หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณชัดเจนว่า จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะควบคุมเงินเฟ้อได้ ทำให้ดอลลาร์น่าจะแข็งค่าไปอีกระยะหนึ่ง ล่าสุด ‘โจ ไบเดน’ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ออกมาระบุว่า การแข็งค่าของดอลลาร์ไม่ใช่สาเหตุที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจโลก แต่เป็นเพราะการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของประเทศอื่นๆ พร้อมกล่าวว่า แผนการลดภาษีของ ‘ลิซ ทรัสส์’ ผู้นำอังกฤษ คือตัวอย่างของนโยบายที่ผิดพลาด
โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ระบุว่า ส่วนตัวแล้วไม่รู้สึกกังวลเกี่ยวกับการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ พร้อมโทษการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดในส่วนอื่นๆ ของโลก คือปัจจัยที่ลากเศรษฐกิจโลกให้ตกต่ำ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ภาวะ เศรษฐกิจถดถอย อาจอยู่ใกล้กว่าที่คิด เปิดกลยุทธ์รับมือเน้น Predict-Prepare-Perform
- วิเคราะห์ 5 สัญญาณ บ่งชี้ เงินเฟ้อ โลกใกล้ถึงจุดพีค
- ภาระ ‘ผ่อนบ้าน’ อาจเป็นพายุลูกใหม่ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก เมื่อดอกเบี้ยบ้านแพงสุดรอบ 15 ปี
“ผมไม่ได้กังวลเกี่ยวกับการแข็งค่าของดอลลาร์ ผมกังวลเกี่ยวกับส่วนอื่นๆ ของโลก โดยปัญหาคือ การขาดการเติบโตทางเศรษฐกิจ และนโยบายที่ดีในประเทศอื่นๆ” ไบเดนกล่าว
ความเห็นของไบเดนตรงข้ามกับผู้นำระดับสูงจากประเทศอื่นๆ ซึ่งแสดงความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าการแข็งค่าของดอลลาร์อาจกระตุ้นเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจของตน หลังจากดอลลาร์แข็งค่าขึ้นประมาณ 15% ในปีนี้ เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อควบคุมเงินเฟ้อในสหรัฐฯ
ไบเดนชี้นโยบายของทรัสส์ คือ ‘ความผิดพลาด’
แต่เนื่องจาก Fed เตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง ไบเดนจึงพยายามโยนความผิดไปยังส่วนอื่นๆ ของโลก โดยเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (15 ตุลาคม) ไบเดนได้วิพากษ์วิจารณ์แผนการลดภาษีของ ลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในตลาด
“ไม่ใช่ผมคนเดียวที่คิดว่าสิ่งนี้เป็นความผิดพลาด ผมคิดว่าความคิดที่จะลดภาษีให้กับคนรวยมากๆ นั้น ผมไม่เห็นด้วย” ไบเดนกล่าว
นโยบายของทรัสส์ ซึ่งรวมถึงการลดหย่อนภาษี ได้ฉุดให้เงินปอนด์อ่อนค่าอย่างหนัก และบีบบังคับให้ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ (BoE) เข้าแทรกแซงตลาดพันธบัตร หลังเผชิญแรงเทขายจนอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพ
ความวุ่นวายดังกล่าวได้คืบคลานเข้าสู่ตลาดโลกด้วย เนื่องจากนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับความผันผวนมากขึ้นเรื่อยๆ จึงค้นหาสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น
อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์ที่แข็งค่ายังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศยากจนที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหาร เมื่อรวมกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในหลายประเทศ และภาวะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่แพงขึ้น ทำให้อำนาจในการชำระค่าสินค้าของประเทศเหล่านั้นแย่ลง และทำให้วิกฤตอาหารโลกรุนแรงขึ้นไปอีก
ความคิดเห็นของไบเดนยังตรงข้ามกับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เคยกดดัน Fed โดยบอกว่า ตนไม่ต้องการให้ดอลลาร์ที่แข็งค่าขัดขวางการค้ากับประเทศอื่น ขณะที่ก่อนหน้านั้น ประธานาธิบดีสหรัฐคนก่อนๆ ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมามักเว้นการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสกุลเงิน
ด้าน เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ กล่าวระหว่างการประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) ว่า การต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อถือเป็นความสำคัญสูงสุดของฝ่ายบริหาร พร้อมย้ำว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดโดยตลาด (Market-Determined Exchange Rates) เป็นระบอบที่ดีที่สุดสำหรับดอลลาร์
อ้างอิง: