บรรยากาศการประชุมโลกร้อนเมื่อวานนี้ (3 พฤศจิกายน) ที่เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์ ยังเป็นไปอย่างเข้มข้น โดยไฮไลต์สำคัญของวันอยู่ที่การพบปะหารือกันของบรรดานักธุรกิจ นายธนาคาร บริษัทประกัน และนักลงทุนชั้นนำ ซึ่งมีมูลค่าสินทรัพย์รวมกันราว 130 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยสถานีโทรทัศน์ Channel News Asia รายงานอ้างอิงสำนักข่าว Reuters ที่ระบุว่า กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่เหล่านี้ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันในการให้คำมั่นสัญญาที่จะผนวกเอาแผนงานต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก เข้ามาเป็นหัวใจของการดำเนินธุรกิจของตนเองควบคู่ไปกับการหาแนวร่วมมาร่วมสนับสนุนผลักดันแนวทางการลงทุนในธุรกิจที่มีเป้าหมายรักษาสิ่งแวดล้อม (Green Investment)
ทั้งนี้ มาร์ก คาร์นีย์ ผู้แทนพิเศษองค์การสหประชาชาติด้านปัญหาสภาพภูมิอากาศ ในฐานะผู้จัดตั้งกลุ่ม Glasgow Finance Alliance for Net Zero (GFANZ) ประเมินว่า การที่โลกจะบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดอุณหภูมิเฉลี่ยได้อาจต้องใช้เงินราว 100 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 30 ปีนับจากนี้ ทำให้อุตสาหกรรมการเงินมีบทบาทในการที่จะต้องหาหนทางระดมทุนจากผู้ลงทุนภาคเอกชน เพื่อมาช่วยหนุนภาครัฐที่มีข้อจำกัดอยู่ โดยเฉพาะในด้านงบประมาณ
โดยโครงการที่คาร์นีย์จัดตั้งขึ้นมานั้นเป็นความพยายามที่จะผลักดันให้สถาบันการเงินต่างๆ ร่วมรับผิดชอบและเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการปล่อยสินเชื่อหรือการลงทุนของตน เพื่อบังคับให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมเริ่มใส่ใจเกี่ยวกับต้นทุนที่เกิดขึ้นจากความเสี่ยงดังกล่าว
เจน เฟรเซอร์ ซีอีโอของ Citigroup หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม GFANZ ให้ความเห็นว่า การที่โครงการนี้ความเกี่ยวข้องกับเงินทุนที่มีมูลค่าสินทรัพย์ถึง 130 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ก็เตือนให้ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันทำงานด้วยความระมัดระวัง เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
ขณะที่ อีกัง ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน (PBOC) กล่าวสนับสนุนข้อตกลงดังกล่าว ก่อนระบุว่า ทาง PBOC ก็กำลังทำงานเพื่อออกนโยบายทางการเงินใหม่ที่จะให้เงินกู้ดอกเบี้ยถูกแก่สถาบันการเงินต่างๆ เพื่อนำไปใช้สนับสนุนโครงการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ขณะเดียวกันกลุ่มสถาบันการเงินหลายแห่งที่มีสินทรัพย์รวมกันแล้วคิดเป็นสัดส่วนถึง 40% ของเงินทุนที่หมุนเวียนอยู่ทั่วโลกนี้ ยังได้ออกแถลงการณ์หลังเสร็จสิ้นการประชุมที่สกอตแลนด์ โดยระบุว่า บรรดาธุรกิจที่เข้าร่วมหารือได้ให้คำมั่นที่จะร่วม ‘รับผิดชอบในสัดส่วนที่เป็นธรรม’ สำหรับการดำเนินการต่างๆ ที่จะช่วยลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลบนโลกนี้ให้ได้
คำประกาศดังกล่าวมีออกมาขณะที่ผู้นำจากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ซึ่งมีเป้าหมายในการให้แต่ละประเทศเอ่ยคำมั่นสัญญาในการร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกลง 15 องศาเซลเซียส แม้ว่าหลายคนจะแสดงความไม่แน่ใจว่าการประชุมครั้งนี้จะบรรลุเป้าหมายได้เพียงใด โดยเฉพาะในเรื่องของคำมั่นจากประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย
ทั้งนี้มีรายงานข่าวว่า ผู้นำจากอย่างน้อย 19 ประเทศ น่าจะประกาศคำมั่นของตนในวันพฤหัสบดีว่า จะยุติการใช้งบประมาณรัฐสนับสนุนโครงการที่เกี่ยวกับเชื้อเพลิงฟอสซิลในต่างประเทศภายในปี 2022
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP