไหวกลับเห็นว่าแผนการดังกล่าวไม่ทันการณ์และเพียงพอกับความฉุกเฉินเร่งด่วนของปัญหาโลกร้อน ซึ่งในการยื่นฟ้องต่อศาลในครั้งนี้ ทางฝ่ายโจทก์ระบุว่า Shell ละเมิดกฎหมายมาตรา 6:162 ของกฎหมายพลเรือนดัตช์ และละเมิดมาตรา 2 และ 8 ของกฎหมายสิทธิมนุษยชนยุโรปที่ว่าด้วยสิทธิของชีวิตและสิทธิของครอบครัว เนื่องจากการกระทำของ Shell เป็นอันตรายต่อผู้อื่น ทั้งๆ ที่มีมาตรการเลือกอื่นให้สามารถดำเนินการจัดการได้ดีกว่า

 

นอกจากนี้ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน บริษัทผู้ผลิตพลังงานยักษ์ใหญ่ก็มีความเคลื่อนไหวที่ทำให้หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมยิ้มออกมาได้ เมื่อบรรดาผู้ถือหุ้นของ Chevron อนุมัติข้อเสนอเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการผลิตของบริษัท โดยผู้ถือหุ้นมีมติ 61% โหวตสนับสนุนมาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของ Chevron ที่เรียกว่า Scope 3 ซึ่งเป็นความพยายามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งเกิดจากกิจกรรมในเครือข่ายซัพพลายเชนของบริษัท โดยที่บริษัทไม่ได้เป็นเจ้าของหรือควบคุม

 

แม้ว่าทาง Chevron จะไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการและกรอบเวลาที่ชัดเจนออกมา แต่การตัดสินใจครั้งนี้ก็เพียงพอที่จะยืนยันกระแสทิศทางของโลกที่ให้ความสำคัญกับการตัดลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพื่อจัดการปัญหาภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะการกดดันให้บรรดาบริษัทชั้นนำที่เข้าข่ายเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลกให้มีการกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อให้สอดคล้องกับข้อตกลงกรุงปารีสที่สมาชิกองค์การสหประชาชาติ (UN) 196 ประเทศ ร่วมลงนามเห็นชอบสนับสนุนข้อตกลงฉบับประวัติศาสตร์ที่จะร่วมกันยับยั้งไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2015 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

 

การลงนามดังกล่าวทำให้ประเทศที่ร่วมลงนามต้องนำเสนอแผนการดำเนินงานต่อ UN เพื่อแจกแจงว่าแต่ละประเทศจะดำเนินมาตรการอย่างไรเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กระนั้น ข้อตกลงกรุงปารีสไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ดังนั้นที่ผ่านมาหลายฝ่ายจึงออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าแต่ละประเทศไม่ค่อยมีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมชัดเจนสักเท่าไรนัก จนก่อเป็นกระแสรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลและบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ลุกขึ้นมาดำเนินการอย่างจริงจัง

 

รายงานระบุว่า กระแสเรียกร้องที่มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ตั้งแต่ช่วงปี 2020 ที่ผ่านมา บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายแห่งต่างออกมาเปิดเผยแผนธุรกิจที่ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน หรือปรับเพิ่มปริมาณเงินลงทุนที่จะสนับสนุนเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซจนเหลือ 0%

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X