ปิดฉากลงแล้วกับการประชุมสุดยอดผู้นำ ระหว่างประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กับประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ที่นครเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าช่วยลดแรงเสียดทานระหว่างสองมหาอำนาจจากประเด็นขัดแย้งที่สั่งสมมา และสร้างบรรยากาศที่เป็นบวกมากขึ้นระหว่างสองฝ่าย แม้ว่าทั้งคู่จะไม่สามารถทำข้อตกลงที่เป็นรูปธรรมในประเด็นสำคัญๆ ได้ก็ตาม แต่เรื่องนี้ก็ไม่ผิดคาดจากที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันแต่อย่างใด
และนี่คือบทสรุปและเกร็ดน่าสนใจจากซัมมิตครั้งนี้
- ทั้งไบเดนและปูตินต่างชื่นชมการประชุมที่เจนีวารอบนี้ ซึ่งมีระยะเวลาประมาณ 3 ชั่วโมง โดยไบเดนได้หยิบยกประเด็นที่สหรัฐฯ และรัสเซียขัดแย้งขึ้นมาพูดคุย แต่ไม่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมมากนัก
- อย่างน้อยการประชุมครั้งนี้ได้เซ็ตทิศทางความสัมพันธ์บทใหม่ระหว่างสองประเทศในยุคของไบเดนที่มีโทนบวกมากขึ้น โดยไบเดนเผยว่า รัสเซียไม่ต้องการเข้าสู่สงครามเย็นครั้งใหม่กับสหรัฐฯ พร้อมแย้มว่า เวลานี้มีโอกาสที่สองประเทศจะปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างกัน
- ขณะที่ปูตินชมไบเดนว่าเป็นรัฐบุรุษผู้มีประสบการณ์ และทั้งสองพูดจา ‘ภาษาเดียวกัน’
- ไบเดนมอบแว่นกันแดดแบบสั่งทำพิเศษให้ปูติน ซึ่งเป็นสไตล์ที่ไบเดนชื่นชอบ และให้รูปปั้นแกะสลักคริสตัลรูปไบซันเป็นของขวัญด้วย แต่ไม่มีข้อมูลว่าปูตินมอบอะไรให้ไบเดน แต่การประชุมซัมมิตครั้งก่อนที่เฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ในปี 2018 ปูตินได้มอบลูกฟุตบอลให้โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเวลานั้น
- สองฝ่ายตกลงกันว่าจะเริ่มต้นการเจรจาในประเด็นความมั่นคงทางไซเบอร์และการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ นอกจากนี้ยังเห็นพ้องส่งทูตกลับไปประจำการในเมืองหลวงของแต่ละประเทศ หลังทูตสองฝ่ายถูกเรียกกลับประเทศในเดือนมีนาคม ภายหลังเกิดกรณีที่สหรัฐฯ กล่าวหารัสเซียว่าแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2020 นอกจากนี้ไบเดนยังเรียกปูตินว่า ‘ฆาตกร’ ด้วย ซึ่งปูตินเผยหลังการประชุมกับไบเดนว่า เขาพอใจกับคำอธิบายของไบเดนที่เรียกเขาแบบนั้น
- ต่อกรณีการโจมตีทางไซเบอร์นั้น ไบเดนถามปูตินว่า เขาจะรู้สึกอย่างไร หากมีการโจมตีเครือข่ายน้ำมันของรัสเซียด้วยแรนซัมแวร์ ซึ่งเป็นการอ้างอิงถึงเหตุการณ์ที่กลุ่มแฮกเกอร์ DarkSide ใช้มัลแวร์เรียกค่าไถ่โจมตีระบบคอมพิวเตอร์ของ Colonial Pipeline ซึ่งเป็นบริษัทดำเนินงานท่อส่งน้ำมันในสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคม ส่งผลให้บริษัทต้องปิดท่อส่งน้ำมันยาว 5,500 ไมล์ ซึ่งกระทบซัพพลายเชื้อเพลิงและน้ำมันเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่รัฐแถบชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ อีกทั้งส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันเบนซินในแถบเซาท์เวสต์ ซึ่งแม้ไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่ารัสเซียอยู่เบื้องหลัง แต่รายงานระบุว่ากลุ่มแฮกเกอร์นี้อาจมีสายสัมพันธ์กับอาชญากรรัสเซีย
- ไบเดนเดือนปูตินว่าจะดำเนินมาตรการตอบโต้รัสเซียหากมีการโจมตีทางไซเบอร์ใดๆ เกิดขึ้น โดยไบเดนได้บอกกับปูตินว่าสหรัฐฯ มีขีดความสามารถทางไซเบอร์ ซึ่ง “เขารู้ดี”
- ส่วนประเด็นการกักขัง อเล็กเซย์ นาวัลนี แกนนำฝ่ายค้านและศัตรูทางการเมืองของปูตินในรัสเซีย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกรณีพิพาทระหว่างรัสเซียกับโลกตะวันตกนั้น ก็ยังไม่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมนัก โดยเวลานี้ยังไม่ทราบชะตากรรมของนาวัลนี ซึ่งต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 2 ปีครึ่ง แต่ก่อนหน้านี้ไบเดนเคยเตือนรัสเซียว่าจะเผชิญกับผลลัพธ์ที่รุนแรง หากนาวัลนีเสียชีวิตในเรือนจำ
- เช่นเดียวกับประเด็นความขัดแย้งในยูเครนก็ยังไม่มีความคืบหน้าเช่นกัน โดยปูตินได้ปฏิเสธข้อกังวลของไบเดน ที่มีต่อกรณีที่รัสเซียเพิ่มกำลังทหารไปประจำการในเขตพรมแดนทางภาคตะวันออกของยูเครน
- ต่อกรณีปัญหาสิทธิมนุษยชนนั้น ไบเดนเผยว่าได้หยิบยกเรื่องนี้มาหารือกับปูตินด้วย เพราะถือเป็น ‘ดีเอ็นเอ’ ของสหรัฐฯ ที่จะทำเช่นนั้น นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังต้องการทราบชะตากรรมของพลเมืองอเมริกันที่ถูกคุมขังในรัสเซีย ซึ่งปูตินเชื่อว่าสองฝ่ายอาจหาทางประนีประนอมกันในเรื่องนี้ได้ แต่เขาไม่ได้ให้รายละเอียดที่เจาะจงเกี่ยวกับข้อตกลงแลกเปลี่ยนนักโทษแต่อย่างใด
- ในระหว่างแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนก่อนไบเดน ปูตินชี้ว่าสหรัฐฯ ไม่อยู่ในฐานะที่จะสอนรัสเซียเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ยังเลี่ยงคำถามเกี่ยวกับการกวาดล้างศัตรูทางการเมือง โดยบอกว่า เขาพยายามที่จะหลีกเลี่ยงความวุ่นวายดังเช่นการเคลื่อนไหวที่ได้รับความนิยมอย่าง Black Lives Matter ปูตินระบุว่า “สิ่งที่เราเห็นคือความวุ่นวาย การหยุดชะงัก การฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นต้น เรารู้สึกเห็นใจสหรัฐฯ แต่เราไม่ต้องการให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นในอาณาเขตของเรา และเราจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้มันเกิดขึ้น”
- นอกจากนี้เขายังตั้งคำถามถึงความชอบธรรมในการจับกุมผู้ก่อจลาจลในอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ หรือ US Capitol ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 6 มกราคม ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่กลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์พยายามหยุดยั้งการลงมติรับรองผลการเลือกตั้งในสภาคองเกรส
- ขณะที่ไบเดนตอบคำถามสื่อในเวลาต่อมาว่า การเปรียบเทียบเหตุการณ์จลาจลเมื่อวันที่ 6 มกราคม กับการเคลื่อนไหว Black Lives Matters นั้นเป็น ‘เรื่องไร้สาระ’
ภาพ: Mikhail Svetlov / Getty Images
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: