ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ประกาศกร้าวเมื่อวันพุธ (10 พฤศจิกายน) ว่า การจัดการปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นในเวลานี้ถือเป็นประเด็นสำคัญลำดับแรกสุด หรือ Top Priority ของรัฐบาลที่ต้องจัดการแก้ไข เพราะปัญหาเงินเฟ้อพุ่งทำให้ชาวอเมริกันจำนวนมากทั่วประเทศลดปริมาณการใช้จ่ายของตนเองลง ส่งผลต่อการฟื้นฟูและขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
ถ้อยแถลงของประธานาธิบดีไบเดนครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากที่ข้อมูลของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่อิงกับการใช้จ่ายของผู้บริโภคภายในประเทศประจำเดือนตุลาคม ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 6.2% ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 1990 หรือสูงที่สุดในรอบกว่า 30 ปี อีกทั้งยังสูงกว่าระดับ 5.4% ในเดือนกันยายน และมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 5.9%
ขณะเดียวกัน ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ที่ไม่นับรวมราคาสินค้าในหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.6% ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 0.2% และขยับพุ่งขึ้น 4.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว นับเป็นการขยับขึ้นมากที่สุดตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 1991 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 4.0%
ตัวเลขเงินเฟ้อสะท้อนให้เห็นการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหลายรายการ ไล่เลียงตั้งแต่ราคาพลังงาน บ้าน รถยนต์ และอาหาร ซึ่งเฉพาะอาหาร มีรายงานว่า ราคาอาหารปรับตัวขึ้นเกือบ 1% เป็นเวลาสองเดือนติดต่อกันแล้ว ขณะที่ราคาน้ำมันก็ขยับเพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุด โดยราคาน้ำมันในช่วงเดือนตุลาคมขยับเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายนก่อนหน้าแล้ว 4.8% และเพิ่มขึ้นแล้วมากกว่า 30% ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา
สำหรับปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อในสหรัฐฯ ขยับเพิ่มสูงขึ้นจนทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งนี้ เป็นผลจากหลายปัจจัยประกอบกัน เริ่มตั้งแต่ปัจจัยบวกอย่างสถานการณ์โรคโควิดที่เริ่มคลี่คลาย ทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ไปจนถึงปัจจัยลบอย่างภาวะขาดแคลนวัตถุดิบที่กระเทือนต่อห่วงโซ่การผลิต ทำให้ผลิตสินค้าไม่ทันต่อความต้องการบริโภคที่สูงขึ้น บวกกับปัญหาวิกฤตพลังงานที่ดันราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนพื้นฐานในการผลิตสินค้าและบริการทุกประเภทแพงขึ้น ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์เงินเฟ้อมีแนวโน้มเป็นไปในทางที่เลวร้ายต่อการฟื้นตัวโดยรวมของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ขณะเดียวกัน หลายฝ่ายรวมถึงตัวประธานาธิบดีไบเดนเองก็เริ่มตระหนักแล้วว่า ปัญหาเงินเฟ้อจะส่งผลกระทบต่อร่างกฎหมายยกเครื่องโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานมูลค่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ทางสภาคองเกรสเพิ่งจะให้การอนุมัติรับรองเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ เนื่องจากพรรครีพับลิกันได้หยิบขึ้นมาเป็นประเด็นในการโจมตีแผนการใช้จ่ายของรัฐบาลไบเดน จะยิ่งทำให้ภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ทวีความรุนแรงมากขึ้น และเป็นข้ออ้างสำคัญที่จะนำมาใช้คัดค้านแผนการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงระบบสวัสดิการสังคมในโครงการ Build Back Better มูลค่า 1.75 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภาคองเกรสในเวลานี้ ทำให้ประธานาธิบดีไบเดนต้องออกโรงให้คำมั่นยืนยันว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาเงินเฟ้อในลำดับแรกสุด และยืนยันว่าแผนใช้จ่ายเพื่อยกเครื่องโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของประเทศเป็นสิ่งจำเป็นที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างยั่งยืนในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่ง รวมถึง ริก ไรเดอร์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่การลงทุนตราสารหนี้ทั่วโลกของ BlackRock เห็นว่า ปัญหาเงินเฟ้อของสหรัฐฯ น่าจะแย่ลงไปอีกจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของรัฐบาล เพราะมุ่งหนุนให้เกิดความต้องการบริโภคภายในประเทศ อีกทั้งการจ้างงานและค่าแรงที่เพิ่มขึ้นก็จะยิ่งทำให้ดีมานด์ในตลาดดีดตัวขึ้นไปอีก ราคาสินค้าและบริการก็ยิ่งแพงขึ้นไปอีกในช่วงหลายเดือนนับจากนี้
แนวโน้มความเป็นไปได้ดังกล่าว ทำให้นักวิเคราะห์และนักลงทุนส่วนหนึ่งเริ่มไม่เชื่อมั่นแล้วว่า ภาวะเงินเฟ้อจะเป็นปัจจัยชั่วคราวแบบที่รัฐบาล โดยเฉพาะ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ที่ออกมายืนยันว่า ปัญหาเงินเฟ้อพุ่งเป็นสภาวะชั่วคราว ไม่รุนแรงและร้ายแรงเท่าวิกฤตเงินเฟ้อในช่วงทศวรรษ 1970 และไม่มีทางเข้าสู่ภาวะ Stagflation อย่างแน่นอน
ขณะเดียวกัน สถานการณ์เงินเฟ้อในสหรัฐฯ ยังได้รับแรงกดดันจากปัจจัยราคาบ้านที่ขยับเพิ่มขึ้นหลายสิบเท่าในช่วงไม่กี่เดือนให้หลังที่ผ่านมา โดยผลการสำรวจของสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ หรือ National Association of Realtors (NAR) พบว่า ราคากลางของบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้นเกือบทั้งหมด หรือ 99% ใน 183 ตลาดที่ทางสมาคมติดตามอยู่ ขณะที่เฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา ราคาบ้านเดี่ยวในสหรัฐฯ ขยับพุ่งขึ้นถึง 78%
รายงานระบุว่า สาเหตุที่ราคาบ้านปรับตัวแพงขึ้น เป็นผลจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากผู้ซื้อบ้าน ในขณะที่มีจำนวนบ้านพร้อมขายในระดับที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ ประจวบกับช่วงเวลานี้ที่อัตราดอกเบี้ยจำนองคาดว่าจะเพิ่มขึ้น ช่วยผลักดันราคาให้สูงขึ้นในเกือบทุกตลาดที่วัดโดย NAR
สำหรับราคากลางของบ้านเดี่ยวในสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว 16% มาอยู่ที่ 363,700 ดอลลาร์สหรัฐ โดยราคาบ้านในเมืองใหญ่หลายแห่งปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% ซึ่ง ลอว์เรนซ์ ยุน (Lawrence Yun) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ NAR คาดว่า ราคาบ้านจะขยับขึ้นแตะระดับสูงสุด หรือจุดพีกของตลาดในช่วงต้นปีหน้า ก่อนที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะช่วยให้ความร้อนแรงในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ บรรเทาเบาบางลง
อ้างอิง:
- https://www.channelnewsasia.com/business/biden-says-reversing-us-inflation-spike-top-priority-2304681
- https://edition.cnn.com/2021/11/10/economy/consumer-price-inflation-october/index.html
- https://edition.cnn.com/2021/11/10/homes/home-prices-increase-third-quarter-feseries/index.html
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP