ในช่วงนี้เริ่มเห็นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ขนาดใหญ่ของไทยออกไปจับมือร่วมกับพาร์ตเนอร์ในการทำธุรกิจใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยทำมาก่อน ทั้งในรูปแบบการตั้งบริษัทร่วมทุน (JV) รวมถึงการเข้าไปซื้อหุ้นบางส่วนและการซื้อกิจการ โดยมีหลาย ‘บิ๊กดีล’ ที่สร้างความฮือฮา
ด้าน ดอยซ์แบงก์ ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินระบุว่า บริษัทขนาดใหญ่ของไทยหลายแห่งที่มีฐานเงินทุนพร้อม เริ่มกระจายการลงทุนไปสู่ New S-Curve เพื่อขยายฐานธุรกิจ
ภิมลภา สันติโชค กรรมการผู้จัดการ และกรรมการทั่วไป ธนาคารดอยซ์แบงก์ ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า บริษัทขนาดใหญ่ของไทยหลายแห่งเริ่มออกไปร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการร่วมทุน (JV) หรือการเข้าไปถือหุ้น ซื้อกิจการ ซึ่งปัจจุบันเริ่มเห็นภาพในลักษณะนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
โดยเฉพาะการเข้าไปลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่เป็นเทรนด์ของอนาคต ซึ่งจะมุ่งไปที่ธุรกิจ S-Curve Potential เพื่อกระจายฐานธุรกิจไปยังธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงการขยายตลาดออกไปยังต่างประเทศ
“ปัจจุบันดอยซ์แบงก์เราเป็น FA (ที่ปรึกษาการเงิน) ให้กับหลายๆ ดีล ทั้งในรูปแบบ JV หรือไม่ก็ M&A ช่วงนี้จะมียุโรปค่อนข้างมาก”
ทั้งนี้ ล่าสุดเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ธนาคารดอยซ์แบงก์ ประเทศไทย ได้เป็น FA ให้กับ บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) เข้าซื้อบริษัท Oxiteno S.A. Indústria e Comércio ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในประเทศบราซิล มูลค่าดีล 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 40,000 ล้านบาท สำหรับ Oxiteno เป็นผู้ผลิตสารลดแรงตึงสำหรับตลาดผลิตภัณฑ์ฐานการผลิต 11 แห่ง ลูกค้าใน 4 ทวีป
นอกจากนี้ ยังมีภาพ บจ.ขนาดใหญ่ของไทย ทยอยจัดตั้ง JV กับพาร์ตเนอร์ต่างๆ เช่น ล่าสุดที่ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับ Singapore Telecommunications Limited (Singtel) เพื่อร่วมกันศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) ในประเทศไทย
โดยร่วมลงทุนในสัดส่วนการถือหุ้นเท่ากันที่ 50% มีมุมมองว่า GULF ต้องการกระจายธุรกิจจากฐานธุรกิจเดิมคือกลุ่มพลังงาน เข้าไปในธุรกิจใหม่ๆ ที่มีอัตรากำไร (Profit Margin) ที่สูง และเป็นธุรกิจเทรนด์ของอนาคตที่กำลังเติบโตที่สูง เพราะตลาดธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในประเทศที่เป็นธุรกิจหลักอาจเริ่มมีอัตราการเติบโตที่จำกัด โดย Singtel ถือเป็นผู้ประกอบการที่มีความชำนาญในกลุ่มธุรกิจดิจิทัลและเทคโนโลยี
“เทรนด์ภาพของ Large Corporates ของไทยมีโอกาสที่จะเห็นความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์รายใหญ่ๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะ Large Corporates เริ่มต้องการออกจาก Comfort Zone ธุรกิจตัวเอง อยากทำอะไรใหม่ๆ แต่ถ้าทำเองเลยอาจจะไม่มี Expertise ดังนั้นจึงต้องออกไปจับมือกับพาร์ตเนอร์ที่มี Expertise เพื่อให้มีโอกาสเติบโตเร็วขึ้น”
ทั้งนี้ ปัจจุบันมี บจ.ขนาดใหญ่จำนวนมากที่มีศักยภาพและความพร้อมของเงินทุน กำลังให้ความสนใจลงทุนในธุรกิจกลุ่มดิจิทัลกับเทคโนโลยีที่ต้องการกระจายธุรกิจออกมาจากธุรกิจเดิม โดยร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ที่เชี่ยวชาญ เพราะเป็นกลุ่มธุรกิจที่นักลงทุนให้ Value สูง เป็นธุรกิจที่ยังไม่ตันและยังมีโอกาสเติบโตอีกมากในอนาคต
อีกภาพที่เริ่มเห็นชัดเจนมากขึ้นในปีนี้คือ การที่ บจ.ใหญ่ๆ ลงทุนทำสตาร์ทอัพเอง หลังจากที่ศึกษาข้อมูล ลองผิดลองถูกมาแล้วระยะหนึ่ง ทำให้ปีนี้เตรียมงบลงทุนกันไว้สำหรับลงทุนสตาร์ทอัพมากขึ้นด้วย
ยุพาพิน วังวิวัฒน์ กรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) กล่าวว่า ในช่วงปี 2562-2654 GULF ได้มีการร่วมทุนกับพาร์ตเนอร์เพื่อขยายธุรกิจไปทำธุรกิจใหม่ๆ ที่บริษัทไม่เคยทำเพราะต้องการพาร์ตเนอร์ที่มี Expertise โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2562 ที่ได้ประกาศร่วมทุนกับ บมจ.ปตท. (PTT) พัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 และการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 อีกทั้งเข้าถือหุ้นสัดส่วน 42% ในบริษัท ปตท. จำหน่ายก๊าซธรรมชาติ จำกัด (PTT NGD) ร่วมกับ PTT ที่ถือหุ้นสัดส่วน 58% ซึ่งทำธุรกิจจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ โดยลงทุนสร้างระบบท่อจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ (Distibution Pipeline)
อีกทั้งยังมีการลงทุนโครงการทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) ระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) กับโครงการบริการเดินรถและซ่อมบำรุงมอเตอร์เวย์ระหว่างเมือง บางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ผ่านบริษัทร่วมทุนโดย GULF ถือหุ้นสัดส่วน 40% ร่วมกับ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ถือหุ้นสัดส่วน 40% บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) ถือหุ้น 10% และ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) ถือหุ้น 10%
สำหรับที่ล่าสุด GULF ตัดสินใจเข้าในตลาด Data Center โดยศึกษาการตั้ง JV กับ Singtel เป็นการต่อยอดธุรกิจเพิ่มจากจุดเริ่มต้นที่บริษัทเข้าไปลงทุนถือหุ้น บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) สัดส่วน 42.25% ถือเป็นจุดเริ่มต้นในธุรกิจ Digital Infrastructure ที่มีประโยชน์ร่วมทางธุรกิจ (Synergy) อย่างมาก เพราะ Data Center มีความจำเป็นจะต้องใช้โครงข่าย 5G กับบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ (Fixed Broadband Internet) เพื่อเชื่อมการใช้งาน ซึ่งมี บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) บริษัทลูกของ INTUCH ดำเนินธุรกิจดังกล่าวที่สามารถให้บริการได้
ส่วน GULF เองมีความเชี่ยวชาญและมี Local Know-how ในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าอยู่แล้ว เพราะต้นทุนหลักที่สำคัญของการใช้งาน Data Center คือไฟฟ้า ทำให้ GULF สามารถขายไฟฟ้าได้ด้วย
ขณะที่ตลาดความต้องการ Data Center ของไทยมีแนวโน้มการเติบโตที่เร็ว จากข้อมูลที่มีการศึกษาคาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดรวมของธุรกิจ Data Center ระหว่างปี 2563-2565 จะเติบโตขึ้น 20% จึงถือเป็นธุรกิจที่น่าสนใจในแง่ของธุรกิจที่เติบโตสูง
บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บมจ.ปตท. (PTT) กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า นโยบายการดำเนินธุรกิจกลุ่มเทคโนโลยีของ PTT จะเน้นการสร้างนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) เน้นทำแพลตฟอร์มที่เปิดกว้าง โดยทำร่วมกับพันธมิตรทุกรายและจะมีแนวโน้มที่จะเห็น PTT มีความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ใหม่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากต้องการมีดิจิทัลแพลตฟอร์มที่มีความยืดหยุ่น ทำให้มี Speed to Market ดีขึ้น สามารถใช้จุดแข็งของ PTT ร่วมกับจุดแข็งของพาร์ตเนอร์ตอบโจทย์ครอบคลุมความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น
เนื่องจากรูปแบบการทำธุรกิจสมัยใหม่จะมีการ Convergence และมีการ Cross Industry เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้ปัจจุบันการร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจไม่จำเป็นต้องอยู่ในกลุ่มธุรกิจประเภทเดียวกัน ดังนั้นแต่ละฝ่ายจะสามารถนำจุดแข็งที่มีต่างกันมาใช้รวมกันเพื่อต่อยอดธุรกิจได้ เป็นการลดความเสี่ยงในการเข้าไปสู่ธุรกิจใหม่ รวมถึงเป็นทางลัดสามารถสร้างขยายธุรกิจได้เร็วมากกว่าที่จะทำเองเพียงรายเดียว
ตัวอย่างของ PTT คือการที่ล่าสุดได้ประกาศความร่วมมือโครงการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยกับฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป (Foxconn Technology Group)
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP