เมื่อวันศุกร์ (28 พฤษภาคม) ที่ผ่านมา โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เสนองบประมาณประจำปี 2022 ต่อสภาคองเกรส ซึ่งเป็นงบประมาณแรกอย่างเป็นทางการภายใต้การบริหารของไบเดน
โดยงบประมาณก้อนนี้ได้รวมเอา 2 ข้อเสนอสำคัญที่ไบเดนต้องการจะผลักดันคือ แผนยกระดับสวัสดิการครอบครัว (The American Famillies Plan) และแผนกระตุ้นการจ้างงาน (The American Jobs Plan) โดยทั้ง 2 ข้อเสนอนี้ยังไม่ได้มีการหยิบยกมาถกเถียงกันในสภาอย่างจริงจัง
ข้อเสนองบประมาณในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างนโยบายของโจ ไบเดน และโดนัลด์ ทรัมป์ เช่น การต้องการเพิ่มงบประมาณสำหรับภาคการศึกษา 41% จากปีก่อน รวมถึงการเพิ่มงบประมาณสำหรับกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์ 23% และเพิ่มงบประมาณให้กับฝ่ายที่ดูแลสิ่งแวดล้อม 22%
ขณะที่กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Department of Homeland Security) ซึ่งทรัมป์ให้ความสำคัญก่อนหน้านี้ ถูกลดงบประมาณลง 10% ส่วนกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทรัมป์ให้ความสำคัญลำดับต้นๆ ปีนี้ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นเพียง 2%
สำหรับไบเดนแล้ว ข้อเสนองบประมาณในครั้งนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าเขาให้คุณค่ากับเรื่องใดเป็นหลัก ไบเดนมักจะพูดถึงประโยคที่พ่อของเขาเคยพูดเอาไว้ว่า
“ไม่ต้องบอกว่าคุณให้คุณค่ากับอะไร บอกมาเลยว่างบประมาณของคุณมีเท่าไร ผมจะบอกคุณเองว่าคุณให้คุณค่ากับอะไร”
ทั้งนี้งบประมาณรวมสำหรับปี 2022 อยู่ที่ 6 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ข้อเสนอล่าสุดนี้เป็นงบประมาณก้อนใหม่เพียง 3 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนงบประมาณก้อนใหญ่ในแต่ละรัฐบาลจะถูกใช้ในโครงการที่ได้รับอนุมัติผ่านกฎหมาย เช่น โครงการประกันสุขภาพของรัฐบาล, โครงการประกันสังคม หรือการขยายหนี้สาธารณะ
ในด้านการจัดหางบประมาณ ข้อเสนอของไบเดนมีการเปลี่ยนแปลงในหลายจุดเกี่ยวกับโครงสร้างภาษี ซึ่งรัฐบาลกล่าวว่าจะช่วยระดมเงินสำหรับงบประมาณในระดับล้านล้านดอลลาร์ โดยหนึ่งในส่วนสำคัญที่สุดคือการเพิ่มอัตราภาษีธุรกิจ (Corporate Tax Rate) จาก 21% เป็น 28% และการเก็บภาษีคนรวยเพิ่มขึ้น
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงด้านภาษี ได้รวมถึงนโยบาย ‘Made in America’ ซึ่งจะเก็บภาษีเพิ่มขึ้นสำหรับบริษัทที่ไปตั้งฐานการผลิตนอกประเทศ และส่งสินค้ากลับมาขายในสหรัฐฯ
ทั้งนี้รัฐบาลของไบเดนคาดหวังในเชิงบวกว่าอัตราการว่างงานจะลดลง เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อที่หวังว่าจะไม่สูงมากนัก
สำหรับอัตราการว่างงาน รัฐบาลคาดว่าจะลดลงเหลือ 4.7% ในสิ้นปีนี้ ก่อนจะลดลงเหลือ 4.1% ในปี 2022 และลดลงเหลือ 3.8% ในปีถัดไป และคงอยู่ในระดับต่ำที่ราว 3.8% ไปอีก 7 ปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 2.1% และจะไม่ขึ้นไปสูงกว่า 2.3% ในช่วง 10 ปีข้างหน้านี้
แต่ตัวเลขในระดับต่ำเช่นนี้ยังเป็นการยากที่จะอธิบายให้เชื่อถือได้ ด้วยอัตราการว่างงานปัจจุบันที่ 6.1% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อปัจจุบันคือ 4.2% สูงกว่าระดับที่คาดการณ์ของรัฐบาลอย่างมีนัยสำคัญ
Jared Bernstein สมาชิกในสภาที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดี เปิดเผยว่า ตัวเลขคาดการณ์ทางเศรษฐกิจดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งยังเป็นช่วงที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับ คาดว่าตัวเลขดังกล่าวอาจจะมีการปรับให้สูงขึ้นตามปัจจัยที่เปลี่ยนไป
ขณะที่ Cecilia Rouse ประธานที่สภาที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของโจ ไบเดน กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ทำให้ช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่เหมาะสมอย่างมากที่รัฐบาลจะก่อหนี้เพิ่มเพื่อนำมายกระดับเศรษฐกิจและยกระดับความปลอดภัยในสังคม
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: